ร้อน หงุดหงิด และอยากกรี๊ดกลางคูหา

คงเป็นความรู้สึกของคนไทยหลายคน ตอนออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งระดับประเทศครั้งที่ผ่านมา เพราะอากาศร้อนแสนหฤโหด ทำให้ร่างกายเหนอะหนะเต็มไปด้วยเหงื่อไคล และความทรมานยิ่งทวีคูณขึ้นไปอีก เมื่อต้องเบียดเสียดกับผู้คนจำนวนมากจนหายใจไม่ออก 

ทั้งอากาศร้อนและวันหยุดของประเทศ ใครจะอยากไปเลือกตั้ง?

ไม่น่าเชื่ออย่างมาก เพราะผู้คนทยอยแห่ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งปี 2023 จนกลายเป็นสถิติใหม่ของประวัติศาสตร์การเมืองไทย อาจเป็นเพราะเลือดโหยหาประชาธิปไตยที่พลุ่งพล่านในตัว และความคุ้นชินอากาศร้อนเป็นอย่างดี

แต่สำหรับชาวยุโรป สถานการณ์ไม่ได้จบลงเหมือนประเทศไทย เพราะการเลือกตั้งของสเปนในวันที่ 23 กรกฎาคมที่กำลังจะถึง อาจมีจำนวนผู้ใช้สิทธิน้อยลง หรือร้ายแรงจนถึง ‘ไม่มีผู้ดูแลคูหาเลือกตั้ง’ หลังผู้คนจำนวนมากตั้งใจจะไปพักร้อน เนื่องจากไม่สามารถอดทนต่ออากาศแสนโหดร้ายของประเทศได้

สาเหตุของเรื่องราวทั้งหมดมาจาก เปโดร ซานเชซ (Pedro Sánchez) นายกรัฐมนตรีสเปน ประกาศการเลือกตั้งภายในวันที่ 23 กรกฎาคม 2023 ซึ่งหักล้างธรรมเนียมดั้งเดิมของประเทศ เนื่องจากสเปนไม่เคยจัดการเลือกตั้งกลางเดือนกรกฎาคมมาก่อน

เพราะสำหรับชาวสเปน ในช่วงเดือนกรกฎาคม พวกเขามักหยุดพักผ่อน ออกจากเมืองใหญ่เพื่อหนีอากาศร้อนอบอ้าว ไม่ว่าจะเป็นกรุงมาดริด (Madrid) หรือเมืองเซบีญา  (Sevilla) และเสาะหาแหล่งท่องเที่ยวที่มีท้องทะเล หรือใช้เวลาผ่อนคลายนอกเมืองแทน 

การประกาศของซานเชซจึงกลายเป็นวาระแห่งชาติขึ้นมา แม้แต่พรรคฝ่ายตรงข้ามยังหยิบยกประเด็นดังกล่าวเพื่อหาเสียง หลัง อัลแบร์โต นูเญซ เฟย์จู (Alberto Nunez Feijoo) หัวหน้าพรรคประชาชน (People’s Party) โจมตีนายกรัฐมนตรีจากพรรคแรงงานสังคมนิยมสเปน (Spanish Socialist Workers’ Party หรือ PSEO ในภาษาสเปน) ว่า เขากำลังทำให้ผู้คนเลือกระหว่าง ‘หีบบัตรเลือกตั้ง’ และ ‘วันหยุด’ โดยสร้างแรงจูงใจให้ผู้คนออกไปใช้สิทธิน้อยลง หลังจากความนิยมของซานเชซตกต่ำ

นอกจากกระทบต่อวันหยุดพักผ่อน สเปนกำลังประสบกับสภาวะอุณหภูมิสูงผิดปกติ หลังฤดูร้อนครั้งล่าสุดทุบสถิติขึ้นแท่นอันดับหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ โพลิติโก (Politico) เปิดเผยว่า อากาศในเดือนกรกฎาคมพุ่งสูงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน นับตั้งแต่ปี 1961

