ปี 2024 เพิ่งจะจบลงไป โดยต้องถือเป็นอีกปีแห่งความคึกคักของวงการบันเทิงไทย ทั้งวงการภาพยนตร์ที่มีหนังซึ่งประสบความสำเร็จทั้งด้านรายได้และการร่วมฉายในเทศกาลและเวทีประกวดนานาชาติ วงการเพลงก็มีคอนเสิร์ตใหญ่อยู่ไม่ขาด ส่วนวงการนาฏศิลป์ร่วมสมัยและละครเวทีไทย ก็มีผลงานแห่งความริเริ่มสร้างสรรค์แปลกใหม่มากมาย ขยายพรมแดนแห่งศิลปะการแสดงแขนงนี้ได้อย่างน่าตื่นเต้น

‘กัลปพฤกษ์’ จึงขอสรุปเล่าถึงผลงานละครเวทีและนาฏศิลป์ร่วมสมัยไทยที่โดดเด่น ในรอบปีก่อนหน้า มาสัก 10 รายการ เรียงลำดับตามการจัดแสดงของงานคร่าวๆ ดังต่อไปนี้

01: พยัคฆ์น้อยพอร์คชอป/ Little tiger for Korea

กำกับโดย ภัทรสุดา อนุมานราชธน

ละครลูกครึ่งซึ่งถือเป็นความร่วมมือกันระหว่างศูนย์วัฒนธรรมเกาหลีกับภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาศัยเนื้อหาจากเว็บตูนเรื่องข้ามเวลาตามหาเมน ของ เสือ คิม (Suea Kim) ที่ออกจะกระจุ๋มกระจิ๋มพาฝัน แต่มือดัดแปลงบท ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์ ก็พยายามใส่รายละเอียดสีสันร่วมสมัย ทำให้เรื่องราวสนุกเข้มข้นขึ้นมาได้ โดยเล่าเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ยุคสมัยที่รัฐบาลไทยส่งทหารไปร่วมรบในสงครามเกาหลีเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2493 เล่าเรื่องราวกุ๊กกิ๊กข้ามประเทศข้ามเวลาล่องนาวาไทม์แมชชีน ดิ้นหนีปฏิทรรศน์คุณปู่หรือ Grandfather’s Paradox แบบออกจะอลวนอลเวง เมื่อ ‘พิม’ ศัลยแพทย์สาวชาวไทยในยุคปัจจุบัน ติ่ง Number One ของ ‘เคย์’ หัวหน้าวง K-Pop ที่หายตัวไป เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปยังเกาหลีใต้ เพื่อไขปริศนาลูกโซ่แห่งกาลเวลา หาวิธีทำให้ ‘เคย์’ กลับคืนมาด้วยการสับราง Parallel Universes ใครจะได้เกิดหรือไม่ได้เกิดก็ลุ้นเอาเถิดกับการสลับบิดกงล้อกาลเวลาอันชวนฮาครั้งนี้

ซึ่งวิธีการกำกับด้วยแนวทางตลกจังหวะนรกโบ๊ะบ๊ะของภัทรสุดา ก็ทำให้คนดูหัวเราะกันลั่นโรง ที่แม้โครงเรื่องจะดูงงๆ ขนาดไหน แต่ความ ‘รั่ว’ ความ ‘ฮา’ ไม่ไหวของนักแสดงทุกราย ก็ทำให้ทุกเหตุการณ์ยังมีความน่าติดตามได้อย่างไว้รสนิยม พยัคฆ์น้อยพอร์คชอปจึงเป็นงานละครที่มีส่วนผสมแปลกใหม่ในการจับมือกันข้ามชาติเพื่อร่วมสร้างผลงาน โดยได้จัดการแสดงทั้งที่ไทยและที่เกาหลีใต้ เชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่าง 2 ประเทศผ่านงานละคร

