หลังจากเหตุการณ์มีประชาชนจำนวนมากออกมาเรียกร้องให้ศาล ‘คืนสิทธิปล่อยชั่วคราว’ ให้แก่ผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองและประชาชนที่ต้องคดี ม.112 จนมีกิจกรรม ‘ยืน หยุด ขัง’ และการรณรงค์อื่นๆ เกิดขึ้นทั่วประเทศ แต่ยังมีผู้ที่ถูกคุมขังที่ไม่ได้รับสิทธิการปล่อยชั่วคราวจำนวนมาก จนเกิดความเคลือบแคลงสงสัยในหมู่ประชาชนว่า ศาลได้มีคำสั่งตามกฎหมายหรือไม่อย่างไร บทความชิ้นนี้ ผู้เขียนจึงทำการสำรวจและหาคำอธิบายเกี่ยวกับหลักกฎหมาย ปรากฏการณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว และพิเคราะห์ถ้อยคำของคำสั่งที่ผู้พิพากษาไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ของผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ต้องคดี ม.112 

วิธีพิจารณาความอาญาที่ไม่สอดคล้องกับหลักกระบวนการอันควรตามกฎหมาย (Due process of law)

หลักกระบวนการอันควรตามกฎหมาย (Due process of law) ว่าด้วยการ ‘ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยไม่มีความผิดจนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด’ หรือ Presumption of Innocence ซึ่งเป็นหลักสากล อธิบายไว้ว่า เมื่อมีผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดจะต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเขายังบริสุทธิ์ ปราศจากมลทินใดๆ และต้องปฏิบัติกับเขาในฐานะผู้บริสุทธิ์ เพราะตราบใดที่ยังไม่แน่ชัดว่าได้กระทำความผิดจริงหรือไม่ ก็ยังไม่ควรจะลงโทษด้วยการนำไปจองจำไว้จนกว่าจะมีคำพิพากษา เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ เป็นหลักประกันที่จำเป็นในการให้โอกาสผู้ต้องหาหรือจำเลยในการต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ได้อย่างเต็มที่ 

หลักการดังกล่าวถือเป็นหลักการพื้นฐานทางกฎหมายที่สำคัญ โดยถูกระบุไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และยังได้รับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) หรือ ICCPR ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย หลักสากลเหล่านี้ทำให้นานาอารยะประเทศต้องเคารพสิทธิตามหลักการเหล่านี้ของผู้ถูกกล่าวหาไว้

ขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยก็ได้รับรองหลัก Presumption of Innocence นี้มาตั้งแต่ฉบับปี 2492 จนถึงฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2560) ซึ่งระบุไว้ในบทบัญญัติมาตรา 29 วรรค 2 ว่า “ในคดีอาญาให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้” และวรรค 3 “การควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนี” 

อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยการปล่อยตัวชั่วคราวตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญาของไทยยังคงล้าหลัง และไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติในปฏิญญาสากลฯ หรือกติการะหว่างประเทศ ICCPR หรือแม้กระทั่งรัฐธรรมนูญของที่บังคับอยู่ ทำให้เกิดปัญหาในการใช้บังคับกฎหมายในการพิจารณาปล่อยชั่วคราวในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะเมื่อมีการจับกุมหรือควบคุมตัวผู้ต้องหา/จำเลยในคดีอาญา ศาลหรือตำรวจจะต้องคุมขังเอาไว้ก่อนจนกว่าจะได้รับการอนุญาตจากศาลให้ปล่อยชั่วคราว ซึ่งหมายถึงการมีวิธีปฏิบัติแบบ ‘ขังเป็นหลัก’ และ ‘ปล่อยชั่วคราวเป็นข้อยกเว้น’

ปรากฏการณ์ปล่อยชั่วคราว กับมาตรา 112

คดีหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นคดีที่ศาลมักไม่อนุญาตให้มีการปล่อยตัวชั่วคราวมาตั้งแต่สมัยก่อนรัฐประหารปี 2557 แม้ว่าศาลไทยจะยืนยันสิทธิปล่อยตัวชั่วคราวของผู้ต้องหาหรือจำเลยอย่างหนักแน่น โดยเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมเปิดเผยสถิติอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวปี 2563 คือร้อยละ 91.26 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงอย่างยิ่งก็จริง แต่อัตราการปล่อยตัวชั่วคราวของผู้ต้องหาหรือจำเลยคดี ม.112 นั้นไม่ได้สูงตามค่าเฉลี่ยแต่อย่างใด โดยช่วงหลังรัฐประหาร 2557 จนถึง 2560 ที่ให้สิทธิปล่อยตัวชั่วคราวในอัตราที่น้อยมาก เพียงร้อยละ 12 เท่านั้น

