“ทำไมต้องให้ความสำคัญกับความสุขของไก่ ในเมื่อสุดท้าย ไก่ก็ต้องกลายมาเป็นอาหารของคนอยู่ดี”

คำถามนี้เป็นคำถามที่ เกี้ยว-เหมือนดาว คงวรรณรัตน์ เจออยู่เสมอ ตั้งแต่เธอเข้ามารับหน้าที่ Campaign Manager ให้กับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกหรือ World Animal Protection เพราะงานหลักของเธอก็คือการรับผิดชอบแคมเปญ Change for Chickens ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตไก่ในฟาร์มที่จะนำไปสู่ความสุขของไก่ในนั้น

เมื่อความสุขของไก่เริ่มต้นตั้งแต่ที่ฟาร์ม แต่ในขณะเดียวกัน ผู้บริโภคเองก็สามารถมีส่วนสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ โครงการ Change for Chickens จึงต้องทำหน้าที่สื่อสารทั้งกับฟากผู้ผลิตและผู้บริโภคไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้เกิดการจัดการตามข้อเสนอแนะ ซึ่งถ้าลงรายละเอียดแล้วจะพบว่า ข้อเสนอแนะจากองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรแห่งนี้ไม่ได้เป็นไปแค่ ‘เพื่อไก่’ แต่การมองไกลถึงผลระยะยาวที่มีต่อทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ทำให้ข้อเรียกร้องเหล่านี้ในอีกแง่หนึ่งก็คือข้อเรียกร้อง ‘เพื่อคน’ ด้วยเช่นกัน

และนั่นอาจเป็นการตอบคำถามสั้นๆ ว่า ทำไมเราควรสนใจความสุขของไก่มากกว่ามองไก่แค่เป็นอาหารบนจาน

ทำไมแคมเปญนี้ถึงเลือกเจาะจงที่ไก่ แทนที่จะเป็นสัตว์ประเภทอื่น

ไก่ถือเป็นเนื้อสัตว์ที่คนนิยมบริโภคกันอย่างกว้างขวางและมีแนวโน้มในการบริโภคที่สูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะว่าเป็นโปรตีนที่มีราคาถูก รสชาติถูกปาก แถมใช้เวลาในการเลี้ยงสั้นและได้ผลผลิตเร็ว ทำให้อุตสาหกรรมไก่เนื้อเติบโตขึ้นอย่างมากในหลายปีที่ผ่านมา ในแต่ละปีทั่วโลกมีไก่กว่าหกหมื่นล้านตัวถูกเลี้ยงเพื่อการบริโภค และ 40 ล้านตัวในนี้ถูกเลี้ยงในระบบอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ (intensive farming) โดยจากการศึกษาเราพบว่าบ่อยครั้ง ฟาร์มเหล่านี้มุ่งเน้นไปที่การลดต้นทุนการผลิตมากกว่าที่จะมาใส่ใจชีวิตความเป็นอยู่ของไก่และไม่ได้มีการจัดการเรื่องสวัสดิภาพสัตว์อย่างเหมาะสม ไก่จำนวนมากจึงมีชีวิตอันแสนสั้นและทุกข์ทรมานนอกจากนี้แล้วประเทศไทยเองก็เป็นประเทศที่มีผู้ผลิตรายใหญ่ที่ส่งออกไก่ไปต่างประเทศอยู่ที่นี่ ทางองค์กรเลยมองว่า ถ้าเราสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในไทยได้ ก็น่าจะส่งแรงกระเพื่อมในเชิงการยกระดับมาตรฐานการเลี้ยงไก่ในอุตสาหกรรมเนื้อไก่ได้ด้วย

นอกจากเรื่องนี้แล้ว ยังมีเหตุผลส่วนตัวอีกนิดที่ทำให้สนใจเรื่องไก่เป็นพิเศษ เพราะคุณพ่อเคยทำงานเกี่ยวกับฟาร์มไก่และอุตสาหกรรมนี้มาก่อน ตลอดชีวิตการทำงานของเขาเลย เราก็เลยรู้สึกว่าตามจริงแล้วชีวิตเราก็มีความวนเวียนเกี่ยวพันกับไก่มาตลอด แต่เราก็ไม่เคยรู้เอะใจคิดเลยว่าไก่ที่เรากินมาจากไหน พอได้มารับรู้ข้อมูลมากขึ้น เลยอยากสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับการเลี้ยงสัตว์ชนิดนี้

