วันนี้ (28 พฤศจิกายน 2566) เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงเกี่ยวกับการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ โดยระบุว่า ตั้งเรื่องนี้เป็น ‘วาระแห่งชาติ’ และจะทำงานเชิงบูรณาการร่วมกันกับฝ่ายปกครอง ตำรวจ และกระทรวงการคลัง เพื่อทำงานแก้ไขปัญหาเหล่านี้ร่วมกัน
“รัฐบาลเห็นปัญหาเรื่องหนี้นอกระบบเป็นปัญหาที่กัดกร่อนสังคมไทยมานาน และเป็นเรื่องใหญ่ของคนไทยจำนวนมาก วันนี้เราจะเอาจริงเอาจังโดยการยกสิ่งนี้เป็นวาระแห่งชาติ ฟื้นฟูสภาพความเป็นอยู่ คืนศักดิ์ศรี คืนความหวัง และสร้างความมั่นคงให้กับประชาชนคนไทยทุกคน” นายกรัฐมนตรีกล่าว
เศรษฐาระบุต่อว่า เรื่องนี้ได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายปกครองที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชน ฝ่ายตำรวจที่ช่วยกำกับดูแลบังคับใช้กฎหมาย และกระทรวงการคลังที่จะมาทำงานร่วมกันแก้ไขเรื่องหนี้สิน และความสัมพันธ์ในระดับชุมชนที่ละเอียดอ่อน นอกจากการแก้ไขหนี้ รัฐบาลจะฟื้นฟูเศรษฐกิจสร้างความเข้มแข็งตั้งแต่ระดับครัวเรือนขึ้นไปถึงระดับมหภาค เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนไม่ให้กลับไปเป็นภาระหนี้ล้นพ้นตัวอีก
ปัญหาหนี้นอกระบบกัดกร่อนสังคมไทยมายาวนาน และเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาสังคมอีกหลายประการ รัฐบาลประเมินจำนวนหนี้ครัวเรือนที่มีปัญหานอกระบบคิดเป็นมูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งนายกรัฐมนตรีคิดว่า ตัวเลขนี้น่าจะประเมินไว้ค่อนข้างต่ำ แต่ปัญหาจริงๆ มีมากกว่านั้น
“หนี้นอกระบบเป็นปัญหาที่กระทบต่อทุกคนในระบบเศรษฐกิจ ประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นรากฐานสำคัญของประเทศ ต้องเจอกับความเปราะบางที่เกิดขึ้นจากหนี้สินที่ใช้เท่าไรก็ไม่มีวันหมด
“สำหรับผม หนี้นอกระบบเป็นการค้าทาสในยุคใหม่ (Modern World Slavery) ที่ได้พรากอิสรภาพ ความฝัน ไปจากผู้คนในยุคสมัยนี้ ปัญหานี้ใหญ่เกินกว่าจะแก้ไขปัญหาได้โดยไม่มีภาครัฐเป็นตัวกลาง โดยภาครัฐจะรับบทบาทเป็นตัวกลางสำคัญในการไกล่เกลี่ย ดูแลทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้อย่างเป็นธรรม ตั้งแต่ต้นกระบวนการไปจนถึงปิดหนี้ การทำสัญญาที่หลายครั้งไม่เป็นไปตามกฎหมาย มีดอกเบี้ยไม่เป็นธรรม และการทวงหนี้ที่ใช้ความรุนแรง ต้องจัดทำสัญญาให้เป็นธรรมและเป็นไปตามกฎหมาย”
เศรษฐาระบุเพิ่มเติมว่า สั่งการให้ฝั่งตำรวจและกระทรวงมหาดไทยไปทำการบ้านมาตั้งแต่ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2566 โดยทั้งสองหน่วยงานต้องทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการให้ดีกว่าในอดีตที่แยกกันทำงาน และมีมาตรการที่ต่อเนื่อง เข้าใจกระบวนการของกันและกัน ไม่ซับซ้อน มีขอบเขตที่ชัดเจนตั้งแต่ต้นจนจบ รวมไปถึงจะมีการทำฐานข้อมูลกลางที่นำเทคโนโลยีมาช่วยสร้างความโปร่งใสในการตรวจสอบติดตามผล มีวิธีการเข้าสู่กระบวนการหลายรูปแบบ มีการชี้แจงความคืบหน้าอย่างตรงไปตรงมา ถ่วงดุลระหว่างหน่วยงานกับกรอบเวลาที่ชัดเจน โดยทั้งหมดนี้จะมีนายกฯ ดูแลอย่างใกล้ชิด
โดยหลังจากขั้นตอนการไกล่เกลี่ยแล้ว รัฐบาลจะช่วยปรับโครงสร้างหนี้ผ่านการจัดการของกระทรวงการคลังในฐานะผู้เชี่ยวชาญทางการเงิน ทั้งการช่วยปรับระยะเวลา เงื่อนไข และกระบวนการต่างๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้หนี้อย่างมีศักดิ์ศรี ไม่เบียดบังการใช้ชีวิตจนทำให้ท้อถอย สำหรับมาตรการรัฐบาลจะระวังไม่สร้างภาวะอันตรายทางศีลธรรม (Moral Hazard) ในการช่วยเหลือทั้งหมด
“การแก้ไขหนี้ในวันนี้ คงไม่ใช่ยาปาฏิหาริย์ที่จะทำให้หนี้นอกระบบไม่เกิดขึ้นอีก แต่ผมมั่นใจว่า เศรษฐกิจที่ดีขึ้นจะทำให้พี่น้องประชาชนที่มีรายได้ดีขึ้น จนไม่จำเป็นต้องก่อหนี้อีกในอนาคต และจะเพิ่มโอกาสให้พี่น้องประชาชนรายเล็กรายย่อย สามารถเข้าถึงแหล่งทุนในระบบให้มากขึ้น”
นอกจากหนี้นอกระบบแล้ว ในวันที่ 12 ธันวาคม 2566 จะมีการแถลงเกี่ยวกับภาพรวมของหนี้แบบครบวงจร ซึ่งจะครอบคลุมทั้งหนี้ในระบบและนอกระบบ โดยเศรษฐาระบุว่า จะทำให้โครงการนี้สามารถช่วยปลดปล่อยพี่น้องประชาชนจากการเป็นหนี้นอกระบบ มีชีวิตที่เคยยากลำบากให้มีกำลังใจและแรงใจที่จะทำตามความฝันนับจากบัดนี้เป็นต้นไป
Tags: เศรษฐา ทวีสิน