จากกรณีที่บริษัท ธรรมเกษตร จำกัด ฟ้องแรงงานชาวพม่า 14 คน ในข้อหาหมิ่นประมาท ทำให้บริษัทเสื่อมเสียชื่อเสียง โดยกล่าวหาว่าแรงงาน 14 คนกล่าวเท็จในเรื่องการถูกละเมิดสิทธิ ศาลแขวงดอนเมืองเริ่มพิจารณาคดีนี้ตั้งแต่เมื่อวาน (7 ก.พ.) โดยจะสืบพยานพรุ่งนี้ (9 ก.พ.) อีกหนึ่งวัน และคาดว่าจะมีคำพิพากษาในช่วงกลางเดือนมีนาคม
เรื่องนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2559 เมื่อแรงงานชาวพม่า 14 คน ยื่นคำร้องต่อสำนักสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ว่ามีการใช้แรงงานบังคับและการละเมิดสิทธิแรงงานในฟาร์มไก่ของบริษัทธรรมเกษตร ซึ่งเคยทำสัญญาส่งไก่ให้กับบริษัทเบทาโกร
ก่อนหน้านั้น แรงงานชาวพม่าเปิดเผยกับสื่อต่างชาติและองค์กรด้านสิทธิแรงงานหลายแห่งว่า พวกเขาทำงานวันละ 20 ชั่วโมง ตั้งแต่ 07.00-17.00 น. และต้องทำงานล่วงเวลาตั้งแต่ 19.00-05.00 น. ต้องนอนในเล้าไก่ข้ามคืน ไม่มีวันหยุดประจำปีหรือวันหยุดตามประเพณี ได้ค่าจ้างเพียงวันละ 230 บาท โดยไม่มีประกันสังคมและค่าล่วงเวลา แต่นายจ้างจะให้เป็นเงินพิเศษ หากลูกจ้างทำงานได้ตามเป้าที่วางไว้ พวกเขาถูกยึดใบอนุญาตทำงานและหนังสือเดินทาง โดยอ้างว่าจะดูแลเรื่องการต่ออายุให้ และได้ออกจากฟาร์มเพียงสัปดาห์ละสองชั่วโมง โดยอยู่ในการควบคุมของผู้แทนนายจ้าง ซึ่งการออกจากฟาร์มจะต้องขออนุญาตทุกครั้ง
ในเวลาต่อมา พวกเขายื่นฟ้องบริษัทเบทาโกร เจ้าของฟาร์มไก่ และเจ้าหน้าที่รัฐ ให้จ่ายค่าชดเชยความเสียหายรวม 46 ล้านบาท ซึ่งในวันที่ 15 ก.ย. 2560 ศาลก็มีคำพิพากษาให้ฟาร์มไก่จ่ายเงินชดเชยให้กับแรงงานชาวพม่า 14 คน จำนวน 1.7 ล้านบาท โดยคำตัดสินของศาลถือเป็นการตัดสินตามคำสั่งของสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ลพบุรี ที่ก่อนหน้านั้นมีคำสั่งให้เจ้าของฟาร์มไก่ชดเชยเงินให้กับกลุ่มแรงงาน และถือเป็นการยกคำร้องอุทธรณ์ของเจ้าของฟาร์มไก่ที่ต้องการให้ศาลพิจารณายกเลิกไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยโดยอัตโนมัติ
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านั้น (7 ก.ค. 2559) แรงงานชาวพม่าได้ยื่นเรื่องร้องเรียนให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เข้ามาตรวจสอบ แต่ผลการตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและ กสม. ซึ่งเปิดเผยเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2559 สรุปได้ว่า
“..นายจ้างไม่ได้มีการกระทำที่เข้าข่ายการค้ามนุษย์ ไม่ใช่การใช้แรงงานทาส ไม่พบการกักขังหน่วงเหนี่ยว หรือยึดพาสปอร์ต และไม่พบการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือเป็นประเด็นที่มีลักษณะการบังคับใช้แรงงานตามความใน พ.ร.บ.การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์..”
จากผลการตรวจสอบข้างต้น วันที่ 6 ต.ค. 2559 บริษัทธรรมเกษตรจึงฟ้องแรงงานชาวพม่า 14 คน ในข้อหาหมิ่นประมาท ทำให้บริษัทเสื่อมเสียชื่อเสียง โดยใช้รายงานของ กสม. ประกอบการฟ้อง
เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (6 ก.พ.) ฟอร์ตี้ฟายไรต์ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้บริษัทธรรมเกษตรถอนฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทต่อแรงงานชาวพม่า 14 คน โดยเอมี สมิธ (Amy Smith) ผู้อำนวยการบริหารฟอร์ตี้ฟายไรต์กล่าวว่า “แทนที่จะหาทางแก้ปัญหา การที่บริษัทฟ้องคดีหมิ่นประมาททางอาญาเมื่อถูกกล่าวหา กลับยิ่งทำให้เกิดข้อวิตกกังวลด้านสิทธิมนุษยชนมากขึ้น กรณีซึ่งมีการกล่าวหาว่าเกิดการปฏิบัติมิชอบและเป็นข้อกล่าวหาที่ผ่านการตรวจสอบ ทางบริษัทควรหาทางจัดให้มีการเยียวยาและปฏิรูปการปฏิบัติของตนเอง ไม่ใช่มาแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่กล่าวหาตน”
ทั้งนี้ แรงงานทั้ง 14 คนถูกฟ้องว่าละเมิดมาตรา 137 และ 326 ของประมวลกฎหมายอาญา โดยมาตรา 137 กําหนดเป็นความผิดอาญา เมื่อมีการแจ้ง ‘ข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน’ กรณีที่ ‘อาจทําให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย’ โดยมีโทษจําคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ขณะที่มาตรา 326 กําหนดเป็นความผิดอาญา เมื่อมีการ ‘ใส่ความ’ ผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทําให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง โดยมีโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
ที่มา:
https://www.prachatai.com/journal/2018/02/75310
http://www.fortifyrights.org/downloads/Drop_Criminal_Lawsuits_against_14_Workers_Thai.pdf
ที่มาภาพ:
https://twitter.com/atomicalandy/status/792424035254579200
Tags: แรงงาน, กฎหมาย, แรงงานข้ามชาติ, หมิ่นประมาท, สิทธิ