เมื่อ 5 ปีก่อน นับตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ (Shinzo Abe) ขึ้นสู่อำนาจ คำพูดที่เราอาจคุ้นหูคือนโยบายกอบกู้เศรษฐกิจญี่ปุ่นสไตล์อาเบะ หรือ อาเบะโนมิกส์ (Abenomics) เพื่อฉุดเศรษฐกิจญี่ปุ่นออกจากภาวะการเติบโตติดขัด รวมถึงเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างเต็มตัว

หนึ่งในนโยบายเรือธงของอาเบะโนมิกส์ที่เป็นที่กล่าวขานในเวทีโลกคือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยผู้หญิง (Womenomics)

ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศพัฒนาแล้วที่ยังมีอคติต่อผู้หญิงในฐานะ ‘แม่และเมีย’ แม้จะเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ การสำรวจเมื่อ พ.ศ. 2559 พบว่าผู้ชายญี่ปุ่นราวร้อยละ 46 ยังเห็นควรว่าผู้หญิงควรจะ ‘อยู่ที่บ้าน’ รวมถึงกรณีที่เป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลกว่ามหาวิทยาลัยแพทย์ในกรุงโตเกียวจงใจ ‘กีดกัน’ ผู้สมัครผู้หญิงออกจากการคัดเลือกโดยให้เหตุผลว่าผู้หญิงนั้นมีศักยภาพน้อยกว่าผู้ชาย

ในแง่เศรษฐกิจ ช่องว่างทางรายได้ระหว่างชายและหญิงญี่ปุ่นสูงถึงร้อยละ 24.5 นั่นหมายความว่าหากผู้ชายทำงานได้เงินเดือน 10,000 บาท ผู้หญิงที่ทำงานประเภทเดียวกันจะได้เงินเดือน 7,550 บาท เพียงเพราะเธอเป็นผู้หญิง หากพิจารณาสัดส่วนผู้หญิงที่นั่งในตำแหน่งผู้บริหารยิ่งแล้วใหญ่ เพราะมีน้อยกว่าร้อยละ 1 หากเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยโลกที่ราวร้อยละ 7 ส่วนสหรัฐอเมริการ้อยละ 15

ตัวเลขเหล่านี้แหละครับ ที่ก่อให้เกิดวงจรอุบาทว์เพราะผู้มีอำนาจตัดสินใจเชิงนโยบายทั้งภาครัฐและภาคเอกชนไม่เข้าใจความท้าทายและความแตกต่างของผู้หญิงและผู้ชาย จนยากที่จะออกแบบโครงสร้างที่เอื้อต่อการที่ผู้หญิงจะมาทำงานนอกบ้านได้อย่างสบายใจ

รากของปัญหาและจุดกำเนิด Womenomics

แนวคิดขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยผู้หญิงนำเสนอโดยเคธี มัตซุย (Kathy Matsui) รองประธานสถาบันการเงินระดับโลกอย่างโกลด์แมน แซคส์ โดยมีจุดมุ่งหมายคือเพิ่มตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ หรือจีดีพี (Gross Domestic Product: GDP) ภายใต้ภาวะสังคมสูงอายุที่ประชากรอายุน้อยมีจำนวนลดลง

บทความดังกล่าวนำเสนอ 3 ทางเลือก คือ การเพิ่มอัตราการเกิดของจำนวนประชากร ซึ่งเป็นเรื่องยากในสังคมที่คนส่วนใหญ่มีแนวโน้มจะอยู่เป็นโสด จำนวนคนโสดอายุระหว่าง 25 – 29 ปีเพิ่มขึ้นถึงสองเท่าในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาโดยไม่ทราบสาเหตุ ส่วนทางเลือกที่สองคือการต้อนรับคนอพยพ แน่นอนว่าชาวต่างชาติที่อพยพเข้ามาจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเนื่องจากเพิ่มการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งก็อาจไม่ใช่ทางออกที่เหมาะสมนัก เพราะหากเทรนด์ประชากรยังเป็นเช่นนี้ต่อไป ญี่ปุ่นจะต้องมีสัดส่วนของแรงงานต่างชาติราวร้อยละ 20 ในอีก 30 ปีข้างหน้าเพื่อคงสัดส่วนแรงงานให้เท่ากับในปัจจุบัน