ภาพ: Phornramphai Satcha

02 KISKA AND OTHER FLOATING CREATURES

กำกับโดย ภัสสร์ภวิศา จิวพัฒนกุล

เรื่องนี้โดดเด่นที่สถานที่และวิธีจัดแสดง เพราะได้ขอแบ่งพื้นที่บริเวณสระว่ายน้ำในร้าน ARCH Café ย่านปุณณวิถี มาปรับให้เป็นโรงละครเวที มีนักแสดงมาเล่นเป็นปลาวาฬเพชฌฆาตสลับกับบทบาทมนุษย์ แล้วดำผุดดำว่ายกระโดดตูมจนน้ำกระจายในสระแห่งนั้นกันอย่างคึกคัก

เนื้อหาหลักเล่าเรื่องราวชีวิตจริงของเจ้าวาฬเพชฌฆาต (Orca) เพศเมียนาม Kiska ที่ถูกนำพาตัวมาจากไอซ์แลนด์บ้านเกิดไปขังไว้ในบ่อของสวนน้ำในแคนาดาอย่างโดดเดี่ยวยาวนาน จนได้รับการเรียกขานว่าเป็น ‘วาฬที่เหงาที่สุดในโลก’ ก่อนจะกลายเป็นโศกนาฏกรรมนำมาซึ่งความสูญเสียครั้งใหญ่ หลังจากวาฬเพศเมียได้ตั้งครรภ์ ประกอบเสียงร้องอันโหยหวนบาดหัวใจ ไม่ได้มาในลีลาสดใสโลกสวยแต่เพียงฝ่ายเดียว! ฝ่ายนักแสดงก็ล้วนเล่นและแหวกว่ายกันได้อย่างสุดกำลัง อาศัยความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคการแสดงแบบ Animal Study ในวิถี Method Acting มารับบทบาทเป็นทั้งเจ้า Kiska และเหล่าสหายได้อย่างน่ารักน่าชัง ‘ปัง’ ทั้งในระดับคอนเซปต์และวิธีการ ให้ทั้งความสนุกสำราญและสาระสำคัญอันหนักอึ้งอย่างน่าซาบซึ้งใจ

ภาพ: ณัฐริกา เจริญสุข

03 Home’s Theatre

กำกับโดย ณัฐพล คุ้มเมธา

คงไม่ได้นับเรื่องนี้เป็นละครเวที เพราะมันมีความเป็นงานละครใบ้แบบ Pantomime และการอาศัยข้าวของเครื่องใช้รอบกายมาถ่ายทอดเรื่องราวกับนักแสดงเดี่ยวแบบ Object Theatre เสียมากกว่า โดย ทา-ณัฐพล คุ้มเมธา จาก Ta Lent Show เขารับหน้าที่โซโล่ ถ่ายทอดห้วงเวลาเก็บกักตัวระหว่างการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อยู่ภายในบ้านอันแสนเปลี่ยวเหงาของหนุ่มโสดหัวใจเฉา จนต้องหยิบเอาข้าวของต่างๆ รอบกายมาสร้างเป็นเรื่องราวเพื่อเยียวยาจิตใจตนเอง จนคนดูได้สนุกครื้นเครงตามไปด้วย

ซึ่งการแสดงเล็กๆ ความยาวเพียง 1 ชั่วโมงเรื่องนี้ กลับรุ่มรวยไปด้วยความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ จากข้าวของที่เราเห็นกันจนชินตาในชีวิตประจำวัน ณัฐพลสามารถสร้าง ‘ความหมายใหม่’ ให้สิ่งของแต่ละชิ้นได้ด้วยมุกตลกแบบไร้กาลเวลา ซึ่งไม่ว่าจะหยิบจะฉวยอะไรมาเล่น มันก็กลายเป็นความน่ารักน่าเอ็นน่าดูไปเสียทั้งหมด! การแสดง Home’s Theatre จัดแสดงครั้งแรกที่ RCB Forum, River City Bangkok