ภาพรวมของแคมเปญ Change for Chickens เป็นอย่างไร

แคมเปญนี้เรารณรงค์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ไก่ในฟาร์ม เพราะปัจจุบันไก่ที่เรากินนั้นมาจากการเลี้ยงในฟาร์มแบบอุตสาหกรรมเป็นส่วนใหญ่ นั่นหมายถึงมีไก่จำนวนมากที่ทรมานจากการเลี้ยงในระบบอุตสาหกรรม เพราะฉะนั้นเราจึงรณรงค์ให้ผู้บริโภคได้รู้ว่า สวัสดิภาพไก่ในฟาร์มเป็นอย่างไร สามารถส่งผลกระทบกับสุขภาพของผู้บริโภคอย่างเราๆ ได้อย่างไรบ้าง พร้อมทั้งนำเสนอความเชื่อมโยงระหว่างระบบการผลิตอาหารในปัจจุบันและผลกระทบที่เกิดต่อ คน สัตว์และสิ่งแวดล้อมเราในฐานะผู้บริโภคมีสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลว่าอาหารในจานของเรามีที่มาอย่างไร และเราทุกคนนี่แหละคือกระบอกเสียงและพลังสำคัญในการเรียกร้อง ผลักดันให้ผู้ผลิตและธุรกิจอาหาร เสิร์ฟอาหารที่ปลอดภัย ได้มาตรฐาน ดีต่อคนและใส่ใจสวัสดิภาพสัตว์ด้วย

สวัสดิภาพของไก่ในฟาร์มควรจะต้องเป็นไร  4 ข้อ ของแคมเปญนี้มีอะไรบ้าง

ในฟาร์มไก่อุตสาหกรรม สิ่งที่เราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงมีด้วย 4 ข้อ เรื่องแรกเป็นเรื่องความหนาแน่นของพื้นที่เลี้ยง ที่ต้องไม่แออัด ซึ่งถ้าวัดไม่ควรเกิน 30 กิโลกรัมต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร ตัวเลขนี้อิงจากงานวิจัยที่มีการวิเคราะห์ออกมาแล้วว่าจะส่งผลดีโดยรวมต่อสุขภาพของไก่ทั้งกายและใจ

อีกด้านหนึ่งที่สำคัญมากๆ คือเรื่องของการคัดเลือกสายพันธุ์ สายพันธุ์ที่เลี้ยงกันในฟาร์มอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เป็นการคัดสายพันธุ์ที่เร่งโต ไก่โตเร็ว และมีเนื้อหน้าอกเยอะ เพราะเขาต้องการผลิตเนื้อไก่ให้ได้ปริมาณมากในเวลาที่สั้นที่สุด ไก่ปัจจุบันจะมีอายุที่ประมาณ 6 สัปดาห์หรือ 42 วันโดยประมาณ พอโตถึงกำหนดก็จะถูกส่งเข้าโรงฆ่าไก่ การใช้สายพันธุ์แบบนี้จะมีผลให้ไก่มีปัญหาสุขภาพ อย่างเช่นกระดูกขารับน้ำหนักไม่ไหว ซึ่งมีผลกระทบต่อการเคลื่อนไหว ทำให้ไก่เคลื่อนไหวไม่สะดวกและเกิดความเครียดได้ เพราะธรรมชาติของไก่จริงๆ คือเขาต้องได้เดินคุ้ยเขี่ย ได้กระพือปีก แต่พอเป็นแบบนี้ก็มีความเสี่ยงที่เขาจะไม่ได้แสดงพฤติกรรมแบบนี้เลย

