บ่อยครั้งที่พูดถึง ‘ระบบการศึกษาของเกาหลีใต้’ หลายคนมักให้คำตอบในด้านผลกระทบต่อนักเรียนโดยไม่ลังเล ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเรียนหนัก การเข้าโรงเรียนกวดวิชา การถูกบีบบังคับจากผู้ปกครอง หรือแม้แต่ความรุนแรงในสถานศึกษาก็ตาม

แน่นอนว่า ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเรื่องราวดังกล่าวมักถูกฉายภาพซ้ำแล้วซ้ำเล่าในหน้าสื่อบันเทิงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Sky Castle ซีรีส์คลาสสิกบอกเล่ามุมมืดของระบบการศึกษาเกาหลี ว่าด้วยเรื่องของพ่อแม่ที่พยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ลูกไปสู่จุดสูงสุด นั่นคือการได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยท็อป 3 ของประเทศ แม้ว่าจะต้องแลกด้วย ‘ความตาย’ ของใครบางคนก็ตาม

หรือแม้แต่ The Glory ซีรีส์สุดโด่งดังในช่วงที่ผ่านมา ว่าด้วยเรื่องของเด็กสาวคนหนึ่งที่บ่มเพาะความแค้นจากการถูกกลั่นแกล้งในรั้วโรงเรียน เป็นแรงผลักดันให้ตนเองประสบความสำเร็จ เพื่อกลับมาคิดบัญชีกับทุกคนที่เคยทำไม่ดีกับเธอ

ทว่านั่นเป็นเพียงมุมมองหนึ่งในระบบการศึกษาของเกาหลีใต้เท่านั้น เพราะยังมีด้านมืดมากมายที่ซีรีส์เกาหลีชื่อดังส่วนใหญ่ไม่ได้หยิบยกขึ้นมาพูด โดยเฉพาะเรื่องราวของ ‘ครู’ อาชีพที่หลายคนมองว่า เป็นแม่พิมพ์ของชาติ กุมอำนาจล้นพ้น คอยกำหนดกฎเกณฑ์ความเป็นไปของเด็กให้อยู่ในกรอบค่านิยมของสังคม

แต่ในความเป็นจริง อาชีพครูไม่ได้สวยหรูดังที่ใครคาดคิด และเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้คนที่รับแรงปะทะจากความกดดันทั่วสารทิศจากสังคมมากที่สุด สะท้อนด้วยเหตุประท้วงครั้งใหญ่ของกลุ่มบุคลากรครูหน้ารัฐสภาเกาหลีใต้ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเริ่มต้นจากเรื่องราวการปลิดชีพของครูนิรนามวัย 23 ปี ในเดือนกรกฎาคม 2023 

 

***บทความนี้มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตาย การทำร้ายร่างกาย และการเหยียดหยามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

 

จากเรื่องราวของครูสาวที่ปลิดชีพตนเอง สู่หนึ่งในการประท้วงครั้งใหญ่ของเกาหลีใต้

18 กรกฎาคม 2023 เรื่องไม่คาดฝันเกิดขึ้นในรั้วโรงเรียนสำหรับผู้มีอันจะกินแห่งหนึ่งย่านซอโช (Seocho) เมื่อครูสาววัย 23 ปี ผู้สอนในระดับชั้นประถมศึกษาตัดสินใจจบชีวิตตนเองในห้องเรียน

ตามรายงานของสำนักข่าวโคเรียจุงอัง (Joongang) สื่อท้องถิ่นเปิดเผยว่า ร่างไร้วิญญาณของเธอถูกพบช่วงเช้าก่อนเวลาเข้าเรียน โดยไม่พบจดหมายหรือข้อความจากลาในที่เกิดเหตุ 

ขณะที่ตำรวจยืนยันว่า เธอปลิดชีพตนเองจริง และคดีนี้กำลังอยู่ในกระบวนการสืบสวนเพื่อหาสาเหตุ

