สาธารณชนและกลุ่มแฟนคลับวิจารณ์รายการ Saturday Night Live ของเกาหลีใต้ ถึงกรณี ‘เหยียดเชื้อชาติ’ หลังล้อเลียนสำเนียงและท่าทางของ ฮันนิ (Hanni) สมาชิกวง New Jeans ระหว่างการเยือนรัฐสภาเกาหลีใต้ เพื่อเป็นพยานกรณีการกลั่นแกล้งในที่ทำงาน 

ฮันนิอายุ 20 ปี สัญชาติเวียดนาม-ออสเตรเลีย เธอเป็นหนึ่งในสมาชิกวง New Jeans เกิร์ลกรุ๊ปชื่อดัง ที่สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับวงการเพลงเกาหลีใต้จากค่าย Ador ซึ่งอยู่ภายใต้ HYPE Coperation ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว 

ทว่าเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ฮันนิต้องขึ้นเป็นพยานในการพิจารณาคดีกรณีการล่วงละเมิดในที่ทำงาน สืบเนื่องจากมีการร้องเรียนว่า HYPE เพิกเฉย เลือกปฏิบัติ และจงใจทำลายชื่อเสียงของ New Jeans ซึ่งเชื่อมโยงกับ ‘มหากาพย์’ ของ มิน ฮีจิน (Min Hee-jin) ผู้ปลุกปั้นเกิร์ลกรุ๊ปชื่อดัง และผู้ร่วมก่อตั้ง Ador หลังถูกปลดจากตำแหน่งเมื่อเดือนสิงหาคม ด้วยข้อกล่าวหาว่า เธอเตรียมแยกทางกับต้นสังกัดแม่ และจะพา New Jeans ออกจากค่าย

“ตั้งแต่ฉันเดบิวต์ในฐานะ New Jeans ฉันได้พบกับผู้ที่มีตำแหน่งสูงอยู่บ่อยครั้ง แต่เขาไม่เคยตอบรับคำทักทายฉันเลย” ส่วนหนึ่งในการให้ปากคำของฮันนิต่อคณะกรรมการแรงงานประจำรัฐสภาเกาหลีใต้ ถึงการถูกเพิกเฉยและละเลยจากต้นสังกัด

อย่างไรก็ตาม Saturday Night Live รายการตลกวาไรตีล้อเลียนของเกาหลีใต้ ได้นำฉากการขึ้นเป็นพยานของฮันนิมาล้อเลียน โดยมี จี เยอึน (Ji Yea-un) นักแสดงหญิง แต่งกายเหมือนฮันนิในการแสดงเพลง Blue Coral Reef รวมถึงล้อเลียนสำเนียงและคำพูดของเธอ

“ฉันมาที่นี่ เพราะฉันคือเหยื่อของการกลั่นแกล้งในที่ทำงาน ฉันทักทายเพื่อร่วมงานจากอีกทีม แต่ผู้มีอำนาจกลับพูดว่า ‘ไม่ต้องไปสนใจเธอ’ และนั่นมันทำให้ฉันเศร้า” 

จี เยอึนทำการแสดงก่อนที่ ชิน ดงยอบ (Shin Dong-yeob) พิธีกรและนักแสดงตลกเกาหลีใต้ชื่อดัง จะหยิบกระดาษทิชชูขนาดใหญ่ให้กับเธอ ขณะที่ คิม อึยซอง (Kim Eui-song) พิธีกรประจำรายการ แสดงเป็น จอง อินซอบ (Jung In-Sub) เจ้าของบริษัทฮันฮวาโอเชียน (Hanwha Ocean) ที่ถูกวิจารณ์ หลังพยายามขอเซลฟีกับฮันนิในการพิจารณาคดี

เสียงวิจารณ์จากสาธารณชน และข้อเรียกร้องของ Bunnies

ทันทีที่เผยแพร่รายการออกไป ทั้ง Bunnies (กลุ่มแฟนคลับของ New Jeans) และสาธารณชนทั่วไปต่างวิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสม โดยเฉพาะการลดทอนการต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมในอุตสาหกรรม K-Pop และการเหยียดเชื้อชาติ

