“เธอยังมีเวลาขบถต่อโชคชะตาของตัวเองได้อีกมาก ค่อยร้องไห้ให้สาแก่ใจตอนนั้นเถอะ ไม่มีประโยชน์จะมาคร่ำครวญตอนนี้ เธออ่อนแอไม่ได้ อย่าคิดถึงมันอีกเลย” อาจเป็นข้อความกระทบใจใครหลายคนที่กำลังสับสน ท้อแท้ ตกอยู่ในสภาวะอึดอัด กดดัน ไร้ซึ่งทางออก
ข้อความดังกล่าวปรากฏอยู่ใน รอสฮัลด์ นวนิยายลำดับที่ 4 ของเฮอร์มานน์ เฮสเส (Hermann Hesse) นักเขียนชาวเยอรมัน เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมปี ค.ศ. 1946 ผู้สร้างพลังใจให้กับนักเขียน นักอ่าน และศิลปินมากมาย ด้วยถ้อยคำภาษาที่เป็นเอกลักษณ์ ผ่านงานเขียนเชิงปรัชญาว่าด้วยมนุษยธรรม
ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปสักแค่ไหน ตัววรรณกรรมก็ยังคงคลาสสิก อาจเป็นเพราะความกลมกล่อมในสำนวนการเขียนของเฮสเสที่แต่งแต้มบรรยายรายละเอียดทัศนียภาพ วัตถุ อารมณ์ความรู้สึกของตัวละครในรอสฮัลด์ ประกอบกับฝีมือการถ่ายทอดของผู้แปลอย่าง ‘สดใส’ หลอมรวมเป็นดังภาพวาดที่มีสีสันชั้นเชิงส่งถึงจิตวิญญาณของผู้อ่าน
เฮสเสจูงมือพาเราไปดูความขมขื่นแสนเจ็บปวดรวดร้าวของตัวละคร ผู้เป็นจิตรกรที่มีชื่อเสียงโด่งดังนามว่า ‘โยฮันน์ เวรากุธ’ กับชีวิตครอบครัวที่ล้มเหลว เรื่องราวแฝงไปด้วยการคำถามต่อโลก ความต้องการเบื้องลึกภายในจิตใจ ไปจนถึงการแสวงหาความหมายของการมีชีวิตอยู่ ให้ผู้อ่านได้กลับไปนั่งคิดทบทวนตัวเองอีกครั้ง
เราต่างเป็นผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ
เบื้องหลังความสวยงามของคฤหาสน์หลังใหญ่ รอสฮัลด์ คือสถานที่ซึ่งเปรียบเสมือนคุกสำหรับตัวละครในครอบครัวเวรากุธ ชีวิตคู่แตกแยก ท่าทีที่ไร้ความรู้สึกต่อกันนำไปสู่การแบ่งกั้นอาณาเขต ทั้งความเป็นอยู่ในรอสฮัลด์ รวมถึงอาณาเขตทางใจ ความรู้สึกเหมือนถูกตัดขาดจากครอบครัว กลายเป็นปมที่ทำให้โยฮันน์พยายามยึดเอางานศิลปะและลูกชายคนเล็กเป็นจุดมุ่งหมายของการมีชีวิต
ธรรมชาติของมนุษย์ส่วนใหญ่เป็นเช่นนั้น ยามตกอยู่ในห้วงทุกข์ มักหวงแหนสิ่งที่ยังสร้างความสุขให้เอาไว้กับตัว ไขว่คว้าดิ้นรนอย่างคนมืดบอด เพียงเพื่อหล่อเลี้ยงใจไม่ให้ความเจ็บปวดทรมานทวีขึ้นไปกว่าเดิม ขณะเดียวกันการกระทำดังกล่าวก็เป็นการสะกดจิตตัวเอง เอาความสุขของตัวเองไปผูกไว้กับคนหรือสิ่งอื่น จนไม่สามารถปล่อยใจให้เป็นอิสระ จมอยู่กับอารมณ์ผิดหวัง สิ้นหวังต่อหนทางข้างหน้า
