ในฐานะคนที่คลุกคลีอยู่กับวงการอวกาศแทบจะตลอดเวลา หนึ่งในประเด็นที่มีความสำคัญอย่างไม่เคยจะลดลงเลยทั้งในโลกวิทยาศาสตร์และสังคมทั่วไปก็คือภารกิจตามล่าหา ‘มนุษย์ต่างดาว’ หรือสิ่งมีชีวิตอื่นนอกเหนือไปจากที่มีอยู่บนดาวโลกของเรา
ประเด็นนี้ถูกพูดถึงกันมานานตั้งแต่สมัยเรายังไม่มีเทคโนโลยีที่ล้ำหน้า โดยปรากฏให้เห็นทั้งในนวนิยายวิทยาศาสตร์และภาพยนตร์ชื่อดังมากมายมหาศาล บ้างก็ดูจะเน้นความเป็นจริงไปกับสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ไว้ ในขณะที่อีกหลายเรื่องมุ่งเน้นไปที่อารยธรรมต่างดาวที่ล้ำหน้ากว่าเรามากๆ (ทั้งที่หวังดีและหวังร้าย) ถ้าให้ลองไล่ชื่อหนังก็ตั้งแต่ Contact, E.T., Star Trek, Star Wars, ยัน Independence Day แถมท้ายด้วยวัฒนธรรมร่วมสมัยที่รับเอาแนวคิดของ ‘เอเลี่ยน’ ไปเป็นรากฐานหลักก็มีอีกเพียบเช่นกัน เพราะพอเจอกับอินเทอร์เน็ตเข้าไปก็เหมือนกับไฟลามทุ่งจนเกิดทฤษฎีประหลาดๆ มากมายก่ายกองตามมา (อย่างพวก Area 51 อะไรพวกนี้ไปจนถึงกลุ่ม UFO ที่ไม่เคยเสื่อมความนิยมกันเลย) เอาเป็นว่าคอนเซ็ปต์นี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมมนุษย์ไปแล้วนั่นเองครับ ถึงแม้ว่าในเวลาที่บทความนี้ถูกเขียนขึ้น เราก็ยังคงไม่พบหลักฐานใดๆ ที่ยืนยันถึงการมีอยู่ของเพื่อนร่วมจักรวาลของเราเลยก็ตาม
แต่ความพยายามในการค้นหานั้นลดลงหรือไม่ ท่ามกลางเส้นทางที่มองไม่เห็นจุดสิ้นสุดนี้ คำตอบคือไม่เลย มีแต่จะเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ มนุษยชาติได้เอาชนะขีดจำกัดทางเทคโนโลยีหลายๆ ด้าน ทั้งระบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการประมวลผลข้อมูลมหาศาลจากกล้องโทรทรรศน์วิทยุอันเพียบพร้อมไปด้วยนวัตกรรมล่าสุดในการดักจับสัญญาณจากนอกระบบสุริยะของเรา หรือที่ชัดเจนกว่านั้นคือยานสำรวจต่างๆ ที่สามารถเก็บและวิเคราะห์ตัวอย่างได้ละเอียดมากขึ้น ซึ่งล่าสุดเลยก็คือภารกิจสำรวจดาวอังคารของยาน Perseverance ที่ไม่แน่ว่าอาจจะค้นพบร่องรอยของอะไรก็ตามที่ครั้งนึงเคยมีดาวสีแดงเป็นบ้านก็เป็นได้
นี่ยังไม่นับอีกหลายโครงการที่มีเป้าหมายหลักในการค้นหาสิ่งมีชีวิตโดยเฉพาะ แต่พอขึ้นชื่อว่ายานสำรวจ จุดหมายปลายทางในอนาคตอันใกล้นี้ก็ไม่ทีทางพ้นระบบสุริยะของเราไปได้อยู่ดี หากจะค้นหาอารยธรรมที่เจริญพอๆ กันกับเรา ทางเลือกเดียวเลยคือการดัก ‘ฟัง’ และสแกนหาข้อมูลที่มีความเป็นไปได้ว่าไม่น่าจะเกิดจากแหล่งธรรมชาติในหมู่ดาวที่ไกลออกไปอีกทั้งในกาแล็กซีทางช้างเผือกของเราหรือกลุ่มกาแล็กซีที่ห่างไกลออกไปหลายล้านปีแสงด้วยกล้องโทรทรรศน์วิทยุที่ผมได้กล่าวถึงไปแล้ว (หรืออุปกรณ์อะไรก็ตามที่รับสัญญาณได้)