“เด็กต่างชาติคนหนึ่งต้องใช้ความกล้าออกมาเปิดเผยเรื่องทั้งหมดในสภาที่ไม่ใช่บ้านเกิดของเธอ ฮันนิแสดงความเป็นผู้ใหญ่ตลอดการพิจารณา แล้วทำไมความกล้าหาญของเธอถูกนำมาล้อเลียน มันน่าโมโหมาก”

“นี่ปี 2024 แล้ว ฉันหวังว่า พวกเขาจะหยุดล้อเลียนภาษาคนต่างชาตินะ”

“ถ้าคนเกาหลีไปในสภาคองเกรส และถูก Saturday Night Live อเมริกันล้อเลียนบ้าง มันน่าจะเป็นข่าวหน้าหนึ่งไปแล้ว” 

เหล่านี้คือคอมเมนต์ส่วนหนึ่งของโลกโซเชียลฯ ของเกาหลีใต้ ขณะที่ Bunnies พยายามเรียกร้องให้รายการขอโทษฮันนิผ่านแฮชแท็ก #SNLKOREA_APOLOGIZE_TO_HANNI รวมถึงยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการมาตรฐานการสื่อสารเกาหลี โดยระบุว่า เนื้อหาของรายการละเมิดกฎข้อบังคับด้วยการล้อเลียนบุคคลให้เสื่อมเสียชื่อเสียง

ขณะนี้รายการ Saturday Night Live เกาหลีใต้ยังไม่ออกมาชี้แจงรายละเอียดใด ซึ่งก่อนหน้านี้ รายการได้ล้อเลียน ฮัน คัง (Han Kang) นักเขียนหญิงที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมคนแรกของประเทศ 

เกาหลีใต้กับประเด็นเหยียดเชื้อชาติที่ยังคุกรุ่น

เกาหลีใต้นับเป็นหนึ่งในประเทศที่การเหยียดเชื้อชาติยังคงแพร่หลาย สะท้อนจากผลสำรวจของ World Values Survey ว่า 15% ของชาวเกาหลีไม่ต้องการมีชาวต่างชาติเป็นเพื่อนบ้าน ซึ่งนับเป็นตัวเลขที่สูง หากเทียบความเห็นของคนอเมริกันอยู่ที่ 3%

การเหยียดเชื้อชาติถือเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่เกิดขึ้นในภาครัฐและประชาชน นอกจากปูมหลังด้านประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะการล่าอาณานิคม โคเรียไทม์ (Koreatimes) วิเคราะห์อย่างน่าสนใจว่า ความรุ่งโรจน์ทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ในปลายศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คนเกาหลีมองว่า ความเจริญทางเศรษฐกิจเป็นตัวชี้วัดเหนือกว่าความเจริญทางเชื้อชาติ โดยไม่จำเป็นต้องผูกโยงกับสีผิวหรือวัฒนธรรมเสมอไป

ครั้งหนึ่งในปี 2018 ชาวเกาหลีใต้เคยต่อต้านผู้อพยพชาวเยเมน 500 คนในเกาะเชจู (Jeju) ที่ขอสถานะผู้ลี้ภัย ภายหลังปรากฏว่า มีเพียง 2 คนที่สามารถอาศัยอยู่ในเกาหลีใต้ได้ ขณะที่รัฐบาลเกาหลีใต้เคยเผชิญเสียงวิจารณ์ถึงการเลือกปฏิบัติ หลังมีนโยบายห้ามชาวต่างชาติเปลี่ยนสถานที่ทำงานตามใจชอบ ห้ามผู้ลี้ภัยสมัครโครงการบ้านพักสาธารณะของประเทศ หรือแม้แต่กรณีร้อนแรงอย่างการที่สำนักคนตรวจคนเข้าเมืองกักตัวคนไทยไม่ให้เข้าประเทศอย่างไร้สาเหตุ 

อ้างอิง

https://thediplomat.com/2020/08/what-a-blackface-photo-says-about-south-koreas-racism-problem/

https://www.koreatimes.co.kr/www/opinion/2024/10/715_384559.html

https://www.koreatimes.co.kr/www/culture/2024/10/135_379248.html

https://www.koreatimes.co.kr/www/art/2024/10/398_384665.html

https://www.bbc.com/news/articles/cwyeredgklko

Tags: , , , , , , ,