ชื่อของคณาพจน์อาจดูเป็น ‘หน้าใหม่’ ในทางการเมือง แต่อันที่จริง เขาไม่ได้ใหม่มากนัก คณาพจน์เป็นเพื่อนกับ ‘อุ๊งอิ๊งค์’ – แพทองธาร ชินวัตร เรียนจบปริญญาเอกด้านกฎหมายจากอังกฤษ ก่อนกลับมาทำงานสำนักงานกฎหมายแล้วรู้สึกอยากจะชิมลางทางการเมือง
เขาเริ่มรับตำแหน่งทางการเมืองครั้งแรกในฐานะหน้าห้องของ ภูมิธรรม เวชยชัย อดีตเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ก่อนการเลือกตั้ง 2562 ไม่นาน และเมื่อเพื่อไทยเริ่มการแยกตัวเอง แตกตัวออกเป็นพรรคไทยรักษาชาติ คณาพจน์ก็เข้าไปเป็น ‘กรรมการบริหาร’ ในตำแหน่งรองเลขาธิการพรรค เมื่อพรรคเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง ถูกสั่งยุบและกรรมการถูกตัดสิทธิ์ 10 ปี คณาพจน์ยอมรับว่า ‘เคว้ง’ ไปครั้งหนึ่ง
ในวันนี้ เขากลับมาใหม่ด้วยหมวกของผู้อำนวยการโครงการ The Change Maker และทีม ‘คิดเพื่อไทย’ ที่คณาพจน์บอกว่าจะเป็นการดิสรัปต์และรีแบรนด์ครั้งใหญ่ของพรรค เพื่อล้างภาพของความเป็น ‘พรรคภูธร’ และ ‘พรรคทักษิณ’ ไปสู่พรรคที่อายุยืนยาวขึ้น และเป็นพรรคของทุกคนจริงๆ
คณาพจน์บอกว่า ความฝันของเขาคืออยากให้พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่เป็น ‘ส่วนผสม’ ของคนรุ่นใหม่และคนที่มีประสบการณ์จากในอดีตมารวมเข้าด้วยกัน เปลี่ยนจากระบบเดิมที่ค่อนข้างช้า และขยับเขยื้อนไม่ทันกับโลกสมัยใหม่
“ก่อนที่จะไปทำงานกับพรรคไทยรักษาชาติ ผมอยู่ที่เพื่อไทยมาประมาณครึ่งปี ในเวลานั้น เมื่อผมคิดจะทำงานอะไรก็ตาม ผ่านไปครึ่งปียังไม่ได้ออกเป็นชิ้นงานเลย ซึ่งต้องยอมรับว่าพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่ใหญ่ที่สุด มี ส.ส. เยอะ มีโครงสร้างซับซ้อน มีหลายวง กว่าจะผ่านแต่ละเรื่องใช้เวลานาน แล้วการมีส่วนร่วมก็อาจจะไม่ได้มากเหมือนทุกวันนี้”
ขณะเดียวกัน ผู้ใหญ่ในพรรคก็อาจยังไม่เห็นความสำคัญของคนรุ่นใหม่ คิดว่าชนชั้นกลางและชนชั้นรากหญ้าในต่างจังหวัดก็อาจเพียงพอแล้ว เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้าง ‘แพลตฟอร์ม’ ให้คนรุ่นใหม่ ผู้ที่มีความรู้ความสามารถเข้าหาพรรคได้มากขึ้น
“ผมเลยนำแนวคิดตรงนี้ไปคุยกับผู้ใหญ่ ประกอบกับผู้ใหญ่ในพรรคก็มีไอเดียที่จะดิสรัปต์พรรคตัวเองเหมือนกัน ก็เลยรวมตัวกันดึงคนรุ่นใหม่เข้ามา ส่วนแรกของการรีแบรนด์ก็คือเอาคนรุ่นใหม่เข้ามาในพรรคมากขึ้น โดยการเป็นกรรมการบริหาร และสิ่งที่เห็นภาพใหม่ของพรรคเพื่อไทยก็คือการเปิดกว้างสำหรับคนรุ่นใหม่”
