วันนี้ (9 กุมภาพันธ์ 2567) เวลา 10.00 น. ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน ยื่นประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมืองจำนวน 15 ราย ท่ามกลางการเปิดลงชื่อเสนอกฎหมาย ‘นิรโทษกรรมประชาชน’
“การยื่นประกันตัวผู้ต้องขังครั้งนี้เป็นความพยายามให้ศาลทบทวนสิทธิของจำเลยในคดีอาญา และด้วยความหวังว่าศาลยุติธรรมจะยังคงยึดมั่นในหลักการขั้นพื้นฐานที่สำคัญของระบบกฎหมายสมัยใหม่ คือหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ และแม้เป็นจำเลยก็ควรได้รับสิทธิในการต่อสู้คดีให้ถึงที่สุด”
คุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และเบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว อาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหิดล เข้ายื่นประกันตัวผู้ต้องขังที่แจ้งความประสงค์ขอใช้สิทธิประกันตัว ทั้งหมด 15 รายที่ถูกคุมขังในระหว่างต่อสู้คดี แบ่งเป็นผู้ต้องขังจากคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112 จำนวน 7 คน ได้แก่ ทีปกร, วีรภาพ, อุดม, กัลยา, แม็กกี้, จิรวัฒน์ และมงคล รวมถึงผู้ต้องขังในคดีอื่นๆ ที่มีมูลเหตุจากการเมืองจำนวน 8 คน ได้แก่ ถิรนัย, ชัยพร, ประวิตร, คเชนทร์, ขจรศักดิ์, ไพฑูรย์, สุขสันต์ และบุ๊ค ธนายุทธ โดยใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ ซึ่งเป็นเงินบริจาคของประชาชนในการวางหลักประกันต่อศาล
ในส่วนของ วุฒิ ประสงค์ ขอยื่นประกันตัวในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 เนื่องจากเป็นวันเดียวกับการฟังคำพิพากษาในคดีของตัวเอง และอานนท์ นำภา แจ้งความประสงค์ว่าจะยื่นประกันตัวเองพร้อมกับยื่นอุทธรณ์ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 เช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นการยื่นอุทธรณ์ในคดีที่สืบเนื่องมาจากการปราศรัยในการชุมนุม 14 ตุลาคม 2563
สำหรับผู้ต้องขังคดีการเมืองรายอื่นๆ ที่ไม่ได้ยื่นขอประกันตัว เนื่องจากต้องการยุติการต่อสู้ทางคดีแล้วรอคดีสิ้นสุด ได้แก่ ชนะดลและสมบัติ ขณะที่วารุณีแจ้งความประสงค์ว่า ขอดูสถานการณ์และยังไม่ขอตัดสินใจยื่นประกันตัวในช่วงเวลานี้
ในส่วนของผู้ต้องขังคดีการเมืองที่เหลือ ได้แก่ เวหา และเก็ท โสภณ ปฏิเสธกระบวนการยุติธรรมจนกว่าผู้ต้องขังรายอื่นจะได้รับการประกันตัวทั้งหมด ด้านบุ้ง เนติพร ไม่ประสงค์ให้ยื่นประกันตัว เพื่อประท้วงความอยุติธรรมของกระบวนการยุติธรรม นอกจากที่ศาลอาญา ศูนย์ทนายฯ และเครือข่ายนิรโทษกรรมยังเข้ายื่นประกันตัวผู้ต้องหาทางการเมือง ที่ศาลอื่นด้วย ได้แก่ ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลจังหวัดเชียงราย และศาลจังหวัดนราธิวาส
ปัจจุบัน มีผู้ต้องขังคดีทางการเมืองอย่างน้อย 37 คน โดยเป็นผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีที่รอสิทธิในการประกันตัวอยู่ถึง 23 คน โดยในจำนวนนี้ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำต่อเนื่องมามากกว่า 100 วันแล้วถึง 20 คน
ในส่วนของผลตอบรับจากพรรคการเมือง ที่ทางเครือข่ายนิรโทษกรรมฯ ยื่นหนังสือเพื่อเชิญให้หัวหน้าพรรค 7 พรรค ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคประชาชาติ และพรรคไทยสร้างไทย ตัวแทนระบุว่า ทิศทางในหลายพรรคการเมือง เห็นตรงกันว่าจะต้องมีการนิรโทษกรรม แต่มีความแตกต่างในรายละเอียดฐานความผิดที่จะอยู่ในข่ายการนิรโทษกรรม โดยเฉพาะเรื่องประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
ทั้งนี้ เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนจัดแคมเปญ ‘KICK OFF ด้วยรักและยุติธรรมสู่นิรโทษกรรมประชาชน’ ซึ่งใช้กระบวนการลงชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 1 หมื่นรายชื่อ ตั้งแต่วันที่ 1-14 กุมภาพันธ์ 2567 เพื่อเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองตลอดเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา เพื่อช่วยลดความตึงเครียดและบรรยากาศการเผชิญหน้าทางการเมืองที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2549 รวมถึงคดีตามมาตรา 112 ที่เป็นคดีการเมืองสำคัญตลอดเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา
Tags: ศาลอาญา, นิรโทษกรรม, นิรโทษกรรมประชาชน