*บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนในหนังสือ

 

หากยังจำกันได้ The Hunger Games ทั้ง 3 เล่ม และภาพยนตร์อีก 4 ภาค ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในความทรงจำของหลายคนไปเสียแล้ว ไม่ว่าจะนักอ่านหรือผู้ชม ต่างก็ต้องเอาใจช่วยให้ แคตนิส เอฟเวอร์ดีน ‘สาวน้อยผู้มากับไฟจากเขต 12’ สามารถรอดชีวิตจากเกมแห่งความตาย ก่อนจะลุ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเด็กสาวที่เป็นเครื่องบรรณาการ แปรเปลี่ยนเป็น ‘สัญลักษณ์แห่งการปฏิวัติ’ ที่สร้างความหวังให้กับชนชั้นแรงงานในเขตปกครอง

เกมการเมืองหักเหลี่ยมเฉือนคม อุดมการณ์ของผู้ถูกกดขี่ ความสับสนของเด็กสาวชาวบ้านที่กลายเป็นหมากสำคัญของการต่อสู้ และโฆษณาชวนเชื่อจากสองขั้วอำนาจ ถือเป็นจุดเด่นของหนังสือ The Hunger Games ที่เมื่อใครอ่านก็ต้องเกลียดประธานาธิบดีสโนว์ เมื่อใครดูก็ต้องอยากเห็นจุดจบของชายผู้เมินเฉยต่อสงครามความตายของผู้คนในเขตปกครอง และสุดท้าย จุดจบของชายคนนี้ก็เป็นไปตามที่หลายคนคาดหวัง คอริโอเลรัส สโนว์ จบชีวิตพร้อมเสียงหัวเราะของตัวเอง ท่ามกลางคลื่นความโกรธแค้นและการเหยียบย่ำของประชาชนที่ถาโถมใส่กายของเขา

แต่ชีวิตก่อนจะก้าวสู่โลกการเมืองที่ไว้ใจใครไม่ได้ของชายคนนี้เป็นอย่างไร ก่อนจะกลายเป็นชายไร้ความรู้สึก เขาเคยมีหัวใจหรือมีความเห็นอกเห็นใจต่อคนอื่นบ้างไหม โลกของ The Hunger Games เมื่อ 64 ปีก่อน The Ballad of Songbirds and Snakes: ลำนำแห่งนกร้องเพลงและอสรพิษ พร้อมบอกเล่าทุกคำถามคาใจแล้ว 

 

1

‘คุณไม่มีสิทธิ์ขังพวกเขาแล้วให้อดอาหาร หรือลงโทษพวกเขาโดยไม่มีเหตุผลอะไรเลย คุณไม่มีสิทธิ์ไปพรากชีวิตหรืออิสรภาพของพวกเขา เพราะนั่นคือสิ่งที่เราทุกคนเกิดมามีเหมือนกัน’

ก่อนเปิดหนังสือแล้วเริ่มดื่มด่ำ ต้องยอมรับเลยว่าเรายังคงเต็มไปด้วยอคติ อคติกับสิ่งที่คอริโอเลนัสทำเมื่อได้เป็นประธานาธิบดี อคติกับคนในแคปิตอลที่เพี้ยนจนกู่ไม่กลับ สิ่งที่รู้เกี่ยวกับเขาก่อนจะเริ่มต้นอ่านบทที่หนึ่งมีเพียงแค่ คอริโอเลนัสเป็นชายที่ปรากฏตัวพร้อมดอกกุหลาบ เฉลียวฉลาด เก่งด้านจิตวิทยา มักไม่แสดงอารมณ์ใดๆ ให้ใครเห็น และยืนยันกับศัตรูเสมอว่าเขาจะไม่พูดโกหก ทว่าพอเริ่มอ่านลำนำแห่งนกร้องเพลงและอสรพิษไปสักพัก เด็กชายคอริโอเลนัสวัย 18 ปี ก็ไม่ได้ดูเลวร้ายเหมือนช่วงปลายของชีวิตตามที่ทุกคนได้เห็น

สิ่งที่สร้างความตื่นเต้นสำหรับเรา ไม่ใช่การได้ย้อนกลับไปดูความคิดและชีวิตของคอริโอเลนัส แต่กลับเป็นการได้ซึมซับบรรยากาศของพาเน็มในอดีต ช่วงเวลาที่สงครามใหญ่ระหว่างเขตปกครองกับแคปิตอลจบลงได้ไม่กี่ปี พร้อมกับความพ่ายแพ้หมดท่าของเขต 1 ถึง 13 สังคมของแคปิตอลในตอนนั้น ช่างต่างกับตอนปัจจุบันเสียเหลือเกิน 

หลังการต่อสู้จบลง แคปิตอลซึ่งเป็นผู้ชนะคิดหาวิธีล้างแค้นความเจ็บช้ำที่เจอในสงคราม และอยากทำให้ผู้แพ้สำนึกถึงความผิดของตัวเองตลอดไป สิ่งนั้นคือ ‘เกมล่าชีวิต’ บทลงโทษที่เจ็บแสบแก่พวกเขตปกครอง แต่หากมองดูความคิดของชาวแคปิตอลเมื่อหลายสิบปีก่อนแคตนิสจะเกิด ภาพที่เห็นคือความอดสูปนเวทนา เพราะเกมที่เอาเด็กมาสู้กันจนตายในสมัยนั้น ช่างเป็นเกมที่โหดร้ายและน่าอดสูมากกว่าที่เราเห็นใน The Hunger Games เล่มไหนๆ 

ลำนำแห่งนกร้องเพลงและอสรพิษ ทำให้เราเกิดการตั้งคำถามแทบจะตลอดเวลา ตั้งคำถามถึงศีลธรรม ตั้งคำถามถึงสิทธิมนุษยชน ตั้งคำถามถึงการชดใช้จากสงคราม ว่าผู้แพ้จะต้องชดใช้ขนาดไหนถึงจะพอ ต้องชดใช้ขนาดไหนถึงจะสาสม

‘มันไม่ใช่ของที่คุณจะมาพรากไปเสมือนว่านั่นเป็นของของคุณ การเป็นผู้ชนะในสงครามไม่ได้ทำให้คุณมีสิทธิ์นั้น การมีอาวุธมากกว่าไม่ได้ทำให้คุณมีสิทธิ์นั้น การเป็นพลเมืองของแคปิตอลก็ไม่ได้ทำให้คุณมีสิทธิ์นั้น’

หากบรรยายบรรยากาศทั้งหมดของแคปิตอลเมื่อหลายสิบปีก่อนว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง คงหนีไม่พ้นต้องสปอยล์ให้หมดอารมณ์ เท่าที่เล่าได้ สิ่งที่เห็นคือความสับสนของผู้คน ทั้งคนจากเขตปกครองและคนที่อยู่ในแคปิตอล เกมล่าชีวิตไม่ใช่รายการเกมโชว์น่าดูเหมือนปัจจุบัน ไม่มีความตื่นเต้น ไม่มีอารมณ์ร่วม ไม่ต่างอะไรกับการเดินเข้าสวนสัตว์แล้วดูสัตว์ที่อยู่ในกรง แต่เปลี่ยนจากสัตว์มาเป็นเด็กจากเขตปกครองแทน ซึ่งภาพแบบนั้นยังไม่ได้เป็นเรื่องคุ้นเคยของคนในแคปิตอลเหมือนอย่างปัจจุบัน 

ย่อมไม่มีคนปกติที่ไหนต้องการจะดูเด็ก 24 คน ต่อสู้กันจนตาย มันหดหู่และน่าสังเวชเกินไป 

แต่ถึงอย่างนั้น เมื่อวันเวลาผ่าน เกมล่าชีวิตที่ถูกละเลยกลับกลายเป็นเกมยอดนิยมที่มีผู้ชมสูง ซึ่งคอริโอเลนัส สโนว์ คือส่วนสำคัญที่ทำให้เกมล่าชีวิตเดินไปถึงจุดนั้น

 

2

เกมล่าชีวิตเมื่อก่อนไม่เหมือนตอนนี้ สมัยที่แคตนิสต้องลงแข่ง ผู้ดูแลและที่ปรึกษาคือบรรณาการที่เคยชนะในการแข่งขันครั้งก่อนๆ ทว่าในยุคของคอริโอเลนัส บรรณาการชายหญิงทั้ง 24 คน จะมีที่ปรึกษาเป็นนักเรียนหัวกะทิของแคปิตอล และเรามองว่า จุดนี้คือช่องโหว่สำคัญที่ทำให้สังคมเกิดความเปลี่ยนแปลง 

คอริโอเลนัสผู้โดดเด่น สุภาพอ่อนน้อม ช่างพูดและมีความคิด เขาคือหนึ่งในนักเรียนที่ถูกเลือกให้ดูแลบรรณาการหนึ่งคนจากเขตปกครอง หากโชคดีคอริโอเลนัสจะได้ดูแลเด็กจากเขต 1 และ 2 ที่มักมีสถิติชนะบ่อยกว่าเขตอื่น เขาคาดหวังกับการได้มีส่วนร่วมในเกมล่าชีวิต ทว่ากลับได้ตัวแทนหญิงจากเขต 12 นามว่า ‘ลูซี่ เกรย์’ เด็กสาวที่ไม่ได้มีร่างกายกำยำแข็งแกร่งเหมือนบุรุษ เด็กสาวมอซอจากเขตห่างไกลที่มักตายก่อนเขตอื่นๆ มาเสียได้

และเด็กผู้หญิงจากเขต 12 คนนี้คือส่วนสำคัญ ที่ทำให้คอริโอเลนัส สโนว์ ได้รู้จักกับคำว่า ‘ความเป็นมนุษย์’ 

ความเป็นมนุษย์ที่ว่าคืออะไร? ความเป็นมนุษย์คือความซับซ้อนทางอารมณ์ ความรู้สึกรัก โลภ โกรธ หลง ห่วงใย อิจฉาริษยา และความรู้สึกสงสารปนเห็นอกเห็นใจ 

แคปิตอลสร้างความสงสัยให้ผู้อ่านพอสมควร เพราะเหตุใดรัฐถึงตัดสินใจให้เด็กที่อยู่ในโลกคนละใบได้มาใกล้ชิด และแลกเปลี่ยนความรู้สึกกัน ความเป็นมนุษย์ทำให้คนกระทำสิ่งไม่คาดฝัน ความเป็นมนุษย์อาจทำให้กติกาของสังคมและเกมล่าชีวิตเปลี่ยนไป 

เพราะแคปิตอลไม่ใช่ดินแดนที่เหมาะกับทุกคน

‘มนุษย์เราอาจจะไม่สมบูรณ์แบบ แต่เราก็ไม่ได้ตกต่ำขนาดนั้น’

 

3

“ฉันนี่แหละคือตัวร้าย” ประโยคนี้กล่าวโดยเด็กชาย คอริโอเลนัส สโนว์ ขณะนิยามถึงตัวเอง

และเราก็เห็นด้วยแบบสุดหัวใจ ว่าสโนว์คือคนที่มีมิติที่ซับซ้อนมากที่สุดคนหนึ่งของพาเน็ม

หากอ่านหนังสือจบแล้วถูกถามว่า “พอรู้จักชีวิตอีกแง่มุมของสโนว์ รู้สึกชอบเขามากขึ้นไหม?” เราคงไม่อาจตอบได้ทันทีว่าชอบ หรือไม่ชอบ 

เขายังคงเป็นคนที่เย่อหยิ่งไม่เปลี่ยนแปลง บางช่วงบางตอนก็รู้สึกสงสาร หลายครั้งหลายคราที่รู้สึกเห็นใจ และอยากเอาใจช่วยให้เขาเจอกับ ‘ความสุข’ ทว่าสิ่งที่จะทำให้คอริโอเลนัสมีความสุขมันช่างยากเย็น ในโลกของแคปิตอลล้วนเต็มไปด้วยการทรยศหักหลัง หลายคนจำต้องทิ้งความเป็นมนุษย์ที่เพิ่งได้สัมผัสถึงความสุข และการเป็นคนดีคงไม่ทำให้คุณได้สิ่งที่ถวิลหา

คอริโอเลนัสมีโอกาสได้สอนผู้อ่านทุกคน ชายคนนี้สอนให้เข้าถึงความหมายของคำว่า ‘ความรัก’ เขาเป็นชายที่มีความรัก เขารักบทบาทของเขา เขารักสิทธิ์ที่เขามี เขารักคนที่ด้อยกว่า แต่สิ่งที่เขารักมากที่สุดคือ ‘ตัวของเขาเอง’

บางครั้งคอริโอเลนัสกลายเป็นผู้แพ้ หลายครั้งที่คอริโอเลนัสกลายเป็นผู้ชนะ แต่ในดินแดนพาเน็ม ไม่มีสิ่งใดที่แน่นอนและจีรัง แม้กระทั่งอำนาจของคอริโอเลนัส ชายผู้อยู่บนจุดสูงสุดของพาเน็มก็ตาม 

‘งานเลี้ยงยังไม่จบ จนกว่าจะได้ยินเสียงร้องของนกม็อกกิ้งเจย์’

Fact Box

ลำนำแห่งนกร้องเพลงและอสรพิษ, ผู้เขียน ซูซานน์ คอลลินส์, ผู้แปล อภิญญา ธโนปจัย, แพรวสำนักพิมพ์ ราคา 545 บาท

Tags: , , , , , ,