ในคืนที่ปกติดังเช่นทุกวัน ผู้พากันออกสังสรรค์ในยามค่ำคืน เสียงดนตรีคอยบันเทิงอารมณ์คลอเคล้าไปกับเสียงกระทบกันของจานชามในร้านอาหาร แน่นอนว่าเสียงพูดคุยอันสนุกสนานดังลั่นกว่าใครเพื่อน

แต่ทุกอย่างก็ดูผิดปกติไป เมื่อเด็กชาย 2 คนท่าทางทะมัดทะแมงก้าวเท้าเข้ามาในร้านอาหาร สีหน้าและนัยย์ตาบ่งบอกว่าพวกเขามีจุดประสงค์บางอย่างชัดเจน และก็เป็นเช่นนั้น เด็กชายคนหนึ่งคว้ามีดเล่มใหญ่ฟันแขนคู่อริที่นั่งกินข้าวอย่างเอร็ดอร่อยขาดทันที เลือดพุ่งกระจุยกระจายเต็มร้าน เสียงร้องโหยหวนของผู้บาดเจ็บกลบเสียงดนตรีแนบสนิท และแขนที่ขาดกระเด็นไปต้มสุกอยู่ในหม้อไฟกลางโต๊ะ เป็นสัญญาณว่าแขนนั้นจะกลับมาต่อไม่ได้ตลอดกาล และคืนนั้นเอง ที่ทำให้ชีวิตของครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวหนึ่งไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

จุดเริ่มต้นของ A Sun ผลงานลำดับที่ 5 ของผู้กำกับ จุง หมง หง (Chung Mong hong) หนังที่ถ่ายทอดวิถีชีวิตของมนุษย์ที่เคลื่อนที่ด้วยความสับสน บางครั้งก็เดินหน้า บางครั้งก็ถอยหลัง กลายเป็นรสชาติชีวิตของมนุษย์ ​ที่ดูอย่างไรก็ไม่เข้ากับโลก สถานที่กำเนิดพวกเขาที่มีความปกติเท่าไหร่นัก

เพราะไม่ว่ามนุษย์จะบิดเบี้ยวขนาดไหน กฎของธรรมชาติ แรงดึงดูดของโลก และการขึ้น-ตกของพระอาทิตย์ สิ่งเหล่านี้ยังคงสม่ำเสมอและคงอยู่เป็นสรณะ คอยตอกย้ำว่าการเป็นมนุษย์นั้นช่างเป็นเรื่องพิสดารขนาดไหน

Screen and Sound สัปดาห์นี้ เชิญทุกท่านไปรับชมหนังที่ Variety เว็บไซต์ภาพยนตร์ระดับโลก ยกให้เป็นหนึ่งในหนังเอเชียที่ดีที่สุดในปี 2020 รวมไปถึงเว็บไซต์ Indiewire ที่ถึงกับเขียนโจมตีเน็ตฟลิกซ์ว่า ทำไมหนังเรื่องนี้ถึงไม่ได้รับการโปรโมตเท่าไหร่นัก เพื่อหาคำตอบว่า วิถีชีวิตของมนุษย์บนโลกใบนี้ เป็นสิ่งที่ผิดแปลกหรือวิเศษกันแน่

จากเรื่องราวอันอื้อฉาวของลูกชายคนเล็กในตระกูลอย่างเฉินเจี้ยนเหอ ทำให้ครอบครัวของเขาซึ่งนำโดยพ่อ ผู้เป็นหัวหน้าครอบครัว มีหน้าที่เป็นผู้รับผิดชอบต่อความผิดที่สมาชิกในครอบครัวได้กระทำลงไป

ในช่วงนี้ ผู้กำกับได้นำเสนอ ‘สถานะและบทบาท’ ของครอบครัวในแบบที่พบเห็นได้ทั่วไปอย่างชัดเจน พ่อหัวรั้นที่พยายามรั้งทุกอย่างเอาไว้ในครรลองที่ตัวเองคิดว่าดี เพื่อให้เหมาะสมกับสถานะหัวหน้าครอบครัวที่ตัวเองสร้างขึ้นมาอย่างสมมติ แม่ที่ถูกวางตำแหน่งให้เป็นช้างเท้าหลังไร้ซึ่งปากเสียงใดๆ เหล่านี้คือตัวอย่างของความเป็นปิตาธิปไตย (Patriarchy) ที่สะท้อนให้เห็นเด่นชัดในหนังเรื่องนี้

แต่สิ่งที่น่าสนใจในเรื่องกลับไม่ใช่ประเด็นความไม่เท่าเทียมในครอบครัวที่เห็นได้แต่แรกเริ่มอย่างใด หนังเรื่องนี้ได้นำเสนอผลลัพธ์ของครอบครัวที่ปกครองด้วยระบบเช่นนี้ว่าจะเกิดปัญหาใดตามมาบ้าง ซึ่งหนังก็สะท้อนออกมาได้เป็นอย่างดีผ่าน เฉินเจี้ยนเหา พี่ชายของ เฉินเจี้ยนเหอ ตัวละครหลักของเรื่อง

*หลังจากนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์

“อาเหาแกเป็นเด็กมีอนาคต หน้าตาดี เรียนก็เก่ง มาเรียนพิเศษทุกวันแบบนี้ อย่างไรก็ต้องสอบได้คณะแพทย์ตามที่หวังแน่นอน”

บทสรุปเพียงบรรทัดเดียวสำหรับบทบาทของอาเหา ก็เพียงพอต่อการคาดเดาเบื้องต้นได้แล้วบ้างว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเด็กคนนี้คืออะไร

อาเหาคือผลงานชิ้นเอกในครอบครัวที่ผู้เป็นพ่อนั้นภาคภูมิใจเอาเสียมาก ในยามที่ตัวเองว่างก็มักจะไปหาลูกที่กำลังเรียนพิเศษ หากอาเหาขาดเหลืออะไร หรือมีเงินไม่พอใช้ พ่อคนนี้ก็จะคอยยื่นมือมาช่วยเหลือลูกชายบังเกิดเกล้าอยู่เสมอ เพราะอะไรน่ะเหรอ เพราะนี่คือความฝันของพ่อยังไงล่ะ

“บางทีฉันก็รู้สึกเหมือนตัวเองไม่มีตัวตนอยู่บนโลกใบนี้”

คำตัดพ้อของอาเหาต่อหญิงสาวที่กำลังคบหาดูใจกันอยู่ แม้จะมีความเป็นนามธรรมและไม่มีบริบทใดในเรื่องมาอ้างอิงประโยคดังกล่าว แต่การพูดลอยๆ ของอาเหาก็เป็นสัญญาณเด่นชัด

จากบทความ ถ้าคุณกำลังคิดถึงเรื่องการฆ่าตัวตาย อ่านตรงนี้ก่อน …” ของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศ.นพ.มาโนช หล่อตระกูล ได้พูดถึงสัญญาณของการฆ่าตัวตายข้อหนึ่งที่น่าสนใจคือ ‘ไม่ค่อยสนใจสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัว มีความคิดหรือจินตนาการเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายบ่อยๆ เปลี่ยนจากซึมเศร้าเข้าสู่ความรู้สึกสงบอย่างรวดเร็ว’

คำพูดและบุคลิกของอาเหานั้น ตรงตามสัญญาณดังกล่าวแทบทั้งสิ้น จึงเป็นเหตุให้ในช่วงสุดท้ายของตัวละคร ได้สร้างอีกหนึ่งบาดแผลให้ตระกูลนี้ หลังจากลูกชายคนเล็กต้องเข้าคุกไปก่อนหน้า

จุดนี้ผู้เขียนขอชื่นชมในการเลือกที่จะ ‘นำเสนอและไม่นำเสนอ’ ด้านอื่นๆ ของตัวละครอาเหา เพราะพูดกันตามตรง อาเหาเป็นตัวละครที่หนังถ่ายทอดตัวตน อารมณ์นึกคิด และมิติความเป็นมนุษย์น้อยมาก ดังนั้น ในช่วงที่เหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น ผู้เขียนจึงนึกชื่นชมการลำดับภาพของหนังเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เพราะการไม่ส่งสัญญานใดๆ ที่ชัดเจนจนเกินไปเหล่านี้ ช่วยสะท้อนความอัดอั้นที่คับอยู่ในใจของตัวละครได้เป็นอย่างดี ตัวตนของเขามักถูกลืม ถูกลืมแม้กระทั่งเฟรมภาพยนตร์ที่ตัวเองกำลังเล่นอยู่เสียด้วยซ้ำ

สุดท้าย โครงสร้างของครอบครัวที่มีการจัดตั้งช้างเท้าหน้าโดยพ่อ และสภาวะที่ลูกถูกความฝันพ่อกลืนกิน เหล่านี้คือเหตุและผลของโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นโครงสร้างอันหนักอึ้งที่กดทับคนในครอบครัวจนมองไม่เห็นว่าปัญหาคืออะไร เพราะถูกปกปิดด้วยการบงการของพ่อ อำนาจบงการที่พยายามบังคับให้ลูกชายอยู่ในขนบที่ตัวเองมองว่าดี เพื่อลดการเกิดปัญหา และสร้างอนาคตที่ก้าวหน้าในแบบของตน โดยไม่เคยถามเลยสักครั้งว่าลูกชายที่ตัวเองเลี้ยงมากับมือนั้นเป็นคนอย่างไร

แม้อาเหอจะเป็นผู้เริ่มเรื่องราวที่เกิดขึ้นจนทำให้เห็นปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งหมดนี้ แต่ทำไมผู้ชมถึงไม่เคยเห็นความคิดความอ่านหรือความฝันของอาเหอเท่าไหร่ ตลอดทั้งเรื่อง ผู้ชมจะเห็นแค่เขาในฐานะเพื่อนคนสนิทที่มักเป็นลูกมือของราดิช ชายผู้ก่อเหตุฟันแขนช่วงต้นเรื่องจนอาเหอต้องมาร่วมรับผิด และเป็นลูกชายที่ไม่เอาอ่าวในสายตาของพ่อเท่านั้น แต่หากพูดถึงเพียงตัวเขาเพียงลำพัง ก็แทบไม่มีอะไรปรากฎอยู่ในเรื่องเท่าไหร่