ทางเลือกสุดท้ายที่เธอนำเสนอ และเป็นรากฐานของนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลอาเบะ คือการเพิ่มสัดส่วนแรงงานหญิงเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ โดยเมื่อราว 10 ปีก่อน ผู้หญิงอายุระหว่าง 15 ถึง 64 ปีเพียงราวร้อยละ 63 เท่านั้นที่ทำงาน เธอยังพบปรากฏการณ์ที่น่าสนใจคือเส้นโค้งตัวเอ็ม (M-Curve) เมื่อพล็อตสัดส่วนการมีงานทำของผู้หญิงจำแนกตามช่วงอายุ จะพบว่าผู้หญิงญี่ปุ่นอายุ 30 – 44 ปีจำนวนหนึ่งเลือกที่จะลาออกจากงานเพื่อเลี้ยงลูก เมื่อลูกโตพอที่จะดูแลตัวเองได้แล้วจึงกลับไปทำงานต่อ ลักษณะข้างต้นแตกต่างจากประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ที่ตัวเลขดังกล่าวค่อยข้างคงที่ตลอดวัยทำงาน

เส้นโค้งตัวเอ็ม (M-Curve) จากการพล็อตสัดส่วนผู้หญิงที่ทำงานจำแนกตามช่วงอายุ จะพบว่าสัดส่วนผู้หญิงญี่ปุ่นที่อายุ 30 – 44 จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ (เส้นสีฟ้า) ซึ่งสามารถตั้งสมมติฐานได้ว่าผู้หญิงที่ลาออกนั้นเพื่อไปเลี้ยงดูลูกๆ ภาพ:  Womenomics: Japan’s Hidden Asset

รากของปัญหาข้างต้นมี 3 องค์ประกอบคือ จำนวนสถานประกอบการรับเลี้ยงเด็กเล็กมีจำนวนไม่เพียงพอ กฎหมายคนเข้าเมืองที่เข้มข้นทำให้หาพี่เลี้ยงซึ่งเป็นชาวต่างชาติได้ยาก และประเด็นสุดท้ายคือการมองข้ามเรื่องความหลากหลายทางเพศในสถานที่ทำงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงไม่ได้จัดสรรความสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัวอย่างเหมาะสมเพียงพอให้ผู้หญิงสามารถก้าวหน้าในหน้าที่การงานได้ทัดเทียมกับผู้ชาย

Womenomics ในทางปฏิบัติ

บทความของมัตซุยนำเสนอราวค่อนทศวรรษก่อนที่รัฐบาลอาเบะจะก้าวเข้าสู่อำนาจ แต่หากพิจารณารายละเอียดของนโยบาย และโครงการที่รัฐบาลผลักดันเพื่อสร้างเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยผู้หญิง จะพบว่าค่อนข้างสอดคล้องกับสิ่งที่เธอนำเสนออย่างยิ่ง ผู้เขียนขอหยิบบางนโยบายที่น่าสนใจมาเล่าสู่กันฟัง

ประเด็นที่โดดเด่นที่สุดและได้รับการผลักดันที่สุดคือเรื่องสถานรับเลี้ยงเด็ก โดยรัฐบาลญี่ปุ่นได้ตั้งโครงการ ‘สถานรับเลี้ยงเด็กต้องไม่มีคิว’ โดยได้เพิ่มศักยภาพในการรับเลี้ยงเด็กอ่อนเพิ่มอีก 400,000 คน มีคำกล่าวในสังคมญี่ปุ่นถึง ‘กำแพงชั้นประถม’ ซึ่งหมายถึงความยากลำบากของเหล่าแม่ๆ วัยทำงานในการหาสถานที่ให้ลูกรอหลังเลิกเรียน ซึ่งแน่นอนว่ารัฐบาลก็เข้ามาจัดการปัญหาดังกล่าวโดยเพิ่มปริมาณสถานรับดูแลเด็กวัยประถมช่วงหลังเลิกเรียนอีกด้วย

