หากพูดถึง ‘สิทธิที่จะตาย’ และประเทศที่มีกฎหมายอนุญาตให้ประชาชนเลือกวันที่จะลาจากโลกนี้ไป หนึ่งในประเทศที่ถูกเอ่ยถึงมากที่สุดคงหนีไม่พ้น ‘สวิตเซอร์แลนด์’ ที่มีกฎหมายรองรับให้ผู้ป่วยยุติชีวิตของตัวเองด้วยวิธี การฆ่าตัวตายภายใต้การช่วยเหลือจากแพทย์ (Physician Assisted Suicide) หรือ PAS ที่มีมาตั้งแต่ปี 1942 นอกจากนี้ สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีตัวเลขระบุชัดเจนว่า มีชาวต่างชาติจำนวนมากเดินทางมาทำการุณยฆาตยัง Dignitas Suicide Clinic สถานพยาบาลที่รองรับผู้ป่วยต่างชาติ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2021 สำนกข่าว Swissinfo รายงานว่า รัฐบาลได้ผ่านการอนุมัติให้สถานพยาบาลที่มีการทำ PAS สามารถใช้แคปซูลการุณยฆาตได้แล้ว

แคปซูลการุณยฆาตที่ว่าชื่อ ซาร์โก (Sarco Suicide Pods) คิดค้นโดยองค์กร Exit International ตัวเครื่องรูปทรงวงรีขนาดใหญ่ใส่คนได้หนึ่งคน ถูกออกแบบให้มีดีไซน์ทันสมัย เคยสร้างเสียงฮือฮาจากการเปิดตัวโมเดลต้นแบบเมื่อปี 2017 ก่อนทางผู้ผลิตจะนำเครื่องซาร์โกไปจัดแสดงตามประเทศต่างๆ หลายครั้ง เช่น พิพิธภัณฑ์สุสานในเยอรมนี นิทรรศการความตายและพิธีศพ ในอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ หรืองานศิลปะอื่นๆ ที่จัดขึ้นทั่วทวีปยุโรป โดยนำเสนอว่า แคปซูลซาร์โกจะมอบความตายที่ไม่เจ็บปวดให้แก่ผู้ที่ไม่ประสงค์จะมีชีวิตต่อ และแคปซูลยังถูกออกแบบมาให้ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เท่ากับว่าเมื่อใช้งานเครื่องเสร็จแล้ว ซาร์โกสามารถเปลี่ยนเป็นโลงศพให้แก่ผู้จากไปได้ทันที

การทำงานของแคปซูลซาร์โกจะเริ่มต้นขึ้นเมื่อผู้ใช้งานกดเปิดเครื่อง ระบบจะปล่อยสารเพนโทบาร์บิทัล ยาในกลุ่มยากันชักและยากดประสาท ช่วยบรรเทาอาการวิตกกังวล คู่กับการปล่อยก๊าซไนโตรเจนที่ทำให้ระดับออกซิเจนในแคปซูลเริ่มลดลงเรื่อยๆ โดยกำหนดไว้ให้ลดลงเหลือ 21 เปอร์เซ็นต์ ก่อนลงจนเหลือเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ ภายในเวลา 30 วินาที ในเวลาไม่ถึงนาทีอากาศในแคปซูลจะเหลือเพียงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และไนโตรเจน ทำให้มนุษย์ขาดอากาศหายใจและเสียชีวิต

ในเวลาเพียง 30 วินาที ผู้ที่อยู่ในแคปซูลจะรู้สึกเบลอ สับสนชั่วขณะ สลับกับความรู้สึกร่าเริง จากนั้น จะเริ่มหมดสติและเสียชีวิตภายใน 5-10 นาที ในเวลาเพียงชั่วครู่ ผู้ใช้งานจะไม่รู้สึกถึงความเจ็บปวด ไม่รู้สึกตื่นตระหนก ไม่สำลักอากาศหรือรู้สึกทรมานใดๆ

