ปัญหาเรื่องค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรม ในกรณีที่เพศหญิงและเพศทางเลือกอื่นๆ ได้รับเงินค่าจ้างไม่เท่าเทียมกับเพศชาย ถือเป็นสิ่งที่เห็นได้แทบจะทุกวงการ ทุกสายงาน ทุกอาชีพ หลายยุคหลายสมัยเพศชายจะได้รับเงินค่าจ้างในอัตราที่สูงกว่าเพศหญิง แม้ว่าจะทำงานในตำแหน่งเดียวกัน มีสิ่งที่ต้องรับผิดชอบพอๆ กัน ยังไม่รวมถึงกรณีแย่สุดอย่างพนักงานหญิงที่มีตำแหน่งสูงได้รับเงินค่าจ้างน้อยกว่าพนักงานเพศชายที่มีตำแหน่งต่ำกว่าและมีงานที่ต้องรับผิดชอบน้อยกว่า ที่ปัญหาดังกล่าวยังคงมีให้เห็นถึงปัจจุบัน เพราะหลายองค์กรยังไม่มีวิธีแก้ปัญหาที่เหมาะสมและเป็นรูปธรรมเท่าไรนัก

ญี่ปุ่นเป็นอีกหนึ่งประเทศที่เผชิญกับปัญหาการจ่ายค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรม อันที่จริงเริ่มตั้งแต่การส่งเอกสารสมัครงานด้วยซ้ำ เพราะบริษัทจำนวนมากมักจะพิจารณาเอกสารสมัครงานของเพศชายก่อน แล้วค่อยมองผู้หญิงเป็นตัวเลือกท้ายๆ เว้นแต่ตำแหน่งงานที่จำเป็นต้องใช้ผู้หญิงจริงๆ จึงรับพิจารณาผู้สมัครเพศหญิงก่อน และในทุกการเจรจาเรื่องเงินเดือน เพศหญิงจะได้รับเงินเดือนน้อยกว่าเพศชายหลายเท่า

ปัญหาคาราคาซังที่เกิดขึ้นจนกลายเป็นเรื่องชินตาทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นภายใต้การนำของ ฟูมิโอะ คิชิดะ (Fumio Kishida) พิจารณาออกนโยบายด้านงบประมาณใหม่ ให้องค์กรเอกชนในญี่ปุ่นทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับราคาค่าจ้างพนักงาน แบ่งตามเพศ ตำแหน่ง และความรับผิดชอบในเนื้องาน เพื่อตรวจสอบว่าพนักงานหญิงได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรมหรือไม่ และมีพนักงานหญิงได้เงินเดือนน้อยกว่าพนักงานชายกี่เปอร์เซ็นต์

การออกนโยบายงบประมาณนี้คาดว่าเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย หนึ่งในนั้นคือตัวเลขการฆ่าตัวตายของหญิงชาวญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้นหลายปีติดกัน สำนักงานตำรวจแห่งชาติเปิดเผยตัวเลขบุคคลที่ฆ่าตัวตายในปี 2020 เพิ่มขึ้นจากเดิม 39.9 เปอร์เซ็นต์ เพศหญิงฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นถึง 82.6 เปอร์เซ็นต์ ส่วนเพศชายเพิ่มขึ้น 21.3 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้อัตราการฆ่าตัวตายของญี่ปุ่นพุ่งสูงสุดในรอบ 5 ปี

หากลงลึกในรายละเอียดปลีกย่อยไปอีก พบว่าระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนตุลาคม 2020 มีผู้หญิงฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น 37 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็น 5 เท่าของผู้ชายที่ฆ่าตัวตาย โดยมีสาเหตุมาจากความเครียดเรื่องโรคระบาด พิษเศรษฐกิจ การถูกปลดออกจากงาน และเหตุผลอื่นๆ ร่วมด้วย

การฆ่าตัวตายของเพศหญิงและการกีดกันเพศหญิงออกจากการทำงานในองค์กรต่างๆ ด้วยปัจจัยหลากหลายทั้งค่านิยมเก่าในสังคม ความคิดที่ว่าผู้หญิงญี่ปุ่นจะทำงานได้ไม่นานก็ต้องแต่งงานแล้วลาออก การเหยียดเพศ ความไม่ก้าวหน้าในอาชีพการงานเพราะเป็นเพศหญิง และรายได้ที่เหลื่อมล้ำ ทำให้ผู้หญิงญี่ปุ่นจำนวนมากถูกกีดกันออกจากตลาดแรงงาน ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างจนทำให้ตลาดแรงงานขาดแรงงานที่มีทักษะหลากหลาย รวมถึงตัวเลขแรงงานก็น้อยลงเรื่อยๆ จนน่าเป็นห่วง