ภาพ: Jira Angsutamatuch

04 Hell Hath No Fury Like A Queer Scorned

กำกับโดย มิสโอ๊ต-ปฏิพล อัศวมหาพงษ์

Pride Month เดือนมิถุนายน ก็เป็นช่วงเวลาของ ‘เทศกาลศิลปะการแสดงเพื่อความหลากหลาย’ หรือ H0M0Haus ครั้งที่ 1 ซึ่งจัดโดยกลุ่มนักทำละครเควียร์รุ่นใหม่ นำเสนอทั้งไลฟ์สไตล์และประสบการณ์ชีวิตอันหลากหลายของกลุ่มคน LGBTQIA+ โดยในปีแรกนี้จัดแสดงให้ชมจำนวนทั้งสิ้น 3 รายการ มีงานไฮไลต์ที่ชื่อ Hell Hath No Fury Like A Queer Scorned กำกับโดย มิสโอ๊ต-ปฏิพล อัศวมหาพงษ์ แสดงที่ Buffalo Bridge Gallery ย่านสะพานควาย

การแสดง Hell Hath No Fury Like A Queer Scorned มิได้เป็นงานละครเวที การแสดงเชิงสารคดี หรือใช้วิธีนำเสนอในแบบทอล์กโชว์ทั่วไป หากเป็นการใช้พื้นที่ห้องสตูดิโอบริเวณชั้น 5 มาเป็นสถานที่นับพบเพื่อแลกเปลี่ยนระบาย เชื้อเชิญให้ผู้ชมทั้งหลายได้มีส่วนร่วมกับการแสดงอย่างใกล้ชิด โดยมีสองผู้แสดงหลักคือ มิสโอ๊ต คนทำละคร Transwoman ที่อยู่ในวงการนี้มายาวนานนับ 10 ปี และนิสิตภาคการละครชั้นปีที่ 4 คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใบหม่อน-หทัยชนก รุ่งเรืองเศรษฐ์ ผู้นิยามเพศตนเป็น Non-Binary Sapphic มานิ้วกระดิกคลิกเมาส์พิมพ์เล่าประวัติชีวิตผ่านคีย์บอร์ดและหน้าจอ เขียนข้อความด่าทอคนในวงการละครเวทีร่วมสมัยลงในกระดาษ ไปจนถึงการผลัดกันตั้งกล้องสัมภาษณ์ความในใจ ซึ่งแต่ละเรื่องราวที่ได้ฟังมันช่างน่าใจหาย ว่าพวกเขาถูกเลือกปฏิบัติด้วยเพศวิถีที่ไม่ตรงกับร่างกายได้อย่างหนักหน่วงรุนแรงถึงเพียงนี้เชียวหรือ

ภาพ: Genderation

05 PORTFOLIO ปั้นพอร์ทไว้กอดเธอ

กำกับโดย นินาท บุญโพธิ์ทอง

ละครเวทีฝีมือการเขียนบทและกำกับโดย นินาท บุญโพธิ์ทอง ที่จัดแสดงกันที่ห้อง Buffalo Bridge Gallery แบบเล็กๆ ง่ายๆ ไม่ได้มีความหวือหวาแพรวพราวในเชิงงานโปรดักชันกันแต่อย่างใด แต่สะท้อนให้เห็นเลยว่า ‘หัวใจ’ สำคัญของละครเวทีอยู่ที่ ‘บท’ คือ ถ้าเรื่องราวที่เล่าผ่าน ‘บท’ มันได้ ‘รสชาติ’ และนักแสดงสามารถถ่ายทอดภาวะอารมณ์ของตัวละครแต่ละรายออกมาได้ พื้นที่แสดงไม่ต้องกว้างใหญ่ แสงดวงไฟไม่ต้องพึ่บพั่บ ข้าวของประดับเวทีมีแค่เท่าที่จำเป็น ทุกคนก็ยังสามารถ ‘เล่น’ ออกมาได้จับใจ เพราะสิ่งสำคัญเหนืออื่นใดคือความรู้สึกร่วมที่คนดูมีต่อตัวละคร PORTFOLIO ปั้นพอร์ทไว้กอดเธอ เป็นละครที่ได้รับแรงบันดาลใจจากหนังหลายๆ เรื่องของผู้กำกับ อเล็กซานเดอร์ เพนย์ (Alexander Payne) ไม่ว่าจะเป็น About Schmidt (2002), The Descendants (2011) และ The Holdovers (2023)

