วันนี้ (9 ตุลาคม 2566) เวลา 14.30 น. ที่กระทรวงการคลัง จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง แถลงข่าวความคืบหน้าเกี่ยวกับเงินดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 1 หลังจากนักวิชาการ 99 คน ร่วมลงชื่อคัดค้านการแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท โดยกังวลว่าจะเป็นการสร้างหนี้สาธารณะ จนกระทบถึงปัญหาการเงินและเศรษฐกิจในอนาคต

จุลพันธ์กล่าวว่า ขณะนี้ สภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยยังไม่เติบโตเต็มศักยภาพ ซึ่งหวังว่านโยบายนี้จะกลับมาช่วยผลักดันการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ และแน่นอนว่า รัฐจะได้เงินคืนในรูปแบบของภาษี ซึ่งถือเป็นการวางรากฐานที่ดีเกี่ยวกับ ‘เศรษฐกิจดิจิทัล’ และจะมุ่งสู่ ‘E-Goverment’ ที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งทั้งหมดจะสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้ถึง 5% ในไม่เกิน 3-4 ปีข้างหน้า

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังกล่าวต่อถึงสาเหตุที่ต้องมีโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ตว่า เพราะประเทศไทยมีปัญหาสะสมในเรื่องเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นรายได้ภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมที่ลดลง หนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้น หนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น ซึ่งโดยส่วนตัวในฐานะ ส.ส.ที่ได้พบประชาชนในพื้นที่ พบว่านโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ตเป็นความหวัง ซึ่งสะท้อนผ่านการเลือกตั้ง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเดินหน้าต่อให้สำเร็จ

จุลพันธ์ยืนยันว่า เงินดิจิทัลวอลเล็ตไม่ได้เป็น ‘เงินคริปโตฯ’ โดยขอปฏิเสธว่า ไม่มีการพิมพ์เงินขึ้นมาใหม่ และจะใช้ผ่านระบบดิจิทัลเพียงเท่านั้น และทั้งหมดถูกกำหนดเงื่อนไขในการใช้ เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนเงินในระบบมากที่สุด โดยเป็นกลไกที่ออกมาเพื่อกระตุ้นการจ้างงาน การผลิต และการบริโภคเท่านั้น ไม่ใช่เงินที่นำไปสู่การออมหรือการใช้หนี้

สำหรับเรื่อง ‘กรอบระยะทาง’ ที่เคยประกาศว่าใช้ในรัศมี 4 กิโลเมตร ตอนนี้มีแนวโน้มสูงที่จะขยับเพิ่ม ซึ่งอยู่ในขั้นตอนที่อนุกรรมการจะเสนอไปที่คณะกรรมการชุดใหญ่ โดยจะมีการแถลงข่าวข้อสรุปภายในสิ้นเดือนตุลาคม 2566 นี้

และประเด็นที่สำคัญมากอย่าง ‘ที่มา’ ของเงินดิจิทัลวอลเล็ต จุลพันธ์กล่าวว่า ยังต้องใช้เวลาในการพิจารณา อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า รัฐบาลชุดนี้ยึดมั่นในวินัยทางการเงินและการคลัง ทั้งยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ในอดีตพรรคไทยรักไทยเป็นพรรคที่ชำระหนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ก่อนกำหนด ดังนั้น จึงอยากให้มั่นใจและเชื่อใจในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ

“รัฐบาลยืนยันว่า เราจะใช้ประสบการณ์ที่เรามี จะใช้ความยึดมั่นในกรอบการบริหารงบประมาณให้เกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพที่สุด แน่นอนว่าจากข้อห่วงใยเรื่องเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ แต่หากเรายึดกับกรอบนี้ที่มีการเติบโตเฉลี่ยเพียงแค่ 2% ในช่วงที่ผ่านมา พี่น้องประชาชนก็ไม่สามารถหลุดจากกับดักความลำบากได้เสียที

“ฉะนั้น จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลเช่นเดียวกัน ที่ต้องสร้างให้สังคมเศรษฐกิจมีอัตราการเติบโตที่เหมาะสม ภายใต้พื้นฐานของความมีเสถียรภาพ เราต้องหาจุดสมดุล เพราะฉะนั้น นโยบายที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศเช่นนี้ จึงยังมีความจำเป็นต้องเดินหน้า”

จุลพันธ์กล่าวทิ้งท้ายว่า จะนัดหมายการประชุมคณะอนุกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตในวันที่ 12 และ 19 ตุลาคม โดยจะมีการถกในประเด็นเรื่องความจำเป็น ประโยชน์ และวัตถุประสงค์ของโครงการ และในวันที่ 24 ตุลาคม คาดว่าจะมีการนำเสนอต่อคณะกรรมการชุดใหญ่เพื่อลงมติ

 

Tags: , , ,