ท่ามกลางการเสียชีวิตอันน่าฉงน กระแสสังคมส่วนหนึ่งให้ความเห็นว่า มูลเหตุทั้งหมดมาจากความขัดแย้งกับผู้ปกครองของนักเรียน โดยผู้ให้ข้อมูลเปิดเผยว่า มีกลุ่มพ่อแม่ของเด็กๆ กดดันเธอด้วยการโทรหามากกว่า 10 สาย และไม่มีใครทราบว่าพวกเขาเอาเบอร์โทรศัพท์มือถือเธอมาจากไหน

ขณะเดียวกัน สหภาพครูกรุงโซลออกแถลงการณ์ว่า มีเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งพบเห็นความรุนแรงระหว่างนักเรียนกับครูสาวผู้ล่วงลับ ในช่วงสัปดาห์ก่อนการเสียชีวิต หลังนักเรียนคนหนึ่งพยายามทำร้ายร่างกายเพื่อนอีกคน ด้วยการนำดินสอขูดหน้าผาก 

เหตุการณ์นี้จึงนำไปสู่การประท้วงจากผู้ปกครองของนักเรียนที่ได้รับบาดเจ็บ โดยเธอด่าทอครูนิรนามหน้าห้องทำงานของผู้อำนวยการว่าไม่มีคุณสมบัติในการสอน

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานเกี่ยวข้องและโรงเรียนดังกล่าว ต่างออกมาปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง โดย โจ ฮียอน (Cho Hee-yeon) ผู้อำนวยการสถานศึกษาในกรุงโซล เลือกใช้คำที่ส่อนัยว่า ความตายของเธอเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดของครูสาวรายนี้เอง

นอกจากนั้น ยังมีรายงานเปิดเผยว่า ครูคนหนึ่งถูกเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ทำร้ายร่างกาย โดนทุบตีและถูกกระทืบต่อหน้าเด็กหลายคนในห้องเรียน อีกทั้งยังใช้กรรไกรและหนังสือขว้างปาใส่ พร้อมสบถด้วยถ้อยคำหยาบคาย จนทำให้เธอต้องเผชิญกับอาการป่วยทางจิต PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) 

แม้เธอจะให้การว่า ตนเองไม่กล้าทำอะไร เพราะสอนเด็กคนนี้มาตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 รวมถึงรูปร่างของเด็กที่ท้วมใหญ่ด้วยความสูง 160 เซนติเมตร และมีน้ำหนักมากกว่า 70 กิโลกรัม ทำให้ยากที่จะขัดขืน 

ทว่าผู้ปกครองกลับโยนความผิดทั้งหมดให้กับครูรายนี้แทน โดยอ้างว่า ลูกของพวกเขาต้องได้รับการดูแลเป็นอย่างดี เนื่องจากภาวะโรคซึมเศร้าและไอคิวต่ำกว่าปกติ

ประกอบด้วยกระแสความรุนแรงที่ค่อยๆ เผยออกมา เช่น การเสียชีวิตของครู 2 คน ภายในระยะเวลา 4 วัน โดยมีจดหมายทิ้งท้ายว่า พวกเขาไม่สามารถทนต่อความกดดันจากผู้ปกครองและระบบการศึกษาของประเทศได้

นั่นจึงนำมาสู่การประท้วงชุมนุมของบุคลากรทางการศึกษาในวันที่ 4 กันยายนที่ผ่านมา ความโกรธแค้นของผู้คนราว 2 แสนคน ระบายออกมาด้วยการสวมเสื้อสีดำพร้อมข้อความประท้วงหน้ารัฐสภาเกาหลีใต้ เพื่อทวงคืนความยุติธรรมให้ครูผู้ล่วงลับ 

(ที่มา: AFP)

อีกทั้งยังมีข้อเรียกร้องเรื่องสวัสดิการและสิทธิเพื่อคุ้มครองอาชีพครู โดยเฉพาะการแก้ไขกฎหมายการล่วงละเมิดเด็กในปี 2014 ที่อนุญาตให้มีการยื่นเรื่องต่อเจ้าหน้าที่ และสอบสวนกับผู้ต้องหาเบื้องต้นโดยไม่ต้องมีหลักฐาน ซึ่งเป็นช่องโหว่ทางกฎหมาย เมื่อผู้ปกครองมักเล่นงานครูที่ไม่ชอบหน้าด้วยวิธีการดังกล่าว