กรมอุตุนิยมวิทยาจึงคาดการณ์ว่า การเลือกตั้งในเดือนนี้อาจมาพร้อมกับคลื่นความร้อนสูง อุณหภูมิเฉลี่ยในกรุงมาดริดอาจสูงถึง 33 องศาเซลเซียส ขณะที่เมืองอื่นๆ อย่างกอร์โดบา (Córdoba) มีแนวโน้มร้อนขึ้นกว่าปีที่แล้ว หลังเคยทำสถิติไว้ที่ 44 องศาเซลเซียส

“มีใครหน้าไหนในโลกที่คิดจัดการเลือกตั้งวันที่ 23 กรกฎาคม วันอาทิตย์ในกลางฤดูร้อนที่ทุกคนอยู่นอกเมืองกันหมด

“พวกเขาทำได้อย่างไร กับการขอให้ประชาชนใช้วันหยุดของตนเอง และเข้าแถวรอกลางอากาศร้อน เพื่อทำหน้าที่พลเมือง?” มารีปาซ เปเรซ (Maripaz Pérez) ประชาชนในเมืองเซบีญาบ่นอุบ หลังรัฐบาลกำหนดวันเลือกตั้งสเปนตรงกับฤดูร้อนและช่วงวันหยุดพักผ่อน

ขณะที่ ปาโบล ซีมอน (Pablo Simón) นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยการ์โลสที่สามแห่งมาดริด (Carlos III University of Madrid) พูดถึงสถานการณ์ไม่แน่นอนของจำนวนผู้ใช้สิทธิ หลังสเปนไม่เคยเลือกตั้งกลางฤดูร้อน ที่มีผู้ใช้สิทธิอย่างน้อย 10 ล้านคน จาก 37 ล้าน กำลังออกเดินทางไปพักผ่อน 

“ยังไม่ชัดเจนว่าจะมีผู้ใช้สิทธิกี่คนที่ออกจากเมือง มีกี่คนที่เต็มใจกลับไปลงคะแนนเสียง มีกี่คนที่ลงคะแนนทางไปรษณีย์ ทั้งหมดเป็นเรื่องที่หาคำตอบไม่ได้เล็กน้อย”

“ปัญหาของการเลือกตั้งครั้งนี้ คือมีตัวแปรมากมายที่ส่งผลต่อผลลัพธ์ และทำให้คาดเดาไม่ได้โดยสิ้นเชิง” เขาอธิบายกับโพลิติโก หลังพรรคฝ่ายขวาของเฟย์จูกำลังมาแรงในผลโพล แต่การเลือกตั้งครั้งนี้อาจคาดเดาไม่ได้เหมือนผลโพลเช่นกัน

ดังนั้น จึงมีการคาดการณ์ว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งอาจเดินทางไปเลือกตั้งในช่วงเช้าตรู่ และช่วงท้ายของวันเพื่อหลีกเลี่ยงอากาศร้อนจัด ซึ่งรูปแบบการลงคะแนนดังกล่าวอาจกระทบต่อผู้ใช้สิทธิคนอื่นๆ ที่มีแรงจูงใจน้อยเป็นพิเศษ เมื่อพวกเขาไม่ชอบที่ต้องฝ่าฟันผู้คนมากมายมาลงคะแนนเสียง โดยเฉพาะการจราจรอาจติดขัดเป็นพิเศษ เพราะประชาชนต่างเดินทางไปท่องเที่ยวและเลือกตั้งในวันเดียวกัน

ปัญหานี้ยังเกิดขึ้นกับกลุ่มผู้ดูแลคูหาเลือกตั้ง หลังเจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งในเลออน (León) เผยว่า ตำแหน่งนี้ยังขาดจำนวนนับร้อยคน และอาจพุ่งสูงสุดถึง 900 คน