เรื่องราวในรอสฮัลด์ทำให้เรากลับมาพิจารณาสาเหตุของสภาวะทุกข์อีกครั้ง เฮสเสใช้วิธีบอกเล่าปมในใจของตัวละครทั้งสี่ในครอบครัวเวรากุธด้วยมุมมองแบบ ‘ผู้ถูกกระทำ’ และพฤติกรรมที่แสดงออกอย่างยอมจำนนต่อโชคชะตา
วันที่โยฮันน์ระบายความในใจให้เพื่อนสนิทฟังอย่างหมดเปลือก วินาทีนั้นเขาเพิ่งตระหนักว่าเขาใช้ชีวิตผิดธรรมชาติมาโดยตลอด ฝืนทำเป็นชินชา ไม่รู้สึกรู้สา แล้วใช้งานศิลปะเป็นเครื่องมือระบายความเจ็บปวด ทว่าภายในใจกลับว่างเปล่า โดดเดี่ยว เขาผูกอิสรภาพตัวเองไว้กับสิ่งที่ไม่อาจควบคุม ความเป็นอยู่ในรอสฮัลด์จึงไม่ต่างอะไรกับกรงขัง
ยามตกอยู่ในห้วงทุกข์ มักหวงแหนสิ่งที่ยังสร้างความสุขให้เอาไว้กับตัว ไขว่คว้าดิ้นรนอย่างคนมืดบอด เพียงเพื่อหล่อเลี้ยงใจไม่ให้ความเจ็บปวดทรมานทวีขึ้นไปกว่าเดิม
ขณะที่ภรรยาและลูกชายคนโต เลือกแสดงท่าทีนิ่งเฉย ยอมจำนนต่อโชคชะตา สร้างตัวตน และกลไกป้องกันตัวเองขึ้นมา โดยเก็บกดความต้องการที่แท้จริงไว้ เพราะไม่ต้องการเผชิญหน้าหรือต่อสู้กับปัญหา สวมบทบาทนักแสดงที่เก่งกาจ จนเป็นบ่อเกิดของชีวิตอันขมขื่น หรือแม้แต่ลูกชายคนเล็ก ผู้เป็นตัวกลางเชื่อมความสัมพันธ์ในครอบครัวก็ยังรู้สึกว่า วันเวลาแสนสุขและเป็นอิสระในชีวิตของเขาเป็นเพียงความหลัง
ตัวละครทั้งสี่สิ้นหวังต่อชีวิตไปเสียแล้ว ต่างติดกับดักที่เรียกว่าทุกข์ แล้วพันธนาการตัวเองไว้กับสิ่งที่ปรารถนา กล่าวโทษกันไปมาว่าอีกฝ่ายทำให้ชีวิตตนเองบิดเบี้ยว ปมในใจจึงเกิดขึ้นเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์สิ้นหวัง ไม่มีใครอยากยอมทิ้งสิ่งที่เราคิดว่าตนสมควรได้รับ ประเด็นสำคัญก็คือ แท้จริงแล้ว เราต่างเป็นทั้งผู้กระทำและผู้ถูกกระทำด้วยกันทั้งสิ้น
แล้วเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลง แก้ไข หรือพาตัวเองออกจากความทุกข์นั้นได้เลยจริงหรือ
วันที่เราเชื่อในตัวเองน้อยลง ยังมีคนที่พร้อมเชื่อในตัวเรา
ระหว่างพลิกหน้าหนังสือ การลำดับเรื่องราวของผู้เขียนก็ค่อยๆ คลี่คลายปมปัญหา อย่างตอนที่ลูกชายคนโตกลับมาบ้าน ความเฉยชาจากคนในครอบครัวยิ่งตอกย้ำความรู้สึกแปลกแยกเป็นอื่นในหัวใจของโยฮันน์ ความเจ็บปวดได้แปลงกายเป็นแรงผลัก เขาเลือกต่อต้านความทุกข์ทรมานด้วยการหมกตัวอยู่กับงานศิลปะ แต่นั่นไม่ได้ช่วยให้โยฮันน์หลุดพ้นจากทุกข์ได้อย่างแท้จริง