กระแสตอบรับการประท้วง: รัฐบาลเกาหลีใต้ยืนยันพร้อมเดินหน้าแก้ไขปัญหา

ในตอนแรก อี จูโฮ (Lee Joo-ho) รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการเกาหลีใต้ออกโรงเตือนว่า การนัดหยุดงานของกลุ่มผู้ชุมนุมจะมีความผิดตามกฎหมาย เนื่องจากละเมิดสิทธิการได้รับการศึกษาของเด็ก ทว่าภายหลัง เขาเปลี่ยนท่าทีว่า ตนเองได้รับฟังเสียงของประชาชน และจะไม่มีครูคนไหนในที่ชุมนุมต้องรับโทษ

นอกจากนี้ อี จูโฮยังระบุว่า รัฐบาลกำลังเตรียมแผนจัดการปัญหาอย่างครอบคลุมเพื่อคุ้มครองและฟื้นฟูสิทธิของครู โดยจะพยายามแก้ไขกฎหมายอย่างรวดเร็ว เพื่อขจัดช่องว่างทางกฎหมายระหว่างการทารุณกรรมเด็กหรือการกลั่นแกล้งจากผู้ปกครอง

ขณะเดียวกัน ยุน ซอกยอล (Yoon Suk-yeol) ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ เปิดเผยว่า จะให้ความสำคัญกับทุกเสียงของกลุ่มบุคลากรที่ออกมาประท้วง โดยจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้ครูมีอำนาจตามตำแหน่ง และสร้างความปกติในระบบการศึกษา

อีกด้านของ ‘ครู’ ในเกาหลีใต้: ความกดดันจากสังคม สวัสดิการที่ย่ำแย่ และการกลั่นแกล้งจากผู้ปกครอง

เป็นที่รู้กันว่า ขงจื๊อใหม่ (Neo-Confucianism) มีอิทธิพลต่อสังคมเกาหลีใต้มากเพียงใด โดยเฉพาะการสอดแทรกแนวคิด ‘การศึกษาคือรากฐานของชีวิต’ ดังใบเบิกทางสู่ความสำเร็จทางสังคมมากมาย

แต่ในอีกด้าน แนวคิดนี้สร้างความเจ็บปวดให้กับกลุ่มบุคลากรทางการศึกษา โดยเฉพาะครูหรืออาจารย์ที่ต้องรับแรงกดดันและทำงานหนักไม่ต่างจากนักเรียน ไม่ว่าจะเป็นความคาดหวังจากสังคมในการอบรมบ่มเพาะเด็กๆ ให้เป็น ‘พลเมืองดี’ ตามมายาคติ 

หรือการมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่ตัดสินจากคะแนนสอบในห้องเรียน ผลการสอบระดับชาติอย่างซูนึง (Suneung: 수능) หรือแม้แต่ชื่อมหาวิทยาลัยที่ถูกจำกัดไว้แค่ มหาวิทยาลัยโซลแห่งชาติ (Seoul National University) มหาวิทยาลัยยอนเซ (Yonsei University) และมหาวิทยาลัยเกาหลี (Korea University)

(ที่มา: AFP)

ขณะเดียวกัน กลุ่มบุคลากรครูกลับได้รับเงินเดือนที่ต่ำ หากเทียบกับอาชีพอื่นๆ พวกเขามีรายได้เฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 48 ล้านวอน (ประมาณ 1.2 ล้านบาท) รวมถึงสวัสดิการที่ย่ำแย่ และสิทธิที่ไม่สามารถปกป้องตนเองได้ โดยเฉพาะการกลั่นแกล้ง และการโจมตีด้วยข้อมูลเท็จผ่านช่องว่างทางกฎหมาย จากผู้ปกครองของเด็กบางคน

