วันนี้ (17 พฤศจิกายน 2566) ที่อาคารอนาคตใหม่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เปิดบรรยายสาธารณะในหัวข้อ ‘ประเทศไทยควรได้อะไร หากต้องใช้ 5 แสนล้าน’ โดยธนาธรให้สัมภาษณ์ตอนหนึ่งถึงประเด็นการกู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ตว่า ไม่มีความจำเป็นในการกู้ เนื่องจากประเทศไทยตอนนี้ไม่ได้อยู่ในสภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจ สังเกตได้จาก ตัวเลข GDP ซึ่งถ้าหากประเทศเกิดวิกฤต ตัวเลข GDP จะถดถอย ทว่าปัญหาของประเทศไทยวันนี้ คือ GDP ยังคงสูงขึ้น เพียงแต่สูงไม่เท่ากับประเทศอื่นๆ สะท้อนว่าประเทศไทยยังขาดศักยภาพในการแข่งขัน และทำให้ตัวเลข GDP เติบโตช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน

ด้วยเหตุนี้ จึงได้เสนอแนวทางการใช้งบประมาณของประเทศอย่างคุ้มค่า ผ่านการเปิดบรรยายสาธารณะครั้งนี้ เพื่อแสดงวิสัยทัศน์และเสนอแนวทางการใช้งบประมาณ ในการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ และแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตของประชาชนไปพร้อมกัน

ธนาธรเสนอแนวทางการพัฒนา ด้วยการกระจายเงินไปลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้ง 5 ด้าน รวมเป็นเงิน 4.56 แสนล้านบาท ได้แก่

1. ด้านการสาธารณสุข 6.09 หมื่นล้านบาท สร้างระบบแพทย์ทางไกล (เทเลเมดิซีน) ทั่วประเทศ

2. ด้านการคมนาคม 8.8 หมื่นล้านบาท รถเมล์ไฟฟ้าทุกจังหวัด จากโรงงานผลิตรถเมล์ไฟฟ้าภายในประเทศ

3. น้ำประปาดื่มได้ 6.7 หมื่นล้านบาท น้ำประปาดื่มได้ทั่วประเทศ

4. การจัดการขยะ 1.2 แสนล้านบาท ผ่านการสร้างโรงขยะ และจัดการขยะอย่างถูกสุขลักษณะทั่วประเทศ

5. การศึกษา 1.21 แสนล้านบาท ลงทุนเพิ่มศักยภาพโรงเรียน

สำหรับการลงทุนงบประมาณกับโครงสร้างพื้นฐานทั้ง 5 ด้านนี้ ธนาธรยืนยันว่า สามารถเกิดได้จริง โดยการลงพื้นที่นำร่องของคณะก้าวหน้า ไม่ว่าจะเป็นการสร้างระบบแพทย์ทางไกลในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองแคน จังหวัดมุกดาหาร หรือโครงการน้ำประปาดื่มได้ของเทศบาลตำบลอาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด ก็ทำให้เห็นมาแล้ว

สำหรับการพัฒนาทั้ง 5 ด้านที่กล่าวมา รัฐบาลสามารถเลือกได้ว่า จะทำเองหรือให้เอกชนเข้ามาทำ โดยหากรัฐดึงเอกชนมาร่วมลงทุนได้ ก็จะลดค่าใช้จ่ายของรัฐลงไป แต่การดึงเอกชนเข้ามาทำงานจะต้องเป็นไปบนพื้นฐานของการจัดการงบประมาณอย่างสมเหตุสมผลและมีคุณภาพ ต้องไม่เป็นช่องทางให้เอกชนเข้ามาแสวงหาผลกำไรบนภาษีของประชาชน

ประธานคณะก้าวหน้ายังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า การใช้งบประมาณเกือบ 5 แสนล้านบาท ในการพัฒนา 5 ด้านนี้ ไม่ใช้เงินกู้ แต่สามารถใช้เงินงบประมาณแผ่นดินปกติ โดยการทยอยทำ คาดว่าใช้เวลา 8 ปี ก็จะตกปีละราว 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลสามารถหารายได้ผ่านงบรายจ่ายประจำ ไม่จำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มเติม และการดำเนินการในแต่ละโครงการไม่สามารถทำให้เสร็จภายในปีงบประมาณเดียวได้ ดังนั้น การกู้เงินมาในจำนวนมากจึงไม่จำเป็น อีกทั้งการอัดเม็ดเงินเพื่อกระตุ้นการบริโภคไม่สามารถดันเศรษฐกิจให้โตขึ้นได้อย่างยั่งยืน แต่จำเป็นต้องสร้างศักยภาพการแข่งขันของประเทศอย่างเป็นระบบ เพื่อที่จะสามารถพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืน

Tags: , ,