ด้านที่สามคือเรื่องแสง ทั้งแสงธรรมชาติและแสงเวลาพักผ่อน เพราะฟาร์มอุตสาหกรรมส่วนมากเป็นโรงเรือนแบบระบบปิด บางฟาร์มไม่มีหน้าต่างที่เห็นแสงธรรมชาติเลย แล้วใช้เป็นหลอดไฟแทน บางฟาร์มยังใช้วิธีเปิดไฟเป็นช่วงๆ เพื่อให้ไก่ตื่นมากินอาหารบ่อยขึ้น น้ำหนักจะได้ขึ้นเร็ว ซึ่งการที่ไก่ไม่ได้รับแสงธรรมชาติจะกระทบกับสวัสดิภาพของเขา ไก่จะหงอยเหงาเนื่องจากไม่มีแสงกระตุ้นให้เขาลุกเดินหรือทำกิจกรรมตามต่างๆ ส่วนช่วงที่ไก่พักผ่อน ไก่ควรจะได้อยู่ในความมืดอย่างน้อย 6 ชั่วโมงต่อเนื่อง เพื่อให้เขาได้พักผ่อนอย่างเต็มที่

เรื่องสุดท้ายเป็นเรื่องของการจัดหาวัสดุมาช่วยให้ไก่ได้แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ อย่างเช่นมีฟางให้ไก่ได้จิกกัด หรือมีคอนให้เขาได้บินไปเกาะในฟาร์ม ซึ่งเรารณรงค์ให้ฟาร์มจัดหาวัสดุพวกนี้ด้วย

ทั้งหมดนี้เป็นข้อเสนอของเราที่บอกว่าฟาร์มสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตให้ไก่ได้อย่างไรบ้าง

ในการยื่นข้อเสนอเหล่านี้ เราต้องไปคุยกับแต่ละฟาร์มเพื่ออธิบายให้เขาเข้าใจและรับข้อเสนอเหล่านี้ไหม

เราทำงานร่วมกับบริษัทผู้ผลิตอาหาร ในการช่วยพัฒนาแนวทางการดูแลสวัสดิภาพสัตว์ เพราะบริษัทเหล่านี้มีความสัมพันธ์โดยตรงกับฟาร์มเลี้ยงอยู่แล้ว นอกจากนี้เรายังทำงานอีกส่วนร่วมไปด้วย นั่นคือเราอยากจะเล่าเรื่องฟาร์มที่มีสวัสดิภาพสูง อย่างเช่นฟาร์มในเครือข่ายออร์แกนิก ที่เป็นการเลี้ยงโดยคำนึงถึงสวัสดิภาพของไก่เป็นสำคัญ

เรามองว่าการเล่าเรื่องและชูประเด็นเรื่องพวกนี้จะช่วยทำให้ผู้บริโภคมีข้อมูลว่า มันมีทางเลือกอื่นๆ ด้วยนะ ที่มีการเลี้ยงไก่แบบสวัสดิภาพสูง ไม่ใช่ว่ามีแต่ไก่ที่มาจากฟาร์มแย่ๆ อย่างเดียว ถ้าผู้บริโภครู้ที่มาของอาหารหรือสามารถเชื่อมต่อกับผู้ผลิตเองได้ก็จะยิ่งดี เพราะเขาจะสามารถเลือกอาหารที่มีคุณภาพได้เองด้วย

อีกทั้งเรายังพยายามสร้างการรับรู้ให้ผู้บริโภครู้ว่า สวัสดิภาพไก่ที่ดีควรจะต้องเป็นแบบไหน แล้วคุณมีส่วนช่วยผลักดันตรงนี้ได้อย่างไรบ้าง เพราะเรารณรงค์ กับสาธารณชนให้มาร่วมลงรายชื่อ petition ด้วยกันกับเรา เป็นการส่งเสียงของผู้บริโภคถึงผู้ผลิตว่าต้องการอาหารที่มีคุณภาพ เพราะฉะนั้นผู้ผลิตก็ควรจะมีความรับผิดชอบตรงนี้ในการยกระดับมาตรฐานของชีวิตไก่ด้วย เพราะเป้าหมายหลักของเราคือการทำงานร่วมกับผู้ผลิตหรือฟาสต์ฟู้ดรายใหญ่อย่าง KFC เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานการเลี้ยง

