การเคลื่อนไหวของเยาวชนเป็นกระบวนการจัดตั้งหนึ่งที่เกิดขึ้นโดยกลุ่มเยาวชนที่ตระหนักถึงการที่สังคมจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง นับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน เราอาจได้เห็นปรากฎการณ์การเคลื่อนไหวของคนที่มีอายุน้อยแต่อุดมการณ์หนักแน่น โดยไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของวัยวุฒิ และเคลื่อนไหวได้ในหลากหลายวิธีและสร้างสรรค์ ในบทความนี้ จะพามาย้อนดูประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวของเยาวชนจากทั่วทุกมุมโลกและเทรนด์การเคลื่อนไหวของเยาวรุ่นในยุคสมัยใหม่

การเคลื่อนไหวของเยาวชนกับฐานคิดสิทธิพลเมืองในประเทศตะวันตก

ในทวีปอเมริกาเหนือ เหตุการณ์สำคัญของการเคลื่อนไหวของเยาวชนมีหมุดหมายสำคัญเมื่อประเทศสหรัฐอเมริกากำลังประสบ ‘ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ’ (Great depression) ในปี 1932 เมื่อเกิดการประท้วงของกระบวนการนักศึกษาเพื่อสนับสนุนระบอบสังคมนิยมซึ่งเชื่อว่าเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ระบบทุนนิยมในอเมริกาล่มสลาย โดยต่างชูสัญลักษณ์สีแดง ไม่ว่าจะเป็น ธงแดง ผ้าเช็ดหน้าสีแดง ซึ่งเป็นสีแห่งระบอบสังคมนิยม 

กระบวนการเคลื่อนไหวเกิดขึ้นโดยกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยระดับหัวกะทิของสหรัฐ ซึ่งเหตุการณ์เกิดขึ้นเพียง 4 วันก่อนที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปีนั้น โดยมีผู้สมัครพรรคนักสังคมนิยม นอร์แมน โธมัส (Norman Thomas ) ขึ้นเวทีปราศรัยและตะโกนว่า “จงเลือกตั้งด้วยความหวัง มิใช่ความกลัว” (Vote your hopes, not your fears) และในครั้งนั้น ทำให้นักศึกษาต่างโหวตให้กับนอร์แมนอย่างท่วมท้น แม้ว่าเขาจะพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งในระดับชาติก็ตาม 

การโหวตของนักศึกษาต่อนายนอร์แมนถือเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้เกิดกระบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองของสหรัฐอเมริกา และต่อมาได้พัฒนาการเคลื่อนไหวขึ้นในยุคกลางศตวรรษที่ 20 ที่เป็นการเคลื่อนไหวของนักศึกษาเพื่อท้าทายต่อลัทธิอาณานิคม และมุ่งประเด็นไปในเรื่องการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมืองและความเท่าเทียม 

การต่อต้านการเข้าร่วมสงครามเวียดนามจนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้วัฒนธรรมรอง (Subculture) อย่าง ‘บุปผาชนหรือฮิปปี้’ เบ่งบานในอเมริกันชน จนมาถึงยุคปลายศตวรรษ 20 ที่จะเป็นแนวของเยาวชนในฐานะนักกิจกรรม1

ขณะที่ในทวีปยุโรปเกิดขึ้นก่อนหน้านั้นแล้วเมื่อปี 1820 ในประเทศเยอรมนีการเคลื่อนไหวของเยาวชนในเหตุการณ์เมื่อเหล่าบุตรหลานได้รวมตัวกันต่อต้านที่จะทำตามความต้องการของพ่อแม่ และอยากที่จะกำหนดเส้นทางเดินของชีวิตตัวเอง โดยพวกเขาเชื่อว่าความต้องการของพ่อแม่และความต้องการของพวกเขาเปรียบดังคู่ขนาน เหมือนกลางวันและกลางคืน เหมือนฤดูร้อนและฤดูหนาว คืออดีตและปัจจุบันที่ไม่มีทางมาบรรจบกันได้ ซึ่งในห้วงเวลานั้น ระบอบความเชื่อเกี่ยวกับการมีอิสระในการเลือกได้ด้วยตนเอง (Autonomous) กำลังมาแรงในเยอรมนี2 

