‘ผู้ป่วย’ หรือ ‘คนบ้า’ กลายเป็นคำอธิบายพื้นฐานในหลายกรณีที่ถูกจับด้วยข้อหาหนักทางการเมือง

ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา มีคนนับร้อยถูกจับกุมและตั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งมีโทษหนัก ต้องถูกส่งเข้าไปรับโทษในเรือนจำ ซึ่งมีโทษกรรมละ 3 – 15 ปี

ด้วยความรุนแรงของข้อหานี้ ทำให้กฎหมายมาตรานี้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อกล่าวหาฝ่ายตรงข้ามได้ง่ายๆ และทำให้การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในบรรยากาศความขัดแย้ง (แบบมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของประเทศไทย) จึงยิ่งต้องใช้ความระมัดระวังมากเป็นพิเศษ ไม่มีใครอยากจะล้ำเส้นหรือแตะเส้นมาก จนทำให้ต้องเสี่ยงเข้าไปอยู่ในคุกตาราง

แต่ท่ามกลางบรรยากาศที่การพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ทวีความอ่อนไหวถึงขั้นสูงสุดในช่วง 2-3 ปีหลังมานี้ ก็ยังมีคนที่แสดงความคิดเห็นโดยไม่ได้คิดว่าจะต้องเกรงกลัวต่อความรุนแรงของกฎหมายและมาตรการทางสังคม เมื่อถูกจับกุมแล้ว ในทางการแพทย์ บุคคลเหล่านี้มักถูกวินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วยด้วยโรคทางจิต หรืออีกนัยหนึ่ง ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสถาบันเบื้องสูงก็มาจาก ‘ความป่วย’ ที่ก็ทำให้พวกเขาข้ามเส้นไปพูดถึงประเด็นที่อ่อนไหวในทางสาธารณะโดยไม่ได้ตระหนักถึงผลที่จะตามมา

ซึ่งเป็นเรื่องที่ ‘คนปกติ’ ไม่มีใครกล้าหรือบ้าพอที่จะพูดกัน

 

กฎหมายไม่ได้มุ่งจะเอาโทษกับผู้ป่วย

พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ กล่าวถึงโรคจิตเภท หรือ Schizophrenia ไว้ในวารสารเพื่อนรักษ์สุขภาพจิต (ฉบับเดือนกรกฎาคม – กันยายน 2558) ว่าหมายถึงกลุ่มอาการของโรคที่มีความผิดปกติของความคิด ผู้ป่วยจะมีความคิดและการรับรู้ไม่ตรงกับความเป็นจริง

ในขณะที่เกณฑ์การวินิจฉัยของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน ฉบับที่ 5 (DMS V) ระบุว่า ผู้ที่เป็นโรคจิตเภทจะมีอาการหลงผิด ประสาทหลอน พูดจาสับสนมาก มักเปลี่ยนเรื่องจนฟังไม่เข้าใจ พฤติกรรมเรื่อยเปื่อย วุ่นวาย หรือมีท่าทางแปลกๆ และมีอาการด้านลบ เช่น อารมณ์เฉยเมย ไม่ค่อยพูด หรือเฉื่อยชา ประกอบกัน อย่างน้อยสองอาการขึ้นไป

ผู้ป่วยจิตเภทบางคน เมื่อแรกพบก็สามารถแยกแยะได้ทันทีจากท่าทาง บุคลิกภายนอก หรือดูจากการพูดจาที่ฟังไม่รู้เรื่อง ไม่เป็นเหตุเป็นผล แต่ผู้ป่วยบางคนยังสามารถถามตอบเรื่องทั่วไปได้รู้เรื่อง ทำงานได้ ดูแลตัวเองได้ อยู่ร่วมกับสังคมได้ จะมีเพียงบางเรื่องเท่านั้นที่ระบบเหตุผลหรือการให้คุณค่าต่อข้อเท็จจริงต่างๆ ผิดแผกไปจากคนส่วนใหญ่ของสังคม ซึ่งผู้ป่วยประเภทหลังนั้น หากไม่มีการวินิจฉัยอย่างละเอียดอาจจะแยกไม่ออกว่าใครป่วยจริงหรือป่วยไม่จริง

