16 กรกฎาคม 1969 ยานอะพอลโล 11 ถูกปล่อยตัวจากฐานยิงจรวดที่แหลมเคนเนดี รัฐฟลอริดา เพื่อออกเดินทางไปยัง ‘ผืนทะเลแห่งความเงียบสงบ’ หรือ Mare Tranquillitatis บนดวงจันทร์ และอีกสามวันต่อมา นีล อาร์มสตรอง ก็ได้ก้าวเท้าเหยียบพื้นผิวนอกโลก พร้อมประโยคอันลือลั่น “นี่เป็นก้าวเล็กๆ ของมนุษย์คนหนึ่ง แต่เป็นก้าวกระโดดที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ” ก่อนปักธงสหรัฐอเมริกาลงบนดวงจันทร์ ในฐานะตัวแทนของมนุษย์ทั้งปวง
ห้าสิบปีให้หลังการออกเดินทางอันเป็นหมุดหมายความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และการชิงชัยกันของสงครามเย็น ระหว่างโลกคอมมิวนิสต์จากสหภาพโซเวียตและโลกเสรีจากอเมริกา ฟุตเทจความยาวหลายสิบชั่วโมงที่บันทึกรายละเอียดการออกเดินทางในครั้งนั้น ก็ได้รับการเผยแพร่และตัดต่อออกมาเป็นหนังสารคดีชื่อ Apollo 11 (2019)กำกับโดย ท็อดด์ ดักลาส มิลเลอร์ คนทำหนังที่เคยสร้างชื่อมาแล้วจาก Dinosaur 13 (2014) สารคดีว่าด้วยการติดตามค้นคว้าซากฟอลซิลชิ้นใหญ่ที่สุดของไทรันโนซอรัส หรือที-เร็กซ์ นักล่าแห่งยุคดึกดำบรรพ์
ก่อนหน้านี้ มิลเลอร์เคยทำโปรเจ็กต์สารคดีขนาดสั้น The Last Steps ว่าด้วยการเดินทางของยานอวกาศอะพอลโล 17 ยานอวกาศลำสุดท้ายในชุดอะพอลโลที่ลงจอดบนดวงจันทร์ในปี 1972 ช่วงนั้นเองเขาได้รับคำแนะนำให้ทำสารคดีเกี่ยวกับยานอะพอลโล 11 เพื่อต้อนรับวาระครบรอบห้าสิบปีของการออกเดินทางไปยังดวงจันทร์ มิลเลอร์ซึ่งสนอกสนใจประเด็นนี้อยู่แล้ว จึงรับไม้ต่อในการเล่าเรื่องการออกเดินทางไปยังดาวดวงอื่น และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการงมอยู่กับฟุตเทจภาพนับสิบชั่วโมง รวมถึงเทปเสียงบรรยายข่าวและเสียงทีมงานต่างๆ ที่คอยช่วยเหลือให้ยานร่อนลงจอดโดยสวัสดิภาพอีกนับหมื่นชั่วโมง
สิ่งที่น่าสนใจมากๆ คือ Apollo 11 เป็นสารคดีที่ไม่มีการใช้เสียงบรรยายเพื่อเล่าเรื่องราวที่กำลังเกิดขึ้นตรงหน้าเลย เสียงที่คนดูได้ยินคือเสียงการรายงานข่าวจากรายการโทรทัศน์และวิทยุ ตัดสลับกับเสียงการปฏิบัติงานของทีมฮิวสตัน ซึ่งคอยส่งข้อมูลและพูดคุยตอบโต้กับเหล่านักบินทั้งสาม ได้แก่ นีล อาร์มสตรอง, บัซ อัลดริน และ ไมเคิล คอลลินส์ ช่วงแรกของหนังจึงเต็มไปด้วยบรรยากาศความตื่นเต้นของผู้คนที่ออกมาจับจองพื้นที่ตามลานกว้างของรัฐฟลอริดา พร้อมกล้องส่องทางไกลหรือกล้องถ่ายรูปในมือ เพื่อเตรียมบันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ เสียงการรายงานข่าวชวนระทึก อธิบายถึงกระบวนการเดินทางอันยาวนานที่กำลังจะเกิดขึ้น และตอกย้ำว่าหากภารกิจนี้สำเร็จ อเมริกาจะเป็นประเทศแรกที่ส่งนักบินไปเยือนดวงจันทร์ได้เป็นเจ้าแรกของโลก ตัดสลับกับเสียงความวิตกกังวลตึงเครียดของทีมปฏิบัติการฮิวสตันที่นั่งอยู่ในห้องส่ง กำลังคำนวณข้อมูลความปลอดภัยต่างๆ และตรวจเช็กความเรียบร้อยเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนจะปล่อยยานออกจากฐานยิงจรวด
