กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (United Nations International Children’s Emergency Fund: UNICEF) รายงานว่า จำนวนเจ้าสาววัยเด็กในภูมิภาคเอเชียใต้ กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถึง 290 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 45% จากทั่วโลก โดยสาเหตุหลัก คือการถูกครอบครัวบังคับให้แต่งงาน
“การแต่งงานของหญิงสาววัยเด็ก เป็นอุปสรรคในการเรียนรู้ของพวกเขา รวมถึงสุขภาพและสวัสดิภาพของร่างกายจะมีความเสี่ยงในอนาคต” โนอาลา สกินเนอร์ (Noala Skinner) ผู้อำนวยการ UNICEF ประจำภูมิภาคเอเชียใต้อธิบายในแถลงการณ์
นอกเหนือจากนั้น UNICEF ได้ปล่อยผลการศึกษาจากการสัมภาษณ์และพูดคุยกับผู้คนใน 16 พื้นที่ของประเทศบังคลาเทศ อินเดีย และเนปาล โดยพบความคิดเห็นของพ่อแม่หลายคนว่า การแต่งงานในวัยเด็กเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดเพื่อลดค่าใช้จ่ายในครอบครัวจากโรคระบาดโควิด-19 ซึ่งทำให้ความยากจนในครอบครัวเพิ่มขึ้น และมีการปิดสถานศึกษา
อายุเฉลี่ยของเจ้าสาววัยเด็กในประเทศเนปาลคือ 20 ปี อินเดีย 18 ปี ในอัฟกานิสถานและศรีลังกา ยกเว้นแคว้นสินธ์ (Sindh) คือ 16 ปี กองทุนเด็กแห่งสหประชาชาติยังเรียกร้องให้มีการยุติการกระทำดังกล่าว ซึ่งต้องเริ่มต้นแก้ไขปัญหาจากความยากจน ปกป้องสิทธิในการเข้าถึงการศึกษากับเด็ก รวมถึงสร้างกรอบความร่วมมือบังคับใช้กฎหมายมากขึ้น
การแต่งงานในวัยเด็ก การคุกคามทางเพศ และความรุนแรงในครอบครัว: ความร้ายแรงที่มาจากภาวะโลกรวน
อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ความยากจนในท้องถิ่นและโรคระบาดพรากความสดใสในวัยเด็กของหลายคนไปสู่การเป็น ‘ภรรยา’ หรือ ‘แม่’ แต่เพียงเท่านั้น เพราะงานวิจัยบางส่วนค้นพบว่า ยิ่งสภาพอากาศแย่ลงมากเท่าใด การแต่งงานในวัยเด็กก็เพิ่มขึ้นเท่านั้น
ตัวอย่างที่ชัดเจน คือจำนวนเจ้าสาววัยเด็กในค่ายผู้อพยพองค์การสหประชาชาติของประเทศมาลาวี (Malawi) ที่เพิ่มขึ้นเพราะสภาวการณ์เปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ (Climate Change) จนทำให้เกิดพายุอิดาอิ (Idai) ในปี 2020 ไม่เพียงแต่ทั้งประเทศจมน้ำ ประชาชนยังขาดแคลนปัจจัยดำรงชีวิตอย่างและอาหาร พ่อแม่หลายคนจึงตัดสินใจส่งเด็กๆ ไปแต่งงานเพื่อให้อยู่รอดท่ามกลางภัยพิบัติ
“มันน่าสะเทือนใจ ลองคิดถึงความบอบช้ำที่พวกเขาต้องเผชิญ
“พวกเขายึดเอาผู้ชายเป็นความหวังที่จะเอาตัวรอด” เวสตัน โมสโวยา (Weston Msowoya) ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาชุมชนและเยาวชน กล่าวความรู้สึก หลังจากนึกถึงลูกสาววัย 11 ขวบของเขา ซึ่งอายุเท่ากับเด็กๆ หลายคนที่ต้องแต่งงาน
“เมื่อเกิดวิกฤต ผู้คนก็รู้สึกถึงภัยคุกคามต่อความอยู่รอดของพวกเขา และนั่นคือช่วงเวลาเดียวกันกับการผลักดันให้ลูกสาวของคุณแต่งงาน เพราะพ่อแม่รู้สึกว่าไม่สามารถเลี้ยงดูพวกเขาได้” นิตยา เรา (Nitya Rao) อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเพศสภาพและการพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยอีสต์แองเกลีย (University of East Anglia) อธิบายถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
นอกเหนือจากนั้น ราเชล เยสต์ (Rachel Yest) หัวหน้าฝ่ายการเรียนรู้ของกลุ่ม ‘Girls not Brides’ ยังแสดงความคิดเห็นโดยอ้างอิงงานวิจัย ‘Association between severe drought and HIV prevention and care behaviors in Lesotho: A population-based survey 2016–2017’ ว่า ภัยแล้งสามารถเพิ่มโอกาสที่เด็กและผู้หญิงจะถูกบังคับให้ขายบริการทางเพศเพื่อเงินหรืออาหาร
