ท่ามกลางเทรนด์ของ Big Data และ AI ที่มีการหยิบมาใช้เกือบทุกภาคส่วน ยกเว้นแต่ภาคการเกษตรที่น้อยคนจะคิดว่าได้มีการนำเทคโนโลยีขั้นสูงนี้มาใช้ประโยชน์ได้ โชคดีที่เมืองไทยมีหนุ่มนักเรียนนอกผู้ไปร่ำเรียนด้านเทคโนโลยีและการบริหารถึง Massachusetts Institute of Technology (MIT) และมีความแน่วแน่ว่า เรียนจบแล้วจะเอาความรู้ที่ได้มาช่วยเหลือเกษตรกรไทย

อุกฤษ อุณหเลขกะ คือหนุ่มนักเรียนนอกคนดังกล่าว เขากับเพื่อนต่างชาติอีกสามคน ร่วมกันก่อตั้ง Ricult ธุรกิจเพื่อสังคมที่มีวิธีคิดแบบสตาร์ตอัป หวังจะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับภาคการเกษตร โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงอย่าง Big Data และ AI มายกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

Ricult เปรียบเสมือนสมองเกษตรกรในการช่วยวิเคราะห์และวางแผนการปลูกอย่างแม่นยำ ตั้งแต่การเริ่มลงเมล็ดพันธุ์ การรดน้ำ ใส่ปุ๋ย ระยะเวลาในการเก็บเกี่ยว สภาพดินฟ้าอากาศ และช่วยชี้จุดที่เกิดปัญหาภายในแปลงปลูก ทั้งหมดนี้ก็โดยข้อมูลการวิเคราะห์จากภาพถ่ายดาวเทียม

การเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการขอสินเชื่อกับธนาคารที่ง่ายขึ้น คือเป้าหมายที่เขาวางไว้ แต่แน่นอน การเชื่อมโลกเทคโนโลยีและเกษตรกรรมเข้าด้วยกันนั้นไม่ง่าย ต้องอาศัยแพสชั่นอะไรบางอย่าง หนึ่งในนั้นคือการที่เขามาจากครอบครัวเกษตรกรรม น่าจะพอเข้าใจดีถึงปัญหาที่เกษตรกรต้องเจอ และคงเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาทำสิ่งนี้ในปัจจุบัน

จากครอบครัวเกษตรกรรมสู่ธุรกิจเพื่อสังคม

อุกฤษ อุณหเลขกะ พื้นเพเป็นคนจังหวัดฉะเชิงเทรา เติบโตมาในครอบครัวเกษตรกรที่ปลูกพืชเศรษฐกิจอย่าง ยูคาลิปตัส และสับปะรด จึงมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับเกษตรกร และแม้เขาจะมีดีกรีปริญญาโทจาก MIT เคยทำงานในองค์กรใหญ่ที่น่าจะทำให้เขาไปได้ไกล แต่เจ้าตัวก็ไม่ละทิ้งความฝันที่อยากนำความรู้มาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร

“ผมเคยทำงานในองค์กรใหญ่เป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจที่อเมริกาอยู่สี่ปี แต่รู้สึกว่าชีวิตวนลูปอย่างมาก ตื่นเช้า ไปทำงาน เย็นกลับบ้านนอน สิ้นเดือนรับเงินเดือน มันไม่ค่อยตอบโจทย์ชีวิต เราคิดว่าอยู่ไปเพื่ออะไร  อยากทำงานที่มีอิมแพ็คหรือประโยชน์ต่อโลก

“เรามีเป้าหมายในชีวิตว่าอยากทำธุรกิจเพื่อสังคม แล้วผมเติบโตมาในครอบครัวเกษตรกร ตั้งแต่รุ่นคุณทวดมีไร่นา ก็เห็นปัญหาภาคการเกษตรมาตั้งแต่เด็กๆ คือเกษตรกรเป็นกระดูกสันหลังของชาติ ประชากรเกือบ 1 ใน 3 อยู่ในภาคเกษตร เราคิดว่าอยากเอาเทคโนโลยีมาช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนรากหญ้าในประเทศไทยดีขึ้น”

