วันนี้ (18 ตุลาคม 2564) ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) แถลงข่าวที่กระทรวงดีอีเอส ถึงกระแสข่าวที่ลูกค้าธนาคารหลายแห่งถูกตัดเงินจากบัญชีโดยไม่ทราบสาเหตุว่า จากที่ติดตามข่าว ยืนยันได้ว่าระบบการจ่ายเงินออนไลน์ โมบายแบงก์กิง อินเทอร์เน็ตแบงก์กิง บัตรเดบิตและเครดิต ไม่ได้ถูกแฮก ไม่ได้ถูกโจมตี ระบบธนาคารและการทำธุรกรรมออนไลน์ยังมั่นคง เชื่อถือได้ 

สำหรับกรณีที่เกิดขึ้น เป็นเพราะผู้ใช้บริการ คือประชาชนที่ซื้อของออนไลน์นั้น ได้ให้ข้อมูลส่วนตัวกับผู้ขายที่เป็นมิจฉาชีพ จนผู้ขายนำข้อมูลทางการเงินไปใช้ตัดบัญชีในภายหลัง และทำเสมือนว่ามีการซื้อขายสินค้า แต่ในความเป็นจริงนั้นไม่มี เป็นการหลอกเอาเงินไป ซึ่งเข้าข่ายฉ้อโกงหรือยักยอกทรัพย์ โดยหากกระทรวงดีอีเอสตรวจสอบแล้วพบว่ามีผู้ใดที่เกี่ยวข้อง ก็พร้อมดำเนินคดีจนถึงที่สุด

ขณะเดียวกัน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงดีอีเอสไปออกหลักเกณฑ์ ระเบียบ กฎหมาย ในการกำกับดูแลธุรกิจออนไลน์ แพลตฟอร์มดิจิทัล ไม่ให้ทำธุรกิจผิดกฎหมาย หลอกลวงประชาชน ซึ่งกระทรวงดีอีเอสจะออกมาตรการควบคุมให้เข้มงวดมากขึ้น เช่น บังคับให้การยืนยันตัวตนในการทำธุรกรรมออนไลน์ต้องเป็นไปในรูปแบบ  Two-Factor Authentication หรือการยืนยันตัวตนซ้ำสองครั้งเท่านั้น เพื่อป้องกันการตัดเงินโดยที่เจ้าของบัตรไม่รู้ตัว และผู้ประกอบธุรกิจก็จำเป็นต้องมีตัวแทนในไทยที่รับผิดชอบต่อประชาชน กรณีที่เกิดปัญหา

“เรากำลังผลักดันให้มีการออกพระราชกฤษฎีกาในการ​กำกับดูแลธุรกิจและการทำธุรกรรมดิจิทัลออนไลน์ทั้งหมด ซึ่งอาจทำให้ผู้ประกอบธุรกิจออนไลน์ได้รับผลกระทบ แต่ทั้งหมดก็เพื่อคุ้มครองประชาชน ถ้าผ่านคณะรัฐมนตรี เราก็จะมีกฎหมายควบคุมแพลตฟอร์มธุรกิจดิจิทัลได้ทั้งหมด”

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอสยังบอกอีกด้วยว่า การหักบัญชีแบบเด็ดขาดทีเดียว โดยไม่ต้องมีการยืนยันตัวตนสองครั้งนั้น ไม่ควรเกิดขึ้นในประเทศไทย โดยการทำธุรกรรมออนไลน์ควรต้องมีการยืนยันตัวตน 2 ครั้งทุกครั้ง หรือควรต้องมี Token เป็นบัตรหรือหลักฐานอื่นสำหรับยืนยันตัวตน โดยหลักการทั้งหมดได้หารือกับผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเลกทรอนิกส์เรียบร้อยแล้ว และจะเร่งออกกฎหมายให้เร็วที่สุด เพื่อแก้ปัญหาการตัดเงินโดยไม่ได้รับอนุญาตไม่ให้เกิดขึ้นอีก

ขณะเดียวกัน ชัยวุฒิบอกว่า ยังได้ประสานงานกับ กสทช. และผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทุกค่ายแล้วว่า ให้ตรวจสอบการให้บริการส่งข้อความสั้น หรือ sms ว่ามีความถูกต้อง เหมาะสมเพียงใด ทั้งนี้ ขอประชาชนว่า หากพบสิ่งผิดปกติหรือไม่ถูกต้อง ให้รีบแจ้งมายัง กสทช. หรือดีอีเอสทันที โดยรัฐมีระบบ social listening ที่เข้มแข็งอยู่แล้ว และหากพบความผิดปกติ ก็จะรีบเอาลงทันที 

ด้านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ และสมาคมธนาคารไทย ชี้แจงกรณีการตัดเงินที่ผิดปกติผ่านบัตรเครดิตและบัตรเดบิตของลูกค้าจำนวนมาก เมื่อค่ำวันที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า  เบื้องต้นพบว่ามิได้เกิดจากการรั่วไหลของข้อมูลจากธนาคาร แต่เป็นรายการที่เกิดจากการทำธุรกรรมชำระค่าสินค้าและบริการกับร้านค้าออนไลน์ที่จดทะเบียนในต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ และไม่ใช่แอพฯ ดูดเงินตามที่ปรากฏเป็นข่าว โดยธนาคารเจ้าของบัตรได้ระงับการทำธุรกรรมดังกล่าวแล้ว โดยธนาคารจะดูแลแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และเร่งคืนเงินให้กับลูกค้าที่ได้รับความเสียหายตามขั้นตอนของธนาคารโดยเร็วต่อไป 

“ธนาคารแห่งประเทศและสมาคมธนาคารไทย ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับความปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางการเงิน และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า โดยธนาคารพาณิชย์มีระบบการรักษาความมั่นคงปลอดภัยและมีการตรวจสอบการทำธุรกรรมที่ผิดปกติอย่างต่อเนื่อง เมื่อพบรายการที่ผิดปกติ ธนาคารจะแจ้งลูกค้าเพื่อตรวจสอบและยืนยันรายการธุรกรรม และพร้อมจะดูแลลูกค้าด้วยความรับผิดชอบเสมอ” ธนาคารแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทย ระบุในแถลงการณ์

ภาพ: รัฐสภา

 

Tags: , , ,