อีกประเด็นที่คล้ายคลึงกับประเทศไทย คือระบบภาษีที่ผู้นำของบ้านซึ่งมักเป็นผู้ชายจะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีของภรรยาที่มีรายได้ต่ำกว่า 1.03 ล้านเยนต่อปีได้ การออกแบบระบบภาษีดังกล่าวจูงใจให้ผู้หญิงไม่ทำงานทางอ้อม รัฐบาลรัฐบาลญี่ปุ่นจึงปรับเพดานรายได้ดังกล่าวเป็น 1.5 ล้านเยนต่อปี โดยผลประโยชน์ทางภาษีในการลดหย่อนจะค่อยๆ ลดลงจนเหลือศูนย์เมื่อผู้หญิงมีรายได้ 2.01 ล้านเยนต่อปี แน่นอนว่าปลายทางในอุดมคติคือการยกเลิกค่าลดหย่อนดังกล่าว อย่างไรก็ดี รัฐบาลก็ยังเผชิญกับความยุ่งยากทางการเมืองเนื่องจากยังมีผู้หญิงญี่ปุ่นจำนวนมากที่เป็นแม่บ้านเต็มเวลา

ที่ขาดไม่ได้คือการกระตุ้นทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการสร้างความหลากหลายทางเพศในสถานที่ทำงาน ตั้งเป้าหมายให้ผู้หญิงในวัย 25 – 44 ปี กลับมาทำงานในสัดส่วนร้อยละ 73 และเพิ่มสัดส่วนผู้หญิงในตำแหน่งผู้บริหารให้เป็นร้อยละ 30 ภายใน พ.ศ. 2563 รัฐมนตรีอาเบะถึงขนาดขอความร่วมมือให้ภาคเอกชนแต่งตั้งผู้หญิงอย่างน้อย 1 คนในตำแหน่งผู้บริหาร พร้อมสารพัดมาตรการจูงใจทางภาษี และสร้างแรงกดดันจากสังคมโดยเผยแพร่สถิติดังกล่าวบนเว็บไซต์ สำหรับบริษัททั่วไปการเปิดเผยตัวเลขดังกล่าวเป็นภาคสมัครใจ แต่เป็นภาคบังคับสำหรับบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

แล้วผลลัพธ์เป็นอย่างไร?

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามผลักดัน ‘ผู้หญิง’ ให้เข้ามามีบทบาททางเศรษฐกิจ แต่ต้องยอมรับว่า Womenomics ของรัฐบาลอาเบะนับว่าผลักตัวเลขการมีส่วนร่วมของผู้หญิงได้ค่อนข้างน่าประทับใจ โดยทุกปีนับตั้งแต่มีนโยบายดังกล่าว สัดส่วนผู้หญิงที่เข้ามาสู่ตลาดแรงงานเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละหนึ่งต่อปี โดยปัจจุบันมีสัดส่วนมากกว่าประเทศในกลุ่มโออีซีดี (Organization for Economic Co-operation and Development: OECD) รวมถึงสหรัฐอเมริกา

สัดส่วนผู้หญิงที่ทำงานระหว่าง ค.ศ. 1982 ถึง 2017 จะเห็นว่าสัดส่วนผู้หญิงในตลาดแรงงานของญี่ปุ่นนั้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และแซงหน้าสหรัฐอเมริกาเมื่อ ค.ศ. 2016 สถิติจากเว็บไซต์ OECD ภาพ: qz.com