ละครเรื่องนี้นำเสนอเรื่องราวของอาจารย์มหาวิทยาลัย ด้านประวัติศาสตร์กรีก ผู้ใจหิน ทำให้ลูกศิษย์ลูกหาจำต้องย้ายถิ่นที่เรียนจนแทบไม่เหลือใคร และเหล่าเยาวชนที่ต้องปั้น Portfolio ไว้เป็นใบเบิกทางในการศึกษาต่อ และต้องหันมาถกข้อปรัชญาหาคำตอบให้ชีวิตในโลกปัจจุบัน บนโลเคชันถนนประวัติศาสตร์สายสำคัญที่ชื่อ ‘ราชดำเนิน’ ซึ่งใครที่อายุเกินหลักเลขสามและตามทันว่า ‘สถาบันสอนภาษาอาจารย์สงวน’ คืออะไร จะยิ่งเข้าใจบริบทของเรื่องที่นินาทได้นำเสนอไว้อย่างดี กับละครเวทีที่จิกกัดความดัดจริตของเหล่าปัญญาชนคนตอแหล ที่เอาแต่จะเล่นลิ้นปลิ้นปล้อนย้อนแย้งภาพความจริงด้วยมายาคติที่ว่า ไม่มีสิ่งใดจีรัง!

06 The Rite of Spring

กำกับโดย พิเชษฐ กลั่นชื่น

จากผลงานบัลเลต์สมัยใหม่ The Rite of Spring (1913) ของ อิกอร์ สตราวินสกี (Igor Stravinsky) ที่ พิเชษฐ กลั่นชื่น นำมาดัดแปลงให้เข้ากับการแสดงโขนและนาฏศิลป์ไทย เคล้าประกอบไปกับการบรรเลงบท Reduction จากวงออร์เคสตรามาเป็นเปียโนสี่มือโดย 2 นักดนตรี เกวนดัล กิกูเลย์ (Gwendal Giguelay) และทามาโยะ อิเคดะ (Tamayo Ikeda) ซึ่งคนที่พอรู้ประวัติมาก่อนว่า งานบัลเลต์เรื่องนี้เคยสร้างความแตกตื่นในคืนวันที่แสดงครั้งแรก ณ กรุงปารีส เมื่อปี 1913 ไว้อย่างไร และนักออกแบบท่าเต้น วาชลาฟ นิชินสกี (Vaslav Nijinsky) เคยสร้างผลงานเอาไว้จนกลายเป็นตำนานแทบไม่มีใครหาญกล้ามาคิดท่าให้ใหม่ ก็คงรู้สึก ‘ทึ่ง’ เมื่อได้เห็นว่า พิเชษฐสามารถ ‘ไหว้ครู’ ยกย่องเชิดชูบิดาท่าเต้นของบัลเลต์ชิ้นนี้ ให้มีกลิ่นอายในแบบไทยๆ ด้วยการเติมองค์ประกอบของการแสดงโขนลงไป ปรับเรื่องราวการบูชายัญหญิงสาวชนเผ่าให้เข้ากับเรื่องรามเกียรติ์ ผ่านตัวละครนางสีดา แล้วเอาลีลาการร่ายรำระบายหน้าแบบผีตาโขนมาผสมผสาน กลายเป็นงานออกแบบท่าเต้นที่แสนจะออริจินัลไม่แพ้ฉบับที่นิชินสกีเคยทำไว้ จนสามารถกลายเป็น Thai Definitive Version ได้แบบสบายๆ การแสดงจัดที่หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

