วันนี้ (5 กันยายน 2567) อาคารรัฐสภา มีการประชุมสภาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ในวาระ 2-3 วงเงิน 3.75 ล้านล้านบาท วีระ ธีระภัทรานนท์ ในฐานะกรรมาธิการงบประมาณสัดส่วนพรรคประชาชน เสนอให้ตัดงบประมาณในมาตรา 29 ที่เกี่ยวข้องกับรายจ่ายของรัฐวิสาหกิจร้อยละ 10 หรือคิดเป็น 3,400 ล้านบาท

วีระอภิปรายว่า แม้รายจ่ายของรัฐวิสาหกิจถูกตัดในชั้นกรรมาธิการพอสมควร แต่ที่ต้องเสนอตัดงบประมาณเพิ่มเติมอีก เพื่อให้สามารถแสดงความเห็นได้ว่า ‘ไม่เห็นด้วย’ จากตอนแรกที่รัฐบาลเสนองบประมาณในมาตรา 29 ไว้ที่ 6.99 หมื่นล้านบาท แต่ถูกตัดงบประมาณไปแล้ว 3.5 หมื่นล้านบาท คงเหลือ 3.48 หมื่นล้านบาท

ปัจจุบันมีรัฐวิสาหกิจกว่า 52 แห่ง แบ่งเป็นทำกำไร 37 แห่งและขาดทุน 18 แห่ง โดยมีรายได้ต่อปีเฉลี่ย 4.4 ล้านล้านบาท ทำกำไรรวม 2.4 แสนล้านบาท และส่งเงินคืนให้รัฐกว่า 1.7 แสนล้านบาท โดยวีระจำแนกประเภทของรัฐวิสาหกิจลงไปอีก 2 ประเภท คือ

  1. รัฐวิสาหกิจที่อยู่ได้ด้วยตัวเอง
  2. รัฐวิสาหกิจที่อยู่ไม่ได้ด้วยตัวเอง (ต้องมีการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี)

ซึ่งรัฐวิสาหกิจที่อยู่ได้ด้วยตัวเองเป็น ‘สถาบันการเงิน’ ที่รัฐบาลมีภาระผูกพันต้องชดเชยรายได้ที่สูญเสียทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย

กรรมาธิการงบประมาณยังระบุอีกว่า หากบริหารงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจได้ดี จะเพิ่มรายได้จัดเก็บเข้ารัฐมากขึ้นตามไปด้วย แต่ปัญหาปัจจุบันคือ การตัดลดรายการที่ต้องจ่ายให้รัฐวิสาหกิจ 5 แห่ง ประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท เพื่อนำไปเป็นงบกลางเพื่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ

วีระขยายความเพิ่มเติมว่า ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาตรา 28 รวมทั้งประกาศคณะกรรมการนโยบายวินัยการเงินการคลังกำหนดไว้ว่า อัตราส่วนระหว่างยอดค้างชำระที่สถาบันการเงินออกให้รัฐก่อน กำหนดไว้ที่ร้อยละ 32 ปัจจุบันกำหนดกรอบงบประมาณไว้ที่ 3.75 ล้านล้านบาท แปลว่าเพดานการใช้เงินจะอยู่ที่ 1.2 ล้านล้านบาท ซึ่งขณะนี้มียอดคงค้างอยู่ที่ 1 ล้านล้านบาท หมายความว่า การใช้งบประมาณยังไม่ทะลุเพดาน แต่ถือว่าเป็นจำนวนเงินที่สูง

วีระอธิบายกระบวนการจัดทำงบประมาณ รายจ่ายรัฐวิสาหกิจของรัฐบาล โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้

  1. รายงานบริหารจัดการชำระหนี้ของรัฐบาล โดยสำนักบริหารหนี้สาธารณะ
  2. แฝงในงบประมาณรายจ่ายรัฐวิสาหกิจที่ต้องจ่ายคืน

“การจัดแยกแบบนี้ ทำให้เราไม่รู้สถานะหนี้สินและภาระค้างจ่ายของรัฐบาลอย่างแท้จริง ในอนาคตถ้าเป็นไปได้ ผมอยากเสนอให้สมาชิกทบทวนการจัดทำงบปี 2569 และปีต่อๆ ไป นอกเหนือจากการแยกให้ชัดเจนว่า การบริหารหนี้ภาครัฐในส่วนของสำนักบริหารหนี้สาธารณะเป็นรายจ่ายที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ กับรายจ่ายที่ต้องดำเนินการสำหรับการค้างจ่ายที่ยืดหยุ่น หากในอนาคตสามารถแยกออกมาเป็นรายการได้ก็คงดี”

กรรมาธิการงบประมาณยังเสนอสิ่งที่ควรจะทำคือ เพิ่มรายการชำระหนี้คงค้างของรัฐบาลกับรัฐวิสาหกิจที่ให้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นเงินต้นหรือดอกเบี้ย รวมทั้งการชดเชยรายได้ เพราะในอนาคตจะมีหนี้ก้อนใหม่จากการดำเนินนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ที่ต้องจัดตั้งกองทุนเพื่อชดเชยรายได้ที่สูญเสียไป เหมือนกับที่ทำกับสถาบันการเงิน ณ ขณะนี้

“ถ้าเราใช้โอกาสในการดูงบรายจ่ายของรัฐวิสาหกิจ และขยายให้เกิดผลทางปฏิบัติที่มองมองเห็นได้ชัดว่า รัฐบาลบริหารเงินได้อย่างเหมาะสมหรือไม่ก็จะเป็นประโยชน์” วีระกล่าว

Tags: , , ,