สิ่งที่ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมและผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนทั้งหลายต้องเผชิญเมื่ออกมาผลักดันประเด็นสาธารณะก็คือ การฟ้องตบปาก ( SLAPPs: Strategic Lawsuits Against People Participation) โดยหน่วยงานของรัฐและบรรษัทเอกชนใช้เป็นวิธีสกัดกั้นการวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมต่อหน่วยงานของตัวเอง ทั้งที่ประเด็นที่ภาคประชาสังคมเข้ามาตั้งคำถามและจับตามองนั้นเป็นเรื่องสาธารณะ ซึ่งจำเป็นต้องเปิดโอกาสให้สังคมเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ริเริ่มโครงการไปจนถึงการตัดสินใจทำ เรื่อยไปจนถึงการทบทวนโครงการเมื่อได้ทำไปแล้วจนเกิดผลกระทบต่อสังคมและชีวิตของผู้มีส่วนได้เสีย
การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อขัดขวางการมีส่วนร่วมของประชาชน (SLAPPs: Strategic Lawsuit Against Public Participation) คือการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของประชาชนในกิจการสาธารณะ หรืออาจเรียกง่ายๆ ว่า ‘การฟ้องคดีตบปาก’ คดีประเภทนี้จะแตกต่างจากคดีทั่วๆ ไปตรงที่ผู้ฟ้องได้ฟ้องคดีเพียงเพื่อขู่อีกฝ่ายให้กลัว หรือทำให้เกิดภาระมากมายจนหยุดการกระทำ หรือแกล้งขัดขวางยับยั้งการใช้สิทธิเสรีภาพของอีกฝ่าย โดยถ้อยคำข้างต้นพ้องกับคำว่า slap ในภาษาอังกฤษ ซึ่งมีความหมายว่า ตบ ทำให้เห็นได้ว่าการฟ้องคดีที่มีลักษณะเป็น SLAPP ก็เหมือนเป็นการตบคนด้วยกฎหมายนั่นเอง
คดีการบังคับใช้กฎหมายเพื่อตบปากประชาชนในประเทศไทยปรากฏในหลายรูปแบบ เช่น กรณีของสำนักข่าวภูเก็ตหวาน ซึ่งถูกฟ้องความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 และ นำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ตามมาตรา 14 (1) ของพระราชบัญญัติการทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ ผลสะเทือนของคดีนั้นรุนแรงถึงขั้นยึดพาสปอร์ตของบรรณาธิการสำนักข่าวภูเก็ตหวานชาวออสเตรเลีย รวมถึงในหลายกรณีก็มีการฟ้องเรียกร้องค่าสินไหมในทางแพ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งมาตรา 423 แม้ในท้ายสุดศาลอาจยกฟ้อง แต่ก็เป็นภาระในการต่อสู้คดีและการไปขึ้นศาล ดังนั้น สื่ออาชีพและสื่อพลเมืองทั้งไทยและต่างประเทศจำนวนมากตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ ส่งผลต่อการเลือกที่จะ ‘เงียบ’ ทำให้เจ้าของปัญหาที่เป็น ‘กลุ่มคนไร้เสียง’ ขาด ‘เครื่องขยายเสียง’ ไปด้วยโดยปริยาย