07 Before 2475

กำกับโดย เอมอัยย์ พลพิทักษ์

สำหรับคอละครแนวๆ ประวัติศาสตร์การเมือง เราก็ยังมีเรื่อง Before 2475 ซึ่งเขียนบทและกำกับโดย เอมอัยย์ พลพิทักษ์ จัดแสดงครั้งแรกในเดือนสิงหาคม ที่ GalileOasis ซึ่งน่าจะถือเป็นงานละครชนิดที่เรียกว่า ‘Bioplay’ เล่าประวัติ The Early Days ของคณะราษฎร ตอนที่ ปรีดี พนมยงค์ เริ่มซ่องสุมชุมนุมกับสหายร่วมอุดมการณ์นักศึกษาทุนจากทางการ ได้แก่ ประยูร ภมรมนตรี, แปลก ขีตตะสังคะ, ทัศนัย มิตรภักดี, ตั้ว ลพานุกรม, จรูญ สิงหเสนี และแนบ พหลโยธิน ณ หอพัก ท้องถิ่น Rue du Sommerard กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ก่อนปีปฏิวัติ

โดยผู้สร้างประกาศไว้ชัดเจนว่า นี่มิใช่ละครประวัติศาสตร์ที่มุ่งนำเสนอ ‘ข้อเท็จจริง’ ทุกอย่างอย่างไม่คลาดเคลื่อน เกริ่นเตือนเป็น Disclaimer ไว้เลยว่า สถานการณ์ทั้งหลายที่จะได้ดู เป็นเพียงจินตนาการฟุ้งมโนของผู้สร้างว่าเคยเกิดอะไร เป็นการย้อนมองสิ่งที่เคยเกิดขึ้นด้วยมุมมองใหม่จากสายตาของคนรุ่นใหม่ คล้ายเป็นประวัติศาสตร์ที่ผ่านการ ‘รื้อสร้าง’ ใหม่ เรียกร้องการทำความเข้าใจในมุมใหม่ๆ ฉะนั้นหากจะมีรายละเอียดที่ไม่พ้องตรงกับสิ่งที่เราเคยได้ศึกษาหาอ่านมา มันก็อาจจะเป็นส่วน ‘จินตนาการ’ ของผู้กำกับ เอมอัยย์ ผู้ไม่ศรัทธาต่อการทำทุกอย่างให้ถูกต้องตรงเป๊ะ จนกลายเป็นแบบแผนสำเร็จเด๊ะๆ อันตายตัว!

08 รักดงดิบ Wilderness I&II

กำกับโดย ธนพนธ์ อัคควทัญญู

ผลงานล่าสุดของคณะ Splashing Theatre Company ฝีมือการกำกับของหนึ่งในผู้ก่อตั้ง ธนพนธ์ อัคควทัญญู หนึ่งในงานชูโรงของโครงการศิลปะการแสดง ครั้งที่ 13 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ประจำปี 2024 ที่กลับมาประกาศศักดาความเป็นนักการละคร ‘หัวก้าวหน้า’ นำเสนอทั้งจินตนาการและเรื่องราวอันแปลกพิสดารในรูปแบบที่ไม่เคยพบเคยเห็นมาก่อนจากงานละครไทยไม่ว่าจะในยุคสมัยไหน สร้างน้ำเสียงและลีลาใหม่ๆ ให้วงการละครไทยมีพัฒนาการที่ ‘ทะลุ’ ไปอีกขั้น ส่วนใครจะตามทันหรือไม่ทันก็ขอให้ลองดั้นด้นกันต่อไป เพราะความ ‘แปลกใหม่’ ยังคงเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างสรรค์งานศิลปะทุกแขนง รักดงดิบเป็นการแสดงแนวแปลกที่แบ่งภาคออกเป็น 2 องก์ 

