“สามสิบแล้ว แต่งงานหรือยัง?” ดูจะเป็นทั้งคำถามน่ากังวลของเหล่าคนวัยเลขสามนำหน้า และเป็นความคาดหวังของสังคมที่มักมองว่า คนในวัยดังกล่าวควรลงหลักปักฐานได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นอาชีพการงาน หรือการมีคู่ครอง สร้างครอบครัว จนบางครั้งก็กลายเป็นความกดดันที่ทำให้ ‘คนเลขสาม’ รู้สึกแย่ หากไม่สามารถตอบคำถามดังกล่าวได้ หรือยังคง ‘เป็นโสด’

ความรู้สึกดังกล่าวเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับคนวัยดังกล่าวทั่วโลก ซึ่งสะท้อนผ่านเทรนด์ที่เรียกว่า ‘Waithood’ ที่ใช้อธิบายถึงสถานการณ์ของคนหนุ่มสาวที่ยังไม่แต่งงาน และรอคอยการมีคนรัก อันมีนัยสำคัญจากปัจจัยหลายด้าน โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจและการเงิน

คำว่า ‘Waithood’ เริ่มใช้ครั้งแรกโดยนักรัฐศาสตร์ ไดแอน ซิงเกอร์แมน (Diane Singerman) ในปี 2007 เพื่ออธิบายถึงระยะเวลาที่เพิ่มขึ้นของวัยรุ่นและคนหนุ่มสาวที่ ‘รอคอย’ ทั้งเรื่องการงานที่มั่นคง รวมไปถึงการแต่งงาน และคำดังกล่าวเริ่มแพร่หลายหลังปี 2009 หลังจากมีการตีพิมพ์หนังสือ Generation in Waiting โดยหนังสือดังกล่าวได้พูดถึงลักษณะและสาเหตุที่ละเอียดของช่วงเวลาแห่งการรอคอยที่ว่านี้

ภาวะ ‘Waithood’ มักเกิดขึ้นผ่านปัจจัยด้านเศรษฐกิจและการเงิน โดยคนรุ่นใหม่หรือคนหนุ่มสาวมักมองว่า การแต่งงานอาจเป็นการผูกมัดชีวิตและสร้างภาระทางการเงินเพิ่มขึ้นทั้งที่อาจยังไม่พร้อม ซึ่งเป็นผลมาจากสถานะทางเศรษฐกิจของสังคมที่ไม่สู้ดี

หรืออีกปัจจัยหนึ่งคือการเกิดขึ้นของวัฒนธรรม ‘การอยู่คนเดียว’ ของคนในยุคนี้ ที่มองว่าไม่ใช่เรื่องเลวร้าย และสามารถวางแผนชีวิตการอยู่คนเดียวได้โดยไม่จำเป็นต้องมีคู่ครอง ต่างจากในอดีตที่เรามักถูกสอนว่า หากโชคดี เราจะได้คู่ครองที่ดีและมีความสุขร่วมกันไปตลอดชีวิต และมองว่าการอยู่คนเดียวเป็นความเดียวดายที่น่าเศร้า

ครั้งหนึ่ง เอ็มมา วัตสัน (Emma Watson) นักแสดงชื่อดัง เคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Vouge ว่า กระแสที่แฟนๆ อยากให้เธอพบรักแท้ ทำให้เธอเครียดและวิตกกังวล เนื่องจากเธอกำลังเข้าสู่วัย 30 โดยที่ยังไม่มีทั้งสามีหรือลูก แต่ท้ายที่สุดเธอก็คิดได้ว่า การเป็นโสดสำหรับเธอคือความสุข และเรียกมันว่า ‘การเป็นเพื่อนกับตนเอง’

ท้ายที่สุดแล้ว แม้จะอายุสามสิบ สี่สิบ ห้าสิบ หรือเท่าไรก็ตาม มันก็เป็นเพียงตัวเลข และจะมีคู่ครองหรือพบรักแท้หรือไม่ก็ไม่ใช่ปัญหา หากคุณมีแผนการสำหรับชีวิตที่วางไว้อย่างชัดเจน และสามารถหาความสุขจากสิ่งรอบข้างได้ การอยู่คนเดียวก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติหรือผิดบาปแต่อย่างใด

Tags: , , ,