แม้ประเทศไทยจะไม่มีกฎหมายต่อต้านการดำเนินคดียุทธศาสตร์เพื่อขัดขวางการมีส่วนร่วมของประชาชน หรือกฎหมายต้านฟ้องตบปากโดยตรง แต่ก็มีความก้าวหน้าในลดปัญหาดังกล่าวในระบบกฎหมายไทยในช่วงต้นปี พ.ศ. 2562 เมื่อได้มีการปรับปรุงแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 161/1 และ 165/2 ให้ศาลมีบทบาทในการคัดกรองคดีที่มีลักษณะต่อต้านการมีส่วนร่วมของประชาชนได้มากขึ้น กล่าวคือ หากเอกชนเป็นผู้ฟ้องคดีตบปาก ศาลอาจพิจารณายุติคดีไม่ให้เป็นภาระกับผู้ถูกฟ้องคดีได้ตั้งแต่ต้น
แต่หากผู้ฟ้องคดีเป็นหน่วยงานรัฐ ศาลจะนำข้อกฎหมายที่ได้กล่าวถึงนี้มายุติคดีไม่ได้ โดยที่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายหรือมาตรการเฉพาะสำหรับแก้ไขปัญหานี้ อันเป็นผลให้กลยุทธ์ดังกล่าวเป็นที่แพร่หลายในหมู่ที่ปรึกษาบรรษัทและหน่วยงานรัฐที่ถูกตรวจสอบโดยภาคประชาชน เนื่องจากมีต้นทุนในฝั่งตนเองไม่มากเมื่อเทียบกับผลประกอบการรายปีของบรรษัทและหน่วยงานรัฐใช้งานนิติกรในองค์กรตนเองได้อยู่แล้ว ต่างจากประชาชนที่มีอุปสรรคในการเข้าถึงบริการทางกฎหมาย
หากลองใช้แนวทางการต่อต้านแบบสันติวิธีของ ยีน ชาร์ป (Gene Sharp) นักวิชาการด้านสันติวิธีชาวอเมริกัน มาเป็นกลยุทธ์ในการฟ้องตบปาก อาจได้วิธีการต่อต้านอย่างสร้างสรรค์ ดังต่อไปนี้
1. จัดประกวดคำขวัญ การ์ตูนล้อเลียน และสัญลักษณ์ขององค์กรตบปาก โดยอาจมีการจัดอันดับหน่วยงานที่มีสถิติมือตบประจำปี แล้วออกแบบแบนเนอร์ โปสเตอร์ผลงานผู้ส่งเข้าประกวดในลักษณะงานนิทรรศการ โดยอาจมีการสื่อสารผ่านการแสดงรูปแบบต่างๆ เช่น ละครสั้น ทั้งนี้อาจมีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อดิจิทัล อินโฟกราฟิก ใบปลิว จุลสารรายไตรมาส และหนังสือประจำปี โดยมีการแสดงภาพผู้บริหารองค์กรและทนายความผู้ยื่นฟ้อง ประกอบการการทำป้ายหรือตั้งชื่อองค์กรตบเสียใหม่
2. การขอความร่วมมือผู้เล่นกีฬาทางอากาศเขียนข้อความบนท้องฟ้า และนักกีฬาเอ็กซ์ตรีมเขียนข้อความบนพื้นดิน โดยจัดเป็นมหกรรมให้รางวัลประชดองค์กรผู้ส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงออกให้กับหน่วยงานที่ตบปากเข้าเป้า โดยในช่วงเช้าหรือเย็นอาจมีกิจกรรมการวิ่งหรือเต้นแอโรบิกเป็นกลุ่ม เรียกร้องสาธารณชนหยุดให้การสนับสนุน หรือการเขียนวรรณกรรมหรือกล่าวสุนทรพจน์เพื่อสนับสนุนการต่อต้าน
3. การประท้วงหน้าอาคารองค์กรจอมตบ โดยเฉพาะเมื่อมีคดีฟ้องตบ อาจมีการจัดสาธิตเลือกตั้งนักการเมืองที่ฟ้องหมิ่นประมาทภาคประชาชน หรือสาธิตการตัดสินคดีฟ้องตบปากในกรณีเป็นหน่วยงานรัฐหรือบรรษัทฟ้องประชาชน โดยให้มีการว่าความจำลองสู้กันด้วย เน้นการใช้เสียงเชิงสัญลักษณ์ เช่น ดัดแปลงเพลงหรือคำโฆษณาบรรษัทและหน่วยงานรัฐนั้นแบบขบขัน
