ยามค่ำคืนหนึ่งอันแสนสงบในเกาหลีใต้ ไม่มีใครคาดคิดว่า เสียงกรี๊ดของเด็กสาวชาวต่างชาติบนรถไฟฟ้าใต้ดินด้วยความสุขอันล้นเปี่ยม จากการดูไลฟ์สตรีมของ ชูก้า (Suga) สมาชิกบอยแบนด์ระดับโลกแห่ง BTS จะกลายเป็นสิ่งที่สร้างความโกลาหล เมื่อผู้โดยสารหลายคนตอบสนองเสียงกรีดร้อง ด้วยการวิ่งหนีอย่างไม่คิดชีวิต จนเกิดเหตุบาดเจ็บกันหลายคน เพราะเข้าใจว่าเบื้องหน้าของพวกเขากำลังเกิดเหตุร้ายบางอย่าง

‘เด็กสาวกรี๊ดไอดอลที่ตนคลั่งไคล้จนผู้คนแตกตื่นหนีตาย เรื่องนี้เป็นไปได้จริงหรือ’

‘แค่นี้เอง ทำไมคนเกาหลีแตกตื่นขนาดนั้น?’

‘ถ้าเกิดขึ้นที่รถไฟฟ้าประเทศเรา ทุกคนก็คงหันหนีเหมือนเดิม’

เหล่านี้คือความคิดเห็นมากมายต่อเรื่องราวข้างต้น หลายคนอาจจะคิดว่าเรื่องนี้เป็นความบังเอิญที่ชวนขำขันหรือไร้มูลเหตุ ทว่าหากลองขบคิดอย่างลึกซึ้ง ปฏิกิริยานี้กลับสะท้อนความพิลึกประหลาดบางอย่างในสังคม เพราะสังคมที่สงบสุขดีแทบจะไม่มีเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นเลย

“เมื่อไรก็ตามที่ฉันออกจากสถานีรถไฟใต้ดินและขึ้นรถประจำทางต่อ ฉันค้นพบว่า ตนเองต้องมองไปด้านหลังทุกครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีคนแปลกหน้าตามฉันมา” พัก มินจอง (Park Min-jong) แม่บ้านวัย 62 ปี กล่าวถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาที่ผ่านมา กับสำนักข่าวเซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์ (South China Morning Post)

ใช่แล้ว เกาหลีใต้กำลังเผชิญกับฝันร้ายและคลื่นแห่งความกลัวครั้งใหญ่ เมื่อเกิดเหตุการณ์อาชญากรรมที่ผู้กระทำลงมืออย่าง ‘ไม่เลือกหน้า’ ด้วยอาวุธมีด และไล่แทงผู้คนเพื่อสร้างความหวาดกลัว 

จุดเริ่มต้นของเรื่องราวเหนือจินตนาการนี้ เกิดขึ้นในวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา เมื่อชายนิรนามบ้าคลั่งคนหนึ่งเดินถือมีดแทงผู้โดยสารรถไฟใต้ดิน จนมีผู้เสียชีวิต 1 ราย และผู้บาดเจ็บ 3 ราย ก่อนเหตุการณ์นี้จะเกิดซ้ำติดกันถึง 4 วัน ในเดือนสิงหาคม และตามมาด้วยสถานการณ์ล่าสุดเมื่อวานนี้ (20 สิงหาคม 2023) ซึ่งครบรอบ 1 เดือนของการก่อเหตุ เมื่อชายวัย 50 ปี ใช้มีดแทงเด็กหนุ่ม 2 คนบนรถไฟฟ้าย่านฮงแด (Hongdae) 

ภาพ: Reuters

“ประเทศของเราเคยปลอดภัยที่สุดในโลก แต่จากเหตุการณ์เร็วๆ นี้ ฉันคงพูดเช่นนี้ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว”

“เกาหลีใต้กำลังเกิดอะไรขึ้นกันแน่?”

ความคิดเห็นของชาวเน็ตในโลกออนไลน์ที่ครุ่นคิดเหมือนใครหลายคนต่ออาชญากรรมในเกาหลีใต้ที่เกิดขึ้นติดต่อกันเป็นรายวัน

อาชญากรรมอย่าถาม: การสังหารที่ไร้มูลเหตุ ไร้เป้าหมาย และยากที่จะเข้าใจ

‘อย่าถาม’ (Mudjima: 묻지마) คือชื่ออย่างเป็นทางการของอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา หมายถึงการสังหารคนแบบสุ่ม ไม่มีเป้าหมาย หรือจำนวนที่ชัดเจน อีกทั้งยังปราศจากจุดประสงค์และแรงจูงใจในการก่อเหตุ โดยที่มาของชื่อมาจากลักษณะอาชญากรรมดังกล่าว