ด้วยสภาพแวดล้อมดังกล่าวส่งผลให้ครูหลายคนป่วยเป็นโรคซึมเศร้า หรือบางคนเลือกที่จะปลิดชีพตนเองเพื่อยุติปัญหาที่ไม่มีวันแก้ไขได้ 

รายงานจากรอยเตอร์ (Reuters) เปิดเผยสถิติของรัฐบาลในช่วง 6 ปีที่ผ่านมาว่า ครูจำนวน 100 คน ตัดสินใจฆ่าตัวตาย โดย 57 คน เป็นครูในระดับชั้นประถมศึกษา ขณะที่คณะกรรมการการศึกษาของรัฐสภาระบุว่า ครูจำนวน 589 คนที่มีอายุงานต่ำกว่า 5 ปี ทยอยลาออกตั้งแต่เดือนมีนาคม 2022 ถึงเมษายน 2023 

นอกจากนั้น ยังมีสถิติจากกระทรวงศึกษาธิการที่น่าตกใจ เมื่อครู 1,133 คน กลายเป็นเหยื่อการถูกทำร้ายร่างกายจากนักเรียนหรือผู้ปกครองระหว่างปี 2018-2020 และคดีความว่าด้วยนักเรียนละเมิดสิทธิครู พุ่งสูงสุดทะลุสถิติปี 2022 ถึง 2,000 คดี

“ฉันคงต้องต่อสู้กับความทุกข์ทางอารมณ์และโรควิตกกังวล ซึ่งมาจากเหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจ ขณะที่สุขภาพกายของฉันก็ย่ำแย่เช่นเดียวกัน”  บี (B) นามสมมติของครูรายหนึ่ง บอกเล่าประสบการณ์กับเดอะการ์เดียน (The Guardian) 

เธอตกอยู่กับสภาวะจำยอมดังกล่าว หลังต้องเผชิญแรงกดดันจากผู้ปกครองและโรงเรียน เมื่อบีเคยทำโทษนักเรียนด้วยการให้ยืนในชั่วโมงเรียน เพราะไม่นำอุปกรณ์การเรียนมา แม้เธอจะย้ำเตือนหลายครั้งก็ตาม

ภายหลังเธอได้รับการตัดสินว่าไม่มีความผิด แต่หน่วยงานด้านการศึกษายังคงปฏิบัติขัดแย้งกับผลการสอบสวน บีจึงได้รับค่าจ้างไม่เต็มจำนวน ถูกบีบให้ย้ายโรงเรียน และไม่มีโอกาสเลื่อนตำแหน่ง

“ฉันหวังอย่างยิ่งว่า จะไม่มีครูคนไหนอดทนต่อความอยุติธรรมเหมือนที่ฉันเคยเป็น หรือเลือกตัดสินใจจบชีวิตตนเองก็ตาม” บีทิ้งท้าย โดยระบุว่าผู้ปกครองใช้ช่องว่างทางกฎหมายทารุณกรรมเด็กเป็นเครื่องมือในการคุกคามครู

อ้างอิง

https://edition.cnn.com/2023/09/05/asia/south-korea-teachers-protest-suicide-intl-hnk/index.html

https://www.theguardian.com/world/2023/sep/08/south-korea-teacher-protest-why-are-teachers-protesting

https://www.straitstimes.com/asia/east-asia/mental-health-crisis-of-s-korean-teachers-may-lead-to-collapse-of-education-system-doctors-warn

https://www.straitstimes.com/asia/east-asia/suicide-of-south-korea-teacher-23-puts-spotlight-on-plight-of-educators-in-classrooms

https://www.koreatimes.co.kr/www/nation/2023/08/113_355461.html

https://www.k-dramath.com/2023/02/sky-castle-crash-course-in-romance.html

https://www.reuters.com/world/asia-pacific/south-korean-teachers-rally-after-colleagues-death-2023-09-04/

https://www.erieri.com/salary/job/primary-school-teacher/south-korea

Tags: , , , , , , , , , , , , ,