ขณะที่ฟุตเทจก็ได้บันทึกภาพความโกลาหล เบื้องหลังการออกเดินทางครั้งมหากาพย์นั้นไว้อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นภาวะเครียดจัดของทีมงาน สีหน้าวิตกขณะก้มหน้าตรวจดูรายละเอียดบนหน้ากระดาษหรือจอภาพทุกนาที เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีอะไรตกหล่นระหว่างการสื่อสาร งานภาพนี้เองก็เป็นอีกหนึ่งจุดแข็งของ Apollo 11 เพราะไม่กี่ปีก่อนหน้าภารกิจอะพอลโลในปี 1969 องค์กรนาซา (NASA) จับมือกับเอ็มจีเอ็ม สตูดิโอยักษ์ใหญ่ของฮอลลีวูด และ ฟรานซิส ทอมป์สัน คนทำหนังและโปรดิวเซอร์ผู้ขึ้นชื่อเรื่องการทำหนังที่มีความเป็นบทกวีสูงจาก To Be Alive! (1964) ที่คว้ารางวัลออสการ์สาขาสารคดีขนาดสั้นยอดเยี่ยม และได้รับการยกย่องว่าเป็นคนทำหนังคนแรกที่มีส่วนช่วยในการผลักดันหนังสั้นชื่อ To Fly (1976) ให้ได้ฉายในโรง IMAX เป็นเรื่องแรก ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลสำคัญว่า เหตุใดภารกิจพิชิตดวงจันทร์ในครั้งนี้จึงเต็มไปด้วยงานภาพแสนอลังการและงดงามหมดจด
ตัวมิลเลอร์กับทีมงานได้รับอภิสิทธิ์จากองค์การนาซาซึ่งเป็นผู้ดูแลฟุตเทจเหล่านี้มาตลอดห้าสิบปี ให้พวกเขาหยิบฟุตเทจใดก็ได้ที่หาพบในคลังไปใช้ประกอบในสารคดี มิลเลอร์จึงได้งานภาพล้ำค่าที่ถ่ายทำด้วยฟิล์ม 70 มม. ซึ่งไม่เคยได้รับการเปิดเผยในสารคดีหรือภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับการเดินทางของยานอะพอลโล 11 เรื่องใดมาก่อนมาไว้ในครอบครอง แลกกับที่เขาต้องคัดเลือกภาพเหล่านี้เลือดตาแทบกระเด็น
บัซ อัลดริน, นีล อาร์มสตรอง และ ไมเคิล คอลลินส์
“หนังเรื่องนี้มันมีเวอร์ชันความยาวเก้าวันอยู่ด้วยนะครับ” มิลเลอร์บอก “อันที่จริงฟุตเทจส่วนใหญ่ที่เรามีคือช่วงที่นักบินฝึกซ้อมและช่วงที่พวกเขากลับมาจากการออกเดินทางแล้ว แต่เราไม่ได้ใส่มันไปในหนังด้วย เพราะเรามองหาองค์ประกอบที่ทำให้มันออกมาเป็นหนังที่ดูสนุกที่สุดในทุกทาง สำหรับเรื่องเสียงบรรยาย เรามีทั้งฟุตเทจเสียงจากห้องควบคุม บนยานอวกาศ เสียงจากการสื่อสารระหว่างภาคพื้นดินกับอากาศยาน (air-to-ground) หรือแม้แต่เสียงจากการรายงานข่าว วอลเตอร์ ครอนไคต์ (ผู้สื่อข่าวชาวอเมริกันชื่อดังในยุค 70s) รายงานแทบจะนาทีต่อนาทีตลอดทั้งภารกิจนี้เลย เราต้องเอาทั้งหมดที่ว่านี่มากางออกแล้วเรียงต่อกัน เพื่อดูว่ากุญแจสำคัญที่สุดของภารกิจนี้อยู่ตรงไหน และตัวช่วยที่ดีที่สุดของเราคือสำเนาบันทึกที่เหล่าอาสาสมัครของนาซาสร้างไว้ให้”