สถานการณ์ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2561 จนกระทั่งช่วงปลายปี 2562 มีการหลีกเลี่ยงไม่บังคับใช้ ม.112 เป็นช่วงระยะเวลาหนึ่ง เราจะเห็นได้ว่าผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์หรือต่อต้านจะถูกหลีกเลี่ยงไปถูกดำเนินคดีอาญาโดยใช้กฎหมายมาตราอื่น เช่น ข้อหายุยงปลุกปั่นให้เกิดความกระด้างกระเดื่อง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ข้อหาทำลายทรัพย์สินซึ่งมีไว้ใช้เพื่อสาธารณะประโยชน์ มาตรา 360 หรือข้อหาตามมาตรา 14 (3) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์

แต่ปรากฏว่าตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 เป็นต้นมา มาตรา 112 นี้ถูกหยิบยกมาใช้อีกครั้ง โดยการบังคับใช้เป็นไปอย่างเข้มข้น และขยายขอบเขตกว้างขวางอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน 

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปลายปี 2562 เป็นต้นมา ศาลได้มีแนวปฏิบัติใหม่ซึ่งส่งผลให้อัตราปล่อยชั่วคราวสูงขึ้นกว่าเดิม โดยผู้ต้องหาหรือจำเลย ม.112 ที่ถูกดำเนินคดีตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย. 2563 – 2 พ.ค. 2564 มีผู้ถูกดำเนินคดีแล้วทั้งสิ้นอย่างน้อย 88 ราย ใน 81 คดี สำหรับคดีที่ถูกตำรวจฝากขังหรือเข้าสู่กระบวนการพิจารณาชั้นศาลแล้วทั้งหมด 25 คดี ไม่ได้สิทธิการปล่อยชั่วคราวรวม 9 คดี ซึ่งอัตราอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวอยู่ที่ร้อยละ 64 แม้ว่าจะเป็นอัตราที่สูงกว่าช่วงรัฐประหารปี 2557 แต่ก็ยังเป็นอัตราที่ต่ำมาก เมื่อเทียบกับสถิติคดีทั่วไปที่สูงมากกว่าร้อยละ 90

พิจารณาปัญหาของคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว

คำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวของผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องคดี ม.112 ศาลมักจะให้เหตุผลไปในแนวทางเดียวกันเกือบทั้งหมดว่า คดีมีอัตราโทษสูง/พฤติการณ์มีความร้ายแรงเกรงว่าจะหลบหนี และ/หรือ กลัวก่อเหตุอันตรายประเภทอื่น หรือกระทำความผิดซ้ำ นอกจากนี้ ยังพิจารณาประกอบกับการที่โจทก์ (พนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวน) คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว 

โดยทั่วไป การพิจารณาอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวของศาลจะต้องพิจารณาตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 107 ได้รับรองสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาไว้ว่า “ผู้ต้องหาหรือจำเลยทุกคนพึงได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว…” แต่อย่างไรก็ตาม การที่ศาลจะใช้ดุลยพินิจไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวนั้น จะต้องมีเหตุอันควรเชื่อ 5 เหตุเท่านั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 ได้แก่ 

1. ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี

2. ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน

3. ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น

4. ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ

5. การปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล 

ส่วนการนำพฤติการณ์ด้านอื่นมาประกอบคำสั่งนั้น ป.วิ.อ. มาตรา 108 ให้อำนาจศาลในการใช้ดุลยพินิจพิจารณาถึงความหนักเบาของข้อหา พยานหลักฐาน พฤติการณ์ต่างๆ ความน่าเชื่อถือของหลักประกันหรือผู้ร้องขอประกัน รวมถึงความน่าเชื่อว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนีหรือไม่ ภัยอันตรายหรือความเสียหาย รวมถึงการนำคำคัดค้านของพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ (โจทก์) มาพิจารณาประกอบด้วย