ในบรรดาโครงการสำรวจและวิจัยในกลุ่มนี้ ที่ดังที่สุดย่อมต้องยกให้โครงการประเภท SETI (Search for ExtraTerrestrial Intelligence) ที่เป็นเสมือนแหล่งกำเนิดของทั้งงานวิจัย, เทคโนโลยี, และวิธีการที่ทำให้เรามีโอกาสค้นหาเพื่อนร่วมจักรวาลที่มีความฉลาดพอๆ กับเราได้มากยิ่งขึ้นครับ แน่นอนว่าถ้าคุณเป็นผู้สนใจสายดาราศาสตร์หรืออวกาศก็คงจะได้ยินคำว่า SETI จากหลายๆ แหล่งแล้วแน่ๆ
บทความนี้จะเล่าถึงหนึ่งในโครงการภายในกลุ่ม SETI ที่ดูจะแปลกแตกต่างกว่าชาวบ้านในระดับนึงเลย โครงการที่ว่านั้นก็คือ SETI@home ซึ่งไม่เพียงแค่เป็นโครงการประมวลผลข้อมูลขนาดยักษ์ที่เปิดโอกาสให้คนทั่วไป ‘เข้าร่วม’ ได้ แต่ยังเป็นหมุดหมายสำคัญในการแสดงให้เห็นถึงคอนเซ็ปต์อย่าง Volunteering Computing และการนำเอาอินเทอร์เน็ตมาเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญของวงการวิทยาศาสตร์อีกด้วย
หลักการของ SETI: ในวันที่เราพยายามตามหาเพื่อนร่วมจักรวาลกันอย่างจริงจัง
ก่อนจะไปเจาะลึกกับ SETI@home อย่างแรกที่เราต้องรู้เลยคือหลักการของ SETI
ในการจะตามหาสิ่งมีชีวิตที่อยู่ไกลออกไปจากเรามากๆ จนไม่มีทางมองเห็นได้เลย สิ่งเดียวที่เหมาะที่สุดในการใช้เป็นหลักฐานในการตรวจสอบก็คือการแผ่รังสีของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagenetic Radiation) ซึ่งสามารถใช้ตรวจวัดหาการส่งสัญญาณของอารยธรรมอื่นในห้วงอวกาศนี้ได้ หากพวกเขามีตัวตนอยู่จริง เพราะการแผ่รังสีที่สร้างขึ้นมานั้น (เช่นในกรณีของมนุษย์) ย่อมมีลักษณะที่แปลกแตกต่างออกไปจากแหล่งธรรมชาติ เช่น สนามแม่เหล็กของดวงดาวหรือพัลซาร์ และมักจะมีความเข้มของสัญญาณที่สูงกว่ามากๆ จนเราสามารถตรวจจับได้
หลายโครงการในกลุ่ม SETI จึงยึดหลักการนี้เป็นเสาหลัก แล้วมุ่งพัฒนาในด้านการรับสัญญาณวิทยุ นับจากวันที่เทคโนโลยีสาขานี้ถูกคิดค้นขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 1900 ในรูปของจานรับสัญญาณและกล้องโทรทรรศน์วิทยุรูปแบบต่างๆ ที่ค่อยๆ มีขนาดและจำนวนที่สูงขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นระบบขนาดใหญ่ที่เป็นความร่วมมือระดับโลกในปัจจุบัน สำหรับใช้เล็งไปในบริเวณเป้าหมาย ในขณะที่อีกฟากหนึ่งก็จะเน้นไปที่การถอดรหัสและวิเคราะห์สิ่งที่รับมาได้ เพราะถึงจะเป็นแค่คลื่นวิทยุในย่านต่างๆ ตัวปริมาณข้อมูลอันมหาศาลและความซับซ้อนของมันก็ทำให้การตรวจวิเคราะห์นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีหลายครั้งทีเดียวที่เราถูกหลอกโดยคลื่นหรือชุดข้อมูลที่มีลักษณะเหมือนจะ ‘ใช่’ แต่ดันกลายเป็น False Positive ไปซะอย่างนั้น
