เมื่อรสนิยมการดูคลิปอินฟลูเอนเซอร์ของผู้ชมเริ่มเปลี่ยนไป จากการดูชีวิตหรูหรา รีวิวบ้านหลังละหลายสิบล้าน เปลี่ยนมาเป็นดูรีวิวบ้านที่ออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม หรือเทรนด์การใช้ชีวิตที่เกี่ยวพันกับธรรมชาติมากขึ้น

หากนึกถึงไอคอนเรื่องสิ่งแวดล้อม ชื่อแรกๆ ที่คนส่วนใหญ่จะนึกถึงมักเป็น เกรตา ธันเบิร์ก (Greta Thunberg) กับ อิสรา เฮอร์ซี (Isra Hirsi) ที่ถูกเรียกว่าเป็นไอคอนหรือหัวหอกของเหล่านักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมในยุคสมัยใหม่ แต่จุดเริ่มต้นของการมีชื่อเสียงของพวกเธอมาจากการรณรงค์ การประท้วง และการปราศรัย ไม่ใช่เริ่มต้นจากการทำคอนเทนต์แบบเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ ที่ในตอนนี้ผู้คนจำนวนมากที่เรียกตัวเองหรือถูกเรียกว่า ‘อินฟลูเอนเซอร์’ เริ่มทำคลิปวิดีโอทั้งแบบคลิปสั้นและคลิปยาว เล่าเรื่องราวในรูปแบบต่างๆ ลงยูทูบ ติ๊กตอก ที่เกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์รักษ์โลก รักสิ่งแวดล้อม

พัฒนาการของอินฟลูเอนเซอร์ยุคใหม่ก้าวกระโดดมากขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมที่หลายคนทำเพียงแค่ลงรูปเซลฟีในอินสตาแกรม เขียนบล็อก ถ่ายทำตัวเองตอนไปช้อปปิ้ง หรือจัดทริปเที่ยวในรูปแบบต่างๆ ทว่าช่วงหลังมานี้จะเห็นได้ว่ามีอินฟลูเอนเซอร์บางส่วนเริ่มคิดทำคอนเทนต์ที่ลึกขึ้นกว่าเก่า บางส่วนเริ่มหันมาสอดแทรกความรู้เล็กน้อยในผลงานตัวเอง

ศูนย์วิจัยเทเลนอร์ (Telenor Research) กล่าวถึงสัญญาณของภาวะโลกร้อน เมื่ออุณหภูมิโลกทำสถิติใหม่เป็นประวัติการณ์ แสดงให้เห็นถึงความท้าทายที่เพิ่มสูงขึ้นต่อมนุษย์ สัตว์ป่า และธรรมชาติ แต่ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลในอัตราเร่งจะยังคงมีความหวังต่อการรักษาโลก และเมื่อประเด็นโลกร้อนเริ่มถูกให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ประชาคมโลกจำเป็นต้องตื่นตัวกับเรื่องดังกล่าวอย่างเลี่ยงไม่ได้

ทาล เเซนเบิร์ก (Taale Sandberg) ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเทเลนอร์ ระบุว่า “ผู้คนทั่วโลกต่างตื่นตัวกับสถานการณ์โลกร้อนที่เลวร้ายลงและต้องการหาทางออกให้กับสภาพอันเลวร้าย หลายบริษัทจะหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะและความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อให้สอดความกับแนวโน้มของโลกธุรกิจที่ต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว และตอบสนองกับความต้องการของพนักงานในองค์กร ผ่านคอร์สความรู้ระยะสั้น Micro-degree ซึ่งหากบริษัทหรือองค์กรใดไม่สามารถตอบโจทย์ดังกล่าวได้ จะทำให้องค์กรนั้นไม่ดึงดูดคนเก่งใหม่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรได้”

ขณะที่โซเชียลมีเดียส่วนใหญ่มีจุดประสงค์เพื่อความบันเทิง แต่การใช้โซเชียลมีเดียเพื่อการขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงสังคมและรณรงค์สิ่งแวดล้อมมีให้เห็นมากยิ่งขึ้น ในปี 2022 ศูนย์วิจัยเทเลนอร์คาดการณ์ว่า จะมีแรงขับเคลื่อนทางสังคมกับสิ่งแวดล้อมผ่านโซเชียลมีเดีย เพื่อการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย ท่ามกลางความผิดหวังจากผลการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 (COP26) และรายงานฉบับล่าสุดว่าด้วยสถานะของวิกฤตภูมิอากาศโดยการประเมินของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ที่ไม่สู้ดีนัก โดยระบุว่าสภาวะโลกร้อนจะเลวร้ายลงอีก