อย่างไรก็ดี งานที่ผู้หญิงส่วนใหญ่ทำยังเป็นงานพาร์ตไทม์ที่ได้ค่าตอบแทนต่ำ ส่วนการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้หญิงในตำแหน่งผู้บริหารก็เป็นไปอย่างเชื่องช้า แม้แต่ในรัฐสภาเองที่มีสัดส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นผู้หญิงน้อยมากโดยธนาคารโลกระบุว่า “น้อยที่สุดในหมู่ประเทศพัฒนาแล้ว” คือราวร้อยละ 9 เท่านั้น ส่วนในคณะรัฐมนตรีของอาเบะก็ค่อนข้างย้อนแย้งที่พยายามผลักดันผู้หญิงมากขึ้น แต่กลับมีผู้หญิงในคณะรัฐมนตรีชุด พ.ศ. 2560 เพียง 2 จาก 20 ตำแหน่งเท่านั้น

คณะรัฐบาลญี่ปุ่นนำโดย ชินโซ อาเบะ พ.ศ. 2560 ภาพ: REUTERS/Toru Hanai

แม้ว่ารัฐมนตรีอาเบะจะได้รับคำชมจากทั่วโลกว่าญี่ปุ่นมีพัฒนาการด้านการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในตลาดแรงงานอย่างมีนัยสำคัญตามนโยบาย Womenomics แต่หากพิจารณาจากรายงานดัชนีช่องว่างระหว่างเพศ (Global Gender Gap Index) จะพบว่าญี่ปุ่นถอยหลังค่อนข้างมากในเรื่องการมีส่วนร่วมของผู้หญิงทางการเมือง

ย้อนกลับมามองที่ประเทศไทย ในแง่ความเท่าเทียมทางเพศในภาพรวมเราทำได้ดีกว่าญี่ปุ่นค่อนข้างมาก แต่ในแง่มิติการมีส่วนร่วมของผู้หญิงทางการเมือง ประเทศไทยได้รับคะแนนต่ำกว่าญี่ปุ่นเสียอีก (ได้ที่ 130 จาก 149 ประเทศ) โดยรายงานฉบับดังกล่าวระบุว่ามีสมาชิกรัฐสภาเป็นผู้หญิงเพียงร้อยละ 6 และผู้หญิงในตำแหน่งรัฐมนตรีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น

การมีส่วนร่วมของผู้หญิงในการเมืองไทยโดดเด่นในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่นอกจากจะมีผู้หญิงเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ยังมีสัดส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้หญิงถึงร้อยละ 24 ก่อนจะลดลงอย่างฮวบฮาบหลังรัฐประหาร ตัวเลขดังกล่าวมีแนวโน้มดีขึ้นอีกครั้งหลังเลือกตั้งล่าสุดที่มีสัดส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้หญิงราวร้อยละ 16

หากมองแบบกำปั้นทุบดินว่าสัดส่วนผู้บริหารภาครัฐและภาคเอกชนชายและหญิงควรจะใกล้เคียงกันเช่นเดียวกับสัดส่วนประชากร ผู้เชี่ยวชาญ นักออกแบบนโยบาย และสาธารณชนยังคงต้องทำงานอีกมากจึงจะบรรลุความเท่าเทียมดังกล่าว 

นโยบายรัฐบาลไทยชุดปัจจุบันก็น่ากังวลไม่น้อย เพราะยังไม่เห็นทิศทางที่จะสนับสนุนให้ผู้หญิงไทยพ้นจากบทบาท ‘แม่และเมีย’ ที่พอจะเข้าเค้าบ้างก็คือนโยบายมารดาประชารัฐ แต่นโยบายดังกล่าวเป็นการเพิ่มอัตราการเกิดมากกว่าสนับสนุนบทบาททางการเมืองของผู้หญิงเพื่อมาปิดช่องว่างที่ประเทศไทยนับว่าตกค่าเฉลี่ย

 

เอกสารประกอบการเขียน

Womenomics: Japan’s Hidden Asset

“Womenomics” in Japan: In Brief

A guide to womenomics

Womenomics Is Flipping the Script on Men in Japan

The success of “Womenomics” in Japan masks its growing gender gap

 

Tags: , , , ,