“ที่ตลกคือผมเขียนจดหมายแนะนำตัวตอนเข้าเรียน MIT ว่าอยากเอาความรู้ด้านเทคโนโลยีมาช่วยเกษตรกรไทย ซึ่งระหว่างเรียนผมก็ลงวิชาธุรกิจเพื่อสังคม วิชาสตาร์ตอัป แล้วก็เสนอไอเดียการเอาเทคโนโลยีมาใช้ในการภาคเกษตร โชคดีว่ามีเพื่อนฝรั่งอีกสามคนเห็นตรงกัน ก็เลยก่อตั้งทีม Ricult ด้วยกัน

“ในบางประเทศ เช่น อินเดีย ปากีสถาน แอฟริกา มีธุรกิจเพื่อสังคมดีๆ มากมาย แล้วในเมืองไทยยังไม่ค่อยมีตรงนี้ เราก็อยากให้ Ricult เป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ”

ธุรกิจเพื่อสังคมที่คิดแบบสตาร์ตอัป

Ricult แตกต่างจากธุรกิจเพื่อสังคมรายอื่น ตรงที่แม้จะเป็นธุรกิจที่ทำเพื่อช่วยเหลือสังคม แต่วิธีคิดและการทำงานในองค์กรเป็นแบบสตาร์ตอัป นั่นคือการใช้เทคโนโลยีมาช่วยแก้ปัญหา และการทำธุรกิจต้องเข้าใจปัญหาของลูกค้า อุกฤษจำเป็นต้องลงพื้นที่ไปพูดคุยกับเกษตรกรให้เข้าใจถึงปัญหาที่ต้องเจอ

“การทำสตาร์ตอัปที่ดีต้องเข้าใจปัญหาลูกค้า ธุรกิจที่ไม่ตอบโจทย์ลูกค้า เขาไม่ยอมจ่ายตังค์ โดยเฉพาะลูกค้าของธุรกิจเพื่อสังคมที่มีปัญหาด้านความยากจน ยิ่งไม่อยากจ่ายเงิน ถ้าไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริงๆ เพราะเงินทุกบาทที่เสียไปส่งผลกระทบต่อเขา ตอนเราลงไปคุยครั้งแรก ก็ให้เขาเปิดใจและเล่าปัญหาให้เราฟัง”

“คือเรามีไอเดียที่อยากทำ แต่ไม่ได้เข้าใจมากนัก เพราะไม่ได้คุยกับเกษตรกรเยอะ มีประสบการณ์แค่กับที่บ้าน แต่พอได้เรียนรู้ศาสตร์การทำสตาร์ตอัปก็เข้าใจว่าเราต้องทำ Customer Interview ผมเลยลงพื้นที่คุยกับเกษตรกร 200-300 คน ก็เข้าใจปัญหาของเขาเลยว่าคือผลผลิตต่ำกับการเข้าถึงแหล่งเงินทุน

“ที่น่าตกใจคือผลผลิตน้อยกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วเกือบสามเท่า ส่วนหนึ่งเกษตรกรเขาเป็นรายใหญ่ที่ใช้เทคโนโลยี ส่วนเกษตรกรไทยเป็นรายย่อย แม้เราจะส่งออกข้าวเป็นเบอร์ต้นๆ ของโลก แต่ผลผลิตต่อไร่น้อยมาก ก็น่าคิดว่าจะเอาเทคโนโลยีมาเปลี่ยนแปลงวงการเกษตรอย่างไรได้บ้าง”

ยุคของ Big Data และ Ai

แม้จะเข้าใจปัญหาของเกษตรกร แต่จะใช้เทคโนโลยีอะไรมาแก้ปัญหา เขามองว่ายุคนี้เป็นยุคของ Big Data และ AI ซึ่งถูกใช้ในวงการอื่นๆ มาแล้ว ยกเว้นแต่ภาคการเกษตรที่ยังไม่มีใครทำ

