เมื่อคืนนี้ (17 ตุลาคม 2023) เกิดเหตุกราดยิงที่กรุงบรัสเซลส์ (Brussell) ประเทศเบลเยียม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 2 คน และผู้บาดเจ็บอีก 1 คน เบื้องต้นมีสมาชิกกลุ่มรัฐอิสลามและลิแวนต์ (Islamic State of Iraq and the Levant: ISIL) อ้างตัวเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ครั้งนี้

สถานการณ์เลวร้ายเกิดขึ้นก่อนการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป (European Football Championship) รอบคัดเลือกปี 2024 ระหว่างทีมชาติเบลเยียมกับสวีเดน เมื่อผู้ก่อเหตุสวมหมวกกันน็อกสีขาว แต่งกายในชุดเสื้อกั๊กเรืองแสงสีส้ม ค่อยๆ จอดรถสกูตเตอร์ และเข้ากราดยิงผู้คนที่สัญจรไปมาด้วยอาวุธปืนไรเฟิล ก่อนจะหลบหนีหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย

รัฐบาลเบลเยียมจึงยกระดับสถานการณ์ฉุกเฉินขั้นสูงสุด การแข่งขันฟุตบอลยูโรถูกระงับ ขณะที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยทยอยนำเหล่าแฟนบอลนับ 3.5 หมื่นคน ในคิงโบดวงสเตเดียม (King Baudouin Stadium) สนามเหย้าของทีมชาติเบลเยียม ออกจากพื้นที่ แม้ช่วงแรกจะมีมาตรการให้ทุกคนอยู่ในสนามเป็นเวลา 3 ชั่วโมง เพื่อความปลอดภัย เพราะห่างไกลจากจุดเกิดเหตุเพียง 5 กิโลเมตรเท่านั้น

ภาพ: AFP

ตามรายงานของสื่อต่างประเทศหลายสำนัก เหตุการณ์ครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตเป็นชาวสวีเดน 2 ราย คาดว่าเป็นแฟนบอลที่เดินทางมาชมการแข่งขันครั้งนี้ ขณะที่ผู้บาดเจ็บชาวเบลเยียมเป็นคนขับแท็กซี ซึ่งไม่มีอาการร้ายแรงกระทบต่อชีวิตแต่อย่างใด

ปัจจุบัน ตำรวจกำลังตามตัวผู้กระทำความผิด หลังชายสัญชาติตุรกีวัย 45 ปีประกาศตัวในโลกโซเชียลฯ ว่า เขาเป็นผู้ก่อเหตุในนามของนักรบแห่งพระเจ้า และเป็นสมาชิกของกลุ่มก่อการร้าย ISIL 

อย่างไรก็ตาม อัยการชาวเบลเยียมเปิดเผยว่า ยังไม่มีหลักฐานถึงความเชื่อมโยงระหว่างผู้ต้องหากับความขัดแย้งอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่กำลังดำเนินในขณะนี้ พร้อมยังขอให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้านจนกว่าเหตุการณ์จะหาข้อยุติได้

เบื้องต้นมีข้อสันนิษฐานว่า การก่อเหตุครั้งนี้อาจจงใจคุกคามชาวสวีเดนโดยตรง สืบเนื่องจากเหตุการณ์ ‘การเผาคัมภีร์อัลกุรอาน’ หลายครั้งหลายครา ของบรรดากลุ่มฝ่ายขวาสุดโต่ง ซึ่งสร้างความโกรธแค้นให้กับชาวมุสลิม โดยเฉพาะชาวตุรกี เมื่อ เรเจป ไตยิป แอร์โดอัน (Recepp Tayyip Erdogan) ประธานาธิบดีตุรกี มักออกโรงประณามเหตุการณ์ดังกล่าวอยู่บ่อยครั้ง ตามมาด้วยการประท้วงครั้งใหญ่ที่สถานทูตสวีเดนในกรุงอังการา (Ankara) ช่วงก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ อเล็กซานเดอร์ เดอ โกร (Alexander de Croo) นายกรัฐมนตรีเบลเยียม ออกมาแสดงความเสียใจต่อเหยื่อในแอปพลิเคชัน X และนายกรัฐมนตรีสวีเดนโดยตรงว่า

“ผมขอแสดงความเสียใจต่อนายกรัฐมนตรีสวีเดน ที่เกิดเหตุกราดยิงพลเมืองชาวสวีเดนในบรัสเซลส์ รวมถึงครอบครัวและเหล่าสหายที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก 

“ในฐานะพันธมิตรที่ใกล้ชิด (กับสวีเดน) การสู้กับเหตุก่อการร้าย พวกเราต้องรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน” ข้อความของนายกรัฐมนตรีเบลเยียมใน X

ขณะที่สำนักพระราชวังของเบลเยียมรู้สึกตกตะลึงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และเขียนข้อความแสดงความเสียใจในโซเชียลมีเดียว่า

“เราสนับสนุนมาตรการรักษาความปลอดภัย ซึ่งกำลังดำเนินอย่างสุดความสามารถเพื่อจับกุมผู้กระทำความผิด”

จาก ‘สวีเดน-เบลเยียม’ ถึง ‘ยุโรปตะวันตก’: เหตุก่อการร้ายที่กำลังเพิ่มขึ้น และแรงปะทะระหว่างกลุ่มยิวกับอิสลาม

“สู้ด้วยกัน เราถึงจะยืนหยัดต่อต้านการก่อการร้ายได้” เออร์ซูลา ฟอน แดร์ เลเยิน (Ursula von der Leyen) ประธานคณะกรรมาธิการแห่งยุโรป (European Commission: EC) แสดงความคิดเห็นหลังเกิดเหตุก่อการร้ายในกรุงบรัสเซลส์ ซึ่งสะท้อนสถานการณ์ในยุโรป

ปัจจุบัน ชาติยุโรปกำลังเผชิญวิกฤตก่อการร้ายครั้งใหญ่ในรอบหลายปี ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส (Hamas) ที่ทำให้จุดประกายกลุ่มหัวรุนแรงหลายฝ่ายทั่วภูมิภาค

ดังเหตุในฝรั่งเศส ปรากฏคนร้ายใช้อาวุธแทงบุคลากรในโรงเรียนแห่งหนึ่งย่านอาร์รัส (Arras) ทางตอนเหนือของฝรั่งเศส และตะโกนคำว่า ‘อัลลอฮุอักบัร’ (Allahu Akbar) ส่งผลให้รัฐบาลฝรั่งเศสประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และใช้มาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างรัดกุมกว่าเดิม

นอกจากนี้ ยังมีเหตุการณ์ต่อต้านกลุ่มยิว (Antisemitism) ในสหราชอาณาจักร บีบีซี (BBC) เผยว่า มีชาวยิวคนหนึ่งเดินไปที่โบสถ์แห่งหนึ่งย่านลอนดอน และเจอคนแปลกหน้าด่าทอด้วยถ้อยคำเหยียดย่ำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มากมาย ไม่ว่าจะเป็น “อียิวสกปรก” หรือ “ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมพวกมึงถึงถูกข่มขืน”

ขณะเดียวกัน สถานการณ์ข้างต้นก็ยิ่งปลุกเร้ากระแสเกลียดชังอิสลาม (Islamophobia) และกลุ่มชนชาติปาเลสติเนียนเรื่อยๆ แม้ว่ากลุ่มฮามาสไม่ใช่หนึ่งเดียวกับชาวปาเลสติเนียนก็ตาม 

สะท้อนจากฝรั่งเศสประกาศมาตรการห้ามการประท้วงที่เกี่ยวข้องกับปาเลสไตน์ทุกประเภท โดย เฌอราลด์ ดาร์มาแน็ง (Gerald Darmanin) รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ออกคำสั่งให้ตำรวจปกป้องคนยิวชาวฝรั่งเศสเป็นพิเศษในทุกหนแห่ง และอ้างว่า การประท้วงของชาวปาเลสติเนียนก่อให้เกิดความวุ่นวาย

ทั้งหมดนี้อาจกล่าวได้ว่า เหตุการณ์ในเบลเยียมเป็นเพียงภาพสะท้อนสิ่งที่ชาติยุโรปต้องเผชิญ ท่ามกลางวิกฤตรุนแรงในตะวันออกกลางที่สั่นสะเทือนไปทั่วโลก

อ้างอิง

https://www.theguardian.com/world/2023/oct/16/people-killed-brussels-shooting-police-say

https://www.aljazeera.com/news/2023/10/17/two-swedes-killed-in-brussels-in-possible-terrorist-shooting

https://edition.cnn.com/2023/06/28/europe/sweden-quran-protest-intl/index.html

https://www.reuters.com/world/europe/two-swedes-shot-dead-brussels-police-2023-10-16/

https://www.mirror.co.uk/sport/football/news/breaking-belgium-sweden-brussels-attack-31204566

https://edition.cnn.com/2023/10/12/europe/france-ban-pro-palestinian-intl/index.html

https://www.bbc.com/news/uk-67085625

https://www.bbc.co.uk/news/world-europe-67107391

Tags: , , , , , , , , , , , , , , , , ,