องก์แรก Wilderness I เป็นการดัดแปลงหนังสือบันทึกประสบการณ์นักศึกษาหนีเข้าป่าหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 สองเล่มคือ จากดอยยาวถึงภูผาจิ (พ.ศ. 2536) โดย จันทนา ฟองทะเล และน้ำป่า บันทึกการต่อสู้ในเขตป่าเทือกเขาบรรทัด (พ.ศ. 2558) โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ เพื่อเปิดโปงว่าพวกเขาหนีตามกันไปในฐานะเหล่าคอมมี (Commie) คลั่งรัก มากกว่าจะมุ่งมั่นต่อสู้โดยยึดหลักแห่งอุดมการณ์

ในขณะที่องก์สอง Wilderness II เล่าผ่านโครงสร้างละครซ้อนชั้นที่เรียกกันด้วยศัพท์เทคนิคว่า Metatheatre เมื่อนักแสดงและผู้กำกับ 6 รายมาเจอกัน เพื่อซ้อมละครเกี่ยวกับคืนวันในการหนีเข้าป่าของเหล่านักศึกษาที่เล่นกันไปในครึ่งแรก แทรกด้วยรายละเอียดที่หยิบยืมมาจากบทหนังหลายๆ เรื่องของผู้กำกับฝรั่งเศส ฌากส์ รีแวตต์ (Jacques Rivette) โดยเฉพาะ Celine and Julie Go Boating (1974) ที่ยิ่งดูก็จะยิ่ง ‘อึน’ ว่าอะไรเป็นอะไร แต่ทุกๆ ปริศนามันช่างน่าเย้ายวนใจ จนอยากจะร่วมเข้าไปค้นหาในทุกถ้อยสนทนาที่พวกเขาต่างปราศรัยกัน

ภาพ: BACC

09 เดอะ เมคกิ้งออฟ ดิ อะเธอร์แลนด์ อินเดอะ อาฟเตอร์นูน เลทๆ จีเอ็มที บวกเจ็ด ออน เดอะแบ็ค ออฟ ดิ อัลโมสต์ ฟิฟท์ ไทเกอร์ บีไฮด์ เดอะ เบอร์ลิน วออล์ (นอท เรียลลี่) THE MAKING OF THE OTHERLAND IN THE AFTERNOON LATE LATE GMT+7 ON THE BACK OF THE ALMOST FIFTH TIGER BEHIND THE BERLIN WALL (NOT REALLY).

กำกับโดย ธีระวัฒน์ มุลวิไล

ป่วนแปลกแหกด่านมาตั้งแต่การตั้งชื่อแล้ว สำหรับการแสดงของคณะ B-Floor เรื่องนี้ ที่ขออนุญาตเรียกชื่อสั้นๆ ว่า ‘เดอะเมคกิ้งออฟฯ’ ก็แล้วกัน กับเนื้อหาแบบมโนสาเร่ เฮโลสาระพา ในลีลาจิกกัดแดกดันแสบๆ คันๆ อันเป็นลายเซ็นสำคัญ B-Floor เพราะมันได้ขยำรวมแทบทุกมหรสพ ครบทั้งภาพยนตร์ ดนตรี ละครเวที และนาฏลีลา ชี้หน้าด่าทอทุกความตอแหลแห่งอุดมการณ์ฝ่ายขวา มาในรูปแบบของเบื้องหลังกองถ่ายหนังต่อต้านคอมมิวนิสต์ยุคสงครามเย็น แบ่งเนื้อหาออกเป็นท่อนเป็นตอน เล่นมิติทับซ้อนทั้งการเป็น ละครซ้อนหนังซ้อนละครซ้อนเบื้องหลัง การอ้างอิงบทละครดังของ William Shakespeare (วิลเลียม เชกสเปียร์) ด้วยการดัดแปลงเสียให้กลายเป็นงาน Physical Theatre เพ้อถ้อยคำไม่รู้ภาษา การย้อนเล่าถึงเหตุการณ์สำคัญในเดือนตุลาคม มาพร้อมชุดลายพรางทหารป่าและอาวุธปืนแสง เบื้องหลังการแสดงภาพยนตร์บริภาษคนชังชาติเรื่อง ‘หนักแผ่นดิน’ (1977) โดย สมบัติ เมทะนี และการต่อคิวกันเปิดอ่านถ้อยวจีจากหนังสือเล่มดัง สลับกับการแบ่งฝั่งตีปิงปอง โดยมี จารุนันท์ พันธชาติ เขียนบทให้ ธีระวัฒน์ มุลวิไล ศิลปินศิลปาธรรุ่นใหญ่คอยกำกับทุกถ้อยคำและการเคลื่อนไหว ใช้อัจฉริยภาพส่วนตัวสร้างให้เดอะ เมคกิ้งออฟฯ เรื่องนี้มีพลังความสร้างสรรค์แปลกใหม่ ชนิดที่ใครที่ได้มีโอกาสชมคงไม่มีทางลืมอารมณ์สุด ‘ม่วนจอย’ ของการแสดงลอยแก้วชิ้นนี้ได้เลย! การแสดงเป็นส่วนหนึ่งของ October Fest 2024 และจัดแสดงที่ BACC