“เราจะเห็นว่า Big Data และ AI มันปฎิวัติวงการอื่นๆ เช่น การเดินทาง เรามี Uber กับ Grab หรือการสื่อสารของคนที่หันมาใช้ Facebook กับ Line ในการติดต่อกับเพื่อน แม้แต่การสั่งของผ่าน Amazon แทนที่จะเดินห้าง ซึ่งภาคการเกษตรมันก็น่าจะเปลี่ยนแปลงได้ เพราะเป็นตลาดที่ใหญ่มาก ตั้งใจว่าจะสร้างรายได้จากธุรกิจนี้พร้อมกับสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคมไปด้วย”

Ricult จึงเป็นการนำ Big Data  และ AI มาวิเคราะห์และช่วยเกษตรกรในการวางแผนการปลูกพืช ตั้งแต่การลงเมล็ด การเก็บเกี่ยว สภาพดินฟ้าอากาศ และปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นภายในแปลง ผ่านภาพถ่ายดาวเทียม โดยเกษตรกรที่ใช้สมาร์ตโฟนอยู่แล้ว สามารถดาวโหลดแอปฯ Ricult ได้ หรือจะใช้ Line รวมทั้งคอลเซ็นเตอร์ได้เช่นกัน

“ปกติเกษตรกรที่มีพื้นที่ปลูก 20-30 ไร่ กว่าจะเดินไปยังจุดที่เกิดปัญหาต้องใช้เวลาห้าชั่วโมง บางครั้งขี้เกียจก็ไม่อยากเดิน แล้วเขาไม่รู้เลยว่าปัญหาจะมาวันไหน เกิดเดินสุ่มไม่เจอ ก็แก้ปัญหาไม่ทันอีก พอเราใช้ภาพถ่ายดาวเทียม เขานอนอยู่บ้าน ดูผ่านแอปฯ หรือไลน์ของเราแจ้งว่าเกิดปัญหาตรงจุดไหน เขาก็จะไม่ต้องเสียเวลา รู้ปัญหาในทันที และแก้ไขได้ทัน”

“ตอนแรกเกษตรกรไม่เชื่อเรา เขาวิ่งหนีเลย แต่พอเห็นว่ามันช่วยได้จริงๆ เขาประทับใจมาก แล้วไปบอกเพื่อนๆ ให้ใช้ต่อ ผมรู้สึกว่าเป็นความภูมิใจและรู้สึกดีที่เอาเทคโนโลยีของเราเปลี่ยนชีวิตเขาได้ แล้วเรามีทีมงานวัดผลหลังการใช้ Ricult ว่าเป็นอย่างไร รายได้เพิ่มขึ้นไหม ก็ปรากฎโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 50 เปอร์เซ็นต์ ในบางรายมีรายได้เพิ่มขึ้น 100 เปอร์เซ็นต์”

ข้าวโพดพืชเศรษฐกิจที่ยังมีโอกาสให้เล่น

หลายคนอาจคิดว่า Ricult ต้องเข้ามาแก้ปัญหาให้ชาวนาไทยที่ปลูกข้าวแน่ๆ แต่อุกฤษปฎิเสธเนื่องจากข้าวมีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง และยังเป็นสเกลที่ใหญ่เกินไปสำหรับบริษัทเล็กๆ ของเขา เลยตัดสินใจใช้ Ricult กับเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพด เพราะเป็นพืชเศรษฐกิจที่เห็นผลเร็ว คู่แข่งยังไม่มี และมีความต้องการในตลาดมากกว่าเกษตรกรที่ปลูก ทำให้มีช่องว่างให้เข้าไปเล่นได้

“อย่าลืมว่ามีเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดอยู่อยู่ราวๆ 1-2 ล้านคน คิดเป็นพื้นที่ก็ประมาณ 8 ล้านไร่ แม้จะดูไม่มากนักเมื่อเทียบกับพืชตัวอื่น แต่มูลค่าของตลาดข้าวโพดก็หมื่นล้านบาทแล้ว คือใหญ่มากกว่าบริษัทสตาร์ตอัปอีก แล้วเกษตรไทยปลูกข้าวโพดเฉลี่ยได้ 680 กิโลกรัมต่อไร่ แต่ที่ควรได้มากสุดคือ 2,000 กิโลกรัม อย่างในสหรัฐฯ หรือออสเตรเลียปลูกได้ 1,800- 1,900 กิโลกรัมต่อไร่  ขนาดประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างอินโดนีเซียกับลาวยังได้อยู่ที่ 800 กิโลกรัมเลย”

