หากใช้ Google Street View ค้นพิกัดชุมชนริมถนนรถไฟซึ่งอยู่คู่ขนานไปกับเส้นทางรถไฟบางซื่อ เราจะพบกลุ่มต้นไม้สีเขียวที่แฝงตัวอยู่หนาตาในชุมชนละแวกนั้น แต่นั่นเป็นเพียงภาพหลักฐานการเคยมีอยู่ของพื้นที่สีเขียวซึ่งปรากฏอยู่บนแผนที่ดาวเทียม เพราะในวันนี้ต้นไม้เหล่านั้นถูกรื้อถอนออกทั้งหมดเพื่อขยายถนน รองรับการพัฒนาพื้นที่ที่ขยายตัวของสถานีรถไฟกลางบางซื่อ 

 

ริมถนนรถไฟก่อนรื้อถอนต้นไม้ (ขอบคุณภาพจาก A Green Dot)

ความผูกพันกับต้นไม้และถนนซึ่งใช้สัญจรเป็นประจำและอยู่ไม่ห่างจากบ้าน ทำให้คนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งไม่อาจดูดายรอวันที่ต้นไม้จะถูกตัดทิ้งไปทีละต้น ด้วยระยะเวลาที่จำกัดซึ่งเดินคู่ไปกับงานก่อสร้างที่ต้องปูพรมไปข้างหน้า สิ่งที่ มะเหมี่ยว-สุธิษณา เลิศสุขประเสริฐ ต้นความคิดที่จะเข้าไปปกป้องต้นไม้ที่ยังเหลืออยู่จึงเกิดขึ้น ในวันที่เครื่องจักรกำลังทำงานคืบเข้ามาใกล้ทุกทีๆ

“ตอนนั้นเป็นช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ เราสังเกตว่าบ้านในชุมชนนี้กำลังรื้อถอนจากการถูกเวนคืน ต้นไม้ต้นใหญ่โดนตัดโค่นไวมาก ตอนเช้าผ่านไปเห็นต้นนุ่นสูงๆ กลับมาตอนเย็นต้นนี้หายไปแล้ว เหมี่ยวเสียดายว่า กว่าต้นไม้แต่ละต้นจะโต มันใช้เวลานาน และเราอยากได้ความช่วยเหลืออะไรสักอย่าง เหมือนถ้าเราไม่สบายเรารู้ว่าต้องไปโรงพยาบาล ถ้ากระเป๋าสตางค์หายเราไปหาตำรวจ แต่ต้นไม้กำลังจะโดนตัดนี่ไม่รู้จะไปหาใคร”

ความคิดของเธอไม่ถูกทิ้งให้โดดเดี่ยว มีคนเห็นด้วยและยื่นมือเข้ามาเป็นแนวร่วมเดียวกัน เริ่มจากบี-กันยารัตน์ มานะธัญญา ซึ่งเป็นญาติผู้พี่ และแนะนำให้เธอได้รู้จักกับ เต้-อิทธิพันธุ์ จิระธนพาณิชย์ หนึ่งในแอดมินเพจ PM2.5 Daily ตระเวนวัดค่าฝุ่นทั่วไทย ทั้งสามคนเริ่มมองหาแนวทางที่พอจะเป็นไปได้ เพื่อช่วยชีวิตต้นไม้ที่กำลังไร้บ้านได้ที่อยู่ใหม่ 

เรานั่งคุยกับมะเหมี่ยวและเต้ ตัวแทนของกลุ่ม A Green Dot ในวันที่เครื่องจักรกำลังทำงาน ท่ามกลางชุมชนที่ทั้งรื้อถอนไปแล้วและกำลังรอการโยกย้าย ต้นไม้ส่วนหนึ่งลิดกิ่งเตรียมรอวันขุดล้อม บางต้นยังรอบ้านใหม่เพราะอยู่ระหว่างการตัดสินใจของเจ้าของที่จะรับอุปการะ และหลายต้นก็รอวันถูกถอนราก เพราะอย่างไรเสียก็ไม่มีทางขุดล้อมได้หมด

มะเหมี่ยว-สุธิษณา เลิศสุขประเสริฐ (ขวา) และ เต้-อิทธิพันธุ์ จิระธนพาณิชย์ (ซ้าย)

