เมื่อก่อนหากใครรู้สึกประสบปัญหาสุขภาพจิต เราอาจจะใช้ศาสนาเป็นที่พึ่งทางใจ แต่เวลาผ่านไปหลังมีความรู้ว่า อาการทางจิตมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการหลั่งสารเคมีในสมองผิดปกติ ไม่ใช่เพราะใจอ่อนแอ การพบจิตแพทย์จึงเริ่มเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการรักษา พร้อมกับการจ่ายยาที่ว่ากันว่า ‘ช่วยปรับระดับสารเคมีในสมองให้สมดุลได้’ โดยหารู้ไม่ว่ายาเหล่านั้นอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต 

Cause of Death: Unknown ภาพยนตร์สารคดีที่ออกฉายครั้งแรกเมื่อปี 2017 แต่ยังเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันที่ปัญหาสุขภาพจิตเกิดขึ้นถ้วนหน้าไม่แพ้โรคระบาด จึงเหมาะที่จะนำมาพูดถึงอีกครั้ง

**เนื้อหาต่อไปนี้เปิดเผยรายละเอียดสำคัญของภาพยนตร์ **

ค่า ‘ชีวิต’ ของคนมากกว่าหนึ่ง

การเสียชีวิตอย่างกะทันหันของพี่สาวผู้อยู่ระหว่างการรับยาเพื่อรักษาอาการทางจิต เป็นแรงผลักดันให้ ออนนิเกน โฮเลอ (Anniken Hoel) ผู้กำกับสารคดีเรื่องนี้ ลงมือสืบสวนหาสาเหตุการเสียชีวิตอันเป็นปริศนา ก่อนจะนำไปสู่การค้นพบเงื่อนงำของอุตสาหกรรมยาระดับโลกที่เกี่ยวพันทั้งวงการแพทย์ บริษัทยา รัฐบาล และชีวิตของประชาชน 

โฮเลอใช้เวลาในการถ่ายทำนานถึงสิบปี ข้อค้นพบที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พาเธอออกจากเมืองเล็กๆ ในประเทศนอร์เวย์ ไปสู่ทั่วสแกนดิเนเวีย ยุโรป และสหรัฐอเมริกาประเทศที่มีผู้คนหัวใจวาย 83,000 ราย จากการใช้ยาระงับอาการทางจิตเพียงตัวเดียว 

ช่วงแรกของสารคดีเป็นการบอกเล่าถึงความเจ็บปวดของโฮเลอจากการสูญเสีย ‘เรนาเทอ’ (Renate) พี่สาวอันเป็นที่รักขณะมีอายุเพียง 35 ปี ประวัติของพี่สาวตั้งแต่วัยเด็กกระทั่งเติบโต ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับเขาที่ผูกพันกันแน่นแฟ้น ค่อยๆ แง้มเปิดให้คนดูเข้าใจว่า เหตุใดโฮเลอถึงอุทิศช่วงเวลากว่าหนึ่งทศวรรษเพื่อสารคดีเรื่องนี้ เพราะสิ่งที่เธอค้นพบไม่ได้มีความหมายเพียงชีวิตของพี่สาวเธอ แต่รวมถึงชีวิต ‘ทุกคน’ ที่สามารถประสบชะตาเดียวกันได้สักวัน 

“ฉันสงสัยว่า ชีวิตมนุษย์คนหนึ่งมีค่าเท่าไหร่กัน” 

ความสงสัยในใจของโฮเลอกลายโจทย์ใหญ่ของเรื่องทั้งหมด การสืบสวนเริ่มต้นขึ้นจากโรงพยาบาลที่เรนาเทอเข้ารับการรักษาโรคจิตเภท ช่วงหกเดือนก่อนเรนาเทอเสียชีวิต จิตแพทย์เพิ่มปริมาณยาให้เธออย่างต่อเนื่อง โดยมียาทั้งหมดอยู่ 5 ตัวด้วยกัน บางตัวได้รับในขนาดสูงมาก หลังเรนาเทอเสียชีวิตไปสองปี คำเตือนเรื่อง Sudden death คือ ‘การตายอย่างเฉียบพลัน’ เพิ่งถูกเพิ่มเข้าไปในฉลากยาทุกตัวที่เธอเคยได้รับ หนึ่งในนั้นเป็นยาชื่อ ‘ไซเพร็กซา’ (Zyprexa) 