4. การสวดมนต์และพิธีกรรมศาสนาให้ศีลให้พรจำเลย การส่งมอบสิ่งของเชิงสัญลักษณ์ปางปิดหู ปิดตา ปิดปาก โดยมีขบวนแห่ทางศาสนาเพื่อปัดรังควาน แล้วมากล่าวสุดุดีผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนและการไว้อาลัยทางการเมืองให้แก่คดีอาชญากรรมต่อสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสาธารณะ
5.การตีสนิทกับผู้บริหารและทนายความขององค์กรจอมตบ จากนั้นกระทำความสงบนิ่ง เงียบใส่เมื่อองค์กรเหล่านั้นฟ้องตบปาก และเมื่อมีการให้ผลประโยชน์หรือรางวัลก็กระทำการปฏิเสธ หรือไปรับรางวัลโดยมีการแกล้งและเสียดสีโดยใช้อารมณ์ขัน การไปงานสำคัญขององค์กรตบปากโดยไม่ใช้ความรุนแรง การเข้าไปนั่งประท้วง การเข้าไปยืนประท้วง การเข้ายึดสถานที่โดยไม่ใช้ความรุนแรง การเข้าเขตหวงห้ามโดยไม่ใช้ความรุนแรง การใช้ร่างกายขวางทาง (เชิงจิตวิทยา) การใช้ร่างกายขัดขวาง (เชิงกายภาพ) การยึดกุมพื้นที่โดยไม่ใช้ความรุนแรง
6. การคว่ำบาตรทางสังคมโดยเจาะจงประเด็นฟ้องตบปาก การขับไล่ออกจากกลุ่มทางสังคม คว่ำบาตรกิจกรรมทางสังคมต่างๆ หรือการแหวกขนบสังคมไม่ให้เกียรติ ถอนตัวจากสถาบันทางสังคมที่สนับสนุนผู้บริหารองค์กรตบปาก โดยการไม่ให้ความร่วมมือในทางส่วนตัวอย่างเด็ดขาด หนีหายจากงานไปเฉยๆ โดยไม่บอกกล่าว ยิ่งมีการหายตัวไปเป็นกลุ่มได้ยิ่งชัดเจน กลับกัน อาจจัดขบวนการเดินเท้าทางไกล หรือขบวนรถพาหนะไปเยี่ยมเยียน มอบรางวัลมือตบทองคำให้
7. กรณีบรรษัทนักตบ ให้ลงโทษทางเศรษฐกิจโดยไม่ซื้อหุ้น เทขายหุ้น กดดันในการประชุมผู้ถือหุ้น แสดงออกให้ประเทศไทยมีกองทุนรวมที่ถือเฉพาะหุ้นของบรรษัทที่ไม่มีประวัติละเมิดสิทธิมนุษยชน ทำลายสิ่งแวดล้อม ขูดรีดแรงงาน การคว่ำบาตรโดยผู้บริโภค ประชาชนผู้รับบริการ ด้วยการไม่บริโภคสินค้าหรือลดการซื้อ การไม่กู้ ไม่เช่า ไม่เช่าพื้นที่โฆษณา การกรูเข้าไปขอรับบริการจนล้นระบบ การยื้อเวลาช่วงที่ได้รับบริการ
8. การคว่ำบาตรต่างชาติโดยผู้บริโภคภายในประเทศและนานาชาติ คนงานไม่เข้าร่วมงานหรือเฉื่อยงาน การคว่ำบาตรโดยผู้ผลิต ผู้ค้าส่ง ผู้จัดส่ง และผู้ค้าปลีก การไม่ให้หรือไม่ขายทรัพย์สินให้กับองค์กรเหล่านั้น การระงับการจ้างงาน การหยุดให้ความช่วยเหลือทางอุตสาหกรรม การนัดหยุดงานใหญ่โดยกลุ่มการค้า การถอนเงินฝากธนาคาร การไม่จ่ายค่าธรรมเนียมแล้วยอมให้ตัดออกจากการเป็นลูกค้า การตัดแหล่งเงินทุนหรือสินเชื่อ การกดดันให้สปอนเซอร์ถอนตัว
นี่เป็นเหตุผลว่า การผูกขาดทางเศรษฐกิจมีผลต่อการเมือง เพราะถ้าเศรษฐกิจแย่ กิจกรรมทางการเมืองเหล่านี้จะทำได้ยากมากด้วยเงื่อนไขความจำเป็นทางการอยู่รอดทางธุรกิจ