นับหนึ่งกับภารกิจ

“ตอนนั้นเราคิดง่ายๆ ว่าในเมื่อต้นไม้อยู่ตรงนี้ไม่ได้ เราก็ล้อม แล้วถ้าต้องใช้เงินเยอะ เราก็จะหาเงินมา เราเริ่มต้นทำเพจ A Green Dot เพื่อสื่อสารกับคนในสังคมเรื่องต้นไม้ที่กำลังจะถูกตัด พยายามติดต่อกับคนที่เราคิดว่าน่าจะช่วยเราได้ โทร.ไล่ไปเรื่อยๆ เพราะเราไม่รู้จักใครเลย” มะเหมี่ยวเล่า 

เรื่องราวนี้นำไปสู่การเข้ามาถึงของสื่อใหญ่อย่างไทยพีบีเอส และเป็นสะพานพาเธอไปถึงหน่วยงานที่จะอนุญาตให้เธอทำการขุดล้อมได้ นั่นคือการรถไฟแห่งประเทศไทย มะเหมี่ยวและเต้รวบรวมภาพถ่ายต้นไม้จำนวน 22 ต้น ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร ที่กำลังจะถูกรื้อถอนในเฟสถัดไปพร้อมจดหมายเพื่อขอเจรจาล้อมต้นไม้ คำขออนุญาตได้รับการอนุมัติ แต่ด้วยงานรื้อถอนถูกส่งต่อเป็นทอดไปถึงผู้รับเหมาหน้างาน การเจรจากับช่างที่หน้างานจึงเกิดขึ้นพร้อมคำถามมากมายเพราะดูแล้วยากจะเป็นไปได้ กับเวลาที่เหลืออยู่เพียง 5 วัน

“เราทำงานกันมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ต้นไม้จะโดนตัด ด้านหนึ่ง ประสานงานกับช่างที่อยู่หน้างาน ขณะเดียวกัน เราก็ประกาศรับบริจาค เพราะการยื่นขอคราวด์ฟันดิ้งต้องใช้เวลาเจ็ดวันในการอนุมัติโครงการซึ่งไม่ทันเวลา แต่การจะรับบริจาคเราก็ต้องรู้ว่าจะเอาต้นไม้ไปไว้ที่ไหน เราตั้งใจจะให้ต้นไม้ที่ล้อมออกไปได้เป็นของสาธารณะ ไปอยู่ในที่สาธารณะเพื่อให้ทุกคนได้เข้าถึงต้นไม้ได้ และเราก็ไปขอที่ในสวนรถไฟ แต่ก็มีข้อจำกัดเรื่องทางเข้าที่แคบ เราไม่สามารถเอารถเทรลเลอร์ขนาดห้าสิบตันขนต้นไม้เข้าไปได้ จึงต้องเลิกล้มไปอีก ตอนนั้นสุดทางแล้ว ช่างที่หน้างานให้เวลาเราห้าวันในการล้อม เพราะเขาก็ต้องทำงาน ถ้างานช้าทางผู้รับเหมาก็จะต้องโดนปรับ เราเลยขอเขาว่าอีกสองวันจะมาล้อม”

ในขณะที่การทำงานต้องแข่งกับเวลา พลังของโซเชียลก็เป็นแรงขับเคลื่อนอย่างดี เพจถูกแชร์ออกไป และมีการแท็กหาคนที่สามารถช่วยงานล้อมต้นไม้ได้ และเปา-พัลลภ ขำเจริญ ซึ่งบ้านของเขาทำธุรกิจล้อมต้นไม้อยู่ที่ราชบุรีก็เข้ามารับดูแล และกลายเป็นกำลังสำคัญอีกคนของภารกิจนี้ 

ขอบคุณภาพจาก A Green Dot

“คุยกันได้สองวันเปาก็มาดูหน้างาน แล้วประเมินกันคร่าวๆ ว่าค่าใช้จ่ายควรจะเท่าไร ก็ตกราวเจ็ดแสนหกหมื่นบาท สำหรับยี่สิบสองต้นนี้”

ด้วยค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจะตกหนักอยู่ที่การว่าจ้างและขนส่งไปยังบ้านใหม่ด้วยรถเทรลเลอร์ รวมถึงการขุดล้อมที่ต้องอาศัยเครื่องจักร ที่แต่ละต้นต้องใช้เวลา ทำให้ค่าใช้จ่ายนับว่าสูงสำหรับงานนี้ เสียงที่ส่งผ่านมาบางส่วนจึงมองว่าแทนที่จะนำเงินจำนวนนี้ไปใช้กับการขุดล้อมและขนย้าย การปลูกใหม่ยังไงก็ง่ายกว่า

