ก่อนนิยามคำว่า ‘ไวรัล’ จะถือกำเนิดขึ้น คลิปวิดีโอแรกๆ ที่สร้างการกล่าวขวัญไปทั่วโลกอินเทอร์เน็ตคือ ภาพจากกล้องวงจรปิดที่บันทึกช่วงเวลาสุดท้ายของ ‘เอลิซา แลม’ (Elisa lam) เอาไว้

เหตุการณ์ภายในลิฟต์เพียงไม่กี่วินาที สร้างความประหลาดใจปนขนหัวลุกแก่ทุกคนที่พบเห็น จนก่อเกิดเป็นความสงสัยตามมาว่า เกิดอะไรขึ้นกับเธอ?

เอลิซา แลม เป็นนักศึกษาชาวแคนาดาเชื้อสายฮ่องกงวัย 21 ปี ระหว่างเดินทางไปเที่ยวลอสแอนเจลิสเพียงลำพัง จู่ๆ เธอก็หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย คลิปวิดีโอดังกล่าวเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญในการสืบคดี และเป็นจุดตั้งต้นของทฤษฎีสมคิดมากมายเพื่ออธิบายการหายตัวไปของเธอ

หลังจากนั้น 19 วัน ร่างของแลมถูกพบในแท็งก์น้ำของโรงแรม ไม่มีใครทราบสาเหตุว่าเธอไปอยู่ตรงนั้นได้อย่างไร จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ได้ข้อสรุปที่แน่ชัด

‘Crime Scene: The Vanishing at the Cecil Hotel’ ซีรีส์สารคดีเรื่องล่าสุดจากเน็ตฟลิกซ์คลี่แฟ้มทุกสิ่งอย่าง ตั้งแต่กระบวนการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สายลับไซเบอร์ ผู้คนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงตัวตนของแลม ออกมากางให้คนดูค่อยๆ ร่วมไขคดีปริศนานี้ไปพร้อมกัน แต่บทสรุปของสารคดีกลับพาเราไปไกลกว่าการค้นหาความจริง จนอาจกล่าวได้ว่า นี่เป็นการตีแผ่ความบิดเบี้ยวของสังคม โดยมีมหานครลอสแอนเจลิสเป็นฉากหลัง มีเอลิซา แลมเป็นตัวละครหลัก และมีชาวแอลเอทุกคนร่วมแสดง

ความน่าสะพรึงกลัวใต้พรมแดง 

สารคดีเปิดฉากด้วยการปูพื้นว่า ‘เอลิซา แลม’ เป็นใคร หญิงสาวผู้รักการบันทึกทุกเรื่องราวของชีวิตผ่าน Tumblr การออกเดินทางมาแอลเอของเธอไม่ต่างกับวัยรุ่นหลายๆ คน ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อค้นหาตัวเอง เพียงแต่แอลเอในความเป็นจริงอาจไม่ใช่แอลเอในแบบที่เธอรู้จัก

ความน่าสะพรึงกลัวของเมืองนี้ถูกยัดเอาไว้ใต้พรม คนนอกไม่เห็น คนในทำเหมือนไม่เคยมีอยู่ แลมไม่อาจล่วงรู้ได้เลยว่า เธอกำลังพักโรงแรมเดียวกันกับอาชญากรทุกแขนง

ย้อนกลับไปปลายปี 1924 ยุครุ่งเรืองของมหานครลอสแอนเจลิส โรงแรมเซซิลถือกำเนิดขึ้นมาด้วยทุนสร้างมหาศาล ทำเลใจกลางเมืองใกล้สถานีรถไฟ ประกอบกับมีห้องพักกว่า 700 ห้อง ทำให้โรงแรมเซซิลเป็นหมุดหมายยอดนิยมของนักท่องเที่ยว

ยุคทองของโรงแรมเซซิลถึงจุดสิ้นสุดช่วงวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ผู้คนหลายล้านคนต้องตกงาน หนทางการเอาตัวรอดของโรงแเรมเซซิลจึงเปลี่ยนเป็นที่พักระยะยาวสำหรับคนรายได้ต่ำ ด้วยราคาแสนถูกแค่ 2-3 เหรียญจึงดึงดูดคนมุมมืดหรือคนที่เรียกกันว่า ‘เดนสังคม’ มารวมตัวกันจนไม่อาจควบคุมได้

“เรามีคดีคนหาย ฆ่าตัวตาย ใช้ยาเกินขนาด ”

“ด้วยเหตุผลบางประการ มีความบ้าคลั่งเกิดขึ้นหลังกำแพงนั้น พ่อค้ายาเสพติด โสเภณี พวกข่มขืน ฆาตกร”