“เหล่าอินฟลูเอนเซอร์จำนวนหนึ่งค่อยๆ สร้างการรับรู้เกี่ยวกับวิกฤตสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ (Greenfluencer) ที่เลวร้ายลงผ่านโซเชียลมีเดียที่มีเฉพาะกลุ่ม และเราเชื่อว่าจำนวนผู้ติดตามก็จะเพิ่มมากขึ้นตามฐานความนิยม กลุ่มสายอาหาร แฟชั่น บิวตี้ หรือสายสุขภาพ จะเข้ามาทำเนื้อหาแนวรักโลกมากยิ่งขึ้น ทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ทั้งในแง่การตลาดและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม”

“อินฟลูเอนเซอร์ที่ผลิตเนื้อหาโดยไม่เกี่ยวกับประเด็นทางสิ่งแวดล้อมจะถูกมองว่าล้าสมัย ในทางกลับกัน ผู้ชมจะเข้าหาและติดตามอินฟลูเอนเซอร์ที่มุ่งสร้างการรับรู้แนวรักษ์โลก เช่นเดียวกับนักการตลาดที่จะเปลี่ยนไปในทิศทางเดียวกัน” แซนเบิร์ก ระบุ

นอกจากนี้ งานวิทยานิพนธ์ชิ้นหนึ่งของนักศึกษาปริญญาโท สาขาบริหารธุรกิจและการสื่อสารองค์กร ในประเทศเดนมาร์ก ที่ได้รับเสียงเห็นด้วยจากบริษัทขนาดใหญ่จำนวนมากที่มักใช้บริการอินฟลูเอนเซอร์อยู่บ่อยๆ งานวิจัยดังกล่าวระบุถึงการตรวจสอบความต้องการในตลาดที่มีต่อเซเลบฯ ในสายต่างๆ โดยอ้างอิงจากการสัมภาษณ์ 11 ครั้งด้วยกัน แบ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด 3 คน อินฟลูเอนเซอร์ 3 คน บริษัท 5 แห่งมีจุดขายด้วยการจ้างอินฟลูเอนเซอร์เป็นหลัก และให้กลุ่มตัวอีกจำนวนหนึ่งทำแบบสอบถามออนไลน์ เพื่อตรวจสอบความคิดเห็นและมุมมองของผู้บริโภค

ผลที่ออกมาคือ ภาพรวมของตลาดอินฟลูเอนเซอร์ในยุคปัจจุบัน มุ่งเน้นไปยังภาพลักษณ์และจุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ของอินฟลูเอนเซอร์ แบรนด์ต่างๆ มักมองหาอินฟลูเอนเซอร์ที่มีการพูด มีประเด็นและเป้าหมายชัดเจน ที่สำคัญคือความยั่งยืนที่จะสามารถจ้างอินฟลูเอนเซอร์เหล่านั้นในระยะยาวได้

ขณะที่การระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจจำนวนมากมีรายได้ลดลง ในยุคที่ทุกอย่างไม่แน่นอน ผู้บริโภคจำนวนมากต้องรัดเข็มขัดทางการเงินมากขึ้น แต่ในปี 2021 อินฟลูเอนเซอร์สายสารคดี, อินฟลูเอนเซอร์จัดบ้าน, อินฟลูเอนเซอร์ Esports, อินฟลูเอนเซอร์สาย Smart Living และอินฟลูเอนเซอร์สายสิ่งแวดล้อมกลับได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่แบ่งเป็นกลุ่มย่อยมากขึ้น

 

อ้างอิง

https://www.theguardian.com/environment/2021/jun/15/the-green-influencers-targeting-the-tiktok-generation

https://research.cbs.dk/en/studentProjects/green-influencer-marketing-can-influencers-promote-a-sustainable-

 

Tags: , , , , , , ,