“การปลูกใหม่มันดีอยู่แล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่เราเห็นความสำคัญคือการเก็บต้นไม้ที่มีอยู่เอาไว้ เพราะถ้าเราไม่เก็บต้นเดิม เราก็ต้องปลูกใหม่ไปเรื่อยๆ อย่างตอนหลังมีคนชี้เป้าบอกมีต้นโพตรงหลักสี่ มาเอาไปด้วยมั้ย เราก็ขอไว้ก่อนเพราะหน้างานที่เราทำอยู่ก็มีต้นโพเยอะ แล้วต้นโพจะหาที่อยู่ในเมืองยากเพราะใช้พื้นที่เยอะ รากมันไปไกลและทำลายสิ่งก่อสร้างได้ แต่เราก็คอยถามเขาอยู่เรื่อยๆ จนวันหนึ่งเขาก็บอกว่าตัดแล้วครับ ต้นละสามหมื่น เราก็เห็นว่าตัดทิ้งมันก็ใช้เงินเหมือนกันนะ ปลูกใหม่ก็ต้องใช้เงิน จะวิธีไหนก็ต้องใช้เงินทั้งนั้น เราไม่ได้คิดว่าสิ่งที่เราทำเป็นวิธีที่ดีที่สุด มันเป็นแค่วิธีหนึ่งที่เราทำได้ในเวลาที่เรามีและปัจจัยที่เราทำได้ และเราต้องมุ่งความสนใจไปยังสิ่งที่เราทำให้เต็มที่ก่อน” 

 

หน้างานและการลงขัน-ลงแขก

มะเหมี่ยวเล่าว่า วันแรกที่เปิดบัญชีรับบริจาค และมีตัวเลขเงินโอนเข้ามา 100 บาทแรก ทำเอาเธอน้ำตาปริ่ม “ดีใจมาก เขาไม่ถามอะไรสักคำ โอนเงินแล้วส่งสลิปมาให้ อีกสองวัน เปาก็เข้ามาล้อมต้นไม้เลย”

การเปิดรับบริจารรอบแรกเป็นการระดมทุนสำหรับต้นไม้ 5 ต้นที่กำลังจ่อคิวถูกตัด ที่อยู่ใหม่ของต้นไม้ชุดแรกคือศูนย์เรียนรู้เจ้ากวางน้อย จังหวัดราชบุรี ศูนย์เรียนรู้ที่ทำให้คนเข้าใจต้นไม้มากขึ้น ตั้งแต่เรื่องเมล็ดพันธุ์ การเพาะปลูก ไปจนถึงการดูแลและล้อมออก A Green Dot สามารถระดมทุนได้กว่า 3.3 แสนบาท และหยุดรับบริจาคไปก่อน เพราะต้นไม้ที่เหลือในวันนั้นยังไม่มีที่อยู่ เงินส่วนที่เหลือสำรองไว้สำหรับการล้อมต้นอื่นๆ ที่คราวนี้ การหาบ้านให้ต้นไม้ต้องเปลี่ยนแผน เพราะการจะหาพื้นที่อย่างสวนสาธารณะ วัด หรือหน่วยงานที่พร้อมจะรับ ก็ยังเป็นเรื่องยาก

ที่ศูนย์การเรียนรู้เจ้ากวางน้อย (ขอบคุณภาพจาก A Green Dot)

“ก็มีคนเสนอความคิดเห็นเข้ามาในเพจว่า เขาขอต้นไม้ไปปลูกที่บ้านโดยสนับสนุนค่าดำเนินการให้ เราก็รู้สึกว่าโมเดลนี้เป็นการแก้ปัญหาได้ครบ คือมีทั้งที่และค่าใช้จ่ายในการล้อม เราก็เลยลงพื้นที่กันอีกครั้งเพื่อวัดต้นไม้อย่างละเอียด เพื่อที่จะได้คำนวณค่าดำเนินการอย่างคร่าวๆ ได้” 

การลงพื้นที่เพื่อวัดขนาดต้นไม้ ทำให้พวกเขาได้เกิดไอเดียว่า นอกจากจะล้อมต้นไม้ขนาดใหญ่แล้ว ต้นที่ขนาดลำต้นไม้ใหญ่มาก สูง 3-4 เมตร ก็ตอบโจทย์สำหรับบ้านที่ไม่มีพื้นที่ใหญ่พอ ให้ร่มเงาได้ ขนย้ายค่อนข้างง่าย จากต้นไม้หาบ้าน 22 ต้น จึงเพิ่มขึ้นเป็น 27 ต้น และเปิดให้ทุกคนที่สนใจรับไปดูแล 

