วันที่ 12 มีนาคม 2023 สถาบันวิจัยสตอกโฮล์มเพื่อสันติภาพระหว่างประเทศ (Stockholm International Peace Research Institute: SIRP) ได้เปิดเผยรายงานฐานข้อมูลค่าใช้จ่ายทางทหารระหว่างปี 2018-2022 โดยเป็นการรวบรวมมูลค่ารวมของอาวุธที่มีการซื้อขายอย่างเป็นทางการ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญประเมินว่าอยู่ที่ราว 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 3 ล้านล้านบาท) โดยในปีนี้มูลค่ารวมของการนำเข้าอาวุธในยุโรปสูงขึ้นอย่างชัดเจน และเพิ่มขึ้นกว่า 47% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

สำหรับประเทศไทย แม้จะไม่ได้อยู่ในภาวะสงคราม หรือเกี่ยวข้องกับสงครามในยุโรป ทว่ามีมูลค่ารวมในการนำเข้าอาวุธอยู่อันดับที่ 21 ของโลก โดยมีมูลค่ารวมระหว่างปี 2018-2022 คิดเป็น 1% ของมูลค่ารวมการซื้อขายอาวุธทั้งหมดทั่วโลก เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ราว 0.9% โดยประเทศผู้ส่งออกอาวุธรายใหญ่ให้กับไทย ได้แก่ เกาหลีใต้ คิดเป็น 33% จีน 14% และสหรัฐอเมริกา 10%

SIRP ยังพบข้อมูลอีกว่า ในปี 2021 ประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายทางการทหารรวมแล้ว 6,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 2.27 แสนล้านบาท) คิดเป็นอันดับที่ 32 ของโลก และงบประมาณด้านการทหารคิดเป็น 1.3% คิดเป็นอันดับที่ 91 ของโลก

นอกจากนี้ หากประเมินยอดการ ‘ส่งออก’ อาวุธ พบว่า เกาหลีใต้ส่งออกอาวุธให้ไทยคิดเป็นอันดับที่ 3 ของการส่งออกอาวุธทั้งหมด หรือกว่า 13% ของการส่งออกอาวุธทั้งหมด และยูเครนส่งออกอาวุธให้ไทยคิดเป็นกว่า 7.5% ของการส่งออกอาวุธทั้งหมด โดยไทยติดอันดับที่ 3 ของประเทศที่ยูเครนส่งออกอาวุธให้

ทั้งนี้ คาดว่าในส่วนของอาวุธที่ไทยซื้อจากเกาหลีใต้ เป็นส่วนของเครื่องบินฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้นแบบ T-50TH ซึ่งกองทัพอากาศไทยนำมาใช้ประจำการแทนเครื่องบินฝึกนักบินขับไล่แบบ L39 โดยมีการจัดซื้อรวม 3 ระยะ ขณะที่อาวุธที่ไทยซื้อจากยูเครนคาดว่าเป็นในส่วนของรถถังหลัก T-84 Oplot-M ที่กองทัพบกจัดซื้อมาประจำการ

สำหรับค่าใช้จ่ายการนำเข้าอาวุธพบว่า อินเดียเป็นประเทศที่นำเข้าอาวุธสูงที่สุดของโลก ระหว่างปี 2018-2022 ตามด้วยซาอุดีอาระเบียและกาตาร์ ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่าไทยนำเข้าอาวุธสูงที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของภูมิภาคอาเซียน รองจากสิงคโปร์ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 20 ขณะเดียวกันยังมีอัตราการนำเข้าอาวุธสูงกว่าประเทศใหญ่อย่างบราซิล ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 22 อิตาลีซึ่งอยู่ในอันดับที่ 28 ฟิลิปปินส์ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 23 อินโดนีเซียซึ่งอยู่ในอันดับที่ 24 และสูงกว่าองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 31

ในส่วนของอิตาลีมีสัดส่วนการนำเข้าอาวุธอยู่ที่ 0.8% โดยนำเข้าจากสหรัฐอเมริกามากที่สุด ตามด้วยอิสราเอลและฝรั่งเศส ขณะที่องค์การนาโตมีสัดส่วนการนำเข้าอาวุธที่ 0.7% โดยนำเข้าอาวุธจากฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร ตามลำดับ

ที่มา https://www.sipri.org/sites/default/files/2023-03/2303_at_fact_sheet_2022_v2.pdf

Tags: , , ,