แน่นอนว่าในช่วงเวลากว่าร้อยปีที่ผ่านมา เรามีโครงการประเภทนี้มากพอสมควร ซึ่งแต่ละโครงการก็วิวัฒนาการตามเทคโนโลยีและความสามารถสองข้อหลักมาโดยตลอด เริ่มตั้งแต่สมัยของนิโคลา เทสลา (ค.ศ. 1896) ที่เริ่มมีทฤษฎีของการใช้คลื่นวิทยุเพื่อติดต่อกับอารยธรรมบนดาวอังคารได้ (ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีอยู่จริงแต่นักวิทยาศาสตร์หลายคนในยุคนี้ก็เชื่อที่จะทำการวิจัยกันต่ออย่างจริงจัง) ไล่มาจนถึงการก่อตั้ง Planetary Society โดยคาร์ล เซแกน ในปี 1980 เพื่อเป็นองค์กรในการทำงานด้าน SETI อย่างจริงจัง จนกระทั่งองค์กรระดับมหาวิทยาลัย, หน่วยงานวิจัย, และแม้กระทั่งรัฐบาลสหรัฐเริ่มเข้ามาให้ความสนใจในสาขานี้กันมากขึ้น นี่เป็นยุคที่อะไรๆ ก็ดูจะขลุกขลักไปหมด เพราะเทคโนโลยีของกล้องโทรทรรศน์วิทยุที่ยังใหม่อยู่ ผนวกกับเป็นช่วงสงครามเย็นที่ทำให้งบประมาณมักจะร่อแร่ (จนคาร์ล เซแกนเองเคยถึงขั้นต้องเข้าไปคุยกับนักการเมืองหลายคนให้เห็นคุณค่าของงานวิจัยด้าน SETI) แต่จนแล้วจนรอดหลายๆ โครงการก็มีอันต้องถูกพับไป กลายเป็นรากฐานต่อให้โครงการขนาดยักษ์ที่เราเห็นๆ กันอยู่ในปัจจุบันแทน สำหรับโครงการสำคัญๆ ในยุคนี้ก็ได้แก่ Sentinel, META, BETA, MOP และ Project Phoenix กับอีกหลากหลายโครงการขนาดย่อยที่ดำเนินการทั้งในระดับรัฐบาลและเอกชน นำโดยสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก
ในปัจจุบันนั้น โครงการที่ยังดำเนินการอยู่มักประกอบไปด้วยโครงการที่ถูกสนับสนุนโดยโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของกล้องโทรทรรศน์วิทยุหลายตัว เช่น Allen Telescope Array ที่ถูกพัฒนาขึ้นสำหรับงานด้าน SETI โดยเฉพาะชุดจานรับสัญญาณนั้นทำงานร่วมกันเพื่อให้ได้ค่าความไวสัญญาณที่เทียบเท่าจานเดี่ยวขนาดใหญ่ถึงร้อยเมตร หรือโครงการ SERENDIP (Search for Extraterrestrial Radio Emissions from Nearby Developed Intelligent Populations) ที่ดึงเอาข้อมูลจากหอดูดาวหรือระบบกล้องโทรทรรศน์วิทยุอื่นที่ไม่ใช่ของตนเองมาประมวลผล (แบบนี้ช่วยประหยัดต้นทุนไปเยอะ แต่ก็ต้องแลกกับการที่ตัวโครงการไม่ได้ควบคุมระบบ Facility เลย) โครงการใหญ่มากๆ อย่าง Breakthrough Listen ที่มีเงินลงทุนกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ พร้อมการสนับสนุนจากนักวิทยาศาสตร์ชื่อดังในวงการมากมาย เช่น สตีเฟน