จนกระทั่งการปรากฏตัวของเพื่อนสนิทของเขาซึ่งเดินทางไกลมาจากอินเดีย ได้เสนอตัวยินดีเข้ามาช่วยเหลือ ถือเป็นกุญแจสำคัญที่เฮสเสบอกใบ้เป็นแนวทางให้คนที่กำลังเผชิญปัญหาอยู่ ให้กลับไปทบทวนเรื่องราวในชีวิตและคนใกล้ตัว ว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่รู้สึกอ่อนแอ ก้าวพลาดจนล้มทุลักทุเล หมดสิ้นพลังความหวัง อาจยังมีใครสักคนที่พร้อมเชื่อในตัวเรา และไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น หากยังเชื่อในตัวเอง สิ่งที่ขาดหายไปก็จะได้รับการเติมเต็มกลับมา
คำพูดและสายตาของเพื่อนสนิทที่มองขาดอย่างทะลุปรุโปร่ง ทำให้โยฮันน์ตกตะกอนความคิด มองเห็นตัวเองชัดเจนขึ้น หลังจากรู้ว่ายังมีคนที่พร้อมเข้าใจและศรัทธาในตัวเขา ก็เป็นผลให้โยฮันน์ได้กลับมาขบคิดเกี่ยวกับอนาคตข้างหน้าอีกครั้ง
คล้ายกับเสียงกระซิบที่กำลังบอกเราว่า ชีวิตจะดำเนินต่อไปอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่ที่การมองโลกและการตัดสินใจของเราเอง
การเสียสละคือหนทางปลดทุกห่วงโซ่พันธนาการ
เมื่อสิ่งที่เชื่อมครอบครัวให้เป็นหนึ่งเดียวกำลังจะสลายหายไปตลอดกาล ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่สำหรับตัวละครหลักในรอสฮัลด์ก็ว่าได้ ข้อผูกมัดและพันธนาการต่างๆ กลายเป็นเรื่องเหลวไหลในทันที
สุดท้ายแล้ว พวกเขาก็ยอมลดอัตตา ลดทิฐิ ความต้องการของตัวเอง เพื่อแลกกับความรักและความสุข
แก่นที่ได้จากการอ่านเรื่องนี้ก็คือ ไม่มีอะไรสามารถดึงรั้งให้เราเจ็บปวดทุกข์ทรมานได้ถ้าหากว่าเราเลิกยึดติด ปล่อยใจให้เป็นอิสระ มองตัวเองให้ชัด กระทั่งกล้าตัดสินใจและเสียสละ เช่นตอนที่ผู้เขียนบรรยายถึงความรู้สึกของโยฮันน์ที่มีต่อคฤหาสน์รอสฮัลด์ว่า
“รอสฮัลด์มีความหมายต่อเขาอย่างไรบ้าง มันก็แค่สมบัติชิ้นหนึ่งซึ่งเขาทิ้งไว้เบื้องหลัง […]เขาขีดเส้นลงไปแล้ว ตัดสินใจเสียสละยกปิแอร์ให้แม่ เมื่อจัดการเรื่องนี้เรียบร้อย ต่อไปนี้เขามีแต่จะมองไปข้างหน้า สำหรับเขา รอสฮัลด์จบกันไปแล้ว จบสิ้นเหมือนกับความหลังเก่าๆ ในอดีตที่ผิดพลาด หมดไปเหมือนวัยหนุ่มของเขา ไม่มีประโยชน์ที่จะมาคร่ำครวญเสียใจ”
อาจจะถึงเวลาต้องย้อนกลับมาทบทวนตัวเองอีกครั้งว่าเรากล้าที่จะเสียสละ ปล่อยวางในสิ่งที่เรายึดไว้จนเป็นทุกข์ได้มากน้อยแค่ไหน