อีกเหตุการณ์หนึ่งที่สำคัญที่เป็นการเคลื่อนไหวของเยาวชนที่สะเทือนไปทั่วทั้งทวีปยุโรปคือเหตุการณ์เมื่อปี 1968 กลุ่มเยาวชนนักศึกษาในเมืองใหญ่อย่างอัมสเตอร์ดัม เบอร์ลิน ลอนดอน ปารีสและปราก สร้างกิจกรรมในการเคลื่อนไหวเพื่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมทางการเมืองของแต่ละประเทศผ่านการเดินทางท่องเที่ยว3 และสร้างความหมายของการเป็นภราดรภาพในชาติยุโรปผ่านการเดินทางและเคลื่อนไหวทางการเมืองเมื่อไปเยือนประเทศนั้นๆ แต่การเคลื่อนไหวในเหตุการณ์นี้มีข้อจำกัดทางเศรษฐกิจที่ผู้เคลื่อนไหวคือเยาวชนชนชั้นกลาง ที่มีความสามารถในการใช้จ่ายเพื่อเดินทางไปในประเทศต่างๆ 

ต่อมา รัฐบาลของประเทศในยุโรปตะวันตกได้เห็นถึงความสำคัญของความสัมพันธ์ข้ามพรมแดนของเยาวชนเหล่านี้ จึงได้ให้การสนับสนุนผ่านสวัสดิการสำหรับเยาวชนในการเดินทางท่องเที่ยวข้ามประเทศเนื่องจากในขณะนั้นมีเหตุการณ์สำคัญคือ ในยุโรปตะวันตกได้มีความพยายามในการทำให้ชาติยุโรปกลับมาปรองดองกันอีกครั้งหลังผ่านเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งมีผลพลอยได้ทำให้เยาวชนในยุโรปได้มีการสนทนาทางการเมืองและตื่นตัวในเรื่องทางการเมืองและสิทธิพลเมืองตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และได้มีการเคลื่อนไหวของเยาวชนไม่ว่าจะเป็นทางการเมืองหรือประเด็นอื่นๆ ด้วย 

แต่ในขณะนั้น การเคลื่อนไหวของเยาวชนในทวีปยุโรปมีจุดที่น่าสังเกตที่เป็นข้อจำกัดหนึ่งในเรื่องเพศคือ การเคลื่อนไหวต่างๆ มักจะเป็นเยาวชนชายที่เป็นผู้นำและเห็นเป็นรูปธรรมชัด เช่น การเคลื่อนไหวสมาคมนักเรียนชายในเยอรมันได้ลุกฮือขึ้นต่อต้านพวกฝ่ายขวาลัทธิจักรวรรดิหลังเหตุการณ์การพ่ายแพ้ของนโปเลียนในสงครามวอเตอร์ลู4 และในอีกหลายๆ เหตุการณ์ที่เยาวชนคือแกนนำหรือเจ้าความคิด

ภาพนักศึกษากำลังขว้างก้อนหินใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจในกรุงปารีส ในเหตุการณ์ประท้วง May 68

