ที่ผ่านมา ตัวเลขการฆ่าตัวตายของญี่ปุ่นลดลง แต่เป็นตัวเลขแบบรวมทุกเพศ ถ้าลงรายละเอียดปลีกย่อยจะพบว่าผู้หญิงญี่ปุ่นฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นจากเดิมติดต่อกันเป็นปีที่สองแล้ว

หนึ่งในค่านิยมที่ยังคงมีอยู่จนถึงปัจจุบันคือการไม่นิยมไปพบจิตแพทย์ เนื่องจากเป็นความเข้าใจว่าจะทำให้ถูกติฉินนินทา ถูกมองว่าอ่อนแอ ขณะเดียวกันในประวัติศาสตร์อันยาวนานของญี่ปุ่น มีหลายกรณีแสดงให้เห็นว่าการฆ่าตัวตายคือการกระทำเพื่อหลีกเลี่ยงการมีชีวิตอย่างอับอาย หรือบางทีก็จะเป็นการตายที่มีเกียรติ และด้วยเหตุผลหลายประการ ทำให้ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีสถิติการฆ่าตัวตายสูงที่สุดในกลุ่มประเทศ G7 เสมอ

รัฐบาลญี่ปุ่นที่หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนขึ้นมาบริหารประเทศ ต่างมีความพยายามป้องกันการฆ่าตัวตายของผู้คน และเคยทำได้ดีในช่วงตลอดระยะเวลา 15 ปี นับตั้งแต่ปี 2004-2019 ที่ตัวเลขการเสียชีวิตลดลง 40 เปอร์เซ็นต์ จนกระทั่งปี 2020 ที่ทั่วโลกเผชิญกับวิกฤตโรคระบาด ตัวเลขการฆ่าตัวตายของชาวญี่ปุ่นดีดตัวสูงขึ้นอีกครั้งจนน่าใจหาย

ปลายปี 2020 สำนักงานตำรวจแห่งชาติเปิดเผยตัวเลขบุคคลที่ฆ่าตัวตายในปีนั้นเพิ่มขึ้นจากเดิม 39.9 เปอร์เซ็นต์ เพศหญิงฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นถึง 82.6 เปอร์เซ็นต์ ส่วนเพศชายเพิ่มขึ้น 21.3 เปอร์เซ็นต์ รวมแล้วทำให้อัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดในรอบ 5 ปี แต่ถ้าลงรายละเอียดปลีกย่อยจะพบว่า ในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนตุลาคม 2020 มีผู้หญิงฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น 37 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็น 5 เท่าของจำนวนผู้ชายที่ฆ่าตัวตาย

ส่วนในปี 2021 กระทรวงศึกษาธิการรายงานว่าหลังจากปิดโรงเรียนเพราะโควิด-19 มีเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาฆ่าตัวตายมากกว่า 415 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2020 ถึง 100 คน แต่ถ้ามองในภาพรวม กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่น อ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่ามีคนฆ่าตัวตายทั้งหมด 21,007 คน ลงจากปีก่อน 74 คน แบ่งเป็น เพศชาย 13,939 คน ลดลงจากปี 2020 116 คน ส่วนเพศหญิง 7,068 คน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 42 คน

เจ้าหน้าที่ด้านการวางแผนการป้องกันการฆ่าตัวตาย ของกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่น กล่าวว่า ผลกระทบของโควิด-19 จะไม่ได้มีแค่โรคภัยไข้เจ็บต่อร่างกาย แต่ยังปรากฏออกมาในรูปแบบอื่นด้วย โดยเฉพาะกับเพศหญิงที่ค่อนข้างได้รับผลกระทบและแรงกดดันมากกว่าใคร

นักวิเคราะห์ นักวิชาการ และสื่อมวลชน ต่างคาดการณ์ไปในทางเดียวกับเจ้าหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขว่า โควิด-19 ส่งผลต่อความเครียดและการใช้ชีวิตที่ต้องปรับตัวแบบฉับพลัน สาเหตุอันดับแรกคือ ‘ปัญหาด้านสุขภาพ’ วัดจากตัวเลขการฆ่าตัวตาย 4,375 คน ตามมาด้วย ‘ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว’ อยู่ที่ 1,357 คน และ ‘ปัญหาทางเศรษฐกิจ’ ที่ทำให้ผู้หญิงฆ่าตัวตาย 454 คน

หากยังจำกันได้ ช่วงแรกเริ่มที่โควิด-19 ระบาดหนัก หลายบริษัทขาดทุนจนต้องปิดตัว บางบริษัทเลิกจ้างพนักงานจำนวนมาก โดยเฉพาะพนักงานหญิงที่เป็นตัวเลือกแรกๆ ในหลายบริษัท ส่งผลให้คนจำนวนมากเกิดความเครียดถึงการมีชีวิตต่อในวันพรุ่งนี้ ส่วนผู้หญิงที่แต่งงานแล้วเป็นแม่บ้าน พวกเธอจะต้องเผชิญกับความเครียดในครอบครัว เมื่อสามีต้องปรับตัวมาทำงานอยู่ที่บ้าน ส่วนลูกๆ ไม่ได้ไปโรงเรียน การพบปะกันตลอดทั้งวันทั้งคืนอาจทำให้เกิดทั้งความสุขและความเครียด จนตัวเลขการทำร้ายร่างกายในครอบครัวเพิ่มสูงขึ้นเหมือนกับอัตราการฆ่าตัวตาย

ส่วนสาเหตุหลักอย่างปัญหาสุขภาพ มีทั้งบุคคลที่เครียดจากการติดโควิด-19 และคนที่เป็นโรคประจำตัวเรื้อรังอยู่ก่อนแล้ว แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจกับมวลความเครียดในสังคมที่เพิ่มขึ้น ทุกอย่างเป็นเหตุและผลให้กันและกันที่ทำให้ตัวเลขการฆ่าตัวตายของเพศหญิงในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นปีที่สองแล้ว

กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่น ได้ออกมาแจ้งกับประชาชนว่าเมื่อพบเจอกับความเครียด โปรดอย่าเก็บไว้ลำพัง ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่หรือบอกเล่าให้คนใกล้ตัวฟังถึงสภาวะไม่ปกติทางอารมณ์ และรัฐบาลญี่ปุ่นจะเพิ่มงบประมาณไปยังศูนย์บำบัดและโรงพยาบาลทั่วประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้จำนวนผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายสูงขึ้นไปกว่านี้

 

ภาพ: Reuters

ที่มา

https://see.news/japan-female-suicide-rate-rises-for-second-year-in-row/

https://www.thenews.com.pk/print/941962-suicides-by-women-up-in-japan-for-second-year

https://www.reuters.com/world/asia-pacific/suicides-by-women-up-japan-second-year-2022-03-15/

Tags: , , , , , , , ,