ปกติแล้ว กฎหมายสเปนกำหนดผู้ดูแลคูหาเลือกตั้งด้วยการ ‘จับฉลาก’ ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 3 คน เพื่อทำหน้าที่เฝ้าคูหา 12 ชั่วโมงเต็ม และหากปฏิเสธ อาจถูกปรับและจำคุกสูงสุด 1 ปี 

แต่สถานการณ์เปลี่ยนไป หลังมีการอนุโลมยกเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ถ้าผู้รับเลือกสามารถพิสูจน์ได้ว่า ตนมีภารกิจพักร้อนด้วยการแสดงหลักฐานการจองและชำระค่าเดินทางก่อนวันที่ 29 พฤษภาคม 

“แบบที่คุณจินตนาการเลย ผู้คนมากมายจองตั๋วพักร้อนแล้ว เราจึงหาผู้ปฏิบัติงานไม่ได้เลย

“เรามีปัญหาร้ายแรงกับกลุ่มวัยรุ่นเป็นพิเศษ เพราะวันเลือกตั้งตรงกับเทศกาลดนตรีในอัสตูเรียส (Asturias) และผู้เข้าร่วมงานราว 200 คน ได้รับยกเว้นจากภารกิจนี้

“เราได้รับรายงานว่า มีคนไม่ยอมเปิดประตูหรือซ่อนตัว เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจปรากฏตัว

“ฉันเข้าใจว่า ไม่มีใครอยากใช้เวลาช่วงฤดูร้อนเพื่อนับคะแนนเสียง แต่พูดแบบชัดเจน หากคุณไม่มีข้อแก้ตัวที่ถูกต้องตามกฎหมาย การไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ถือเป็นความผิดทางอาญา” เจ้าหน้าที่นิรนามคนหนึ่งอธิบายสถานการณ์ หลังมีผู้คนจำนวนหนึ่ง ใช้ช่องโหว่เรื่อง ‘ปัญหาสุขภาพ’ เพื่อละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ดูแลคูหาเลือกตั้ง

นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่ยังรายงานปัญหาที่คล้ายคลึงกันในเมืองต่างๆ ทั่วสเปน เช่น ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในซาราโกซา (Zaragoza) หลายร้อยคน โต้แย้งผลการสุ่มปฏิบัติหน้าที่ หรือสถานการณ์ในคาดิซ (Cadiz) เมื่อตำแหน่งนี้เหลือว่างเกือบครึ่งหนึ่ง ขณะที่ โซเรีย (Soria) หนึ่งในเมืองที่มีประชากรน้อยของสเปน เริ่มเกณฑ์คนจากเมืองใกล้เคียงมาดูแลคูหาเลือกตั้ง

ไม่มีใครรู้ว่า รัฐบาลจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร แต่ ซีมอน นักวิชาการรัฐศาสตร์ เสนอกับโพลิติโกว่า ผู้ดูแลคูหาเลือกตั้งควรได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้น 2 เท่า เพื่อสร้างแรงจูงใจท่ามกลางอากาศร้อนจัดและวันหยุดพักผ่อน เพราะที่ผ่านมา คณะกรรมการการเลือกตั้งจ่ายเงินประชาชนเพียง 70 ยูโร (ประมาณ 2,695 บาท) เพื่อปฏิบัติงานตลอดทั้ง 12 ชั่วโมง ซึ่งถือว่าต่ำมาก หากต้องเทียบกับหน้าที่อันแสนเบื่อหน่าย เมื่อต้องนั่งเฝ้าคูหาเลือกตั้งเป็นเวลายาวนาน 

อ้างอิง

https://www.politico.eu/article/spain-national-election-braces-chaotic-pedro-sanchez/

https://www.reuters.com/world/europe/surprised-spaniards-face-choice-ballot-box-or-beach-2023-05-30/

https://www.politico.eu/article/spain-struggles-to-staff-its-polling-station-ahead-national-election-vote-july/

Tags: , , , , , , , , , , , , ,