การเคลื่อนไหวของเยาวชนในยุคก่อนๆ เป็นการเคลื่อนไหวที่ต่อต้านระบอบในสมัยนั้น และเป็นการเคลื่อนไหวที่น่าทึ่งในแง่ของการมีพัฒนาการและสร้างรากฐานของสิทธิพลเมืองที่เข้มแข็งในปัจจุบันของประเทศตะวันตก รูปแบบการเคลื่อนไหวมีวิธีการที่สร้างสรรค์ เช่น การสามารถสอดแทรกการเคลื่อนไหวเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ผ่านการใช้ชีวิตประจำวันอย่างการออกท่องเที่ยว โดยสามารถเคลื่อนไหวทางการเมืองได้พร้อมๆ กัน และส่งผลในวงกว้างทั้งทวีปยุโรป รวมไปถึงการเคลื่อนไหวที่ก่อให้เกิดวัฒนธรรมใหม่ที่ยังคงมีอิทธิพลอยู่จนทุกวันนี้เช่น วัฒนธรรมการเป็นอิสรชนอย่างฮิปปี้ ที่สะท้อนได้จากการแต่งกาย ดนตรี แนวคิด และพฤติกรรมของคนที่ยังคงพบเห็นได้ในทุกวันนี้

การเคลื่อนไหวของเยาวชนในเอเชีย: ภาพแทนของการเคลื่อนไหวของเยาวชนในโลกสมัยใหม่

เมื่อกลับมายังการเคลื่อนไหวของเยาวชนในทวีปเอเชีย ที่อาจฉายภาพแทนของการเคลื่อนไหวในโลกสมัยใหม่ให้ผู้อ่านได้นึกถึงได้ง่ายขึ้น โดยจะเป็นการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการเมืองเสียส่วนใหญ่ ซึ่งเพิ่งมาปรากฏชัดในหลังปี 2000 ตั้งแต่ปี 2008 ประเทศเกาหลีใต้ ได้มีการประท้วงของกลุ่มนักเรียนนักศึกษาเพื่อเรียกร้องต่อรัฐบาลในเรื่องของความปลอดภัยในอาหาร มาจนถึงประท้วงใหญ่เพื่อไล่ประธานาธิบดี พัค กึน ฮเย หลังเหตุการณ์โศกนาฏกรรมเรือเซวอล หรืออย่างในประเทศไต้หวันเมื่อปี 2014 ที่เรียกว่าเกิดกลุ่มขบวนการที่เรียกว่า ‘ขบวนการกลุ่มทานตะวัน’ เคลื่อนไหวโดยกลุ่มนักศึกษาเพื่อต่อต้านความตกลงการค้าบริการข้ามช่องแคบกับสาธารณรัฐประชาชนจีน (CSSTA) ของไต้หวันและจีน หรือในประเทศฮ่องกงเมื่อปี 2019 ที่มีการประท้วงโดยกลุ่มเยาวชน นักศึกษาเพื่อต่อต้านร่างพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดนฮ่องกง และในประเทศไทยเราจะเห็นการเคลื่อนไหวของเยาวชนตั้งแต่เมื่อสมัยเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 6 ตุลาฯ จนมาถึงปีปัจจุบันในยุคของคณะราษฎร กลุ่มเยาวชนปลดแอก ที่เป็นการเคลื่อนไหวของนักเรียน นักศึกษา ซึ่งมีบทบาทเป็นแกนนำในการเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือล่าสุดในประเทศพม่า 

การประท้วงโดยกลุ่มเยาวชนในประเทศฮ่องกง ที่มา: BBC

ภาพจาก ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์: มติชนสุดสัปดาห์

สิ่งที่โดดเด่นในสังคมสมัยใหม่ต่อการเคลื่อนไหวของเยาวชนคือ พวกเขามีความกล้าที่จะประกาศให้โลกรู้ซึ้งถึงความตึงเครียดที่มีในวัยของพวกเขา ที่ผู้ใหญ่มักเข้าใจว่าเด็กมีเรื่องอะไรให้เครียดนอกจากเรื่องเรียน แท้จริงแล้วนั้น การเคลื่อนไหวของเยาวชนสามารถชี้นำสังคมได้โดยผ่านการเคลื่อนไหวของเยาวชนในประเด็นต่างๆ ที่ทำให้เห็นถึงองคาพยพของสรรพสิ่งที่เป็นต้นตอของปัญหาทางสังคมที่พวกเขาต้องประสบในช่วงวัยของเขาและหนักหน่วงไม่แพ้ผู้ใหญ่ โดยจะเห็นได้จากประเด็นที่เยาวชนได้เคยมีการเคลื่อนไหวในห้วงเวลาศตวรรษที่ 21 ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการถูกตีตราทางสังคม, การต้องปรับตัวกับนวัตกรรมและวัฒนธรรม, ความรู้ใหม่ทางวิทยาศาสตร์, การปฏิรูปศาสนา, ชาตินิยมและการเมืองแห่งยุคสมัย, สิ่งแวดล้อม, สันติภาพ และการต่อต้านสงคราม 