มิลเลอร์เล่าถึงฟุตเทจการฝึกซ้อมของนักบินไว้ว่า “มีเรื่องหนึ่งที่ไม่น่ามีคนรู้คือ เรามีฟุตเทจบันทึกช่วงที่นักบินฝึกหัด และพวกเขาต้องฝึกใช้อุปกรณ์ถ่ายภาพด้วย ตอนที่พวกเขาคุยกับทีมงานภาคพื้นดิน เราจะได้ยินเสียงนักบินถามถึงเรื่องการเปิดใช้รูรับแสงหรือการใช้ฟิล์มต่างๆ ตลอดเวลาเลย” มิลเลอร์ยังบอกด้วยว่า ฟุตเทจส่วนใหญ่ของภารกิจนี้ที่เขาชอบคือฟุตเทจที่เหล่านักบินเป็นคนถ่าย “อย่างบัซ อัลดริน ถ่ายตอนยานกำลังร่อนลงพื้นผิวดวงจันทร์ด้วยกล้อง 16 มม. หรือที่ไมเคิล คอลลินส์ ถ่ายยานลงดวงจันทร์ไว้น่ะครับ”
อย่างไรก็ดี การนำฟุตเทจเก่ามาใช้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไป เพราะฟุตเทจที่บันทึกนั้นมีตั้งแต่ 70 มม. ไปจนถึง 65 มม., 35 มม., 16 มม. หรือแม้แต่ 8 มม. ที่แทบจะหาความคมชัดไม่ได้ ยอดมนุษย์ที่มาช่วยกู้สถานการณ์ทำให้ฟุตเทจเหล่านี้คมชัดมาก พอที่จะนำไปใช้ในหนังสารคดีได้คือ Final Frame โปรดักชันเฮาส์ที่อยู่เบื้องหลังหนังดังหลายเรื่อง ทั้ง Green Room (2015), Unlocking the Cage (2016) เป็นผู้มาช่วยบูรณะซ่อมแซมฟิล์มเก่าเหล่านี้ให้ออกมาดูใหม่และความคมชัดสูงกว่าเดิม
“อุปสรรคใหญ่ของงานนี้คือฟุตเทจมันเยอะและมีความเฉพาะตัวมากๆ” แซนดี แพตช์ หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยีของ Final Frame บอก เขาเคยร่วมงานกับมิลเลอร์มาตั้งแต่ Dinosaur 13 และ The Last Steps “สิ่งสำคัญที่สุดคือการได้เข้าถึงฟิล์มต่างๆ ที่ถูกเก็บอยู่ในองค์การบริหารจดหมายเหตุและบันทึกแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (National Archives and Records Administration) ได้รับโอกาสที่คนอื่นไม่เคยได้มาก่อนในการทำงานกับฟิล์มชุด 65 มม. และเราต้องทำให้มั่นใจว่า ถ้าจะสแกนและบูรณะมันขึ้นมาใหม่นั้น มันต้องอยู่ต่อไปได้อีกหลายทศวรรษหลังจากนี้”
“การบูรณะฟิล์มเป็นขั้นตอนที่ช้ามากๆ เสมอ มันมีเรื่องราวให้ต้องทำมากมาย ทั้งการจัดการกับเกรน (grain) ในภาพ ปัดฝุ่นที่ติดมากับฟิล์มออก ลบรอยขูดขีดต่างๆ ลดความสั่นในฟุตเทจ ดูแสงแฟร์และอีกมากมายมหาศาล ทำให้การบูรณะฟิล์มเก่าเหล่านี้มันกินเวลานานหลายสัปดาห์เลย” แพชต์บอก
เมื่อแพตช์จัดการบูรณะฟิล์มทั้งหมดให้คมชัดมากพอที่จะฉายในโรงภาพยนตร์ได้อีกครั้ง เขาก็ส่งมอบมันให้มิลเลอร์ตัดต่อเป็นหนังขนาดยาวอีกทีหนึ่ง ตัวมิลเลอร์เองรับเอาอิทธิพลจากหนังฟอร์มยักษ์ที่เน้นถ่ายทำแบบอลังการสุดขีดในยุค 50s เรื่อยมาจนต้นยุค 60s มาใช้เป็นร่มกว้างๆ เพื่อปักธงให้หนังสารคดี