เมื่อโทรศัพท์ไปสอบถามจิตแพทย์เจ้าของไข้เรนาเทอ เขาให้คำตอบว่าไม่ทราบข้อมูลนี้ สิ่งที่อาจเป็นอันตรายคือยาสามารถส่งผลให้หัวใจเต้นผิดจังหวะได้ แต่เป็นไปไม่ได้ที่ยาเหล่านั้นจะทำให้เสียชีวิต…ซึ่งไม่เป็นความจริง 

โฮเลอพบรายงานการเสียชีวิตของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยาระงับอาการทางจิต 126 รายในนอร์เวย์ ทว่าการรายงานเรื่องผลข้างเคียงของยานั้น คิดเป็นเพียงแค่ 5% เมื่อเทียบกับผลร้ายแรงที่เกิดขึ้นจริง นั่นหมายถึงตัวเลขผู้เสียชีวิตอาจสูงกว่า 126 ราย เป็น 2,500 ราย

ในช่วงทศวรรษ 2000 ยาระงับอาการทางจิต เป็นยาที่มียอดขายมากที่สุดในโลก แม้จะมีข้อมูลบ่งบอกเอาไว้ว่ายาเหล่านี้ส่งผลต่อการเต้นของหัวใจได้เล็กน้อย แต่สิ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้คือ หากกินยามากกว่าหนึ่งตัวพร้อมกัน ผลข้างเคียงที่เล็กน้อยก็สามารถแปรเปลี่ยนกลายเป็นผลร้ายแรงที่ฆ่าเราให้ตายได้ แต่ไม่มีคำเตือนนี้ถูกติดไว้บนฉลากยา 

ในสหรัฐอเมริกา อดีตทหารผ่านศึกที่เสียชีวิตกระทันหัน ขณะรักษาภาวะป่วยทางจิตใจจากเหตุการณ์รุนแรง (PTSD) ได้รับยาถึง 19 ตัวในระยะเวลาเพียง 11 เดือน และแม้จะเป็นการกินตามใบสั่งแพทย์ แต่นั่นเป็นปริมาณมากกว่าที่ควรจะกินถึงสองเท่า หากถามว่าจิตแพทย์ไม่รู้หรือ? คงต้องบอกว่าเรื่องนี้ยาวไกลเกินกว่าจะเพิ่งสรุป

ฉากหลังของอุตสาหกรรมยา 

บริษัทผู้ผลิตยา ‘ไซเพร็กซา’ มีชื่อว่า Eli Lilly and Company หรือลิลลี่ พวกเขาเคยสร้างหน้าประวัติศาสตร์ด้วยการทำให้ยารักษาโรคซึมเศร้าที่ชื่อ ‘โพรแซค’ (Prozac) ขายดิบขายดีในสหรัฐอเมริกายิ่งกว่าโคเคน เนื่องจากโรคซึมเศร้าสามารถวินิจฉัยได้โดยแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป ไม่จำเพาะเจาะจงจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเท่านั้น แต่ไซเพร็กซาต่างจากโพรแซค ตรงที่ว่ามันอนุญาตให้ใช้เฉพาะในการรักษาโรคจิตเภทและโรคไบโพลาร์เท่านั้น ลิลลี่จึงทำการตลาดด้วยการโน้มน้าวแพทย์และผู้บริโภคว่า พวกเขาอาจไม่ได้เป็นโรคซึมเศร้า แต่เป็นโรคไบโพลาร์ต่างหาก แน่นอนว่าพวกเขาทำสำเร็จ ยาไซเพร็กซาทำเงินให้กับบริษัทลิลลี่มากกว่าโพรแซคเสียอีก  

อย่างไรก็ตาม ภายหลังบริษัทลิลลี่ถูกปรับเป็นเงินราวพันล้านดอลล่าห์สหรัฐฯ ฐานจงใจปกปิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายของยาไซเพร็กซา และทำการตลาดผิดกฎหมาย อาจดูคล้ายกับลิลลี่ได้รับผลคืนสนอง หากตลอดระยะเวลาสัญญาพวกเขาไม่ทำกำไรได้มากกว่าหมื่นล้านดอลล่าห์สหรัฐฯ  เงินที่เสียไปจึงนับว่าน้อยนักเมื่อเทียบกับผลตอบแทนที่ได้มา และลิลลี่ก็ไม่ใช่บริษัทยาแห่งเดียวที่ทำธุรกิจลักษณะนี้ 