อาจกล่าวได้ว่า ที่มาของการเคลื่อนไหวนั้นมาจากการต่อต้าน ทั้งต่อต้านระบอบหรือต่อต้านในสิ่งที่ขาดความชอบธรรม โดยการต่อต้าน (Resistance) จะเกิดขึ้นเมื่อคนรู้สึกว่าความชอบธรรมที่มีเริ่มเลือนราง สิ่งที่ต้องการก็ไม่มีวันจะมาถึง ดังนั้นจึงลุกขึ้นต่อต้าน5 ยิ่งเมื่อมีการปราบปรามการต่อต้านด้วยความหวาดกลัว (เห็นได้ชัดในกรณีตัวอย่างของรัฐปราบปรามผู้ที่เห็นต่างหรือผู้ต่อต้าน) คนก็ยิ่งต่อต้านมากขึ้นเท่านั้นและเมื่อทวีถึงจุดที่ไม่อาจหวนกลับมาได้ การต่อต้านนั้นก็จะมาถึงจุดแตกหัก 

นอกจากพลังแห่งความกล้าหาญในการลุกขึ้นมาต่อต้านของเยาวชนแล้ว ยังมีสิ่งหนึ่งที่เป็นปัจจัยในการเคลื่อนไหวของเยาวชนสมัยใหม่คือ การเข้าถึงเทคโนโลยี เยาวชนวัยรุ่นที่เคยเคลื่อนไหวทางการเมืองในยุคก่อน การรวมกลุ่มหรือการรวมตัวอาจต้องใช้เวลาในการบอกต่อหรือโปรยใบปลิวเพื่อชักชวนให้มาเข้าร่วม ขณะที่ยุคแห่งเทคโนโลยีในโลกสมัยใหม่ เพียงไม่กี่ชั่วโมงในการโพสต์ประกาศออนไลน์ ก็สามารถรวบรวมเยาวชนผู้มีอุดมการณ์เดียวกันสำหรับกิจกรรมใดๆ ได้แล้ว โซเชียลมีเดียกลายเป็นพื้นที่ในการสื่อสารที่ถูกเลือกใช้6 หรือกรณีของการประท้วงในประเทศฮ่องกงที่มีการนัดหมายและเคลื่อนไหวผ่านแอพลิเคชันเทเลแกรม (Telegram) ที่รัฐบาลจีนไม่สามารถรู้ทันถึงการเคลื่อนไหวของผู้ประท้วงฮ่องกง หรือมีกรณีที่คลับคล้ายคลับคลาเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองข้ามพรมแดนในทวีปยุโรป ที่เกิดปรากฎการณ์การเคลื่อนไหวทางการเมืองข้ามพรมแดนในโลกออนไลน์อย่าง ‘พันธมิตรชานม’ (Milk Tea Alliance) ในประเทศทวีปเอเชีย ที่เคลื่อนไหวทางการเมืองผ่านแฮชแท็กในทวิตเตอร์ เพื่อประกาศถึงมิตรภาพในการร่วมต่อสู้และให้กำลังใจกันในช่วงเวลาที่ยากลำบาก