อันที่จริง ‘อาชญากรรมอย่าถาม’ เกิดขึ้นนานแล้ว และไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงในเกาหลีใต้ หากจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจน คือการสังหารหมู่ในสถานีรถไฟชิโมโนเซกิ (Shimonoseki Station) ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2012 หลัง ยาสุอากิ ยูวาเบะ (Yasuaki Uwabe) สถาปนิกคนหนึ่ง ใช้อาวุธไล่แทงผู้คนในสถานีอย่างไร้สาเหตุ 

สำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน สำนักงานตำรวจแห่งชาติเกาหลีใต้แบ่งประเภทอาชญากรรมอย่าถามให้อยู่ในหมวด ‘อาชญากรรมที่มีแรงจูงใจผิดปกติ’ ในปี 2022 รวมถึงมีความพยายามสร้างหน่วยงานปราบปรามเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยเฉพาะ เมื่อค้นพบว่า มีการก่อเหตุในลักษณะนี้ถึง 18 ครั้ง ภายในครึ่งปีแรก

นอกจากการคาดเดาวิธีการและเวลาลงมือก่อเหตุไม่ได้ สิ่งหนึ่งที่น่าสะพรึงกลัวไม่แพ้กันสำหรับอาชญากรรมอย่าถาม คือมูลเหตุที่แปลกประหลาดและยากจะเข้าใจด้วยสามัญสำนึกของมนุษย์

เช่นเดียวกับพฤติกรรมของ ชเว วอนจอง (Choi Won-jong) ชายที่ก่อเหตุอาชญากรรมสุดแปลกประหลาดในช่วงที่ผ่านมา เขาบอกกับตำรวจสั้นๆ ด้วยประโยคน่าขนลุกว่า

“ผมพยายามใช้ชีวิตอย่างมีความสุข แต่ก็ไม่มีอะไรดีขึ้นมา 

“ผมไม่มีความสุข และผมก็ต้องการให้คนอื่นไม่มีความสุขเหมือนกัน” วอนจองกล่าวสั้นๆ โดยเบื้องต้นมีการสอบสวนว่า เขาอาจมีอาการผิดปกติทางจิตบางอย่าง เพราะอาชญากรรายนี้ให้การกับตำรวจว่า มีคนกลุ่มหนึ่งกำลังสะกดรอยตามเขา นอกจากนี้ เขายังมีปูมหลังเคยลาออกจากโรงเรียน เนื่องจากเป็นโรคกลัวการเข้าสังคม

ภาพ: Reuters

คำกล่าวนี้ชวนให้นึกถึงลักษณะของฆาตกรต่อเนื่องในเกาหลีใต้ โดยเฉพาะหากเทียบกับคำพูดของ ยู ยองชอล (Yoo Yong-chul) ฆาตกรต่อเนื่องคนแรกที่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม ‘ไซโคพาธ’ (Psychopath) จาก อี ซูจอง (Lee Soo-jung) ศาสตราจารย์หญิงผู้ศึกษาจิตวิทยาอาชญากร จากมหาวิทยาลัยคยองกี (Kyonggi University)

“ผมถูกบีบให้เลือกวิธีสุดโต่งอย่างฆาตกรรมต่อเนื่อง เป็นวิธีจัดความโกรธแค้น แล้วคุณเป็นใครถึงมาประณามผม

“ผมเกิดผิดที่ผิดเวลา ผมไม่มีทางเลือก นอกจากเกลียดโลกใบนี้”

เหล่านี้คือส่วนหนึ่งของจดหมายจากฆาตกรที่โหดเหี้ยมที่สุดในเกาหลีใต้ เห็นได้ชัดเจนว่า มูลเหตุของเขาแปลกประหลาด แต่ก็ฟังดูสยองไม่แพ้กับคำพูดของชเว วอนจอง โดยเฉพาะการ ‘โยนความผิด’ ให้สังคมที่เหลือ

ยิ่งไปกว่านั้น อาชญากรรมอย่าถามยังถูกลอกเลียนแบบเพื่อสร้างความปลุกปั่นในสังคม หลังมีข้อความในโลกออนไลน์เผยแพร่ถึงเวลา สถานที่ เพศ และลักษณะของเหยื่อ แต่ตำรวจกลับค้นพบว่า ผู้ก่อเหตุเป็นเพียงวัยรุ่นที่มีอายุไม่เกิน 14 ปี โดยอ้างว่า พวกเขาไม่มีเจตนาอะไร นอกจากรู้สึก ‘เบื่อ’ จึงอยากโพสต์ข้อความหยอกล้อเล่นเพื่อระบายอารมณ์

มากกว่าการพูดถึงบทลงโทษ: การกลับมาแก้ไขปัญหาจากรากฐาน คือความยากจนและความเจ็บป่วยทางสังคม