ทว่า อุตสาหกรรมยาไม่หยุดทำการตลาดเพียงข้างต้น พวกเขาเอาตัวเองเข้าไปอยู่เบื้องหลังวารสารทางการแพทย์ที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อความเห็นของแพทย์ โดยปกติแล้วบริษัทยาจะควบคุมการทดลองทางคลินิกทั้งหมด ผลการทดลองที่เป็นลบจึงไม่เคยผ่านตานักวิจัย แพทย์ หรือคนทั่วไป ขณะเดียวกันงานวิจัยทางการแพทย์เองก็มักจะตีพิมพ์เฉพาะการศึกษาที่ได้ผลเชิงบวก ดังนั้น วารสารทางการแพทย์จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่สุดของอุตสาหกรรมยา พวกเขาอาจให้เงินวารสารบางฉบับแบบอ้อมๆ หรือจ้างนักเขียนให้เขียนบทคัดย่องานวิจัยในเชิงบวก นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมแพทย์ส่วนใหญ่ถึงไม่รู้ตัวว่าตัวเองถูกชี้นำ 

นอกจากสารคดีจะชวนทุกคนตั้งคำถามถึง ‘ยา’ ที่อยู่ในมือ อีกด้านของสารคดีเผยให้เห็นถึงกระบวนทำงานของอุตสาหกรรมยาที่มีอิทธิพลมากในระดับที่สามารถกำหนดได้ว่า ใคร ‘ปกติ’ และใคร ‘ป่วย’ ทุกวันนี้ทั่วโลกอ้างอิงคู่มือจาก DSM ที่จัดทำโดยสมาคมจิตแพทย์อเมริกา ในกระบวนการวินิจฉัยโรคทางจิตเวชศาสตร์ แต่ 2 ใน 3 ของจิตแพทย์ที่ปรับปรุงคู่มือฉบับปัจจุบันมีความสัมพันธ์ทางการเงินกับอุตสาหกรรมยา 

มาถึงตรงนี้ หลายคนคงตั้งข้อสงสัยว่า องค์การกำกับดูแลยาปล่อยให้ยามาถึงมีผู้ป่วยได้อย่างไร “เรากำกับดูแลยา เราไม่ได้กำกับดูแลการใช้ยา” คือคำตอบของเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์อาวุโส องค์การยาแห่งยุโรป ( EMA ) พร้อมให้เหตุผลว่าองค์การฯ ทำงานโดยใช้ดุลพินิจพิจารณาความเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยเทียบเคียงกับความเสี่ยงตามข้อมูลที่ทราบเท่านั้น แต่เรื่องราวก็ยังคงไม่ได้หยุดอยู่แค่องค์การกำกับดูแลยา

จากประเด็นส่วนตัวของการสูญเสียคนในครอบครัวช่วงแรก สุดท้ายกลายมาเป็นปัญหาระดับนานาชาติที่ตอกย้ำข้อเท็จจริงที่ว่า ‘เรื่องส่วนตัวไม่เคยเป็นเรื่องส่วนตัวจริงๆ’ เมื่อมีการล็อบบี้ทางการเมืองของอุตสาหกรรมยาเข้ามาเกี่ยวข้อง ทุกอย่างถูกออกแบบให้ยาวางขายได้เร็วขึ้น และมีการตรวจสอบความปลอดภัยน้อยลง

คำตอบของคำถามว่าชีวิตมนุษย์คนหนึ่งมีค่าเท่าไรนั้น เราอาจมีค่าเป็นเพียงตัวเลขยอดขายของบริษัทยา หากวิธีการรักษาทางสุขภาพจิต ไม่ได้ให้ค่าความเป็นมนุษย์ก่อนเป็นอันดับแรก

Fact Box

สามารถรับชม Cause of Death: Unknown ในช่องทางออนไลน์ได้ที่ Doc Club on Demand
Tags: , , , ,