“เซซิลเป็นสถานที่ที่พวกฆาตกรต่อเนื่องได้มาปลดปล่อยตัวเอง”

 

หลากคำบอกเล่าถึงโรงแรมแห่งนี้ ความน่ากลัวที่สะสมต่อๆ กันมาทำให้ ‘เซซิล’ ไม่ต่างอะไรจากสรวงสวรรค์ของคนบาป ความปล่อยปละละเลยของเจ้าหน้ารัฐเอื้อให้พวกเขาสามารถกระทำผิดได้อย่างไม่ต้องเกรงกลัว แทบทุกตารางนิ้วของโรงแรมจึงมีประวัติดำมืดเต็มไปหมด

ผู้บริหารพยายามชุบชีวิตชีวาเซซิลใหม่ ด้วยการปรับแต่งให้กลายเป็นโรงแรมสองแห่งในตึกเดียว ‘สเตย์ออนเมน’ (Stay on main) ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อบังหน้าความป่นปี้ของเซซิล ผู้เช่าระยะยาว 80 คน (ที่อาจจะไม่ใช่ผู้เช่าที่ดีนัก) ถูกจัดสรรไปอยู่ชั้นต่างๆ แบบเป็นสัดส่วน แม้ความจริงพวกเขาจะอยากไล่ออกไปให้จบๆ แต่กฎหมายจากภาครัฐผูกมัดเอาไว้

ถึงตรงนี้ เราจะเห็นว่า ‘รัฐ’ เป็นตัวละครใหญ่ในการบีบให้เซซิลต้องย้อมแมวเอาตัวรอด เซซิลและโรงแรมอื่นๆ ที่คล้ายกันล้วนเป็นส่วนหนึ่งของโครงการจัดการเมือง ที่อนุญาตให้คนไร้บ้านหรือรายได้น้อยสามารถมีบ้านอยู่ได้ระยะหนึ่ง

ถัดจากโรงแรมเซซิลไม่กี่ช่วงตึก นักท่องเที่ยวจะได้พบกับ ‘สคิดโรว์’ (Skid Row) ย่านอันตรายที่สุดแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา แหล่งรวมคนไร้บ้านหรือใครก็ตามที่ถูกขับไสออกจากสังคม

“มันกลายเป็นที่ทิ้งขยะ หลังจากคนถูกปล่อยตัวออกจากคุกหรือสถานบำบัดจิต พวกเขาจะถูกส่งตัวไปยังสคิดโรว์ เพราะทางเมืองต้องการให้แน่ใจว่าคนประเภทนี้จะอยู่แยกห่างจากส่วนอื่นๆ ของลอสแอนเจลิส”

สคิดโรว์เป็นผลผลิตจากการจัดการเมือง หลังวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ย่านนี้เริ่มมีคนไร้บ้านเข้ามาอาศัยอยู่ จากหลักสิบเป็นหลักร้อย ไปจนถึงหลักหมื่น กระทั่งช่วงยุค1970s ทางเมืองออกนโยบายกักกันคนเหล่านี้ให้ไปรวมอยู่ในย่านสคิดโรว์เพียงที่เดียว ล้อมพวกเขาเอาไว้ด้วยรั้วและเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่อะไรก็ไม่สามารถหยุดความป่าเถื่อนได้ การซื้อยา การขายตัว ความคลั่งของคนจิตผิดปกติ เกิดขึ้นสลับไปมาอย่างไม่หยุดหย่อน กระทั่งตำรวจเองก็ยังรู้สึกไม่อยากจะย่างกรายไปเหยียบถนนเส้นนี้

แม้ปี 2000 เป็นต้นมา รัฐจะพยายามดึงดูดผู้คนให้เข้ามาอยู่ใจกลางเมืองด้วยการพัฒนาโครงการต่างๆ เพื่อเปลี่ยนความไม่น่าพิสมัยให้กลายเป็นเทรนด์แห่งใหม่ในแอลเอ แต่ไม่ว่าแอลเอจะพัฒนาไปไกลขนาดไหน ปัญหาในสคิดโรว์ยังคงดำรงอยู่มายาวนานหลายทศวรรษ และจะดำรงอยู่ต่อไปตราบนานเท่านาน หากปัญหาเชิงโครงสร้างทางสังคมยังถูกเพิกเฉย