ฮอว์กิง โดยโครงการระยะเวลาหนึ่งทศวรรษที่เริ่มในปี 2015 นี้ ได้กลายเป็นเสมือนมาตรฐานใหม่ของงานด้าน SETI ไปเป็นที่เรียบร้อย ทั้งการสร้างและใช้งานระบบรับและประมวลผลข้อมูลที่เยอะแบบไม่เคยมีมาก่อน ไปจนถึงการประยุกต์เอาข้อมูลจากกลุ่ม TESS (Transiting Exoplanet Survey Satellite) เพื่อช่วยเล็งหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่อาจจะมีสิ่งมีชีวิต หรือเอื้ออำนวยต่อการมีอยู่ของสิ่งมีชีวิตได้ นี่จึงเป็นความพยายามครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของมนุษยชาติในภารกิจนี้อย่างปฏิเสธไม่ได้เลย
ที่น่าพูดถึงอีกโครงการหนึ่งก็คือโครงการ FAST (Five-hundred-meter Aperture Spherical Telescope) ของจีน ซึ่งถูกนำมาใช้เพื่อการนี้ด้วย ตัว FAST เองเป็นกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ณ เวลานี้ ด้วยเส้นผ่านศูนย์กลางกว่า 500 เมตร ซึ่งน่าติดตามอยู่เหมือนกันว่าจะเจออะไรเพิ่มเติมหรือไม่ (ใบ้ว่าจานเล็กหลายๆ จาน ย่อมมีข้อแตกต่างจากจานใหญ่จานเดียวอยู่แล้ว แต่ถ้าเล่าจะยาวแน่ๆ ใครสนใจลองค้นจาก Astronomical Interferometer ดูได้)
ส่วน SETI@home ที่เรากำลังจะพูดถึงกันนั้น ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม ‘Community’ SETI ซึ่งก็คือการนำเอาข้อมูลมาแจกจ่ายให้คนทั่วไปช่วยประมวลผลกันได้ ซึ่งผมกำลังจะกล่าวถึงต่อไปครับ
อินเทอร์เน็ต, นวัตกรรม Volunteer Computing และ SETI@home
ในวงการ SETI สมัยใหม่ ปริมาณข้อมูลที่รับเข้ามานั้นมีมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งสาเหตุหลักก็คือการเพิ่มขึ้นของทั้งประสิทธิภาพและความสามารถในการรับข้อมูลของกล้องโทรทรรศน์วิทยุ ไม่เพียงแค่นั้น ระยะเวลาในการสังเกตการณ์ก็ถูกขยายออกไปด้วยเช่นกัน จนแทบจะมีข้อมูลหลายร้อย Gigabyte ถูกสร้างขึ้น ทุกๆ วินาที ตลอด 24 ชั่วโมงเลยก็ว่าได้
การจะวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดนี้ได้ต้องใช้ทรัพยากรคอมพิวเตอร์มหาศาล จริงอยู่ที่เรามี Supercomputer ใช้กันแล้ว แต่งานอย่าง SETI นั้นไม่มีความสำคัญมากพอจะไปดูดเอาพลังการประมวลผลมาใช้อยู่แล้ว และการวิเคราะห์ข้อมูลนั้นก็ไม่ได้สลับซับซ้อนอะไรมาก ส่วนใหญ่คือการเปรียบเทียบหาจุดสัญญาณที่แยกออกมาจาก Noise หรือคลื่นรบกวนได้ และมีลักษณะที่เหมือนถูกสร้างขึ้นมาจากแหล่งกำเนิดที่ไม่เป็นธรรมชาติจริงๆ ขั้นตอนเหล่านี้ไม่ได้ใช้พลังประมวลผลมหาศาลแบบการถอดรหัสหรือขุดบิตคอยน์ ดังนั้นการเอาจำนวนเข้าสู้จึงดูเป็นทางเลือกที่เข้าท่ามาก