ด็อกเตอร์ ฟิลิป นิชเชต์ (Philip Nitschke) ผู้คิดค้นแคปซูลซาร์โก รีวิวสั้นๆ เกี่ยวกับผลงานของตัวเองว่า “เมื่อผู้ที่ต้องการใช้งานแคปซูลล้มตัวลงนอนในฟูก พวกเขาจะรู้สึกสบายและผ่อนคลาย” แถมยังทิ้งท้ายไว้อีกว่า “คุณสามารถเลือกที่จะตั้งเครื่องนี้ไว้ที่ไหนก็ได้ สวนหลังบ้าน ริมทะเลสาบ หรือในสถานพยาบาล ทั้งหมดทำได้ตามที่คุณต้องการ เพื่อให้ได้ซึมซับกับบรรยากาศที่อยากจะเห็นเป็นครั้งสุดท้าย”

ตอนนี้แคปซูลซาร์โกมีเพียงแค่ 2 เครื่องในโลกเท่านั้น บริษัทผู้คิดค้นกำลังเร่งผลิตเครื่องที่ 3 ด้วยการพิมพ์แบบสามมิติ แต่ด้วยต้นทุนการผลิตที่สูงราว 4,000-8,000 เหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นเงินไทยราว 1.4 – 2.7 แสนบาท) ประกอบกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้กระบวนการผลิตแคปซูลซาร์โกล่าช้ากว่าที่กำหนดไว้ โดย Exit International ยืนยันว่าหลังจากที่รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ตรวจสอบเครื่องและอนุมัติให้ใช้งานได้ ทางองค์กรจะเริ่มเปิดให้ใช้งานตั้งแต่ปี 2022 เป็นต้นไป

ผู้ที่มีสิทธิ์จะได้ใช้แคปซูลซาร์โก มีเงื่อนไข ได้แก่

1.ต้องผ่านการทดสอบด้านจิตวิทยากับแพทย์ 

2.ต้องมีใบรับรองแพทย์ยืนยันว่าขณะที่ตัดสินใจจะจบชีวิตบุคคลนั้นมีสติสัมปชัญญะปกติครบถ้วน 

โดยผู้ประสงค์ใช้แคปซูลที่ผ่านการรับรอง จะได้รับรหัสในการเปิดเข้าใช้ซาร์โก และผู้ใช้จะเป็นผู้กดปุ่มให้เครื่องเริ่มการทำงานการุณยฆาตด้วยตัวเอง

กระแสสังคมเกี่ยวกับแคปซูลซาร์โกถูกแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งคือยินดีกับทางเลือกใหม่ที่จะทำให้จบชีวิตได้โดยที่เจ็บปวดทางร่างกายน้อยที่สุด 

ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งมองว่าการทำงานของเครื่องดังกล่าว ไม่ต่างอะไรกับความคิดเรื่องการรมก๊าซในช่วงสงคราม แต่ประเด็นนี้ ก็ถูกตีตกไปด้วยเรื่องที่บุคคลที่จะเข้าเครื่องซาร์โก คือผู้ที่จะพร้อมรับก๊าซต่างๆ ที่อยู่ในแคปซูลด้วยความเต็มใจ คนละประเด็นกับเรื่องโศกนาฏกรรมช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

จากการสำรวจในปี 2020 พบว่า สวิตเซอร์แลนด์มีผู้เข้ารับการุณยฆาตมากถึง 1,300 คน ทั้งชาวสวิสและชาวต่างชาติ มีทั้งผู้ป่วยอาการโคม่า ผู้สูงอายุที่กำลังทรมานจากโรคร้ายเรื้อรัง และต้องการจะหลุดพ้นจากความเจ็บปวดที่เผชิญด้วยการเลือกเวลาและวิธีการจบชีวิตด้วยตัวเอง

อ้างอิง

https://www.swissinfo.ch/eng/sarco-suicide-capsule–passes-legal-review–in-switzerland/46966510

https://nypost.com/2021/12/07/controversial-suicide-pod-that-kills-peacefully-gets-go-ahead-in-switzerland/

https://www.hindustantimes.com/world-news/switzerland-approves-euthanasia-device-for-painless-death-101638861581650.html

 

Tags: , , , , , , ,