ต้นไม่ที่บ้านใหม่ (ขอบคุณภาพจาก A Green Dot)

จุดสีเขียวสี่จุดที่เกิดจากคนสี่คนค่อยๆ ขยายวงกว้างขึ้น มีการติดต่อเข้ามาของกรมป่าไม้เพื่อช่วยงานหน้างานและส่งรุกขกรเข้ามาช่วยลิดกิ่งเพื่อให้ต้นไม้ที่กำลังจะย้ายบ้านได้เติบโตใหม่และมีฟอร์มสวยแข็งแรง ฟังดูเหมือนง่าย แต่ความจริงแล้วนั้น “ปัญหาหน้างานมีเยอะไปหมด ทั้งเรื่องสายไฟ ขุดดินลงไปแล้วมีแต่น้ำ ซึ่งการที่น้ำเยอะจะมีปัญหาว่าเราทำตุ้มรอบต้นไม่ได้ ทำให้ต้นไม้มีความเสี่ยงในการย้ายออกไป และการย้ายต้นไม้ก็ไม่ใช่ว่าจะรอดกันทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์”

ต้นไม้ที่กำลังจะได้บ้านใหม่ส่วนใหญ่ล้วนมีขนาดลำต้นตั้งแต่ 40-50 นิ้ว หรือประมาณ 4-5 คนโอบ ไปจนถึงต้นไทรเส้นผ่าศูนย์กลาง 100 นิ้ว วันไหนที่มีการล้อม วันนั้นจึงเป็นเรื่องใหญ่ของชุมชนไปด้วย “ด้วยความที่เป็นต้นไม้ริมถนน และถนนตรงนั้นก็แคบมาก รถที่ใช้เป็นรถเทรลเลอร์ซึ่งมีขนาดใหญ่ ช่วงหนึ่งของการทำงานเราต้องปิดถนน หันไปอีกที เห็นรถจอดติดอยู่เยอะมาก เราไม่ทันคิดว่าเป็นปัญหา คิดไม่ถึงว่าจะทำให้คนต้องมาลำบาก ตอนนั้นเราทำได้แค่วิ่งไปบอกเขาทีละคันว่าขอเวลาหน่อยนะ เรากำลังล้อมต้นไม้อยู่ ก็โชคดีที่มีเจ้าหน้าที่มาช่วยดูแลตรงนี้ให้ด้วย

ต้นไม้ที่บ้านใหม่ (ขอบคุณภาพจาก A Green Dot)

“เราคุยกับคนที่อาศัยอยู่ตรงนั้น เขาก็ดีใจที่ต้นไม้จะมีที่อยู่ใหม่ บางคนเขาผูกพันกับต้นไม้ในบ้านของเขา เกิดมาก็เจอต้นไม้แล้ว มีบ้านหนึ่งเล่าว่า เขากินมะม่วงแล้วโยนเมล็ดทิ้งไป มันก็โตมาเป็นมะม่วงยายกล่ำ อีกคนมีต้นหูกวางขึ้นอยู่ตรงบ้านเขา พอเขารู้ว่าเราจะล้อม เขาก็คอยถามเราว่าต้นนี้ได้บ้านหรือยัง จะย้ายไปที่ไหน ผมผูกพันกับต้นนี้ บางคนบอกเวลาร้อนๆ เขาก็เอาเสื่อมาปูนอนใต้ต้นไม้ บางคนเอาแป้งไปลูบได้เลขถูกหวยก็มี เราเห็นความสัมพันธ์หลายรูปแบบ ต้นไม้บางต้นมีสัตว์เล็กสัตว์ใหญ่อาศัย ตุ๊กแก นก กิ้งก่า ผึ้งหลวงซึ่งจะทำรังบนต้นไม้สูงๆ การได้เห็นมันอยู่ตรงนี้ก็เป็นตัวชี้วัดว่ามันเป็นระบบนิเวศที่สมบูรณ์ที่หนึ่งเลย”

แม้แต่ช่างซึ่งเป็นทีมรับเหมาหน้างานที่หน้าที่ของเขาคือเคลียร์พื้นที่เตรียมงานก่อสร้าง ก็เป็นฟันเฟืองที่สำคัญที่ทำให้การวางแผนทำงานของ A Green Dot ทำได้ง่ายขึ้น 