เมื่อพิจารณาแล้ว จะเห็นได้ว่ามีการบัญญัติกฎหมายรับรองหลักประกันสิทธิปล่อยชั่วคราวของผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ แต่กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในปัจจุบันก็เปิดทางได้ให้ผู้พิพากษาในการใช้ ‘ดุลยพินิจ’ อย่างกว้างขวาง เป็นการให้อำนาจผู้พิพากษาในการพิจารณาถึงพฤติการณ์แวดล้อมต่างๆ เพื่อนำมาเป็นเหตุผลไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 108 และ 108/1 

ประเด็นสำคัญในที่นี้ คือความน่าเคลือบแคลงสงสัยในหมู่ประชาชนและนักกฎหมายว่า คำสั่งที่พิจารณาตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเหล่านี้อาจขัดต่อหลักสากล Presumption of Innocence หรือการให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์และขัดต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากตามพฤติการณ์ที่ปรากฏไม่มีเหตุการณ์ที่แสดงถึงการที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยการเมืองดังกล่าวน่าจะหลบหนีแต่อย่างใด แต่เป็นการสันนิษฐานคาดคะเนของศาลเองว่า เมื่อผู้ต้องหาหรือจำเลยถูกกล่าวหาในพฤติการณ์และอัตราโทษที่สูงจึงอาจจะหลบหนี 

ยกตัวอย่างเช่น กรณีของ ‘ตี้’ – วรรณวลี เอมจิตต์ ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ในคดีปราศรัยในการชุมนุม 6 ธันวาคม 2563 บริเวณวงเวียนใหญ่ โดยศาลมีคำสั่งว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดี ประกอบกับโจทก์คัดค้านการขอปล่อยชั่วคราวและจำเลยที่ 2 ถูกกล่าวหาอยู่ระหว่างสอบสวนข้อหาความผิดเดียวกับคดีนี้อีก หากปล่อยชั่วคราวมีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยที่ 2 จะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ยกคำร้อง”

หรือกรณีบุคคลทั่วไปอย่างพรพิมล แม่ค้าออนไลน์ที่ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ลงในเฟซบุ๊ก 1 ข้อความ ก่อนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 จะอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวหลังจากที่อยู่คุมขังในทัณฑสถานหญิงจังหวัดเชียงใหม่นานถึง 23 วัน โดยศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาประกอบกับข้อความที่ผู้ต้องหานำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์แล้ว ถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรง ซึ่งพนักงานสอบสวนได้คัดค้านการประกันตัว หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว อาจจะกระทำในลักษณะเดียวกันอีก เกรงว่าจะหลบหนี ยากแก่การติดตามตัว จึงให้ยกคำร้อง” 

นอกจากนี้ คำสั่งที่ให้เหตุผลว่าจำเลยหรือผู้ต้องหามีหลายคดีในลักษณะเดียวกัน จึงเกรงว่าจะไปก่ออันตรายประการอื่น ยกตัวอย่างเช่น กรณี ‘เพนกวิน’ – พริษฐ์ ชิวารักษ์, อานนท์ นำภา และ ‘รุ้ง’ – ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำคณะราษฎรที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในคดีการปราศรัยในการชุมนุม 19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสนามหลวง โดยศาลมีคำสั่งว่า พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง ทั้งมีเหตุอันควรให้เชื่อว่า หากอนุญาตให้ปล่อยตัวช่วยคราว จำเลยจะไปก่อเหตุในลักษณะเดียวกัน หรือไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นอีก จึงไม่สมควรอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว

การอ้างเหตุผลของศาลข้างต้นมีความน่าสงสัยอย่างยิ่ง เนื่องจากศาลอาศัยเหตุตามมาตรา 108/1 (3) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น ทั้งนี้ คำว่า ‘อันตราย’ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายความว่า ‘เหตุที่อาจทำให้ถึงแก่ความตายหรือพินาศ’ ซึ่งการตีความตามกฎหมายอาญานั้นไม่ควรจะตีความขยายขอบเขตไปถึง ‘การกระทำที่มีลักษณะเดิม’ คือการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น เช่น การปราศรัยหรือการโพสต์ข้อความ ซึ่งไม่ปรากฏเป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชนว่า การแสดงความคิดเห็นจะก่อให้เกิดความตายหรือพินาศได้ เป็นอันตรายอย่างไร อาจกล่าวได้ว่า คำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวดังกล่าวยังขาดความชัดเจน หรือขาดคำอธิบายถึงเหตุผลที่เป็นที่ยอมรับแก่สาธารณชนได้อย่างเพียงพอ นอกจากนี้ หากศาลเกรงว่าการปล่อยชั่วคราวจะทำให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยไปกระทำการอันมีลักษณะเดิม ก็สามารถกำหนดเงื่อนไขในการปล่อยชั่วคราวได้