และด้วยการเข้ามาของอินเทอร์เน็ต แนวคิดนี้จึงเป็นความจริงขึ้นมาได้ในรูปของ SETI@home โดยผู้พัฒนาหลักคือ Berkeley SETI Research Center ที่มีส่วนอยู่เบื้องหลังหลากหลายโครงการ SETI ที่ผ่านมา สำหรับการดำเนินการนั้นอยู่ภายใต้การดูแลของ Space Sciences Laboratory ณ University of California, Berkeley และถูกปล่อยสู่สาธารณชนในวันที่ 17 พฤษภาคม 1999
ระบบ SETI@home ทำงานด้วยซอฟต์แวร์ที่ชื่อว่า BOINC (Berkeley Open Infrastructure for Network Computing) ภาษาไทยห้วนๆ เลยคือ ‘บ๊องค์’ ซึ่งเริ่มที่การดักรับเอาข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์วิทยุ Arecibo Radio Telescope (ที่เพิ่งถล่มไป น่าเสียดายมาก) และ Green Bank Telescope ในลักษณะเดียวกับโครงการ SERENDIP เลย
เมื่อได้ข้อมูลดิบมาแล้วระบบจะทำการประมวลสัญญาณให้เป็นดิจิทัลและบันทึกเก็บเอาไว้ ก่อนจะส่งไปรวมกันที่ศูนย์กลางเซิร์ฟเวอร์ของ SETI@home ซึ่งจะทำการตัดข้อมูลเป็นชิ้นๆ ขนาดเล็กหรือเหมาะสมตามช่วงเวลาแล้วจึงกระจายให้เครื่องคอมพิวเตอร์ลูกข่ายที่มีโปรแกรมรับข้อมูลสำหรับใช้ประมวลผลอีกทีหนึ่งผ่านการติดต่อด้วยระบบอินเทอร์เน็ต การประมวลผลนั้นไม่รบกวนการใช้งานเครื่องจนเกินไป เพราะเอาพลัง CPU ส่วนที่ไม่ได้ใช้ของเครื่องมาใช้ เมื่อวิเคราะห์ผลเสร็จแล้วก็จะทำการส่งผลลัพธ์กลับไปให้ทาง SETI@home อีกทีหนึ่ง
สำหรับการวิเคราะห์สัญญาณจะดูกันที่หลายตัวแปรมากๆ โดยกระจายกันไปให้ถูกประมวลผลมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ในทุกตัวแปร ยกตัวอย่างเช่น การกระโดดขึ้นของความเข้มของสัญญาณอย่างผิดปกติ, ความแรงของสัญญาณอย่างเฉียบพลัน, การกระโดดของสัญญาณหลายๆ รอบ (ขั้นต่ำ 3), จังหวะของชุดสัญญาณที่แสดงถึงระบบสื่อสาร, สหสัมพันธ์อัตโนมัติ (Autocorrelation) ของสัญญาณชุดนั้น ท้ายที่สุดคือต้องไม่ใช่ Noise และไม่ถูกรบกวนจากสภาวะแวดล้อมตามธรรมชาติหรือแหล่งกำเนิดฝีมือมนุษย์อย่างดาวเทียมที่โคจรรอบโลก
ถ้าจะจินตนาการให้เห็นภาพมากขึ้น BOINC ก็เหมือนครูที่เอาข้อสอบมาให้เราตรวจโดยบอกเฉลยเอาไว้แล้ว เพียงแค่การตรวจนั้นมีคำตอบที่ถูกต้องและเข้าข่ายหลายแบบ รวมถึงเรามีหน้าที่แจ้งครูให้เข้ามาดูแลต่อหากเจอคำตอบที่ว่าในข้อสอบชุดนั้น (ไม่ต้องแปลกใจว่าข้อสอบนี้แทบจะผิดรัวๆ)
