หลังกรณีการหายตัวไปอย่างลึกลับของ ซาราห์ เอฟเวอราร์ด (Sarah Everard) วัย 33 ปี ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2021 กล้องวงจรปิดพบเธอครั้งล่าสุดตอนสามทุ่ม ขณะกำลังเดินบนถนนแห่งหนึ่งย่านแคลปแฮม ทางตอนใต้ของลอนดอน จนกระทั่ง 7 วันต่อมา เจ้าหน้าที่จะพบศพของเธอถูกยัดใส่กระเป๋าใบใหญ่ ทิ้งไว้ในป่ามณฑลเคนต์ จากคดีคนหายกลายเป็นคดีฆาตกรรมสะเทือนขวัญที่ถูกพูดถึงทั่วสหราชอาณาจักร
ต่อมา เวย์น เคาเซนส์ (Wayne Couzens) เจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลลอนดอน แผนกคุ้มครองทางการทูต วัย 48 ปี ถูกตั้งข้อหาลักพาตัวและสังหารเอฟเวอราร์ด ก่อนนำตัวขึ้นศาลเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ความตายของเธอสร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วโลกถึงการกระทำของเเจ้าหน้าที่ที่ทำงานพิทักษ์ความปลอดภัยของประชาชน แต่กลับรุกล้ำสิทธิของประชาชนด้วยการลักพาตัวและสังหารอย่างโหดเหี้ยม ลุกลามไปจนถึงการดีเบตทั้งในสภาและนอกสภา ต่อปัญหาความรุนแรงทางเพศที่ผู้หญิงอังกฤษต้องพบเจอทุกวัน
เมื่อข่าวนี้ถูกนำเสนอไปทั่วโลกในเวลาเพียงไม่กี่วัน เกิดการแบ่งปันประสบการณ์ที่ไม่น่าจดจำของผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิดเป็นจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ตำรวจรายงานว่าตั้งแต่คืนวันศุกร์ที่ผ่านมา (12 มีนาคม 2021) ได้รับรายงานมากกว่า 2 หมื่นครั้ง ส่วน เดวิด แลมมี่ (David Lammy) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สหราชอาณาจักรกล่าวว่า รัฐบาลจะต้องเพิ่มโทษอาชญากรรมร้ายแรงอย่างพวกชอบแอบตาม (Stalker) และนักโทษข่มขืน
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ผลักดันสิทธิสตรี เจสส์ ฟิลิปส์ (Jess Phillips) ได้นำรายชื่อเหยื่อจากคดีทำนองเดียวกันอีก 118 ราย ที่ถูกฆาตกรรมเมื่อปี 2020 เข้าไปอ่านในที่ประชุมสภา เพื่อให้รัฐบาลรับทราบถึงปัญหาสังคม และเรียกร้องว่าประเทศอังกฤษไม่ควรทำให้ผู้หญิงเกิดความรู้สึกหวาดกลัวเมื่อเดินอยู่บนถนนในตอนกลางคืน
แม้ก่อนหน้านี้ ผู้พิพากษาจะไม่อนุญาตให้ชาวอังกฤษจัดงานไว้อาลัยพร้อมกันทั่วประเทศ เนื่องจากขัดกับกฎห้ามรวมกลุ่มกันเพื่อป้องกันโรคระบาด แต่ประชาชนจำนวนมากหลั่งไหลมารวมตัวกันที่บริเวณแคลปแฮมคอมมอน (Clapham Common) ทางตอนใต้ของลอนดอน เพื่อวางดอกไม้และจุดเทียนไว้อาลัยแก่ความสูญเสียครั้งนี้ นอกจากนี้ ซึ่งแคเธอรีน ดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ หรือเคธ มิดเดิลตัน พระชายาในเจ้าชายวิลเลียม ก็ได้เดินทางมายังอนุสรณ์ของซาราห์ เอฟเวอราร์ด เพื่อร่วมวางดอกไม้ไว้อาลัยเช่นกัน
งานไว้อาลัยหลายวันที่ผ่านมาดำเนินไปอย่างสงบเรียบร้อยท่ามกลางความโศกเศร้า หลายคนชูป้าย ‘เธอแค่เดินกลับบ้าน’ หรือ ‘ตำรวจทุเรศ’ เคล้าเสียงก่นด่าเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ตรึงกำลังอยู่ในระยะห่างๆ ทว่าคืนวันที่ 13 มีนาคม 2021 ตามเวลาท้องถิ่น กลับเกิดเหตุรุนแรงที่เริ่มโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ
เจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาดูแลความสงบเรียบร้อย กลับตีวงล้อมประชิดกับผู้ชุมนุมเข้ามาเรื่อยๆ ก่อนปะทะกับผู้ชุมนุม มีคนจำนวนมากถ่ายคลิปวิดีโอตำรวจจับกุมตัวหญิงสาวหลายคนออกจากพื้นที่ ท่ามกลางเสียงก่นด่าและเสียงกรีดร้องของผู้อยู่ในเหตุการณ์
หลังความวุ่นวายสงบลง เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุถึงสาเหตุที่ต้องจับกุมตัวผู้ร่วมงานไว้อาลัยเป็นเพราะทำผิดฐานฝ่าฝืนกฎหมายสาธารณสุขจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 และข้อหาก่อความไม่สงบในพื้นที่สาธารณะ เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้นักการเมืองหลายคนของอังกฤษรู้สึกไม่พอใจกับการทำงานของเจ้าหน้าที่ ปริติ พาเทล (Priti Patel) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รวมถึง ซาดีก ข่าน (Sadiq Khan) นายกเทศมนตรีกรุงลอนดอน ยื่นหนังสือถึงสำนักงานตำรวจเพื่อขอคำอธิบายที่ดีกว่านี้ถึงการกระทำเมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา
แคโรไลน์ โนคส์ (Caroline Nokes) ประธานคณะกรรมการกลุ่ม Woman and Equalities Committee และสมาชิกสภาพรรคอนุรักษนิยม กล่าวว่าตนตกใจมากกับภาพที่เห็น เจ้าหน้าที่พุ่งเข้ารวบตัวหญิง กดเธอลงกับพื้น ใส่กุญแจมือและลากไปตามถนน ประชาชนในประเทศนี้จะไม่ยอมให้ตำรวจใช้ความรุนแรงและเหยียบย่ำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แบบนี้ เช่นเดียวกับ เกรซี่ แบรดลีย์ (Gracie Bradley) รักษาการผู้อำนวยการกลุ่มสิทธิมนุษยชนอังกฤษ ที่ประณามการกระทำของตำรวจ
“เจ้าหน้าที่ตำรวจมีวิธีมากมายที่จะขอให้ผู้ร่วมงานแยกย้ายกลับบ้าน พวกเขาสามารถประสานงานกับผู้จัดกิจกรรม และดูแลความสงบเรียบร้อย ทว่าตำรวจกลับเลือกใช้ความรุนแรง ทำให้ประชาชนของตัวเองตกอยู่ในสถานการณ์เสี่ยง” แบรดลีย์ กล่าวถึงการทำเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่
ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ต่างรู้สึกไม่พอใจกับการล้อมจับกลางงานไว้อาลัย เกิดการตั้งคำถามว่าเพราะเหตุใดเจ้าหน้าที่จึงต้องรอให้เข้าสู่ช่วงกลางคืนก่อน ถึงค่อยบุกจับประชาชน หลายคนเรียกร้องให้ เครสซิดา ดิ๊ก (Cressida Dick) ผู้บัญชาการตำรวจลาออกจากตำแหน่ง แสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำของเจ้าหน้าที่ใต้บังคับบัญชา และการทำงานบกพร่องใหญ่หลวง ไม่สามารถทำให้สตรีในอังกฤษรู้สึกปลอดภัยเมื่อเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะผู้คนหมดความไว้ใจกับผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ของตัวเอง
การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่พุ่งเข้าจับกุมผู้ร่วมงานไว้อาลัยหลายคน อาจมีส่วนสำคัญที่ตอกย้ำความเกลียดชังระหว่างชาวอังกฤษกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สุ่มเสี่ยงอาจเกิดการรวมตัวชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปบุคลากรในสำนักงานตำรวจในอนาคตอันใกล้นี้
ที่มา :
https://www.france24.com/en/live-news/20210313-police-officer-in-court-over-murder-that-shocked-uk
Tags: ซาราห์ เอฟเวอราร์ด, Report, Global Affairs, การเมืองอังกฤษ, สหราชอาณาจักร, Sarah Everard