“หนังจากยุคนั้นมันส่งอิทธิพลมากพอสมควร ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือพวกหนังอะวองการ์ดจัดๆ ที่บริษัทโปรดักชันของฟรานซิส ทอมป์สันช่วยโปรดิวซ์ในสมัยนั้นน่ะครับ โดยทั่วไปพวกเขานิยมถ่ายหนังแบบ Cinerama คือใช้กล้องสามตัว และระบบโปรเจ็กต์อีกสามแบบ (Cinerama คืองานภาพแบบไวลด์สกรีน เกิดจากการเอาโปรเจกเตอร์ฟิล์ม 35 มม. มาฉายพร้อมกันเป็นแนวยาวบนจอภาพยนตร์ขนาดยักษ์)” มิลเลอร์บอก
“สำหรับผมแล้ว หนังจากยุค 50s กับ 60s มันมีความเป็นภาพยนตร์ที่เปี่ยมศิลปะในการเล่าเรื่องมากๆ โดยไม่มีอะไรมาเจือปนเลย ตอนนี้เรามีทั้งดนตรีประกอบ มีซาวนด์ดีไซน์ แต่ผมก็ยังชอบแนวทางการทำหนังแบบเก่าๆ อยู่ดี”
ความเก่งกาจของมิลเลอร์คือการใส่กลิ่นอายความลุ้นระทึกลงไปในหนังสารคดี แม้เราต่างจะรู้กันดีอยู่แล้วว่า นักบินทั้งสามเดินทางไปยังดวงจันทร์และกลับมาอย่างปลอดภัย แต่ภายใต้การเรียบเรียงฟุตเทจของมิลเลอร์ ทุกนาทีที่ยานอะพอลโล 11 พยายามจะลงจอดบนผืนทะเลแห่งความเงียบสงบนั้น ก็กลายเป็นเรื่องน่าตระหนกไปในทันที ด้วยการตัดสลับภาพจากกล้องวงจรปิดของยานและเสียงของนักบินขณะหาทางเอายานลงจอด กับเหล่าทีมงานฮิวสตันที่นั่งเครียดสุดขีดพร้อมกองเอกสารสูงท่วมหัว สูบบุหรี่มวนต่อมวน พลางถามไถ่ความเป็นไปของอาร์มสตรอง หรือช่วงเวลาการหวนกลับมายังโลกของนักบินทั้งสาม ที่เต็มไปด้วยความลุ้นระทึก ก่อนลงเอยด้วยความโล่งใจจนชวนน้ำตาซึม
หนังยังห่อหุ้มบรรยากาศที่เป็นแรงขับสำคัญของภารกิจออกเดินทางไปยังดวงจันทร์ในครั้งนี้ อย่างการขับเคี่ยวระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียต ด้วยสุนทรพจน์ปลุกใจของ จอห์น เอฟ. เคนเนดี เมื่อปี 1962 “เราเลือกที่จะไปดวงจันทร์และลงมือทำสิ่งต่างๆ ในทศวรรษนี้ มิใช่เพราะมันง่ายดาย หากแต่เพราะมันทำได้ยากต่างหาก” กับภาพเหล่าทีมงานฮิวสตัน ตลอดจนชาวอเมริกันทั้งหลายยกธงชาติขึ้นมาโบกชูเพื่อต้อนรับการกลับมาของนักบินทั้งสาม
กล่าวโดยสรุป Apollo 11 คือหนังสารคดีเรื่องสำคัญที่ถูกถ่ายทอดอย่างมีมิติและเปี่ยมชั้นเชิง โดยคนทำหนังผู้ลุ่มหลงกับงานภาพสุดอลังการ บอกเล่าโดยใช้ฟุตเทจที่ไม่เคยปรากฏที่ไหนมาก่อนขององค์การนาซา เพื่อพูดถึงการเดินทางครั้งประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ ภายใต้บริบทการช่วงชิงอำนาจกันจากสงครามเย็นอันเข้มข้น ในช่วงต้นทศวรรษที่ 70 และมันได้เปลี่ยนโฉมหน้าของโลกการเมืองและโลกวิทยาศาสตร์มานับแต่นั้น
Tags: สารคดี, Screen and Sound, Apollo 11