ในส่วนของเป้าหมายของ SETI@home นั้นมีสองอย่างหลักๆ คือ 1. ทำประโยชน์ให้วงการวิทยาศาสตร์โดยการวิเคราะ์และสังเกตการณ์ข้อมูลเพื่อค้นหาสิ่งมีชีวิตนอกโลก และ 2. พิสูจน์ให้เห็นถึงความเป็นไปได้และเหมาะสมของคอนเซ็ปต์อย่าง Volunteer Computing ที่ให้คนทั่วไปอาสาเสียสละทรัพยากรการประมวลผลของตนเองเพื่อภารกิจนี้ ตัวเป้าหมายแรกเรายังไม่ได้บทสรุปที่ชัดเจน แต่เป้าหมายที่สองนี่ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม และเป็นเหมือนต้นกำเนิดของ ‘ระบบ’ รูปแบบนี้ตามมาในอีกหลายสาขาวิจัย ทั้งในวงการอวกาศเองหรือทางด้านการแพทย์และอื่นๆ อีกเพียบ และยังไม่นับคุณนูปการมหาศาลที่ทำให้วงการฐานข้อมูลในการรับมือกับอะไรที่หนักหน่วงขนาดนี้ด้วย
น่าเสียดายที่ในตอนนี้ระบบ SETI@home ในระดับคนทั่วไปนั้นเหมือนจะถูกหยุดไป เพราะทีมนักวิจัยต้องการโฟกัสไปที่การไล่วิเคราะห์ผลลัพธ์ซึ่งถูกส่งเข้ามาซะมากกว่า อย่างไรก็ตามตัวระบบยังคงอยู่และอาจจะเปลี่ยนไปดึงข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์วิทยุเจ้าอื่นอย่าง FAST หรือ MeerKAT มาใช้แทนกัน (อย่าลืมว่า Arecibo ถล่มไปแล้ว นี่จึงเป็นเหมือนการตัดแหล่งข้อมูลดิบไปครึ่งนึงเลย)
เราจะมีโอกาสเจอเพื่อนร่วมจักรวาลจริงไหม
ว่ากันว่าในเอกภพของเรามีดวงดาวมากกว่าเม็ดทรายบนดาวเคราะห์สีน้ำเงินดวงนี้เสียอีก แล้วเพราะเหตุใดกันเล่า เราจึงไม่เจอสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เลย ทั้งที่ล้ำหน้าหรือต่ำกว่าเรา ไม่มีแม้กระทั่งหลักฐานที่ดูจะนำพาเราไปสู่การพิสูจน์ถึงการมีอยู่ของพวกเขาเลยด้วยซ้ำ ทั้งหมดนี้สามารถสรุปได้ในรูปของ Fermi Paradox (ปฏิทรรศน์ของ Fermi) ที่อธิบายถึงความขัดแย้งระหว่างความเป็นไปได้มหาศาลในการมีอยู่ของสิ่งมีชีวิตอื่นนอกเหนือไปจากเรากับความเป็นจริงอันโหดร้ายที่ไม่เคยมีใครติดต่อเรามาเลย
สาเหตุของ Fermi Paradox นั้นมีเยอะมาก ทั้งขีดจำกัดของจักรวาลในด้านระยะทางและเวลาที่ทำให้การติดต่อกันระหว่างสิ่งมีชีวิตที่ศิวิไลซ์ในระดับเดียวกับเรานั้นไม่ใช่เรื่องง่าย (ต้องล้ำระดับ Star Trek ขึ้นไปถึงจะพอมีหวัง) เพราะมันยากยิ่งกว่าการงมเข็มในมหาสมุทรเป็นล้านซะอีก ผนวกกับความโหดร้ายของจักรวาลที่เอาเข้าจริงตัวปัจจัยด้านคุณภาพที่ทำให้ชีวิตก่อกำเนิดขึ้นมาได้อาจจะทำลายปัจจัยด้านปริมาณจนย่อยยับไปแล้วก็ได้ (หรือที่น่ากลัวสุดๆ อย่าง The Great Filter ก็เป็นประเด็นหลักที่ถูกพูดถึงกันบ่อยเหมือนกัน)
หรือก็คือมนุษย์เราแค่โชคดีสุดๆ ที่วิวัฒนาการขึ้นมาและยังคงอยู่รอดจนถึงทุกวันนี้ได้ เพียงเพราะ ‘ชีวิต’ ในระดับเรา ไม่ใช่เรื่องปกติในจักรวาลที่เราอาศัยอยู่ ไม่แน่ว่าอาจจะมีอารยธรรมที่เกิดขึ้นมาแล้ว และสูญสลายไปก่อนจะได้เจอกับพวกเรา หรือไม่พวกเขาก็ล้ำหน้าเกินกว่าเราไปมากจนไม่มีวันเข้าใจพวกเราได้เลย ไม่ต่างจากการส่งรหัสโทรเลขเพื่อคุยกับคนที่ใช้ 5G
