วันนี้ (13 ธันวาคม 2566) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (Thailand Development Research Institute: TDRI) จัดงานแถลงข่าว ‘ผลสอบ PISA สัญญาณเตือนวิกฤตการการศึกษา แก้ปัญหาให้ถูกจุด’ จากกรณีการประเมินสมรรถนะผู้เรียนตามมาตรฐานสากล (PISA) ปี 2022 ของเด็กไทยอายุ 15 ปี ที่มีคะแนนต่ำสุดทุกทักษะในรอบ 20 ปี ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์และชวนให้ประชาชนตั้งคำถามถึงระบบการศึกษาไทยจากผลการสอบในครั้งนี้ 

พงศ์ทัศ วนิชานันท์ นักวิจัยอาวุโสด้านการปฏิรูปการศึกษาทีดีอาร์ไอ ชี้ให้เห็นถึงข้อมูลสำคัญและสัญญาณต่อการศึกษาไทย โดยความสามารถของเด็กไทยลดลงและห่างไกลจากโลกมากขึ้นทุกที ทั้งนี้ แม้โควิด-19 ส่งผลกระทบทั่วโลก แต่นั่นไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้คะแนนของไทยลดลง รวมถึงระบบการศึกษาของไทยอ่อนแอ หลักสูตรไม่ทันสมัย และใช้ทรัพยากรไม่มีประสิทธิภาพ ต้องแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนและถูกจุด

“ไทยเป็นประเทศที่ใช้งบประมาณกับการศึกษาเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เมื่อเทียบกับประเทศที่มีรายได้เท่าๆ กัน ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่มาก แต่กลับไม่มีประสิทธิผล เนื่องจากการใช้ทรัพยากรอย่างไม่มีประสิทธิภาพ”

นอกจากนี้ พงศ์ทัศยังกล่าวถึงความเหลื่อมล้ำระหว่างเด็กเก่งกับเด็กอ่อน ซึ่งช่องว่างของคะแนนไม่ลดลงตลอด 10 ปี และยังมีปัจจัยในส่วนของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ที่ผลวิจัยชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างกันมากของคะแนน

นอกจากนี้ ระบบการเรียนการสอนของไทยและหลักสูตรยังไม่เอื้อต่อการพัฒนา เพราะมุ่งเน้นไปในเรื่องของความรู้และความจำ มากกว่าส่วนของการสร้างสมรรถนะและการนำความรู้มาใช้งานได้จริง ทำให้เมื่อเด็กต้องเผชิญการทำข้อสอบที่ต้องใช้ความรู้หลากหลายองค์ประกอบในการแก้ไข เด็กกลับไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ด้วยเหตุนี้ ทีดีอาร์ไอจึงเสนอ 3 ระยะ ในการปรับปรุงระบบการศึกษา โดยแบ่งเป็นการปรับปรุงระยะสั้นภายใน 1 ปี ลดภาระงานอื่นๆ ของครูเพื่อให้ครูสอนได้อย่างเต็มที่

ระยะกลาง ปรับหลักสูตรแกนกลาง ให้อิงสมรรถนะ ส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ และออกแบบระบบอื่นๆ ให้สอดคล้องต่อหลักสูตร

ระยะยาว บริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ โดยมีนโยบายที่ชัดเจน ‘บริหารควบรวมและพัฒนาเป็นเครือข่าย’ รวมถึงยกระดับการมีส่วนร่วมของชุมชน

ขณะที่ สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ ระบุว่า การปรับหลักสูตรเป็นสิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรก แล้วกระบวนการอื่นๆ จะเกิดขึ้นตามมา หากไม่มีการปรับหลักสูตร การแก้ไขปัญหาในส่วนอื่นๆ เป็นไปได้ยากและเกิดผลไม่ยั่งยืน

ทั้งนี้ ไทยใช้หลักสูตรการศึกษามานานกว่า 16 ปี ขณะที่ประเทศที่มีผลคะแนนสอบสูงอย่างสิงคโปร์มีการปรับเปลี่ยนหลักสูตรทุก 6 ปี และพัฒนาหลักสูตรเน้นสมรรถนะแห่งศตวรรษที่ 21 พร้อมทั้งมีแผนผลิตและพัฒนาครูที่เชื่อมโยงกับความต้องการ คล้ายกันกับประเทศฟินแลนด์ที่ระบบการศึกษาเน้นไปที่การพัฒนาหลักสูตรให้เน้นสร้างสมรรถนะผู้เรียน 

สำหรับโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (Programme for International Student Assessment: PISA) ริเริ่มโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) เพื่อประเมินนักเรียนอายุ 15 ปี ในประเทศที่เข้าร่วม 

ปัจจุบัน มีประเทศจากทั่วโลกเข้าร่วมการสอบ 81 ประเทศ รวมกว่า 7 แสนคน และไทยเป็น 1 ในผู้เข้าร่วมตั้งแต่ปี 2000 สำหรับข้อสอบจะวัดความฉลาดรู้ คือ มีความรู้แล้ว คิดวิเคราะห์ ปรับใช้กับโลกที่เปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ ใน 3 ด้าน คือ ความฉลาดรู้ด้านการอ่าน ความฉลาดรู้ด้านคณิตศาสตร์ และความฉลาดรู้ด้านวิทยาศาสตร์

อย่างไรก็ตาม TDRI เสนอว่าการแก้ไขปัญหาแบบ One Shot เช่น การติวเข้มเพื่อไปสอบ การอบรมครูแบบเฉพาะกิจเป็นครั้งคราว ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง เพราะไม่ได้ทำให้ตัวระบบหรือหลักสูตร ซึ่งเป็นแกนกลางสำคัญถูกพัฒนาและแก้ไขอย่างแท้จริง

Tags: