วันนี้ (1 มีนาคม 2567) ที่ทำเนียบรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศวิสัยทัศน์การนำประเทศไทยไปสู่การเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค (Aviation Hub) ซึ่งเป็นหนึ่งในวิสัยทัศน์ ‘IGNITE THAILAND’ ที่เคยประกาศไว้เมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2567 โดยมี 5 โรดแมปที่รัฐบาลจะเร่งดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาท่าอากาศยานหลักของประเทศและระดับภูมิภาค, พัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง และพัฒนาบุคคลากรและสวัสดิการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของการบินโลก
เศรษฐากล่าวว่า ต้องยอมรับความเป็นจริงว่า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีปัญหา จากที่เมื่อก่อนได้รับการจัดอันดับให้เป็นท่าอากาศยานดีที่สุดเป็นอันดับที่ 13 ของโลก ปัจจุบันหล่นมาอยู่ในอันดับที่ 68 เป็นผลจากความแออัดของสนามบินที่มีผู้โดยสารเข้ามาใช้งานกว่า 60 ล้านคน แต่ศักยภาพการรองรับมีเพียง 45 ล้านคน นอกจากนั้นแล้วเที่ยวบินก็ไม่เพียงพอตามความต้องการของนักท่องเที่ยว เรื่องนี้ถือเป็นปัญหาใหญ่บั่นทอนศักยภาพของประเทศ หากไม่ปรับปรุงอันดับก็จะร่วงไปอีก
สำหรับแผนพัฒนาการไปสู่เป้าหมายศูนย์กลางการบิน นายกฯ ประกาศไว้ทั้งหมด 5 โรดแมป ได้แก่
1. พัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
เศรษฐากล่าวว่า จะเร่งแก้ไขปัญหาคอขวดที่ทำให้ผู้โดยสารใช้เวลาในท่าอากาศยานนาน ไม่ว่าจะเป็นลดเวลาผู้โดยสารผ่านด่านตรวจสอบต่างๆ เพิ่มการให้บริการเช็กอินด้วยตนเอง (Self Check-In) และโหลดกระเป๋าอัตโนมัติ รวมไปถึงเพิ่มบริษัทที่ให้บริการภาคพื้น (Ground Handling Services) โดยใช้กลไกราคามาแข่งขันระหว่างเอกชน เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด และมั่นใจว่าภายใน 6 เดือนหลังจากนี้จะไม่เห็นผู้โดยสารใช้เวลาต่อแถวเช็กอินเป็นเวลานาน
“ผมมั่นใจจะทำให้ก้าวแรกของผู้โดยสารประทับใจ” เศรษฐากล่าว
ขณะที่การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับจำนวนผู้โดยสารให้เพิ่มมากขึ้น นายกฯ ระบุว่า จะดำเนินการขยายอาคารผู้โดยสารหลังเดิมทางทิศตะวันออกและตะวันตก (East-West Wings) เพื่อเพิ่มศักยภาพการรองรับผู้โดยสารมากขึ้น 30 ล้านคน และในอนาคตจะสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ทางทิศใต้ (ฝั่งติดถนนบางนา-ตราด) เพื่อรองรับผู้โดยสารได้มากขึ้นอีก 30 ล้านคน
สำหรับรันเวย์ที่ 3 คาดว่าจะเปิดให้บริการภายในเดือนตุลาคม 2567 จะทำให้รองรับเที่ยวบินได้มากถึง 90 เที่ยวบินต่อชั่วโมง หากพัฒนาครบทุกด้านแล้วคาดว่า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้มากถึง 150 ล้านคน และเชื่อว่าธุรกิจภาคบริการ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร โรงแรม และศูนย์การค้าจะได้รับประโยชน์และเติบโตได้
ทั้งนี้ เศรษฐายังตั้งเป้าหมายว่าภายใน 1 ปีนี้ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะต้องติด 1 ใน 50 ท่าอากาศยานที่ดีที่สุดของโลก และต่อเนื่องเป็น Top 20 ภายใน 5 ปี จากปัจจุบันที่อยู่ในลำดับที่ 68 ของโลก
2. พัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง
เศรษฐาประกาศว่า จะทำให้ท่าอากาศยานดอนเมืองเป็นสนามบินแบบ Point-To-Point ที่มีจุดเด่นเดินทางเข้าและออกได้อย่างรวดเร็ว จะขยายขีดความสามารถการรองรับให้มากขึ้นจาก 30 ล้านคนเป็น 50 ล้านคน
โดยจะเปลี่ยนอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 และ 2 ให้เป็นอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ (Domestic Terminal) รองรับได้ 27 ล้านคน และจะดำเนินการสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ให้เป็นอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ (International Terminal) รองรับได้ 23 ล้านคน
นอกจากนั้นแล้ว ท่าอากาศยานดอนเมืองจะถูกพัฒนาให้กลายเป็นศูนย์กลางของการซื้อขายสินค้า OTOP ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศอีกด้วย
3. พัฒนาสนามบินภูเก็ต-เชียงใหม่
เศรษฐากล่าวว่า ตั้งแต่ก่อนที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาล พูดมาเสมอว่าต้องพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต แต่ศักยภาพการท่องเที่ยวของภาคใต้ไม่ได้มีแค่จังหวัดภูเก็ตอย่างเดียว ยังมีจังหวัดที่มีศักยภาพอย่าง พังงาและกระบี่
ดังนั้นจะต้องแผนสร้างท่าอากาศยานอันดามันหรือ ‘สนามบินภูเก็ต 2’ ที่จังหวัดพังงา เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวให้มากขึ้น และพัฒนาให้สนามบินภูเก็ตเดิมเป็นสนามบินน้ำรองรับเครื่องบินทะเล (Seaplane) เชื่อมโยงการท่องเที่ยวไปยังเกาะสมุย เกาะช้าง และหัวหิน รวมถึงขยายสะพานสารสินให้เรือยอร์ชแล่นรอดได้ ไม่จำเป็นต้องไปอ้อมแหลมพรหมเทพ และประหยัดเวลาได้อีกหลายชั่วโมง
ขณะที่ภาคเหนือก็จะดำเนินการสร้างท่าอากาศยานล้านนาหรือ ‘สนามบินเชียงใหม่ 2’ และปรับปรุงสนามบินเชียงใหม่เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการรองรับผู้โดยสารให้มากขึ้นเป็น 16.5 ล้านคนภายในปี 2572
4. พัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบิน
นายกฯ วางวิสัยทัศน์ให้ประเทศไทยเป็นครัวของโลก (Kitchen of the World) ที่มุ่งใช้ประโยชน์จากความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางอาหาร ให้ทุกสายการบินมาเลือกสั่งอาหารกับประเทศไทยและเปิดเวทีให้เชฟไทยฉายแววบนเวทีโลก
นอกจากนั้น อุตสาหกรรมบำรุงรักษาเครื่องบิน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องบินพาณิชย์หรือเครื่องบินส่วนตัว เศรษฐากล่าวว่า จะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการซ่อมบำรุง ไม่ต้องไปซ่อมบำรุงที่สิงคโปร์อีกต่อไป พร้อมทั้งสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างสายการบินให้มากขึ้น
ขณะเดียวกันรัฐบาลจะร่วมพัฒนาให้การบินไทยกลับมาเป็นสายการบินระดับโลก (World Class) อีกครั้ง ผ่านการบริหารจัดการฝูงบิน (Fleet) ให้เหมาะสม และพัฒนาระบบตั๋วให้ลดการพึ่งพาการขายตั๋วผ่านเอเย่นต์
“เราต้องมีความทะเยอทะยานให้การบินไทยเป็นการบินระดับโลก Top 3 ของเอเชีย คนไทยจะมีความภาคภูมิใจของการกลับมาของการบินไทย” นายกฯ กล่าว
5. พัฒนาบุคลากรและสวัสดิการ
เศรษฐากล่าวว่า เข้าใจดีที่ในปัจจุบันบุคลาการให้บริการไม่เพียงพอ ตนรู้สึกเห็นใจกับพนักงาน ทั้งนี้ ได้พูดคุยกับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ให้เพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกให้มากขึ้น พร้อมทั้งพัฒนา Reskill และ Upskill ให้เหมาะสมกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ตนเชื่อว่าหากผู้ให้บริการมีความสุข ก็จะส่งต่อบริการด้วยความสุขแก่ผู้โดยสารเช่นเดียวกัน
นอกจากนั้น รัฐบาลจะสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรม ผ่านการสนับสนุนให้สายการบินใช้เชื้อเพลิงยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel: SAF) ที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 80%
สำหรับประโยชน์ที่จะได้รับจากการเป็นศูนย์กลางการบิน เศรษฐาระบุว่า เศรษฐกิจไทยจะพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชน นักท่องเที่ยว หรือบริษัทต่างๆ ที่ต้องการตั้งสำนักงานที่ประเทศไทย
เศรษฐายังกล่าวอีกว่า วันนี้ต้องแข่งกับสิงคโปร์และต้องชนะเขาให้ได้
“เรามีความฝันทั้งนั้น เรามีความฝันทุกวัน ประชาชนให้ความหวังไว้เยอะมาก ผมขอประกาศว่า วันนี้เราตื่นแล้ว ร่วมกันพัฒนาความฝันนั้นให้เป็นจริง” เศรษฐากล่าวทิ้งท้าย
Tags: ศูนย์กลางการบิน, วิสัยทัศน์, Aviation Hub, ASEAN, นายกรัฐมนตรี, ประเทศไทย, เศรษฐา ทวีสิน, อุตสาหกรรมการบิน