อาจเป็นเรื่องประหลาด ที่อยู่ดีๆ เราก็หยิบเอา Chernobyl (2019) มินิซีรีส์เมื่อสองปีก่อนกลับมาเล่าอีกครั้ง แต่นั่นเป็นเพราะหลังจากมองดูสภาวะความฟอนเฟะในสังคมที่ประชาชนต้องเผชิญ ก็พบว่ามันมีบางอย่างที่เชื่อมโยงกับซีรีส์ความยาวห้าตอนจบนี้ นั่นคือการพูดถึงผลลัพธ์จากการที่รัฐบาลปิดบังความจริงจากประชาชน จนเกิดเป็นหายนะและโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ในประเทศที่แม้ไม่อยากจำแต่ก็ลืมกันไม่ได้

ท่ามกลางความว้าวุ่นจากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19, การแพร่ระบาดที่กระจายเป็นวงกว้างที่รุนแรงและรวดเร็ว, ระบบสาธารณสุขที่แบกรับภาระมาอย่างยาวนานเริ่มง่อนแง่น ตลอดจนวัคซีนที่อาจต้องสั่งเจ้าอื่นเข้ามาภายหลังจากที่การ ‘แทงม้า’ ตัวเดียวนั้นไม่ประสบผลสำเร็จนัก หรือกระทั่งผลกระทบที่เกิดจากการฉีดวัคซีนที่รัฐต้องผลัดกันออกมาแก้ต่างด้วยการเลี่ยงบาลีเช่นเคย และช่วยไม่ได้เลยที่ภาวะบอกไม่หมดเช่นนี้ จะสร้างเงื่อนไขความคลางแคลงใจต่อประชาชน พร้อมสายตากังขามองตรงมายังรัฐบาลซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลผู้คนในประเทศตรงตัว และความหมกเม็ดจากรัฐบาลนี่เอง ที่จะส่งผลเสียต่อภาพรวมมากกว่าการคายความจริงออกมาทั้งหมดเสียอีก

และ Chernobyl มินิซีรีส์ร่วมสองสัญชาติ (สหรัฐอเมริกา-สหราชอาณาจักร) จากช่อง HBO ที่ออกอากาศในปี 2019 นั้นก็พูดเรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญ โครงเรื่องหลักของมันนั้น ว่าด้วยนาทีที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลระเบิดขึ้นในแคว้นเคียฟ และรัฐบาลของสหภาพโซเวียตตัดสินใจไม่บอกความร้ายแรงแก่ประชาชน อันเนื่องมาจากกลัวรับมือจากความตื่นตระหนกไม่ไหว และที่สำคัญคือ เพื่อคานไม่ให้ฝั่งเสรีประชาธิปไตยจากอีกซีกโลกฉวยเป็นเครื่องมือเล่นงานในเชิงการเมืองเอาได้ รัฐบาลจึงสั่งให้คนของตนปิดปากเงียบ และให้สัมภาษณ์เพียงว่าเป็นระเบิดทั่วไป ปล่อยให้ประชาชนยังใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ซึ่งสารกัมมันตรังสีอวลอยู่ในอากาศทุกตารางนิ้ว

ซีรีส์จับจ้องไปยังชีวิตจริงของ วาเลรี เลกาซอฟ (จาเร็ด แฮร์ริส) นักเคมีและสมาชิกของสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งสหภาพโซเวียต ชายผู้ตีแผ่ ‘ความร้ายแรง’ ของเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดจนถูกรัฐบาลลงโทษ โดยก่อนหน้านั้น ช่วงกลางดึกของคืนวันที่ 26 เมษายน 1986 ชาวเมืองเชอร์โนบิลเป็นอันต้องตื่นขึ้นมาจากการหลับใหลด้วยเสียงกัมปนาทจากหน้าต่าง พวกเขาเห็นเปลวเพลิงลุกโชนอยู่แถบแม่น้ำนีเปอร์

วาสิลี อิกนาเทนโก (อดัม นาไกทิส) พนักงานดับเพลิงหนุ่มจำต้องคว้าชุดเครื่องแบบออกมาจากบ้านอย่างเร่งด่วน ตรงไปยังสถานที่เกิดเหตุโดยที่ ลุดมิลลา (เจสสิกา บัคลีย์) ภรรยาผู้เป็นที่รักยืนมองตามด้วยความเป็นห่วง ในที่เกิดเหตุนั้น พวกเขาพบว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แหลกเป็นเถ้า มีพนักงานเสียชีวิตทันทีหลายสิบคน ไกลออกไป ชาวบ้านพากันออกมายืนอยู่ริมน้ำ มองดูละอองเถ้าสีดำที่ค่อยๆ โรยตัวลงพื้นอย่างเชื่องช้า ท่ามกลางเปลวเพลิงสว่างไสวที่ลุกโชนอยู่ห่างออกไปไม่กี่ร้อยเมตร 

รัฐบาลเรียกประชุมผู้เชี่ยวชาญอย่างเร่งด่วน วาเลรีได้รับมอบหมายให้หาสาเหตุที่แท้จริงของการระเบิดในครั้งนี้ และเขาพบว่าเหตุผลหลักคือการทำงานผิดพลาดของการทดลองระบบหล่อเย็นในโรงไฟฟ้า ซึ่งอันที่จริงต้องทดลองในช่วงกลางวัน แต่เกิดความล่าช้าจนเปลี่ยนกะไปทดลองช่วงกลางคืน ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่รับเวรไม่มีความชำนาญเรื่องนี้ จนทำให้เกิดแรงดันไอน้ำพุ่งขึ้นสูงฉับพลัน แกนปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 4 จึงหลอมและนำไปสู่การระเบิดครั้งใหญ่ในที่สุด กลายเป็นหายนะครั้งสำคัญของโซเวียต

อย่างไรก็ตาม ด้วยบริบทสงครามเย็นที่ปกคลุมโลกอยู่ในเวลานั้น รัฐบาลยืนยันไม่ยอมแถลงข่าวว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อันแข็งแกร่งของโซเวียตนั้นล้มเหลว “รังสีมันไม่ได้ร้ายแรงอะไรขนาดนั้น เทียบเท่ากับไปเอ็กซเรย์ทรวงอกนั่นแหละ” เพราะโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นหนึ่งใน ‘แสนยานุภาพ’ ที่ฝั่งสหภาพโซเวียตใช้ถือเป็นแต้มต่อว่าก้าวหน้าล้ำกว่าฝ่ายเสรีประชาธิปไตย และเพื่อจะถือธงนี้ไว้ พวกเขาสั่งให้วาเลรีปิดปากเงียบ พร้อมกับหาทางให้เรื่องสงบอย่างโดยไวที่สุด ทั้งไม่ยอมประกาศอพยพผู้คนในละแวกนั้น ซึ่งเริ่มป่วยหนักฉับพลัน ผิวหนังพวกเขาบวมเป่ง โรงพยาบาลล้นแน่นไปด้วยผู้คนที่ทะลักเข้ามาขอรับการรักษาจากอาการผิวไหม้เกรียม เลือดออก หรือทุรนทุรายจากอาการเจ็บแสบที่ไม่ปรากฏบาดแผล เกิดการแย่งชิงทรัพยากรทางการแพทย์ครั้งใหญ่ 

แต่ที่เลวร้ายกว่านั้นคือ เหล่าเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปสัมผัสกับเปลวเพลิงในระลอกแรกอย่างวาสิลี ที่ผิวหนังทุกชั้นลอกออกจนไม่เหลือเค้าเดิม มอร์ฟีนที่ใช้ระงับปวดกลายเป็นสิ่งของไร้ประโยชน์เช่นเดียวกับยารักษาโรคอื่นๆ ร่างกายของเขาบิดแหลกละเอียดทั้งที่ยังไม่ตาย พยาบาลที่ได้รับรังสีจากคนเจ็บทั้งวันและเริ่มแสดงอาการป่วยไข้ ยังคงต้องรับมือผู้ป่วยที่ทะลักเข้ามาทุกนาที กระทั่งล่วงมาอีกสองวัน เมื่อไม่อาจรับมือกับความสูญเสียได้อีกต่อไป รัฐบาลก็ประกาศอพยพคนกว่าสามแสนชีวิตออกจากพื้นที่เกิดเหตุในวันที่ 28 เมษายน 1986

ทั่วโลกจึงเป็นประจักษ์พยานอุบัติภัยครั้งสำคัญในโซเวียต และเจ้าหน้าที่อย่างวาเลรีก็ต้องหาคำตอบเพื่อไปตอบประชาคมโลกถึงสาเหตุของการระเบิดในครั้งนั้นให้ได้ และในเดือนสิงหาคมปีเดียวกันนั้น เขาเข้าประชุมพิเศษของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ในกรุงเวียนนา ออสเตรีย และนำเสนอรายงานของกลุ่มผู้แทนสหภาพโซเวียตอย่างสัตย์จริง เปิดเปลือยสาเหตุสำคัญที่ตบหน้ารัฐบาลโซเวียตฉาดใหญ่ ว่าแท้จริงแล้วสาเหตุสำคัญของการระเบิดนั้นไม่ได้อยู่แค่ที่ความไม่ชำนาญการของเจ้าหน้าที่กะกลางคืน แต่ยังอยู่ที่ระบบความปลอดภัยซึ่งยังไม่สมบูรณ์ของโรงไฟฟ้า วาเลรียังนำเสนอหลักฐานที่บอกว่า แม้ตอนก่อสร้างโรงไฟฟ้านั้นจะมีเจ้าหน้าที่มาตรวจเช็คความปลอดภัยแล้วก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงฉากหน้าเท่านั้น