Ricult เปิดตัวในประเทศไทยเมื่อเดือนเมษายนปี 2560 ได้พาร์ตเนอร์อย่างธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และโรงงานเอกชนรายใหญ่ ในการหาพื้นที่ที่จะเข้าไปแนะนำ Ricult ให้เกษตรกรได้รู้จัก โดยเริ่มที่ชาวไร่ปลูกข้าวโพดที่สระบุรี ผ่านทางผู้ใหญ่บ้าน หรือหัวหน้าชุมชน ซึ่งเป็นบุคคลที่ชาวเกษตรกรจะเชื่อใจได้มากกว่า

“ข้าวโพดมีวงจรอยู่ 4 เดือน ถ้าพืชตัวอื่นประมาณ 6-12 เดือน และเป็นสินค้าที่มีดีมานด์มากกว่าซัพพลายอยู่เท่าหนึ่ง คือดีมานต์ 8 ล้านตันต่อปี แต่มีซัพพลายเพียงแค่ 4 ล้านตันต่อปี ยังมีช่องว่างให้เล่นได้เยอะ แต่ข้าวมีซัพพลายมากกว่าดีมานด์ ถ้าเราไปเพิ่มผลผลิตข้าวจะทำให้ราคายิ่งตก ก็คิดว่าข้าวโพดยังมีช่องว่างให้เล่นอีกหลายปี ถ้าช่วยเพิ่มผลิตให้เกษตรกร เขาก็มีรายได้เพิ่มขึ้น

“ตอนนี้มีเกษตรกรใช้ Ricult อยู่เกือบ 1,000 ราย แล้วรอใช้อีกนับ 10,000 ราย เราจะขยายให้คนใช้เป็นล้านก็ยังได้ แต่อยากให้เทคโนโลยีเสถียรมากกว่านี้ เพราะการใช้ machine learning ต้องมีข้อมูลเยอะๆ ในการพัฒนาระบบ เลยอยากใช้เวลาให้มากกว่านี้อีกหน่อย”

คิดนอกกรอบ เพิื่อความยั่งยืน

การทำธุรกิจเพื่อสังคม ไม่ใช่มองแต่เรื่องของการช่วยเหลือสังคมอย่างเดียวเท่านั้น ขึ้นชื่อว่าเป็นธุรกิจก็ต้องอยู่รอดได้ด้วย และไม่ใช่แค่เงินบริจาค แต่ต้องหาวิธีการที่ทำให้ธุรกิจเกิดความยั่งยืน สำหรับ Ricult แล้ว พวกเขานำข้อมูลที่มีอยู่ไปขายให้กับพาร์ตเนอร์อย่างธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และโรงงานรับซื้อผลผลิต เพื่อเอาเงินมาอุดต้นทุนที่เกิดจากชาวเกษตรกร

“พอเราเป็นธุรกิจเพื่อสังคม เราไม่สามารเอากำไรจากเกษตรกรได้มากนัก เลยขายข้อมูลให้ธนาคารและโรงงานรับซื้อผลผลิต เพื่อจะเอาเงินมาอุดตรงที่เกิดกับเกษตกร แต่เราไม่ได้ให้ใช้ฟรีๆ เราให้เขาจ่ายนิดหน่อยเพื่อจะได้รู้คุณค่าของการใช้แอปฯ”

“ข้อมูลที่ธนาคารได้ไป จะสามารถเอาไปวิเคราะห์ความเสี่ยงของเกษตรกรได้ เช่น ให้สินเชื่อไปแล้ว อีกหกเดือนจะมีเงินมาคืนไหม คือแทนที่ ธ.ก.ส. จะส่งคนไปวิเคราะห์ลูกค้าทีละราย ก็ใช้เวลาเป็นเดือน แต่ระบบของเราวันเดียวเสร็จ ไม่ต้องขับรถไปดูให้เสียเวลา ทำให้รู้เลยว่าเกษตรกรคนไหนมีความเสี่ยงมากน้อย ช่วยให้การตัดสินใจเรื่องสินเชื่อรวดเร็วขึ้น”