เมื่อถามว่ามีอะไรต้องดิสรัปต์บ้าง คณาพจน์บอกว่า อันดับแรกคนในพรรคต้องกล้ายอมรับความผิดพลาด ต้องกล้าเปิดรับแนวคิดใหม่ๆ มากกว่าจะยึดติดกับความสำเร็จเดิม ทั้งนี้พรรคเพื่อไทยอาจเคยสำเร็จกับ ‘30 บาทรักษาทุกโรค’ หรืออาจทำให้เห็นว่า ‘กองทุนหมู่บ้าน’ ใช้งานได้จริง แต่นั่นคือคะแนนในมือที่อยู่ในอดีต ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องปรับให้เข้ากับความต้องการของคนรุ่นใหม่
“นอกจากนี้ นโยบายเดิมก็ต้องมีการปรับแก้ ให้เยาวชนพูดว่ามีอะไรต้องเปลี่ยน ต้องต่อยอดบ้าง เช่น โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคที่ทุกวันนี้ยังเห็นคนต่อคิวตั้งแต่ตีสามตีสี่อยู่ ซึ่งถ้าในมุมมองคนรุ่นใหม่เราสามารถเอาเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดคิว หรือในการรวบรวมข้อมูลและความต้องการคนไข้ได้” ผู้อำนวยการโครงการคิดเพื่อไทยให้สัมภาษณ์
แล้วพรรคเพื่อไทยจะทำอย่างไรให้ ส.ส. เดิม ที่ครองพื้นที่มา 10-20 ปี? คณาพจน์บอกว่าอาจต้องใช้เวลาทั้งหมดผนึกกำลังกับ ส.ส. ที่มีอยู่ ดึงคนกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่เข้ามาทำงาน
“เอาเข้าจริง ยังมีคนหลายกลุ่มที่อยากทำงานการเมือง และสนใจเรื่องการเมือง เราต้องการผนึกกำลังคนเหล่านี้เข้าด้วยกัน ยกตัวอย่างเช่น ต้องมีเด็กศิลป์กับเด็กเนิร์ดผสมกันเพื่อตอบสนองความต้องการทั้งคนท้องถิ่นและคนในเมือง เพราะสื่อทุกวันนี้เห็นแต่คนที่อยู่ในเมืองออกมาบนท้องถนน แต่กลิ่นอายทางการเมืองของภูมิภาคและความเป็นภูธรอาจจะขาดหายไป ซึ่งผมไม่อยากมองข้ามไป ก็เลยคิดว่า ถึงแม้เราจะมี ส.ส. ในภูมิภาคที่ครองพื้นที่มานาน แต่ถ้าเฟ้นหาคนรุ่นใหม่ทั้งภูมิภาคและส่วนกลางโดยไม่ได้จะแทนที่ใคร แต่เป็นการผนึกกำลังเพื่อที่จะดูว่า ส.ส. ที่มีประสบการณ์กับคนรุ่นใหม่จะเข้ากันยังไง”
ดั้งนั้นภาพของพรรคเพื่อไทยก็คือ ใครก็สามารถเป็น ส.ส. ได้ ใครก็สามารถทำงานการเมืองได้หากมีแนวคิดที่ดี และ ส.ส. ของพรรคเพื่อไทยจะต้องเป็นใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมาจากเส้นสาย หรือมาจากลูกหลานพรรคการเมืองเท่านั้น เพื่อ ‘ยืดอายุ’ ให้พรรคยืนยาวขึ้นต่อไป
ทั้งหมดนี้เป็นที่มาของโครงการ The Change Maker เพื่อทำการเฟ้นหาคนรุ่นใหม่ เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจ 100 คน ร่วมเข้า ‘แคมป์’ เพื่อเป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง ผ่านการเสนอนโยบายโดยมี ‘คนรุ่นเดิม’ ของพรรคไทยรักไทยอย่าง ‘หมอเลี้ยบ’ – นายแพทย์ สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นหัวหน้า ‘โค้ช’ และมีกลุ่มคน อาทิ กิตติรัตน์ ณ ระนอง, ดวงฤทธิ์ บุนนาค, คำ ผกา, ธีรัตถ์ รัตนเสวี, พจน์ สุพรหมจักร และ นายแพทย์ ทศพร เสรีรักษ์ เป็นทีมโค้ช
