เตติโอตา ชาวคิริบาติ ประเทศเกาะเล็กๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิกให้เหตุผลสำหรับการขอย้ายไปยังนิวซีแลนด์เมื่อปี 2013 ว่า เนื่องจากประเทศของเขาได้รับผลกระทบจากภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงและระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นมาก นับวันการมีชีวิตอยู่ที่นี่ยิ่งอันตรายมากขึ้น ทั้งจำนวนประชากรที่มากเกินไป ดินเสื่อม ขาดแคลนน้ำจืด แต่ในปี 2015 รัฐบาลนิวซีแลนด์ปฏิเสธคำขอเป็นผู้อพยพของเขาและเนรเทศกลับประเทศ

เตติโอตาจึงยื่นคำร้องต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติว่า รัฐบาลนิวซีแลนด์ละเมิดสิทธิในการมีชีวิตของเขา 

คณะมนตรีสนับสนุนเหตุผลของหน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองและศาลนิวซีแลนด์ที่ระบุว่า เขาสามารถกลับไปอยู่ที่คิริบาติได้อย่างปลอดภัย สถานการณ์ในตอนนี้ยังไม่ย่ำแย่ถึงขนาดที่เตติโอตาและครอบครัวจะตกอยู่ในความเสี่ยง ตามที่เขาคาดว่าอีก 10-15 ปีจึงจะเป็นอันตรายต่อชีวิต รัฐบาลคิริบาติก็ยังสามารถดำเนินการเพื่อหามาตรการป้องกันปัญหาได้ ด้วยความช่วยเหลือจากชุมชนนานาชาติ 

อย่างไรก็ตาม คณะมนตรีก็มีคำวินิจฉัยที่เป็นแนวทางในอนาคตว่า ผลกระทบของสภาวะโลกร้อนอาจเป็นความเสี่ยงที่คุกคามประชาชนถึงชีวิต ดังนั้นประเทศปลายทางห้ามผลักดันผู้อพยพกลับไปอยู่ในประเทศบ้านเกิด คณะมนตรีระบุว่า ประชาชนที่ตกอยู่ในความเสี่ยงไม่ควรรอจนกระทั่งตกอยู่ในภัยคุกคามที่ร้ายแรง แต่ควรจะหาทางป้องกันเนิ่นๆ แต่ก็ไม่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติ

นับเป็นครั้งแรกที่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติรับรองจากหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนว่า ห้ามรัฐบาลต่างๆ ส่งผู้อพยพกลับไปยังที่อยู่อาศัยเดิมซึ่งตกอยู่ในความเสี่ยงร้ายแรงและภัยคุกคามถึงชีวิตจากวิกฤตภูมิอากาศ คำวินิจฉัยนี้อ้างกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองข้อ 6 และ 7 ที่รับรองการสิทธิในชีวิตของบุคคล แม้การตัดสินนี้จะไม่ผูกพันทางกฎหมาย แต่ก็มีกฎหมายระหว่างประเทศที่ประเทศต่างๆ ต้องปฏิบัติตาม

ทั้งจะมีการพิจารณาเป็นรายกรณีว่าสถานการณ์ในเวลานั้นเป็นอย่างไร ผลกระทบจากภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงและระดับน้ำทะเล ความท้าทายตอนนี้อยู่ที่การปฏิบัติจริง รัฐบาลต่างๆ ต้องมีกฎหมายที่แน่ชัดเพื่อให้ประชาชนสามารถอ้างสิทธิและได้รับการคุ้มครองจากผลกระทบรุนแรงจากสภาวะโลกร้อนได้

ภัยแล้ง ผลผลิตการเกษตรที่ล้มเหลว และระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นจะทำให้อีกไม่กี่ปีข้างหน้า ประชากรโลกสิบล้านคนจะต้องกลายเป็นผู้ไร้ที่อยู่อาศัย รายงานของธนาคารโลกในปี 2018 ระบุว่าจะมีประชากรราว 143 ล้านคนในเอเชียใต้ แอฟริกา และละตินอเมริกาที่เสี่ยงต่อการกลายเป็นผู้อพยพจากภัยภูมิอากาศ

ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าจะมีประชาชนจากหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกขอย้ายประเทศจากเหตุผลนี้มากขึ้น ที่ผ่านมามีประมาณ 10 กรณีที่ร้องต่อศาลนิวซีแลนด์แบบเดียวกัน โดยอ้างว่าผลกระทบจากภาวะโลกร้อนกระทบต่อสิทธิในการมีชีวิตอยู่ ส่วนใหญ่เป็นชาวตูวาลูและคิริบาติ แต่เวลานั้นยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบที่ร้ายแรงชัดเจนเท่ากับปัจจุบัน

ที่มา:

https://www.theguardian.com/world/2020/jan/20/climate-refugees-cant-be-returned-home-says-landmark-un-human-rights-ruling

https://www.smh.com.au/environment/climate-change/climate-refugees-cannot-be-forced-back-home-20200119-p53sp4.html