ความหวังสุดท้ายจึงตกไปอยู่ที่ข้อมูลทั้งหมดที่เราเก็บมา (และกำลังจะเก็บในอนาคต) เพื่อทำการวิเคราะห์จากทุกโครงการ SETI ที่มีในความพยายามที่จะเติมเต็มสมการอย่าง Drake equation ที่อธิบายถึงจำนวนของอารยธรรมที่มีความสามารถในการสื่อสารระหว่างดวงดาวได้ในกาแล็กซีทางช้างเผือกนี้เป็นต้น หรือขอแค่เพียงพบเจอกับหลักฐานบางอย่างที่ทำให้ความเป็นได้นั้นเพิ่มมากขึ้นอีกก็เพียงพอแล้ว
กระบวนการเหล่านี้จึงยังคงต้องดำเนินต่อไป ไม่ต่างจากหน้าที่ที่พึงกระทำของสิ่งมีชีวิตอันขึ้นชื่อว่าฉลาดที่สุดในจักรวาล อย่างน้อยก็ในตอนนี้ ถ้าใครสนใจจะเข้าร่วมก็สามารถติดตามข่าวสารได้จากเว็บไซต์ Official ของทาง SETI@home เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการตามหาเพื่อนบ้านของเราอย่างจริงจัง
บทส่งท้าย
โดยส่วนตัวแล้ว ผมมองว่าโครงการ SETI เป็นงานวิจัยที่มีความเสี่ยงมากในมุมมองของคนทั่วไป เพราะดูเหมือนกับว่าจะเป็นการพยายามหาคำตอบที่ไม่รู้ว่าจะเจอเมื่อไหร่ หรือแม้แต่ผลลัพธ์ที่ตามมาก็สุดจะคาดเดาได้เลย ช่างเป็นภาพที่ขัดแย้งจากการนำเสนอของโลกมายาเสียจริงๆ
แต่ความเป็นจริงแล้ว ‘ประโยชน์’ ที่เราได้รับจาก SETI นั้นมักจะอยู่ระหว่างทางไปค้นหาคำตอบนั้นต่างหาก เหมือนกับงานด้านอวกาศส่วนใหญ่ที่ดูไกลตัวคนทั่วไปมาก แต่กลับกลายเป็นว่าทั้งเทคโนโลยีและองค์ความรู้ที่ได้นั้นถูกนำมาประยุกต์ใช้รอบตัวเราแล้วในหลากหลายด้าน ทั้งการสื่อสาร, วัสดุ, การแพทย์ และอื่นๆ อีกเพียบ ซึ่งโครงการอย่าง SETI@home ก็แสดงให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมเหมือนกัน
บทสรุปของงานวิจัยที่ยังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งนี้ จึงดูเหมือนจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับมนุษยชาติในแทบจะทุกมุมมอง รวมถึงตั้งคำถามสำคัญเลยว่าเราจะอยู่รอดไปจนเจอเพื่อนร่วมจักรวาลได้จริงหรือไม่
มนุษยชาติจะเป็นตัวอย่างที่ดีของสายพันธุ์ซึ่งวิวัฒนาการมาเพื่อคงอยู่ต่อไปจริงไหม เราเท่านั้นที่เป็นผู้ให้คำตอบได้ครับ
อ้างอิง
https://setiathome.berkeley.edu/
https://www.youtube.com/watch?v=sNhhvQGsMEc
https://www.youtube.com/watch?v=1fQkVqno-uI
https://history.nasa.gov/garber.pdf
https://www.planetary.org/sci-tech/seti
https://en.wikipedia.org/wiki/SETI@home
https://en.wikipedia.org/wiki/Drake_equation
https://en.wikipedia.org/wiki/Fermi_paradox
Tags: Scientifica, SETI, Alien