อย่าง KFC ในยุโรป เขาได้ประกาศ commitment หรือความมุ่งมั่นที่จะยกระดับการเลี้ยงไก่ให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้นแล้ว เ ซึ่งตอนที่รู้ข่าวเราก็ดีใจด้วย แต่ที่ยังดีใจไม่สุดเพราะว่ามันยังไม่กระจายไปถึงภูมิภาคอื่น จริงๆ ถือเป็นก้าวแรกที่น่ายินดีมาก แต่มันยังมีเรื่องที่เจ้าใหญ่อย่างเขายังทำได้อีกเยอะ

คำถามหนึ่งที่เชื่อว่าคนทำงานรณรงค์เพื่อความสุขของไก่น่าจะเจอบ่อยก็คือ ดูอย่างไรว่าไก่มีความสุข

เมื่อพูดถึงเรื่องสวัสดิภาพสัตว์ เราจะยึดหลักอิสรภาพด้วยกัน 5 ประการ ได้แก่ อิสระจากความหิวกระหาย นั่นคือมีอาหารเพียงพอ ในปริมาณที่เหมาะสม อิสระจากความไม่สบายกาย หรือมีที่อยู่อาศัยเหมาะสมกับที่เขาต้องการ อิสระจากความป่วยทางร่างกายหรือโรค ก็คือมีการดูแลรักษาถ้าเจ็บป่วย อิสระจากความกลัว และสุดท้ายที่คสำคัญมากแต่ไม่ค่อยเจอในฟาร์มก็คือ อิสระในการแสดงพฤติกรรมทางธรรมชาติตามที่เล่าให้ฟังไป เกณฑ์ที่ใช้วัดว่ามีสวัสดิภาพดีหรือไม่ น้องไก่แฮปปี้หรือเปล่า ก็จะดูจากเกณฑ์เหล่านี้ ส่วนการวัดผลของเรา เราก็จะดูตามเกณฑ์ข้อเสนอแนะสี่ด้านข้างต้น ว่าเป็นไปตามรายละเอียดนั้นไหม ซึ่งหากเข้าเกณฑ์ตามที่กล่าวไว้ ฟาร์มไก่เหล่านี้ก็จะถือเป็นฟาร์มไก่ที่มีคุณภาพและใส่ใจสวัสดิภาพสัตว์

อีกคำถามหนึ่งที่คุณน่าจะเจอเช่นกันก็คือ ในเมื่อไก่จะต้องตายเพื่อมาเป็นอาหารอยู่แล้ว ทำไมจะต้องมีความสุขด้วย เวลาเจอคนพูดแบบนี้ คุณตอบอย่างไร

ปกติก็จะตอบว่า ใช่ มันอายุสั้นก็จริง แต่ไก่เป็นสัตว์ที่ฉลาดนะ เป็นสัตว์ที่มีความรู้สึกนึกคิด เป็นสัตว์สังคม รู้สึกเจ็บปวดหรือกลัวได้เหมือนคน เพราะฉะนั้นในฐานะที่เราเป็นผู้บริโภค โดยเฉพาะในยุคที่เราสนใจเรื่องที่มาของอาหารกันมากขึ้น เราก็ควรจะตระหนักสักนิดว่า อาหารแต่ละจานของเรามีความทุกข์ทรมานหรือมีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง ซึ่งถ้าให้เกี้ยวมอง เกี้ยวมองว่ามันเป็นเรื่องของจริยธรรม และเป็นความรับผิดชอบของเราเหมือนกัน เราจำเป็นไหมที่จะต้องไปสร้างความทุกข์ทรมานให้กับสิ่งที่สละชีวิตมาเป็นอาหารให้เรา