9. ให้ที่หลบภัยและความช่วยเหลือทางการเงินหรือกฎหมายต่อผู้ถูกฟ้องตบปาก
10. หากเป็นองค์กรที่เกี่ยวข้องกับต่างชาติ อาจมีแคมเปญสากลโดยการไม่รับเงินจากรัฐบาล การห้ามซื้อขายภายในประเทศ การขึ้นบัญชีดำผู้ซื้อขาย การคว่ำบาตรจากนานาชาติโดยประเทศผู้ขายและประเทศผู้ซื้อ การคว่ำบาตรทางการค้าโดยนานาชาติ การระงับหรือเพิกถอนความภักดี
11. การคว่ำบาตรฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่เลือกตั้งคนที่มีส่วนฟ้องตบปาก การคว่ำบาตรตำแหน่งงานและการจ้างงานขององค์กรตบปาก การคว่ำบาตรกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐบาล และองค์กรที่สนับสนุนการตบ ปฏิเสธการให้ความช่วยเหลือแก่เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย การไม่ยอมรับเจ้าหน้าที่ที่รัฐบาลแต่งตั้ง โดยอาจเรียกร้องให้ข้าราชการหยุดให้ความร่วมมือ กดดันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ให้ความร่วมมือ
12. ฝ่ายตุลาการหยุดให้ความร่วมมือ ศาลอาญาไม่สั่งปิดสื่อ ไม่รับฝากขังนักกิจกรรมในหลายกรณี เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายให้ถ่วงงาน และหยุดให้ความร่วมมือในบางงาน ไปจนถึงการขัดขืนคำสั่ง การหลีกเลี่ยงหรือถ่วงเวลาโดยใช้ข้อกฎหมายที่มีลักษณะก้ำกึ่ง การพลิกกระบวนการพิจารณาคดีโดยมีการฟ้องกลับในเชิงยุทธศาสตร์จากการฟ้องกลั่นแกล้ง ฟ้องเท็จ แจ้งความเท็จโดยองค์กรตบปาก
13. การพูดแทรกขัดจังหวะในงานประชุมพบปะ การแสดงป่วนเวทีหรือนอกสถานที่ของตัวแทนองค์กรตบปาก และการสร้างสถาบันสังคมทางเลือก เช่น ถ้าองค์กรตบปากจัดประกวดหรือมอบรางวัลอะไร ให้จัดงานคู่ขนาแต่กลับหัวกลับหางมอบรางวัลให้คนที่มีบทบาทส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงออกแทน
14. การเปิดเผยตัวตนของคนที่ทำหน้าที่สายลับขององค์กรตบปาก และส่งคนเข้าไปทำงานหรือเปลี่ยนใจคนในองค์กรตบปากให้ส่งข้อมูลหรือค่อยๆปรับนโยบายองค์กรไปในทิศทางส่งเสริมสิทธิมนุษยชนตามครรลองประชาธิปไตย
สาเหตุที่ต้องลองใช้วิธีการทั้ง 14 กลุ่มนั้น เนื่องจากรัฐไทยยังไม่มีกลไกกฎหมายต่อต้านการฟ้องปิดปากประชาชน จึงจำเป็นที่ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมต้องลุกขึ้นมาปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกอันเป็นพื้นฐานของการมีส่วนร่วมกำหนดอนาคตสังคมด้วยน้ำมือตัวเอง
อ้างอิง
บทความเรื่อง “สันติวิธี: ม็อบราษฎรใช้ 91 จาก 198 วิธี ‘ปฏิบัติการไร้ความรุนแรง’ ในปี 2020” โดย ธรรมชาติ กรีอักษร สำนักข่าวประชาไท https://prachatai.com/journal/2020/12/90843
Tags: กฎหมาย, Rule of Law, SLAPPS, คดีตบปาก