ภาพ: Kamolsuang A.

10 Women with a Time Machine

กำกับโดย ปานมาศ ทองปาน

ปิดท้ายกันด้วยละครเพลงแนว ‘อิตถีอลเวง’ ครื้นเครงไปกับทั้งการขับขานบรรเลง วิพากษ์กระแส Woke ไปพร้อมๆ กับการด่าทอตนเองแบบไม่เกรงใจใคร นำพาผู้ชมไปนั่ง Time Machine เดินทางข้ามเวลา เพื่อไปดูว่าสถานะแห่งความเท่าเทียมในแต่ละยุคสมัยมันดำเนินไปถึงไหน นำเสนอในลีลาตลก ลั้ลลา บ้าบอ ตอแหล แบบ ‘เพราะแม่ก็คือแม่’ โดยไม่แคร์เลยว่าแต่ละประเด็นคำถามถึงความ Political Correctness ด้าน Gender จะมี ‘คำตอบสำเร็จ’ มานำเสนอแก่ผู้ชมหรือไม่ ซึ่งแม้ว่าเนื้อหาจะเล่าถึงการเดินทางข้ามเวลาของ ‘ผู้หญิง’ เป็นหลักใหญ่

แต่สิ่งที่ ‘เปรี้ยวใจ’ มากที่สุดในละครเพลงเรื่องนี้คือ ไม่ว่าจะเป็นนักแสดงเพศสภาพไหน ก็สามารถที่จะมารับบทเป็น ‘ผู้หญิง’ ใน Women with a Time Machine เรื่องนี้ได้ เพราะต่อให้เป็นหญิง เป็นกะเทย หรือเป็นผู้ชาย ก็ล้วนสามารถนำเสนอความเป็น ‘เพศหญิง’ ได้อย่างหลากหลาย ถ่ายทอดในลีลาทีเล่นทีจริงแบบ Anti-Musical คือเน้นแหกปากแบบเอามัน มากกว่าจะมุ่งสร้างความบันเทิงด้วยเสียงร้องอันวิจิตร การแสดงจึงเปี่ยมไปด้วยจริตหลุดโลกแบบเดียวกับหนังเพลงเรื่อง The Rocky Horror Picture Show (1975) ของ จิม ชาร์แมน (Jim Sharman) แสนคึกคักและโกลาหล เหมาะจะเป็นผลงานส่งท้ายปลายปี ที่วงการละครเวทีและนาฏศิลป์ร่วมสมัย ช่างมีอะไรน่าสนใจให้ได้ดูอยู่ตลอดทั้งศก!

Tags: , , ,