ไม่ใช่ ‘สองมาตรฐาน’ แต่ ‘ไม่มีมาตรฐาน’ : ลักษณะของกระบวนการยุติธรรมไทย

คำสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวของศาลในแต่ละครั้ง ไม่เป็นบรรทัดฐานเดียวกันอย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือ คำสั่งให้ปล่อยชั่วคราวหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับผู้พิพากษาแต่ละคนที่จะใช้ดุลยพินิจเสียมากกว่าจะกล่าวได้ว่าปฏิบัติตามกฎหมาย ยกตัวอย่างเช่น กรณีพรพิมล แม่ค้าออนไลน์ที่ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความลงในเฟสบุ้ก 1 กรรม ศาลจังหวัดเชียงใหม่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ในขณะเดียวกัน ‘บาส’ – มงคล ถิระโคตร ได้รับการปล่อยชั่วคราวที่ศาลจังหวัดเชียงราย ทั้งที่ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความทั้งหมด 25 กรรม นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องน่าสงสัยอีกว่า เหตุใดในคดีเกี่ยวกับ ม.112 มักจะมีผู้พิพากษาคนเดิมมาเป็นผู้พิจารณาอยู่เสมอ ทั้งที่คดีทั่วไปอื่นมักจะมีการหมุนเวียนสับเปลี่ยนผู้พิพากษาไปเรื่อยๆ 

ความคลุมเครือของเหตุผลในคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว และความไม่เป็นบรรทัดฐานอย่างเดียวกันเหล่านี้ ทำให้คำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวดังกล่าวยังขาดความชัดเจน จนเป็นที่เคลือบแคลงใจของเหล่าประชาชนถึงสิทธิปล่อยชั่วคราวนี้ ว่าได้ถูกใช้กฎหมายอย่างเลือกปฏิบัติหรือไม่ ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ต่อไป จะทำให้เกิดวิกฤตศรัทธาในกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ อาจจะนำมาซึ่งปัญหานานัปการ และอาจนำไปถึงจุดไม่อาจหวนกลับได้อีก

 

อ้างอิง

Ilaw, “สิทธิประกันตัว: สิทธิที่มักถูกยกเว้นสำหรับผู้ต้องหาคดี 112,” 14 กุมภาพันธ์ 2564, https://ilaw.or.th/node/5819.

ปกป้อง ศรีสนิท, “สิทธิของปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญ : หลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์,” 24 กุมภาพันธ์ 2563, https://www.the101.world/presumption-of-innocence/.

วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร, “กระบวนการยุติธรรมวิปริต ไม่ผิด ก็ติดคุก หรือถูกปรับได้!-พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร,” 3 พฤษภาคม 2564, https://www.ijrforum.org/content/4653/?fbclid=IwAR2iVHdpWkYsK3txQCKTR4t-zHIqYnizq_Vg9FlqNtgwRu-FnuKXguuFeh8.

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, “ตร.จับแม่ค้าออนไลน์เชียงใหม่ ถูกกล่าวหาม.112-พ.ร.บ.คอมฯ โพสต์เฟซบุ๊ก ศาลไม่ให้ประกัน ระบุเป็นเรื่องร้ายแรง,” 2 เมษายน 2564, https://tlhr2014.com/archives/27852.

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, “เปิดคำฟ้องคดี ม.112 #ม็อบ6ธันวา ‘ตี้ พะเยา’ ก่อนศาลไม่ให้ประกันตัว อ้างเกรงจะหลบหนี,” 27 เมษายน 2564, https://tlhr2014.com/archives/28913.

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, “ไม่ให้ประกันอีก 3 แกนนำ จำเลย “112” หลังฟ้อง 18 “ราษฎร” คดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร,” 8 มีนาคม 2564, https://tlhr2014.com/archives/26691.

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, “สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-64,” 16 ธันวาคม 2563 (อัพเดตล่าสุด 2 พฤษภาคม 2564), https://tlhr2014.com/archives/23983.

สมชาย ปรีชาศิลปกุล, “ถึง นายพงษ์เดช วานิชกิตติกูล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม,” 24 เมษายน 2564, https://www.facebook.com/lawlawcmcm/photos/a.1563972363852330/2673976282851927/.

Tags: , , ,