คณาพจน์บอกว่า การเมืองไทยขณะนี้มีแต่การพูดถึงปัญหา แต่ไม่มีใครเอามาผลักเป็นนโยบายได้ จุดที่พรรคเพื่อไทยต้องการสะท้อนก็คือความเป็น ‘มืออาชีพ’ ในการสร้างนโยบาย และทำนโยบายเชิงโครงสร้างให้เกิดขึ้นจริง
“เราเปิดกว้างหมดในทุกนโยบายที่อยากเห็น การศึกษา เสรีภาพทางเพศ การเมือง ความเหลื่อมล้ำ เทคโนโลยี เราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรก็ให้เสนอกันเข้ามา ซึ่งผมคิดว่ามีประโยชน์ ถ้าอีก 1-2 ปี มีการเลือกตั้งแล้วเห็นว่านโยบายของเด็กที่เข้ามาร่วมใช้ได้จริง พอมันมาจากความคิดเขาก็จะเกิดความภูมิใจว่า นโยบายพวกนี้มาจากประชาชนจริงๆ ประชาชนเป็นศูนย์กลาง ร่วมคิด ร่วมสร้างนโยบายโดยแท้” ผู้อำนวยการโครงการ The Change Maker ระบุ
เมื่อเราถามตรงๆ ว่าแนวคิดที่มีคือการแข่งกับอดีตพรรคอนาคตใหม่หรือพรรคก้าวไกลหรือไม่ เขาตอบว่า ไม่อยากให้มอง ‘ดราม่า’ ขนาดนั้น เพราะในสนามการเมืองและสนามเลือกตั้ง ทุกคนคือผู้แข่งขันกันทั้งนั้น
“แต่ในอีกด้านหนึ่งที่เป็นนอกสนาม ทุกคนคือทีมประชาธิปไตย ซึ่งผมก็อยากให้ทีมประชาธิปไตยชนะในการเลือกตั้งนี้ ถึงแม้ทุกพรรคจะมีวิธีและแนวทางแตกต่างกันไป แต่ทุกคนอยากได้ประชาธิปไตยที่มั่นคง อยากให้ทุกคนมองว่านักการเมืองและพรรคการเมืองเป็นจุดแข็งของคุณ ถ้าพรรคเพื่อไทย แข็งแกร่งด้านนโยบายก็ใช้ประโยชน์จากพรรคทำนโยบายให้เกิดขึ้นเท่านั้นเอง อย่ามองว่าใครเป็นทีมใคร แต่เราต้องรวมกันเป็นหนึ่งเดียวคือทีมประชาธิปไตย เพื่อเอาชนะเผด็จการให้ได้” นอกจากนี้ เขายังบอกเพิ่มเติมว่า สิ่งที่เห็นจากการลงพื้นที่คือ คนรุ่นใหม่จำนวนมากมีพลัง มีไฟที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง และสิ่งที่เห็นได้ตลอดคือ มี ‘แฟนคลับ’ ของพรรคจำนวนมากระหว่างลงพื้นที่ ซึ่งมีความคิดอยากจะเปลี่ยนแปลงพรรคมานานแล้ว แต่ไม่มีช่องทางในการสื่อสารกับพรรค
“ผมยอมรับว่าพรรคก้าวไกลทำได้ดีกว่าในการสื่อสารกับวัยรุ่นและคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่พรรคต้องมาปรับใช้ให้เกิดบทสนทนาใหม่ๆ เกิดความเชื่อมโยงระหว่างพรรคกับคนรุ่นใหม่ เพื่อให้เห็นว่าพรรคนี้เปิดกว้างสำหรับคนทุกคน”
นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่พรรคเพื่อไทยจะได้ นอกจาก ‘ฐานเสียง’ คนรุ่นใหม่แล้ว ยังจะได้แนวคิดและนโยบายใหม่ๆ ซึ่งในสนามการเมืองนั้น มีความสำคัญไม่แพ้กับคะแนนเสียง