เราอาจเห็นถึงความปัจเจกมากขึ้นในการเคลื่อนไหวในปัจจุบัน ที่นักเคลื่อนไหวเยาวชนไม่จำเป็นต้องมีการรวมกลุ่ม หรือมีแกนนำ และน่าสนใจที่แต่ละคนสามารถสร้างสรรค์เสรีภาพในการแสดงออกของตนเองได้ในหลากหลายวิธีการและไม่จำกัดสถานที่ เช่น การประท้วงหยุดเรียนของเกรตา ธันเบิร์ก (Greta Thunberg) ในประเด็นของสภาวะโลกร้อน หรือการอดอาหารของรุ้งและเพนกวินในเรือนจำ เพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวของผู้ต้องหาคดีทางการเมือง หรือมาลาลา ยูซัฟไซ (Malala Yousafzai) ผ่านงานเขียนเรื่องราวการถูกกดขี่สตรีจากกลุ่มตาลีบันทางบล็อกอินเทอร์เน็ต 

การรวมกลุ่มในแง่หนึ่งแสดงให้เห็นถึงพลังที่อาจสร้างอำนาจต่อรองในสิ่งที่ต้องการได้ แต่ในอีกแง่มุมของการรวมกลุ่มมีข้อจำกัดคือ วิธีการที่ใช้ในการเคลื่อนไหวอาจไม่ได้เกิดจากความสมัครใจของผู้เข้าร่วมทั้งหมด โดยอาจเลือกใช้วิธีการที่เสียงคนส่วนใหญ่เลือก หรือเป็นวิธีการที่ทำให้ผู้เข้าร่วมคล้อยตามเท่านั้น ขณะที่การเคลื่อนไหวในเชิงปัจเจกที่เพียงแต่อาศัยฉันทามติในอุดมการณ์ แต่สามารถเคลื่อนไหวได้ในหลากหลายวิธีการ เช่น เราเห็นด้วยกับปัญหาสภาวะโลกร้อนเหมือนเกรตา เราอาจเลิกใช้แก้วพลาสติกหรือกล่องโฟมในชีวิตประจำวัน โดยไม่จำเป็นที่จะต้องหยุดเรียนหนังสือเพื่อมานั่งประท้วงเป็นเพื่อนเกรตา หรือกรณีผู้ประท้วงบางคนอาจจะสะดวกใจที่จะเคลื่อนไหวทางการเมืองผ่านการใช้โซเชียลมีเดียมากกว่าจะเดินประท้วงบนท้องถนน แต่หากถามว่าคนเหล่านั้นคือผู้มีอุดมการณ์เดียวกันไหม ก็ต้องตอบว่าใช่

ดังนั้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้หรือเคลื่อนไหวในแนวทางใด สุดท้ายแล้วการเคลื่อนไหวและการต่อสู้ย่อมบังเกิดผล แม้ไม่เกิดในเวลาอันใกล้ แต่เกิดขึ้นในอนาคตแน่นอน เพราะเด็กและเยาวชนคือ ‘อนาคต’ อนาคตที่เกิดจากจิตวิญญาณอันเข้มแข็ง

 

อ้างอิง

1 Leah Melanie Kaplan, A Forgotten history : The 1930’s Student Movement, American Studies : Dickinson college,(2011), P.7

2 Robbert-Jan Adriaansen, The Rhythm of Eternity :The German Youth Movement and the Problem of History, p.1-3, Online : https://www.berghahnbooks.com/downloads/intros/AdriaansenRhythm_intro.pdf

3 Richard Ivan Job,Youth movement; Travel, Protest, and Europe in 1968, The American Historical Review : Oxford university press (Vol. 114, No. 2, Apr., 2009)

4 J. Reulecke, Youth Movements, History of ‘Youth movement’ Since the Nineteenth Century, International Encyclopedia of the Social & behavior science, (2001)

5 The Third Force – Field Guide To a New World Order, AB 153 : The New Left, Adbusters magazine

Bijan Kafi, Victory by Facebook? Egypt’s Digital Youth Comes of Age, Digital Development Debates, online : http://www.digital-development-debates.org/issue-04-media–political-opposition–victory-by-facebook-egypts-digital-youth-comes-of-age.html

Tags: , , ,