นอกจากในแง่บริบท (Context) และเนื้อหา (Content) แล้ว A Sun เองก็ยังมีวิธีการเล่า (Form) ที่น่าสนใจมาก การนำเสนอผ่านแสงและเงาทั้งกลางวันและกลางคืนทำได้อย่างดีเยี่ยม แต่สิ่งที่ผู้เขียนรู้สึกประทับใจและชื่นชมเป็นพิเศษ คือการนำเสนอสิ่งเหล่านี้ให้มีความธรรมดาเพียงพอจนไม่ไปกลบเนื้อหาอันเป็นแก่นหลักได้อย่างยอดเยี่ยม

หลายครั้งเรามักเห็นหนังที่มีท่าทีและวิธีการเล่าที่ฉูดฉาดแต่เนื้อหากลับกลวงเปล่า กลับกัน หนังบางเรื่องก็มีเนื้อหาที่หนักแน่น ชวนขบคิดสะท้อนสังคม แต่วิธีการเล่ากับไม่เป็นมิตรต่อผู้ชม จนหลายครั้งที่หนังจบไปแล้วก็มักจะเกิดคำถามว่า เนื้อหาที่หนักแน่นขนาดนี้ ไปเสพข้อมูลจากสื่อประเภทอื่นจะดีกว่าไหม

แต่สำหรับ A Sun สามารถ ‘สมดุลและเกื้อกูล’ สองสิ่งได้อย่างชาญฉลาด สมดุลคือในช่วงเวลาที่หนังกำลังเล่นลูกหนักผ่านเรื่องราวที่เข้มข้น ท่าทีของเรื่องก็มุ่งไปทางเดียวกันผ่านจังหวะภาพ มุมกล้อง หรือแม้กระทั่งการเลือกใช้สถานที่ที่มักมีความอึมครึม ผสมปนกับแสงนีออนเป็นหลัก แต่ในคราวที่เรื่องมาถึงจุดที่ตัวละครได้เผยด้านที่อ่อนแอ มาจับเข่าพูดถึงปัญหาและความหมายของชีวิต หนังกลับมีท่าทีที่ละม่อมขึ้นมาถนัดตา มีมุมกล้องเลื่อนลอย เชื่องช้า เหมือนกับว่ามันพร้อมจะพักและให้เวลากับสถานการณ์แบบนี้พอสมควร แน่นอนว่าทั้งหมดนี้มักเกิดขึ้นในแสงธรรมชาติ ซึ่งสว่างเจิดจ้าจนผู้ชมสามารถหายใจได้คล่องคอมากยิ่งขึ้น

สุดท้ายแล้วหนังเรื่องนี้ ‘กินขาด’ ในเวทีหนังเอเชียปีที่ผ่านมาแทบทุกเรื่อง จุดหนึ่งเป็นเพราะการเปิดพื้นที่ให้ตัวละครมา ‘พิจารณา’ ตัวเองกันอย่างชัดแจ้ง การที่หนังเผยให้เห็นการสำนึกผิด การตระหนักถึงเรื่องน่าขยะแขยงที่ได้ก่อ ทำให้หนังมีมิติลุ่มลึกมากไปอีกขั้น ตัวละครทำหน้าที่เป็นผู้วิจารณ์ตัวเองและหนังเรื่องนี้อีกรอบ จนทำให้ผู้ชมต้องเขยิบออกมาจากหนังอีกหนึ่งขยัก เพื่อพิจารณาดูว่าอะไรกันแน่คือสารสำคัญที่หนังพยายามพูดถึงกันแน่

สำหรับผู้เขียนเองแล้ว A Sun คือการเปรียบเปรยความไม่ปกติของมนุษย์ บนพื้นที่ปกติของธรรมชาติ การตั้งอยู่และดับไปอย่างเป็นจังหวะของสรรพสิ่ง ซึ่งล้วนสวนทางกับชีวิตที่คดเคี้ยวของความเป็นมนุษย์

ในตอนสุดท้าย หนังไม่ได้ตัดสินว่าตัวละครถูกหรือผิด เพียงแต่หนังได้เสนอว่าตัวละครแบบนี้เกิดขึ้นมาเพราะอะไร และจะพัฒนาไปทิศทางไหนได้บ้าง ซึ่งในบางครั้ง เขาก็พัฒนาอย่างก้าวกระโดด แต่ในบางครั้งเขาก็ถอยหลังลงคลองจนน่าใจหาย

แต่เหล่านี้เองคือความแตกต่างอันสุดแสนอัศจรรย์ ที่ทำให้มนุษย์นั้นพิเศษกว่าธรรมชาติหลายร้อยเท่าตัว

Tags: , , ,