“ถ้าคนทั่วไป เวลาขอสินเชื่อกับธนาคารก็มีประวัติการทำงาน มีสินทรัพย์ในการค้ำประกัน สเตตเมนต์เงินเดือน แต่เกษตรกรไม่มีข้อมูลพวกนี้ ทำให้ธนาคารไม่รู้จะวิเคราะห์ความเสี่ยงอย่างไร จะไปขอกู้เงินจากธนาคารรายใหญ่ก็ไม่ได้ คราวนี้ก็เหลือแต่ธนาคารรัฐอย่าง ธ.ก.ส. ที่ปล่อยสินเชื่อให้ได้บางส่วน นอกนั้นเกษตรกรต้องไปกู้เงินนอกระบบ ซึ่งคิดดอกเบี้ยแพงมากเดือนละ 20-30 เปอร์เซ็นต์ เขาไม่มีทางจ่ายคืนหมดอย่างแน่นอน”

ผลักดันภาคการเกษตรไทยให้เป็นผู้นำในเวทีโลก

อุกฤษบอกว่าจะพัฒนาระบบของ Ricult ให้ดีขึ้นเรื่อยๆ โดยจะมีฟีเจอร์ใหม่มารองรับและตอบโจทย์ด้านการเกษตร ได้แก่

การปล่อยสินเชื่อให้เกษตรในราคาที่ถูกลง การเพิ่มผลผลิตทำให้เกษตรกรมีรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น และสุดท้ายเรื่อง Food Safety ทำให้รู้ว่าสินค้าเกษตรมาจากแปลงปลูกที่ไหน ถูกกฎหมายหรือไม่ และปลอดภัยหรืออันตรายจากสารเคมีหรือเปล่า

“อย่างแรกเราอยากขยายจำนวนเกษตรกรให้ได้หลักหมื่นถึงหลักแสนคน และการขยายไปพืชอื่นๆ ซึ่งภายในปีนี้เราก็จะมีระบบของอ้อยและมันสำปะหลังออกมา ตอนนั้นเราก็น่าจะกินไปเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ และคอยดูว่าจะมีอิมแพ็คกับประเทศอย่างไรบ้าง จะสามารถเพิ่มจีดีพีให้กับประเทศได้หรือเปล่า”

“ประสิทธิภาพในการแข่งขัน เรามักแพ้ประเทศที่กำลังพัฒนาด้วยกัน ส่วนหนึ่งคือเรื่องทรัพยากรมนุษย์ที่เป็นปัญหา ถ้าเราเทคโนโลยีเข้ามาน่าจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้ โชคดีว่าประเทศไทยมีพื้นที่อุดมสมบูรณ์ มีแปลงเกษตรเยอะ ถ้าเอาเทคโนโลยีมาใช้ในการเกษตร ก็มีโอกาสที่เราจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในวงการเกษตรโลกได้” อุกฤษกล่าว

Fact Box

อุกฤษ อุณหเลขกะ เป็นคนจังหวัดฉะเชิงเทรา เติบโตมาในครอบครัวเกษตรกร จบปริญญาโทด้านวิศวกรรมและการบริหารที่ Massachusetts Institute of Technology (MIT)  เคยทำงานเป็นวิศวกรซอฟแวร์อยู่ที่ซิลิคอน แวลลีย์ และที่ปรึกษาในบริษัท Accenture สำนักงานบอสตัน

Ricult เพิ่งจะชนะเลิศแคมเปญ Chivas Venture ปี 4 ได้รับเงินทุนสนับสนุน 350,000 บาท จากบริษัท เพอร์นอต ริคาร์ด (ประเทศไทย) จำกัด  โดยหลังจากนี้จะได้ไปเข้าร่วมอบรมที่อ๊อกซฟอร์ดประเทศอังกฤษเป็นเวลา 1 สัปดาห์และเดินทางไปเข้าร่วมการแข่งขันรอบสุดท้ายกับสุดยอดนักธุรกิจเพื่อสังคมจากทั่วทุกมุมโลก เพื่อชิงส่วนแบ่งในเงินรางวัล 1 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในเดือนพฤษภาคมนี้

Tags: , , , , , ,