 

“เขามาเดินดูกับเราตั้งแต่วันแรก เมื่อขอล้อมเขาก็ช่วยดูแลหน้างานให้ คอยมาถามว่าตรงนี้จะวางท่อแล้วนะ มีคนรับต้นนี้หรือยัง ถ้ายังไม่มีก็ปรับหน้างานและยืดเวลาให้เท่าที่เขาจะทำได้ เพราะหลังจากห้าต้นแรก ที่เหลือยังพอมีเวลาที่ยืดหยุ่นได้ และคนงานก็ได้ประโยชน์จากต้นไม้ด้วยการอาศัยร่มเงาเวลาพักทำงานด้วย”

การจะล้อมต้นไม้แต่ละต้น ต้องอาศัยองค์ความรู้เข้ามาจัดการ ในฐานะที่ดูแลเรื่องการล้อม เปาให้ข้อมูลกับเราว่า ต้นไม้ที่จะล้อมนั้น ปัจจัยที่ต้องดูคือความสมบูรณ์ของต้นไม้ แผลของต้นไม้ที่เกิดได้ทั้งจากธรรมชาติและคนจากการตัดแต่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะเวลาที่ต้นไม้โดนตัดแล้วเกิดโพรง เมื่อฝนตกจะมีการเซาะเข้าไปในโพรงนั้นเรื่อยๆ จนเกิดเป็นโพรงใหญ่และหักเวลาลมพัด 

บางส่วนของต้นไม้ในพื้นที่เดิมก่อนขอล้อมย้าย (ขอบคุณภาพจาก A Green Dot)

วันล้อมย้าย (ขอบคุณภาพจาก A Green Dot)

“เมื่อมาดูหน้างาน ทุกต้นที่เห็น ล้อมได้หมด แต่บางต้นก็ไม่ควรจะล้อมเพราะมันอยู่ในน้ำ เอาออกมาไม่ได้ตุ้มเลย (ตุ้มดินที่หุ้มรากเอาไว้) ตุ้มสำคัญเพราะมันเป็นที่อยู่ของราก เป็นบ้านของต้นไม้ และอยู่แค่ผิวข้างบนเท่านั้น กระทบกระเทือนมากไม่ได้ ถ้าตุ้มแตกหรือเสียหาย โอกาสรอดจะค่อนข้างน้อย ส่วนการลิดกิ่งเราก็ต้องดูด้วยว่าสภาพของต้นไม้เป็นยังไงมาก่อนเพื่อจะได้ไปแตกกิ่งต่อได้ โดยหลักแล้วต้นไม้จะแตกกิ่งเพื่อให้ต้นบาลานซ์ ก็ต้องเก็บกิ่งหลักไว้ ถ้าเข้าใจธรรมชาติของต้นไม้จะไม่ใช่เรื่องยากเลย” 

เกื้อกูล-เกิดใหม่ 

โมเดลที่เปิดให้คนทั่วไปรับอุปการะต้นไม้ ได้รับความสนใจจากคนรักต้นไม้ นอกจากชุดแรกที่ไปอยู่ราชบุรี ยังมีต้นโพที่ย้ายไปอยู่บางแค ต้นหูกวาง 4 ต้นไปอยู่ในโรงงานที่กระทุ่มแบน ต้นมะม่วงที่ย้ายไปลาดพร้าวและรังสิต ฯลฯ ส่วนต้นไทรเส้นผ่านศูนย์กลาง 100 นิ้ว วันนี้ยังคงรอบ้านใหม่ในเวลาที่งวดเข้ามาเต็มที

ลิดกิ่งต้นโพก่อนล้อมย้าย (ขอบคุณภาพจาก A Green Dot)

“เปาบอกเสมอว่าการย้ายไปมันมีสิทธิ์ที่จะตายก็ได้ การที่ได้เห็นต้นที่ล้อมไปแตกใบใหม่ แทงยอดออกมา เราก็ดีใจ เพราะเหมือนเราช่วยผู้ป่วยแล้วเขารอด” เต้เล่าความรู้สึกก่อนให้ความเห็นเพิ่มเติม “ใจเราไม่ได้อยากย้ายเขาไปอยู่ที่อื่นหรอก ถ้าเลือกได้ เราอยากให้เขาได้อยู่ที่เดิม มีสถาปัตยกรรมหรือถนนที่อยู่ด้วยกันได้กับต้นไม้ ถ้าจะต้องสร้างถนนแล้วต้นไม้มันขวางจริงๆ เราก็เขยิบเขาออกมานิดหนึ่งได้ไหม ไม่ต้องล้อมไปที่อื่นหรือตัดทิ้ง เราน่าจะสร้างสถาปัตยกรรมที่ต้นไม้อยู่ร่วมได้ ให้เมืองกับต้นไม้อยู่ด้วยกันได้ ไม่ใช่สร้างสิ่งก่อสร้างแล้วตัดต้นไม้ทิ้งหมด แล้วคนก็ไปอยู่ในอาคารที่มีเครื่องปรับอากาศเย็นๆ ให้เราแทน”