บทความ ‘Womenomics เคลื่อนเศรษฐกิจญี่ปุ่นด้วยผู้หญิง’ ระบุว่า “ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศพัฒนาแล้วที่ยังมีอคติต่อผู้หญิงในฐานะ ‘แม่และเมีย’ ชายญี่ปุ่นราวครึ่งหนึ่งมองว่าผู้หญิงควรอยู่บ้าน ช่องว่างทางรายได้ระหว่างชายกับหญิงยังสูงถึงร้อยละ 24.5 ปัญหาดังกล่าวเป็นประเด็นทางสังคมที่นายกรัฐมนตรีคนก่อนอย่าง ชินโซ อาเบะ (Shinzo Abe) ต้องการขับเคลื่อนโดยนำผู้หญิงเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาการเติบโตติดขัดของเศรษฐกิจและสังคมขาดแคลนแรงงานด้วยนโยบาย Womenomics

“นโยบาย Womenomics คือความพยายามเพื่อผลักดันให้ผู้หญิงเข้าสู่ตลาดแรงงาน ตั้งแต่การเพิ่มสถานรับเลี้ยงเด็กวัยอ่อนและวัยประถม ปรับโครงสร้างภาษีที่สร้างแรงจูงใจสำหรับครอบครัวที่ทั้งสามีและภรรยาทำงาน รวมถึงขอความร่วมมือองค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนให้คำนึงถึงความหลากหลายทางเพศในที่ทำงาน”

ดูเหมือนว่านโยบาย Womenomics อาจยังไม่เพียงพอต่อการจัดการปัญหาที่ยังคงค้างคา ทำให้รัฐบาลชุดปัจจุบันมองว่า นอกจากจะผลักดันให้ผู้หญิงเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น การจัดการเรื่องค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรมก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ต้องเร่งทำให้เร็วที่สุด

ฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นระบุว่า ต้องจัดการเรื่องค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรมจากความเหลื่อมล้ำทางเพศ เพื่อลดความไม่เสมอภาคทางรายได้ หากประชาชนทุกคนได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรม การกระจายรายได้จะทำได้ง่ายยิ่งขึ้น ทำให้สังคมเข้าใกล้ความเท่าเทียมกันเพื่อเร่งให้เศรษฐกิจที่ชะงักงันจากวิกฤตโรคระบาดและวิกฤตอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของญี่ปุ่นกลับมาฟื้นตัวอย่างมั่นคง  

นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นยังคิดไปถึงการดูแลบุตรของพ่อแม่ จากเดิมที่ผู้หญิงมักต้องเป็นฝ่ายลางานเพื่อดูแลลูก รัฐบาลจะเริ่มรณรงค์ให้องค์กรน้อยใหญ่ทำความเข้าใจว่า ผู้เป็นพ่อก็ควรมีสิทธิลางานเพื่อเลี้ยงดูลูกได้เหมือนกัน เพราะในญี่ปุ่นก็มีผู้ชายที่เป็นพ่อเลี้ยงเดี่ยวอยู่ไม่น้อย แต่ผู้ชายญี่ปุ่นมักไม่กล้าใช้สิทธิลางานเพื่อไปจัดการเรื่องธุระให้กับลูก และรัฐบาลจะขอให้บริษัทต่างๆ ทำรายงานเปิดเผยสัดส่วนของพนักงานเพศชายที่ใช้สิทธิลาเลี้ยงดูบุตร เพราะการดูแลลูกไม่ใช่หน้าที่ของเพศใดเพียงเพศหนึ่งเท่านั้น

หนึ่งในเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนร่วมกับการวางแผนนโยบายงบประมาณและเรื่องวันลาสำหรับผู้เป็นพ่อ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า นโยบายดังกล่าวอาจถูกบังคับใช้ในปีงบประมาณที่จะเริ่มต้นขึ้นในเดือนเมษายน 2023 รัฐบาลจะพยายามลดความเหลื่อมล้ำทางเพศที่ส่งผลต่อรายได้ให้ได้มากที่สุด เพราะขณะที่ญี่ปุ่นกำลังเริ่มจัดการกับปัญหานี้ หลายประเทศได้ก้าวไปไกลมากแล้ว และญี่ปุ่นจำเป็นต้องทำทุกอย่างให้เร็วขึ้นเป็นสามเท่าเพื่อวิ่งตามโลกให้ทัน

 

อ้างอิง

–            https://www.reuters.com/business/sustainable-business/japan-considering-mandatory-disclosure-gender-wage-female-manager-ratio-sources-2022-03-24/

–            https://themomentum.co/report-woman-japan-suicide/

–            https://themomentum.co/womenomics-japan/

 

Tags: , , , , , , , , , ,