เมื่อวานนี้ (24 กันยายน 2023) ฟิลิปปินส์ออกโรงประณามจีน หลังหน่วยยามชายฝั่งของจีน (Chinese Coast Guard: CCG) ติดตั้ง ‘แผงกั้นลอยน้ำ’ บริเวณหินโสโครกสการ์โบโรห์ (Scarborough Shoal) เขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zone: EEZ) ของฟิลิปปินส์ 

รายงานจากหน่วยยามชายฝั่งของฟิลิปปินส์ (Philippine Coast Guard: PCG) และสำนักงานประมงและทรัพยากรทางน้ำ (Bureau of Fisheries and Aquatic Resources: BFAR ) ระบุว่า ระหว่างเดินเรือสำรวจบริเวณหินโสโครกสการ์โบโรห์ พบแผงกั้นลอยน้ำขนาดยาว 300 เมตร ขวางไม่ให้เรือประมงฟิลิปปินส์เข้าพื้นที่

ที่มา: @jaytaryela

อีกทั้งเรือยามชายฝั่งของจีน CCG-3105 ยังประกาศไล่หน่วยงานของฟิลิปปินส์และเรือประมงทางวิทยุถึง 15 ครั้ง ในระหว่างที่สำนักงานประมงฯ เข้าประชิดบริเวณหินโสโครกสการ์โบโรห์ เพื่อมอบอาหาร เครื่องดื่ม และของใช้ให้กับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน

“หน่วยยามชายฝั่งของจีนระบุว่า การมีอยู่ของหน่วยยามชายฝั่งฟิลิปปินส์ เรือประจำสำนักประมงฯ และเรือหาปลา ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายภายในจีน

“เรือยางสามลำของหน่วยยามชายฝั่งจีนและเรือกองกำลังทางทะเลจีน (Chinese Militia) ติดตั้งสิ่งกีดขวางลอยน้ำ ขณะที่เรือสำนักประมงฯ ฟิลิปปินส์อยู่ใกล้หินโสโครก” ส่วนหนึ่งของแถลงการณ์จากหน่วยยามชายฝั่งฟิลิปปินส์ที่ประณามการกระทำของจีน

เจย์ ทาร์เรียลา (Jay Tarriala) โฆษกหน่วยยามชายฝั่งฟิลิปปินส์ แสดงความคิดเห็นว่า การติดตั้งสิ่งกีดขวางลอยน้ำเป็นอันตรายต่อการเดินเรือ ทำให้ชาวประมงจำนวนหนึ่งไม่สามารถเข้าไปทำกิจกรรมประมง และขัดขวางวิถีชีวิตการดำรงอาชีพของพวกเขา

ขณะเดียวกัน วันที่ 23 กันยายนที่ผ่านมา ช่วงกลางคืนตามเวลาประเทศไทย เอ็นริเก มานาโล (Enrique Manalo) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์ กล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (United Nations General Assembly: UNGA) โดยทิ้งนัยสำคัญถึงข้อพิพาททะเลจีนใต้ระหว่างจีน

เอ็นริเกออกโรงชื่นชมความยุติธรรมของหน่วยงานของ UN คือศาลอนุญาโตตุลาการถาวร (Permanent Court of Arbitration: PCA) ที่ตัดสินให้ฟิลิปปินส์เป็นเจ้าของเขต EEZ ถูกต้องตามกฎหมายในปี 2016 แม้จีนจะไม่สนการตัดสินในครั้งนั้น และเดินหน้าครอบครองพื้นที่ข้อพิพาทต่อไป

นอกจากนี้ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศยังเน้นย้ำว่า ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่ทำตามหลักการสากล กฎหมายระหว่างประเทศ และการระงับข้อพิพาทโดยสันติ โดยยึดมั่นในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล (United Nations Convention on the Law of the Sea: UNCLOS) และเป็นชาติแรกๆ ที่ลงนามในสนธิสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพแห่งท้องทะเล 

รวมถึงระบุประเด็นการเป็นแคนดิเดตสำหรับเก้าอี้สมาชิกชั่วคราวของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council: UNSC) ในปี 2027-2028 ว่า จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดตามแนวทางการทูตดั้งเดิมของฟิลิปปินส์

นี่จึงอาจเป็นนัยสำคัญว่า ฟิลิปปินส์กำลังจริงจังกับประเด็นทะเลจีนใต้ หลังความขัดแย้งทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงครึ่งหลังปี 2023 แม้ศาลอนุญาโตตุลาการถาวรตัดสินในปี 2016 ว่า จีนละเมิดสิทธิอธิปไตย (Sovereignty Rights) ของฟิลิปปินส์ในเขต EEZ ด้วยการสร้างเกาะเทียม และรุกล้ำพื้นที่

ขณะที่การอ้างหลักฐานทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะจุดเส้นประ 9 เส้น (Nine-Dash Line) ผ่านแผนที่ของจีน ก็ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะพื้นที่และเขตทางทะเลขึ้นอยู่กับข้อบัญญัติกฎหมายทะเล (UNCLOS)

อ้างอิง

https://www.aljazeera.com/news/2023/9/24/philippines-condemns-floating-barrier-in-south-china-sea

https://www.cnnphilippines.com/news/2023/9/24/scarborough-barrier.html

https://gadebate.un.org/en/78/philippines

https://www.lawfaremedia.org/article/tribunal-issues-landmark-ruling-south-china-sea-arbitration

จันตรี สินศุภฤกษ์, “กฎหมายทะเล,” ใน กฎหมายระหว่างประเทศ, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: นิติธรรม, 2562), 222-258.

Fact Box

  •  เขตเศรษฐกิจจำเพาะ (EEZ) มีที่มาจากเขตประมงจำเพาะในอดีต ต่อมา แนวคิดนี้ได้พัฒนากลายเป็นจารีตประเพณีในกฎหมายระหว่างประเทศ 
  •  EEZ เป็นเขตพิเศษที่อยู่กึ่งกลางระหว่างทะเลอาณาเขตของรัฐกับทะเลหลวง โดยรัฐที่เป็นเจ้าของจะมีสิทธิในการสำรวจ แสวงหาผลประโยชน์ หรือจัดการทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงสามารถสร้างเกาะเทียมและทำการวิจัยทางทะเลได้

Tags: , , , , , , , ,