“ทีมนโยบายที่ทำอยู่ถึงทุกวันนี้มันอาจจะถึงทางตันก็ได้ ไม่รู้จะไปไหนต่อ แต่ถ้าเราเปิดกว้างจะได้ไอเดียใหม่ ประเทศชาติก็จะได้ความคิดใหม่ๆ ในที่สุด”
คณาพจน์ยอมรับว่า เป้าหมายสำคัญของพรรคเพื่อไทยคือต้องสร้าง ‘สถาบันการเมือง’ ที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางให้ได้ เพราะฉะนั้น โครงการต่อจาก The Changemaker ของเพื่อไทยคือการ ‘สร้างทักษะใหม่’ ในการเอาคนทุกรุ่นมาผนึกกำลังกับพรรคการเมือง เปิดคอร์สเรียนเรื่องนโยบาย เรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ จากผู้มีประสบการณ์ในอดีต ให้สามารถเรียนได้ฟรี ได้รับความรู้ และได้ประสบการณ์
ทั้งหมดนี้สอดคล้องกับช่วงเวลาที่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ‘บุก’ เข้ามาใน ‘คลับเฮาส์ ภายใต้ชื่อ ‘โทนี วูดซัม’ พอดี ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นช่วงเวลาที่สอดคล้องกับการ ‘รีแบรนด์’ ของพรรคเพื่อไทยครั้งนี้พอดี
คณาพจน์บอกว่าการเข้ามาในคลับเฮาส์ของทักษิณเป็นเรื่องที่ ‘อดีตนายกฯ’ ต้องการเสนอแนวคิดในด้านเศรษฐกิจ โดยใช้ประสบการณ์ในฐานะนายกฯ ที่เคยประสบความสำเร็จในด้านนโยบายเศรษฐกิจมากเพื่อช่วยเหลือสังคม ซึ่งไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการรีแบรนด์พรรค
แล้วในระบบและรัฐธรรมนูญแบบนี้ที่เต็มไปด้วยความ ‘สิ้นหวัง’ จะเปลี่ยนอะไรได้หรือไม่ คณาพจน์บอกว่า เสียงสำคัญที่สุดในระบบการเมืองไทยไม่ใช่เสียงในสภา แต่คือเสียงของประชาชนจริง
“รัฐธรรมนูญเราอาจจะล็อกไว้ทุกอย่าง เสียงในสภาอาจจะไม่พอ แต่เสียงของประชาชนสำคัญกว่า ที่เห็นได้ชัดคือเสียงของเยาวชนคนรุ่นใหม่ แม้ไม่ได้อยู่ในสภาแต่คนในสังคมก็ได้ยินกันหมด ผมคิดว่าสังคมไทยในแบบที่ผมเห็นมีความหวังเสมอแม้เขาจะไม่ได้อยู่ในสภา เพราะฉะนั้นต้องกล้าที่จะหวัง ต้องกล้าที่จะเอาไอเดียออกมา เพื่อเอาแนวคิดไปปรับใช้ให้เกิดขึ้นได้จริง”
Fact Box
- หลังจากโครงการ The Changemaker ปิดรับสมัครในวันที่ 7 มีนาคม 100 คนแรกจะได้ ‘เข้าค่าย’ 4 สัปดาห์ ระหว่างวันที่ 13 มีนาคม ถึง 4 เมษายน โดยในสัปดาห์สุดท้ายจะนำความคิดที่ได้จาก 3 สัปดาห์แรกไปลงพื้นที่จริงในจังหวัดเชียงใหม่ อุบลราชธานี และอุดรธานี โดยมี ส.ส. ของพรรคเพื่อไทยทำหน้าที่เป็น ‘ไกด์’
- หลังจากได้นโยบายและปรับปรุงทั้งหมดแล้ว จะมีการทำ ‘แฮกกาธอน’ 48 ชั่วโมง ปรับ 20 นโยบายให้เป็นรูปเป็นร่างมากที่สุด เติมเต็มให้เป็นนโยบายที่ดีที่สุด และจะคัดเลือกเหลือ 5 นโยบายหลักโดยมีทุนสนับสนุน ซึ่งในอนาคตอาจเป็นนโยบายที่พรรคเพื่อไทยใช้ในหาเสียงต่อไป