ในทางกฎหมาย มาตรา 65 ของประมวลกฎหมายอาญา ยกเว้นโทษให้ผู้ป่วยที่ฝ่าฝืนกฎหมาย อาจไม่ต้องเข้าคุกเข้าตารางเหมือนกับคนไม่ป่วยที่ทำผิดไปโดยเจตนา โดยกำหนดไว้ว่า หากผู้ใดกระทำความผิดในขณะที่ไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะมีจิตบกพร่อง ไม่ต้องรับโทษ หรือหากผู้กระทำความผิดยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้เพียงใดก็ได้

 

บัณฑิต ‘ผู้ป่วย’ ที่ไม่หยุดแสดงความเห็น และไม่กลัวกฎหมาย

บัณฑิต หรือ สมอล์ล บัณฑิต อาร์ณีญาญ์ ชายแก่ซึ่งมีชื่อสกุลอันเป็นเอกลักษณ์ ปัจจุบันอายุ 73 ปีแล้ว เขาดำรงชีพด้วยการแปลหนังสือ พิมพ์ต้นฉบับแล้วถ่ายเอกสารมาเย็บเล่มขายเอง

หากนับสถิติในประวัติศาสตร์ไทย บัณฑิตเป็นผู้ป่วยจิตเภทที่ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 มากครั้งที่สุดเท่าที่เคยบันทึกสถิติได้

22 กันยายน 2546 บัณฑิตเดินทางไปร่วมงานสัมมนาเกี่ยวกับกฎหมายพรรคการเมืองที่จัดโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ โรงแรมเดอะทวิน ทาวเวอร์ แล้วลุกขึ้นแสดงความคิดเห็น ต่อมา พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ อดีตกรรมการ กกต. นำเทปบันทึกเสียงเข้าแจ้งความ เขาถูกจับและส่งตัวไปรักษาที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์

แพทย์วินิจฉัยว่า บัณฑิตเป็นผู้ป่วย กระทำความผิดไปเนื่องจากอาการป่วย

ตามคำบอกเล่าของบัณฑิต เขาถูกบังคับรักษาด้วยวิธีช็อตไฟฟ้า เขาพยายามปฏิเสธและต่อสู้ขัดขืนเพื่อให้ตัวเองไม่ต้องรับการรักษา หลังถูกปล่อยตัวให้กลับบ้าน เขาก็ไม่ยอมรับว่าตัวเองเป็นบ้า และไม่กินยาต่อเนื่องตามที่หมอสั่ง

ด้วยความช่วยเหลือของเพื่อนๆ บัณฑิตต่อสู้คดีถึงชั้นศาลฎีกา จนกระทั่งวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2557 ศาลฎีกาพิพากษาว่า ขณะกระทำความผิด จำเลยมีอาการป่วยทางจิต สมควรได้รับการตรวจรักษาอย่างต่อเนื่อง ทั้งจำเลยมีอายุมาก ไม่เคยทำผิดหรือต้องโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรให้โอกาสกลับตัวเป็นพลเมืองดีต่อไป จึงให้ลงโทษจำคุกจำเลยรวมสี่ปี แต่ให้รอลงอาญามีกำหนดสามปีและให้คุมประพฤติ

หลังคำพิพากษาศาลฎีกาออกมาไม่ถึงหนึ่งปี วันที่ 26 พฤศจิกายน 2557 บัณฑิตไปในงานเสวนาที่พรรคนวัตกรรมระดมความเห็นเรื่องการปฏิรูป เขาแสดงความคิดเห็นอีกครั้ง ไม่ต่างจากเดิม ตำรวจที่สังเกตการณ์งานเสวนาอยู่ก็เข้าจับกุมบัณฑิตทันที

เนื่องจากชายชรามีใบรับรองแพทย์ถึงอาการป่วยอยู่แล้ว เขาจึงเป็นหนึ่งในผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 ไม่กี่คนที่ศาลอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างสู้คดี แต่เมื่อคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลทหาร บัณฑิตให้การปฏิเสธ เขาพยายามจะบอกต่อศาลว่า สิ่งที่ตัวเองพูดนั้นไม่ขัดต่อกฎหมาย ไม่เป็นความผิด โดยจะขอต่อสู้คดีของตัวเองด้วยแนวทางนี้ และยืนยันว่าตัวเองไม่ได้บ้า ไม่ขอให้ศาลสั่งลงโทษสถานเบาด้วยเหตุอาการป่วยอีก