ตราบเท่าที่ยังมีชีวิต สิ่งที่เหลืออยู่คือศิลปะ
เสน่ห์ของนวนิยายรอสฮัลด์ คงเป็นการร้อยเรียงเรื่องราวความรู้สึกของตัวละครด้วยมุมมองแบบศิลปิน เช่นการที่ผู้เขียนใช้ภาพวาดเป็นเครื่องมือถ่ายทอดความรู้สึกอึดอัดขัดแย้งภายในจิตใจของโยฮันน์ ไม่ว่าจะเป็นภาพวาดทิวทัศน์ในคฤหาสน์รอสฮัลด์ ภาพเด็กน้อยผู้ไม่รู้เรื่องใดๆ ขณะยืนอยู่ท่ามกลางชายหญิงท่าทีเฉยชาต่อกัน หรือแม้แต่ภาพสุดท้ายที่เขาเลือกวาดลูกชายสุดที่รักก่อนจะเดินทางจากรอสฮัลด์ไป
ช่วงสภาวะทุกข์ไร้ทางออก การขวนขวายหาวิธีบำบัดตัวเองผ่านการสร้างสรรค์งาน สร้างคุณค่าให้กับใครสักคนบนโลกสีเทาๆ นี้ ก็ถือเป็นการปลดเปลื้องตัวเองออกจากอารมณ์ทุกข์ได้ดีเหมือนกัน
แม้ก่อนนั้น การต่อสู้ดิ้นรนด้วยงานศิลปะและความพากเพียรใดๆ ก็ไม่อาจช่วยให้โยฮันน์รอดพ้นจากสภาพชีวิตที่พังยับเยิน เขามีชีวิตอยู่อย่างหวาดกลัวการตัดสินใจและไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง
กระทั่งได้รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่จะทำให้ชีวิตก้าวต่อไป รู้ว่าจะมีชีวิตเพื่ออะไร
เมื่อกลับมาพิจารณาระลึกรู้ตัวให้ชัดขณะมีชีวิตอยู่ ทัศนคติที่มีต่อชีวิตและการทำงานศิลปะของโยฮันน์ก็เปลี่ยนไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง หรือจริงแล้วๆ เฮสเสกำลังบอกเราว่า อย่าได้กลัวความผิดหวัง กลัวการหกล้ม หรือกลัวการสูญเสีย เพราะนั่นคือธรรมดาของโลก มนุษย์เป็นเช่นนั้น ไม่มีใครสมบูรณ์พร้อม แต่สามารถลุกขึ้นยืนและมีความหวังได้ใหม่ เหมือนกับเพื่อนสนิทที่ช่วยให้โยฮันน์กลับมามองเห็นแสงสว่างในเส้นทางของตัวเองอีกครั้ง
Fact Box
รอสฮัลด์ เริ่มตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1914 (พ.ศ. 2457) ส่วนฉบับแปลภาษาไทยพิมพ์ครั้งแรกปี พ.ศ. 2533 (สำนักพิมพ์วงวรรณ) ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2536 (สำนักพิมพ์เคล็ดไทย) ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2550 (สำนักพิมพ์สร้างสรรค์บุ๊คส์)
และล่าสุด สำนักพิมพ์เคล็ดไทยสนับสนุนให้ผู้แปลนำนวนิยาย 10 เรื่องของเฮอร์มานน์ เฮสเส ฉบับภาษาไทยกลับมาตีพิมพ์ใหม่อีกครั้ง หลังจากสำนักพิมพ์สร้างสรรค์ได้มอบลิขสิทธิ์คืนให้ผู้แปลอย่างถูกต้องเมื่อปีที่ผ่านมา