ต้นไม้ที่ย้ายบ้านไป แข็งแรงและผลิใบออกมาได้สำเร็จ (ขอบคุณภาพจาก A Green Dot)

“สำหรับเหมี่ยว การได้มาล้อมต้นไม้ทำให้เรารู้จักต้นไม้มากขึ้น ได้เห็นต้นไม้ที่เป็นบ้านของสัตว์น้อยใหญ่ เห็นต้นโพกินต้นไม้อื่นที่อยู่ใกล้ๆ เห็นต้นไม้ที่โดนตัดพยายามจะสมานแผลตัวเอง พยายามแตกใบเพื่อจะได้มีชีวิตรอด ทำให้ได้เห็นว่า ต้นไม้ก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่ได้แตกต่างไปจากมนุษย์เลย

“เราได้เห็นว่าความเกื้อกูลเป็นสิ่งที่ทำให้เมืองนั้นสวยงาม เราทำภารกิจช่วยต้นไม้ได้ก็จากความช่วยเหลือของหลายๆ คน ทั้งการช่วยแชร์ประกาศจากเรา ไทยพีบีเอสที่มาทำข่าว ช่วยประสานงานจนเราได้ยื่นเอกสารขอล้อมต้นไม้ได้สำเร็จ คนโอนเงินมาร่วมบริจาค ช่วยเสนอสถานที่รับต้นไม้ บางคนเสนอไอเดียช่วยต้นไม้ เจ้าหน้าที่จากกรมป่าไม้ก็ช่วยลิดกิ่งต้นไม้อย่างถูกหลักวิชาการเพื่อการขุดล้อม ช่วยติดต่อหาที่รับต้นไม้ บางคนมาเดินตากแดดดูการล้อมต้นไม้ไปกับเรา พี่ๆ ที่อยู่บ้านย่านนี้เห็นเรามาล้อมต้นไม้กันก็เอาน้ำขวดเย็นๆ ใส่ตะกร้ามอเตอร์ไซค์มาให้ บางคนเอาเก้าอี้มาให้นั่ง เป็นสิ่งที่เรารู้สึกสุขใจทุกครั้งที่ได้นึกถึง

“เราคิดว่ามนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ การดูแลต้นไม้หรือธรรมชาติจึงไม่ใช่หน้าที่ของหน่วยงานหรือใครคนใดคนหนึ่ง เราคิดว่าใครก็สามารถเกื้อกูลธรรมชาติได้คนละนิดคนละหน่อยในแบบของเราเอง การพัฒนาหรือการสร้างสิ่งก่อสร้างเป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นในทุกๆ วัน เราอยากให้เมืองและการพัฒนานั้นอยู่คู่กับการเกื้อกูลธรรมชาติ เพราะถ้าธรรมชาติอยู่ได้อย่างดี มนุษย์ก็จะอยู่ได้อย่างดีเช่นกัน”

เวลาที่งวดเข้ามาทุกขณะ ต้นไม้บางต้นยังไม่มีบ้านใหม่ แต่พวกเขาก็ยังใช้เวลาเฮือกสุดท้ายอย่างไม่หยุดพยายาม หลังจากนี้ A Green Dot จะมีโครงการทำอะไรต่อหรือไม่นั้น ทางทีมกำลังหาไอเดียใหม่ๆ ที่จะช่วยเพิ่มปริมาณพื้นที่สีเขียว

“A Green Dot คือการที่เราเริ่มต้นจากจุดสีเขียวเล็กๆ เมื่อปล่อยจุดหนึ่งออกไปก็ได้เจอเพื่อนที่เป็นจุดสีเขียวเหมือนกันเยอะขึ้น แล้วจากสีเขียวจุดเล็กๆ พอมารวมกันก็กลายเป็นสีเขียวผืนใหญ่ขึ้นมาได้”

 

 

Tags: , , , , ,