ระหว่างที่คดียังพิจารณาไม่เสร็จ วันที่ 12 กันยายน 2558 บัณฑิตไปแสดงความคิดเห็นอีกครั้งในงานเสวนาเรื่อง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จัดโดยขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขาเสนอให้บัญญัติเรื่องที่เขาเห็นว่าสำคัญห้าเรื่องไว้ในรัฐธรรมนูญ ข้อหนึ่งในนั้นระบุถึงเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน ตำรวจ สน.ชนะสงครามที่มาสังเกตการณ์เชิญตัวเขาไปโรงพักเพื่อตักเตือนและให้ลงนามในข้อตกลงว่า จะไม่แสดงความเห็นลักษณะนี้อีก แต่ต่อมา ตำรวจก็ออกหมายและจับกุมตัวเขามาดำเนินคดีต่อศาลทหารกรุงเทพ เป็นอีกคดีหนึ่ง

เนื่องจากสองคดีหลังเกิดในยุค คสช. ที่มีประกาศให้คดีมาตรา 112 ของพลเรือนต้องขึ้นศาลทหาร ลุงบัณฑิตจึงเป็นพลเรือนอีกหนึ่งคนที่ต้องเดินทางจากบ้านมาวนเวียนอยู่ที่ศาลทหารกรุงเทพ ข้างกระทรวงกลาโหมอย่างสม่ำเสมอแทบไม่ได้เว้นว่างตลอดระยะเวลาสามสี่ปีที่ผ่านมา แต่คดีของเขาก็ยังเดินหน้าไปไม่ถึงไหน โดยจะมีนัดสืบพยานอีกครั้งในวันที่ 15 พฤษภาคม 2561

 

ผู้ป่วยจิตเภท อีกหลายคนก็ยังคงต่อสู้กันในชั้นศาล

นอกจากบัณฑิตแล้ว ยังพบคดีที่ ‘ผู้ป่วยจิตเภท’ ถูกฟ้องในข้อหามาตรา 112 ได้อีกอย่างน้อย 7 คดี เช่น คดีของฐิตินันท์ที่ก่อเหตุใช้ความรุนแรง ในปี 2555 สุดท้าย ศาลก็พิพากษาให้รอลงอาญาเพราะเห็นแก่อาการป่วยของจำเลย คล้ายกับคดีแรกของบัณฑิต

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลการจับกุมบุคคลอีกอย่างน้อย 4 กรณีจากการแสดงออกเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่เนื่องจากตำรวจพบเห็นอาการป่วยชัดเจน จึงไม่ดำเนินคดีต่อ

มีจำเลยจำนวนหนึ่งที่ระบุว่าเป็นผู้ป่วยจิตเภท แต่ไม่ได้รับการลดโทษ เช่น ธเนศ (นามสมมติ) ที่ระบุว่าได้ยินเสียงหูแว่วบังคับให้เขาส่งอีเมล ถูกศาลพิพากษาให้จำคุก 3 ปี 4 เดือน โดยไม่รอลงอาญา หรือกรณีของพฤทธิ์นรินทร์ ที่ถูกฟ้องจากการโพสต์เฟซบุ๊กรวม 9 ครั้ง ศาลพิพากษาให้จำคุกด้วยโทษสูงถึง 27 ปี 36 เดือน

ทั้งสองคดีนี้ ศาลพิพากษาให้จำเลยต้องรับโทษโดยไม่นำเอาอาการป่วยมาเป็นเหตุในการลดโทษด้วย ซึ่งล่าสุด ทั้งสองคนได้ลดโทษตามวาระโอกาสต่างๆ และได้รับการปล่อยตัวแล้ว

ยังมีคดีอีกจำนวนมากที่มีข้อโต้แย้งว่า จำเลยเป็นคนป่วยที่มีระบบการใช้เหตุผลไม่ปกติและเข้าใจผิดเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น เข้าใจว่าตัวเองสื่อสารกับในหลวงผ่านโทรทัศน์ได้ เข้าใจว่าตัวเองเป็นคนที่ทำงานใกล้ชิดกับรัชทายาท หรือ เข้าใจว่าตัวเองเป็นพระแม่ธรณี ฯลฯ ขณะนี้กำลังถูกพิจารณาคดีอย่างค่อยเป็นค่อยไปอยู่ที่ศาลทหาร โดยยังไม่แน่ว่าเมื่อใดที่คดีเหล่านี้จะมีคำพิพากษา และยังไม่แน่ว่า ศาลจะพิจารณาโดยเอาอาการเจ็บป่วยมาลงโทษให้เบาลงกว่าคนปกติบ้างหรือไม่

 

อ้างอิง:

Tags: , , , , ,