แอลเอเป็นเมืองที่มีประชากรอาศัยอยู่มากเป็นอันดับ 2 ของสหรัฐฯ แต่การเกิดขึ้นใหม่ของที่พักอาศัยกลับมีเพียงหยิบมือ ราคาอสังหาริมทรัพย์สูงลิ่วจนยากจะเอื้อมถึงบีบให้คนไม่มีทางเลือก ยังไม่รวมอัตราการว่างงานที่เพิ่มตั้งแต่ก่อนโควิดระบาด ยิ่งวิกฤตโควิดมาซ้ำ ทุกอย่างยิ่งเลวร้ายลง

แอลเอเป็นแค่หนึ่งในหลายเมืองใหญ่บนโลกนี้ ที่ซุกซ่อนปัญหาเอาไว้ใต้พรม เราไม่อาจล่วงรู้เลยว่าอะไรอยู่ใต้นั้น จนกว่าจะมีการสูญเสียที่ทำให้เรื่องแดงขึ้นมา

ทฤษฎีสมคบคิดเบี่ยงเบนความจริง

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ สารคดีนำทฤษฎีสมทบคิดที่เกิดขึ้นจากชาวเน็ตมาตีแผ่ วิเคราะห์ และค่อยๆ คลายปมออกมา ทั้งประเด็นอาวุธชีวภาพปล่อยเชื้อโรค การพัวพันกับยาเสพติด การฆ่าตัวตายเลียนแบบภาพยนตร์ เหตุฆาตกรรมจากฆาตรกรโรคจิต การถูกไล่ล่าจากองค์กรลับ รวมไปถึงการเผชิญหน้ากับสิ่งที่มองไม่เห็น ก่อนสารคดีจะหักล้างทฤษฎีต่างๆ ด้วยหลักฐานทางเอกสารของตำรวจว่าแลมเป็นผู้ป่วยทางจิต มีพฤติกรรมแปลกประหลาดหากหยุดกินยา และสรุปการเสียชีวิตว่าเกิดจาก ‘อุบัติเหตุ’

ถึงกระนั้น หลักฐานจากตำรวจเองก็เต็มไปด้วยคลุมเครือ ไม่ว่าจะเป็นคำให้การถึงฝาถังที่เปิด-ปิดไม่สอดคล้องกัน ช่วงเวลาที่หายไปจากกล้องไม่กี่วินาที ความผิดพลาดของการสำรวจในรอบแรก และผลชันสูตรที่มีการเปลี่ยนแปลงจาก ‘ระบุไม่ได้’ เป็น ‘อุบัติเหตุ’ ในตอนจบ ยิ่งสร้างความน่าฉงนให้กับคดีนี้เป็นเท่าตัว

อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ใช่ประเด็นที่เราควรไปขบคิดกันต่อ เพราะกลายเป็นว่าทฤษฎีสมคบคิดเหล่านี้ พาเราไปไกลจากความจริงว่า เธอเป็นผู้ป่วยจิตเวช และการอยู่ในสถานที่ที่บรรยากาศน่าสะพรึงกลัว ทั้งสองอย่างได้เปลี่ยนเธอจากเด็กสาวที่ต้องการแสวงหาโอกาสใหม่ในชีวิต กลายเป็นเหยื่อของโครงสร้างอันบิดเบี้ยวนี้

พูดง่ายๆ ก็คือ สารคดีสะท้อนออกมาว่า เราควรสนใจความจริงอันน่าเศร้าของสิ่งที่ผู้ป่วยจิตเวชต้องเผชิญ และระบบผังเมืองที่จำกัดพื้นที่สคิดโรว์ให้กลายเป็นแหล่งอาชญากรรม จนทำให้เกิดโศกนาฏกรรมในโรงแรมมาทุกยุคทุกสมัย

จะว่าไป คดีของแลมก็คล้ายหนังสยองขวัญ The Shining (1980) ของ สแตนลีย์ คูบริก หนังดัดแปลงจากหนังสือต้นฉบับของสตีเฟน คิง ที่เต็มไปด้วยทฤษฎีมากมายหลังหนังจบ บ้างก็ว่าเป็นไสยศาสตร์ผีสางที่ทำให้เกิดเรื่องราวความเลวร้าย บ้างก็ว่าเป็นประเด็นทางจิตวิทยาที่เปลี่ยนแปลงบุคลิกตัวละครไปอย่างสิ้นเชิง ทว่า The Shining ก็เป็นเพียงเรื่องแต่งที่สร้างขึ้นมาเพื่อความบันเทิงในรูปแบบภาพยนตร์สยองขวัญเท่านั้น แต่เรื่องราวของเอลิซา แลมเป็น ‘เรื่องจริง’

Tags: , , , ,