ซึ่งตรงกับการรายงานของ ‘องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ’ (International Union for Conservation of Nature) ถึงการเสื่อมโทรมของธรรมชาติ เป็นอีกปัจจัยสำคัญก่อให้เกิดความรุนแรงในผู้หญิง นับตั้งแต่การคุกคามทางเพศ ความรุนแรงในครอบครัว การบังคับค้าประเวณี เพราะการแย่งชิงทรัพยากรระหว่างเพศชายกับเพศหญิง
งานวิจัยยกตัวอย่างถึงความขัดแย้งจากการแย่งชิงทรัพยากร คือ ‘การมีเพศสัมพันธ์เพื่อปลา’ หลังจากชายชาวประมงขู่ว่าจะไม่ขายปลาให้กับผู้หญิง หากปฏิเสธการมีเซ็กซ์ โดยใช้ความเหนือกว่าทางสถานะทางสังคมและพละกำลังข่มขู่อีกฝ่ายท่ามกลางวิกฤตที่ผู้หญิงไม่มีทางเลือก
หรือหากทรัพยากรธรรมชาติยิ่งลดลงจากภาวะโลกรวน ทั้งผู้หญิงและเด็กจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการพบเจอความรุนแรงทางเพศ เพราะพวกเธอต้องเปลี่ยนแหล่งทำกิน และเดินทางไกลไปในพื้นที่เปล่าเปลี่ยวทุรกันดารมากขึ้น เพื่อเก็บอาหาร น้ำ หรือฟืน
‘คนทำไม่ได้โดน คนโดนไม่ได้ทำ’ เมื่อเคราะห์กรรมจากการใช้พลังงานฟุ่มเฟือยของกลุ่มซีกโลกเหนือ ตกอยู่กับกลุ่มซีกโลกใต้
ย้อนกลับไปสู่การพินิจถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่ใช่แค่แอฟริกาหรือเอเชียใต้ที่ต้องพบเจอภัยธรรมชาติจากโลกรวน เพราะโลกกำลังตกอยู่ที่นั่งเดียวกันทั้งหมด หากแต่ฝ่ายที่ต้องรับภาระมากที่สุด คือกลุ่มซีกโลกใต้ (Global South) ซึ่งประกอบด้วยประเทศด้อยพัฒนาและยากจนเป็นส่วนใหญ่
ภาพของรัฐมนตรีต่างประเทศตูวาลู (Tuvalu) ‘ไซมอน โคฟี่’ (Simon Kofe) สวมสูทผูกเน็กไท ยืนกล่าวสุนทรพจน์กลางน้ำครึ่งเข่าในการประชุม COP26 พร้อมขอให้โลกตระหนักถึงภัยพิบัติอันร้ายแรงนี้ บ่งบอกได้อย่างดีว่ากลุ่มซีกโลกใต้กำลังแบกรับความเสี่ยงสูงสุดเป็นอันดับแรก แม้ว่าสภาวะโลกรวน คือความรับผิดชอบร่วมกันของทั้งโลกก็ตาม
แต่ความเป็นจริงที่ต้องพบเจอ กลุ่มซีกโลกเหนือ (Global North) หรือกลุ่มประเทศร่ำรวย ผู้ซึ่งเป็นต้นตอผลิตคาร์บอนใหญ่มากที่สุด กลับผลักภาระดังกล่าวออกจากตัว และใช้อิทธิพล ความร่ำรวยของตนเองจัดการปัญหา
ทั้งเรื่องราวของการผลิตเทคโนโลยีชั้นสูงเพื่อป้องกันภัยธรรมชาติในประเทศมหาอำนาจ การโยน ‘ขยะอิเล็กทรอนิกส์’ ให้กลุ่มประเทศที่สามเป็นแหล่งจัดการ โครงการปลูกป่าหลายแห่งที่มีเบื้องหลังถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนและกีดกันชุมชนพื้นเมือง หรือแม้แต่การเกิดขึ้นของธุรกิจ ‘ใบอนุญาตซื้อขายมลพิษ’ หรือ ‘คาร์บอนเครดิต’ กับกลุ่มประเทศยากจน นี่คือสิ่งที่กลุ่มซีกโลกเหนือสร้างขึ้นมาทั้งหมด
เพราะความหิวโหยตรงหน้าน่ากลัวกว่าภัยพิบัติที่คาดเดาไม่ได้เสมอ หลายครั้ง กลุ่มประเทศโลกที่สามจึงจำยอมรับข้อเสนอนี้ โดยเฉพาะผู้มีอำนาจในสังคมนั้น จนการเอาตัวรอดแบบ ‘ฉาบฉวย’ ของชาติตะวันตก ถูก ‘ฟอกเขียว’ ให้กลายเป็นโปรเจกต์สวยหรู และธุรกิจขนาดใหญ่สำหรับนายทุนเพื่อกอบโกยความมั่งคั่งจากวิกฤตการณ์ ในขณะที่คนรับเคราะห์กรรม คือประชาชนตาดำๆ ที่หนีตายจากภัยพิบัติอันร้ายแรงจากสภาวะโลกรวน
อาจกล่าวได้ว่าสิ่งที่กลุ่มซีกโลกใต้ต้องพบเจอนั้น ไม่ต่างจากเรื่องราวในอดีตของการกดขี่ภายใต้ระบอบอาณานิคม หากแต่ครั้งนี้แยบยลยิ่งกว่า เพราะกลุ่มชาติตะวันตกกำลังขูดรีดทรัพยากรกลุ่มประเทศชายขอบในรูปแบบ ‘การโยนขี้ให้จัดการ’ และปิดปากด้วยเงิน
ดังคำกล่าวของกลุ่มประท้วงสิ่งแวดล้อมในลอนดอน “สภาวะฉุกเฉินของสิ่งแวดล้อมคือมรดกอันโอชะของระบอบอาณานิคม เพราะมันสร้างรูปแบบซ้ำๆ เมื่ออากาศและผืนดินของกลุ่มประเทศซีกโลกใต้ ถูกใช้เป็นถังขยะสำหรับสิ่งที่กลุ่มโลกซีกเหนือไม่ต้องการ”
อ้างอิง
https://www.fairplanet.org/story/how-climate-colonialism-affects-the-global-south/
Tags: climate change, Global South, เจ้าสาววัยเด็ก