อีกคำตอบหนึ่งเป็นเรื่องสุขภาพของเราด้วย อย่างที่กล่าวตั้งแต่เบื้องต้นว่าอุตสาหกรรมการผลิตเนื้อสัตว์ตอนนี้เป็นเหมือนกับการทำอุตสาหกรรมการเกษตรขนาดใหญ่ในลักษณะเร่งผลิตให้ได้มากที่สุดและควบคุมต้นทุนให้ถูกที่สุด เพราะฉะนั้นสัตว์จะอยู่รวมกันค่อนข้างแออัดในสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นธรรมชาติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้สัตว์เกิดความเครียดได้ง่าย เมื่อไก่เครียด ภูมิคุ้มกันโรคจะลดลง และถ้าอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ก็จะเป็นบ่อเกิดของการแพร่เชื้อโรคได้ค่อนข้างง่าย ทำให้บางครั้งในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์จะมีการใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งไม่ได้ใช้เพื่อรักษาโรค แต่ใช้เพื่อป้องกันโรคระบาด หรือพูดอีกทางหนึ่งว่า เป็นการใช้ยาเพื่อให้สัตว์สามารถอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ค่อยดีได้จนกว่าจะถึงตอนส่งไปโรงฆ่าสัตว์ เพราะถ้าปล่อยให้สัตว์ไม่สบายจนตายยกคอก จะกลายเป็นความสูญเสียทางการเงิน ซึ่งกรณีแบบนี้เรียกว่าการใช้ยาปฏิชีวนะเกินขนาด

การใช้ยาปฏิชีวนะแบบนี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับคนก็คือ สามารถเกิดเชื้อดื้อยาได้ หรืออาจจะมียาปฏิชีวนะปนเปื้อนเข้ามาในอาหารของเราได้ ถ้ามันเกิดสองสิ่งนี้ ไม่ว่าจะเชื้อดื้อยาหรือยาปฏิชีวนะ แบคทีเรียในร่างกายเราก็อาจจะเกิดดื้อยาไปด้วย เวลาเราไม่สบาย ประสิทธิภาพของยาที่เราใช้ในการรักษาโรคก็จะลดลง องค์การอนามัยโลกเองก็ออกมาประกาศว่า วิกฤตเชื้อดื้อยาเป็นวิกฤตสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพคนในปัจจุบัน สิ่งนี้แหละคือผลกระทบของการมีสวัสดิภาพสัตว์ที่ย่ำแย่

เพราะฉะนั้นเรื่องความสุขของไก่จึงไม่ใช่แค่เรื่องของไก่หรือเรื่องที่เราควรทำเพราะทำแล้วรู้สึกดี แต่จริงๆ แล้วมันคือสิทธิของเราในฐานะผู้บริโภคด้วยที่จะได้กินไก่ที่ไม่ปนเปื้อน เพราะความสุขของไก่ก็คือเรื่องความปลอดภัยของอาหารนั่นเอง

ในยุคที่ฟาสต์ฟู้ดกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการบริโภคของคนยุคนี้ และในขณะที่ไก่มักจะเป็นหนึ่งในเมนูยืนพื้นของฟาสต์ฟู้ดเหล่านั้น การให้ความสำคัญกับความสุขของไก่อาจเป็นเรื่องใกล้ตัวคนยุคนี้มากกว่าที่คิด และหากมองว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความปลอดภัยทางอาหารของผู้บริโภคด้วยแล้ว ความสุขของไก่ก็คงไม่ใช่แค่เรื่องในฟาร์มอีกต่อไป

Fact Box

Change for Chickens เป็นแคมเปญที่รณรงค์ให้ไก่ได้รับสวัสดิภาพที่ดีในการเลี้ยงดู โดยไก่ควรมีความเป็นอยู่ที่ปลอดภัย ได้รับน้ำและอาหารในปริมาณที่เหมาะสม ได้รับการดูแลรักษายามเจ็บป่วย และสามารถแสดงออกทางพฤติกรรมตามธรรมชาติได้

            แม้ว่าผู้บริโภคจะไม่ใช่ต้นทางในอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่ แต่ผู้บริโภคที่ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้สามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้ โดยร่วมลงชื่อได้ที่ https://www.worldanimalprotection.or.th/change-for-chickens

ขอบคุณสถานที่ : ศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมือง บ้านเจ้าชายผัก

Tags: , ,