“มากกว่าการพูดถึงมาตรการลงโทษ คือการหาทางเยียวยาเพื่อป้องกัน เราต้องรู้ว่า อสุรกายที่ทำร้ายผู้คนบริสุทธิ์มากมายเกิดขึ้นได้อย่างไร และทำไมพวกเขาถึงทำเช่นนั้น” บทความจากสำนักข่าวดงอา (Donga) ชี้ให้เห็นเบื้องหลังอาชญากรร้ายแรงนี้ไว้อย่างน่าสนใจ หลังกระทรวงยุติธรรมเกาหลีใต้พยายามใช้บทลงโทษรุนแรงขึ้นเพื่อปราบปรามอาชญากรรมอย่าถาม ไม่ว่าจะเป็นการบังคับกักขังผู้ป่วยที่มีแนวโน้มป่วยทางจิต หรือการจำคุกตลอดชีวิตโดยไม่ต้องรอลงอาญา 

เช่นเดียวกับ อี ซังฮุน (Lee Sung-hun) ศาสตราจารย์ด้านอาชญาวิทยาในมหาวิทยาลัยคยองซอง (Kyungsung University) เมืองปูซาน (Busan) ระบุว่า สาเหตุของอาชญากรรมอย่าถามเกิดจากการตีตราทางสังคม และการถูกทิ้งไว้ข้างหลังจากรัฐ ซึ่งสะท้อนผ่านปรากฏการณ์ ‘นรกโชซอน’ (Hell Joseon: 헬조선) ไม่ว่าจะเป็นอัตราว่างงานที่พุ่งสูง ที่อยู่อาศัยราคาแพง ค่านิยมฟุ้งเฟ้อ รวมถึงการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิทางสังคมที่ลดน้อยลง 

ประเด็นดังกล่าวสะท้อนให้เห็นผ่านความเป็นจริง สำนักข่าวดงอาเผยสถิติของผู้ต้องหา 60 รายที่ก่ออาชญากรรมอย่าถาม พบว่า 66.7% เผชิญกับสภาวะตกงาน ขณะที่ 65% หย่าร้าง ไม่มีคู่สมรส รวมถึงแบบสำรวจในวารสารวิชาการยังค้นพบว่า อาชญากร 11 ใน 25 คน มีการศึกษาระดับต่ำและเรียนไม่จบชั้นมัธยมต้น

นอกจากนั้น อี ซูจอง ศาสตราจารย์ด้านนิติจิตวิทยาอธิบายว่า สภาพสังคมที่ย่ำแย่ ประกอบกับความเกลียดชังในโลกออนไลน์ ยังส่งเสริมอาการผิดปกติของคนกลุ่มนี้ พวกเขามองเห็นโลกด้านเดียว และเข้าใจว่า สิ่งที่เห็นบนอินเทอร์เน็ตคือโลกแห่งความเป็นจริงทั้งหมด 

ภาพ: Reuters

ทั้งหมดนี้คือรากเหง้าของปัญหาอาชญากรรมในสังคมเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นบทเรียนสะท้อนสังคมทั่วโลกว่า ลำพังแค่การบังคับใช้กฎหมายรุนแรงไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลง แต่รัฐต้องเริ่มต้นแก้ไขปัญหาจากต้นเหตุ นับตั้งแต่การทำหน้าที่สร้างตาข่ายความปลอดภัยทางสังคมให้แน่นหนา และการโอบรับผู้คนทุกฝ่ายเพื่อยุติความโดดเดี่ยวด้วยรัฐสวัสดิการ 

ดังคำกล่าวของ ชอน ยองโฮ (Choen Yong-ho) อาจารย์ผู้ศึกษาด้านสวัสดิการทางสังคมประจำมหาวิทยาลัยแห่งชาติอินชอน (Incheon National University)

“เกาหลีใต้ต้องมีระบบที่สร้างส่วนร่วมภายในชุมชนเพื่อจัดการกับคนที่โดดเดี่ยว รวมถึงผู้มีอาการทางจิต 

“ปัจจุบัน เกาหลีใต้ไม่มีสวัสดิการรักษาโรคซึมเศร้าหรือโรคทางจิตอื่นๆ ภาระนี้ถูกยกให้กลายเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลสิ้นเชิง” เขากล่าว

อ้างอิง

https://www.zoomtventertainment.com/korean/screaming-bts-fans-in-seoul-cause-chaos-and-panic-in-train-due-to-sugas-tattoo-korean-entertainment-news-article-102484147

https://www.facebook.com/photo?fbid=861332558684522&set=a.522359282581853

https://www.donga.com/news/Society/article/all/20230818/120756223/1

https://www.scmp.com/week-asia/people/article/3231257/south-koreas-random-mudjima-stabbings-put-mental-health-stigma-lack-support-focus

https://koreajoongangdaily.joins.com/2023/08/07/national/socialAffairs/Korea-stabbing-rampage-identity/20230807182949388.html

https://www.bbc.com/news/world-asia-66438202

https://themomentum.co/report-biggest-serial-killers-south-korea/

https://www.the101.world/hell-joseon/

Tags: , , , , , , , , ,