ผู้บัญชาการทหารบกของซูดานเตรียมคืนสถานะนายกรัฐมนตรีแก่ อับดัลลา ฮัมด็อก (Abdalla Hamdok) อดีตนายกรัฐมนตรีพลเรือนอีกครั้งหนึ่งภายในเดือนนี้ หลังจากอดีตนายกฯ พลเรือน ถูกบีบออกจากตำแหน่งและถูกกักตัวอยู่ในบริเวณบ้าน จากการยึดอำนาจของกองทัพเมื่อเกือบหนึ่งเดือนก่อน

ทั้งนี้ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (22 พฤศจิกายน 2021) ฮัมด็อกปรากฏตัวทางโทรทัศน์ของรัฐ ในพิธีลงนามในข้อตกลงแบ่งอำนาจฉบับใหม่กับ พลเอก อับเดล ฟัตตาห์ อัล-บูร์ฮาน (Abdel Fattah al-Burhan) ผู้นำรัฐประหาร ที่ทำเนียบประธานาธิบดี ท่ามกลางการประท้วงอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มพันธมิตรพลเรือนที่เคยเสนอชื่อฮัมด็อกเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อสองปีก่อน ปฏิเสธที่จะยอมรับข้อตกลงฉบับใหม่ดังกล่าว เพราะต้องการให้กองทัพถอนตัวจากการเมืองอย่างสิ้นเชิง มากกว่าจะแบ่งอำนาจในลักษณะนี้

“อนาคตของประเทศจะต้องถูกกำหนดโดยคนหนุ่มสาวทั่วไป” ซิดดิค อาบู-เฟาวาซ (Siddiq Abu-Fawwaz) จากกลุ่มพันธมิตร Forces for Freedom and Change (FFC) กล่าวกับรายการ Newshour ของสำนักข่าวบีบีซี 

หลังการรัฐประหารยึดอำนาจของกองทัพ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2021 ที่ผ่านมา ได้มีการประกาศภาวะฉุกเฉิน และยุบตำแหน่งผู้นำพลเรือน ทั้งยังทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 40 คนจากการประท้วงต่อต้านการรัฐประหาร 

ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว ฮัมด็อก ซึ่งกลับมารับตำแหน่งอีกครั้ง จะเป็นผู้นำคณะรัฐมนตรีจนกว่าจะมีการเลือกตั้ง แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่ารัฐบาลพลเรือนใหม่จะมีอำนาจมากเพียงใด เนื่องจากยังต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของกองทัพ

ฮัมด็อกให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอัลจาซีราว่า ข้อตกลงดังกล่าวให้อิสระแก่เขาในการจัดตั้งรัฐบาลและจัดการเลือกตั้งก่อนเดือนกรกฎาคมปีหน้า (2023) นอกจากนี้ ยังอนุญาตให้ปล่อยตัวนักโทษการเมือง ซึ่งถูกจำคุกหลังการรัฐประหาร

นอกจากนี้ ฮัมด็อกยังกล่าวว่า เขาลงนามข้อตกลงเพราะต้องการยุติความรุนแรง “เลือดของชาวซูดานเป็นสิ่งล้ำค่า เราต้องการหยุดการนองเลือด และผลักดันพลังของเยาวชนไปสู่การสร้างสรรค์และพัฒนา” 

กองทัพซูดานต้องตกอยู่ภายใต้แรงกดดันจากนานาชาติและภายในประเทศอย่างหนักหน่วง ในการฟื้นฟูการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยของประเทศ โดยก่อนหน้านี้ ธนาคารโลกได้ระงับการช่วยเหลือซูดาน และสหภาพแอฟริกา (AU) ก็ระงับการเป็นสมาชิกของซูดานเช่นเดียวกัน

ทางด้านมหาอำนาจตะวันตก รวมทั้งสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรป ได้ออกแถลงการณ์แสดงความยินดีในการรับคืนสถานะนายกรัฐมนตรีของฮัมด็อก และเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมืองเพิ่ม

อย่างไรก็ดี ยังคงมีคำถามต่อการเจรจาคืนอำนาจในครั้งนี้ โดยนักวิเคราะห์ตั้งข้อสังเกตว่า กองทัพมีความจริงใจมากขนาดไหนในข้อตกลงที่เกิดขึ้น และระบุว่า ความไม่มั่นคงอย่างต่อเนื่องของซูดาน อาจส่งผลกระทบต่อภูมิภาคในคาบสมุทรแอฟริกาตะวันออกทั้งหมด

Tags: , ,