คุณทราบหรือไม่ว่าการที่ออกมาตีแผ่ครั้งนี้ คุณกำลังทำให้ชีวิตตัวเองเสี่ยงนะ วาเลรี

ชีวิตเราทุกคนกำลังสุ่มเสี่ยง วาเลรีตอบอย่างเศร้าสร้อย ทว่าหนักแน่น เป็นเพราะเราโกหก ทุกคำโกหกของพวกเราคือหนี้ที่เราติดค้างความจริงเอาไว้ และวันใดวันหนึ่ง เราก็ต้องชำระหนี้นั้นในที่สุด

ราคาที่วาเลรีต้องจ่ายภายหลังออกมาตีแผ่ข้อเท็จจริงครั้งนี้คือ เขาถูกรัฐบาลสั่งตัดขาดเขาจากสังคมทุกช่องทาง และหนึ่งวันหลังครบรอบเหตุการณ์ภัยพิบัติเชอร์โนบิลในปี 1988 วาเลรีก็ตัดสินใจแขวนคอตายอยู่ในบ้านพักอันโดดเดี่ยวของเขา หลังจากพยายามอัตวินิบาตกรรมมาแล้วก่อนหน้านี้หลายหน และเป็นไปได้ว่าบาดแผลจากโศกนาฏกรรมที่เชอร์โนบิลนั้น จะกัดกินจิตใจของเขามาอย่างยาวนาน จนถึงที่สุดแล้ว เขาไม่อาจแบกรับมันได้อีกต่อไป

ความจริงไม่ได้แยแสแม้สักนิดว่าเราปรารถนาหรือต้องการอะไร มันไม่สนใจว่าใครเป็นรัฐบาลของเรา เรามีแนวคิดแบบไหน นับถือศาสนาอะไร…”

อย่างไรก็ดี ความพยายามปกปิดความจริงในครั้งนั้น สหภาพโซเวียตต้องแลกมาด้วยชีวิตคนนับร้อยที่ทยอยล้มตายหลังเหตุการณ์ระเบิด สารกัมมันตรังสียังแผ่ขยายอยู่ไปทั่วเมือง แม้รัฐบาลจะสั่งปิดตายแล้วจนถึงปัจจุบัน พร้อมสายตาไต่ถามเรื่อยไปจนถึงชิงชังจากประชาชนที่ต้องรับผลจากการโกหกของรัฐบาล ผู้หญิงหลายคนแท้งเด็ก หรือเด็กที่เกิดมาหลังจากช่วงเวลานั้นมีภาวะบกพร่องทั้งทางร่างกายและสติปัญญาหลายอย่าง กระทั่งสัตว์อย่างสุนัข แมว หรือกวาง ก็มีสภาพร่างกายบิดเบี้ยวและพิกลพิการจากผลของสารกัมมันตรังสีในครั้งนั้น

แน่นอนว่ามันได้กลายเป็นตราบาปครั้งสำคัญของสหภาพโซเวียต และเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ที่ชี้ให้เห็นว่า การที่ผู้นำไม่ยอมตรงไปตรงมากับประชาชนในห้วงยามแห่งความคับขัน เพียงเพื่อการรักษาความเปราะบางทางความรู้สึกของตัวเอง ล้วนแล้วแต่นำมาซึ่งหายนะเสมอ การแถลงความจริงอย่างตรงไปตรงมาพร้อมนำเสนอวิธีรับมือหรือทางออก ซึ่งแม้จะเจ็บปวดอยู่มาก หากแต่มันอาจแสดงถึงความมีวุฒิภาวะ และความรับผิดชอบของรัฐบาล 

และนั่นก็เป็นสิ่งที่ในห้วงยามนี้ ก็ยากจะบอกว่าเราจะยังพอหวังจากรัฐบาลชุดนี้ได้อยู่หรือไม่ กระนั้นเราก็ยังหวังให้ผู้มีอำนาจทั้งหลายได้เรียนรู้จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาด้วยเช่นกันว่า การปิดบังความจริงจากประชาชนนั้น มันก่อโศกนาฏกรรมได้ไม่แพ้ภัยพิบัติครั้งใดเลย

 

ภาพ

https://cdn.hbogo.eu/images/FD200C1F-3417-48CB-9717-EF33B525A714/1280_720.jpg.

https://www.kyivpost.com/wp-content/uploads/2019/03/pic.jpg

https://adventureua.com/storage/app/media/Blog%20photos/Is_it_safe_1.jpg

https://miro.medium.com/max/1200/1*HOMHW9b01QmucgGwOcNAEw.jpeg

Tags: , ,