นับแต่ปี 2018 เป็นต้นมา ความตื่นตัวเรื่องน้ำดื่มปนเปื้อนไมโครพลาสติกเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ก่อนหน้านี้องค์การอนามัยโลก (WHO) ก็เพิ่งออกรายงานที่บอกว่า พบอนุภาคพลาสติกขนาดเล็กมากในน้ำดื่มจากขวดพลาสติก ต่อมา เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม WHO ก็เผยแพร่รายงานใหม่ที่พบว่า น้ำดื่มจากขวดพลาสติกมีอนุภาคพลาสติกปนเปื้อนมากกว่าน้ำก็อกเล็กน้อย ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะขวดหรือฝา

การค้นพบนี้ทำให้มีความกังวลกันว่า มนุษย์อาจได้รับอันตรายจากไมโครพลาสติกที่ปนเปื้อนในน้ำดื่ม หรือจากเชื้อโรคที่ติดอยู่กับอนุภาคเหล่านี้  แต่ WHO ก็บอกว่า ยังไม่พบอันตรายต่อร่างกายของมนุษย์ และเรียกร้องให้มีการประเมินไมโครพลาสติกในสิ่งแวดล้อมและผลกระทบของมันต่อสุขภาพของมนุษย์มากกว่านี้

รายงานระบุว่า ช่วงหลายสิบปีมานี้ การผลิตพลาสติกเติบโตมหาศาล และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกเป็นสองเท่าภายในปี 2025 ซึ่งจะยิ่งทำให้มีอนุภาคพลาสติกกระจายอยู่ในแหล่งน้ำ ท่อ แก้วน้ำ ลำคอ ไปจนถึงในท้อง นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่พบว่า น้ำดื่มบรรจุขวดก็ยังมีองค์ประกอบของโพลีเมอร์ที่ใช้ในขวดน้ำและฝาขวดปนอยู่

อย่างไรก็ตาม จากหลักฐานที่มีอยู่อย่างจำกัด ผลกระทบจากสารเคมีและจุลินทรีย์ขนาดเล็กที่เกี่ยวข้องกับพลาสติกในน้ำดื่มต่อสุขภาพมนุษย์นั้นไม่น่ากังวลนัก แม้ว่าจะยังไม่มีข้อมูลมากพอที่จะสรุป โดย WHO ระบุว่า ตอนนี้ ความกังวลว่ามันจะเป็นอันตรายต่อร่างกายนั้น ไม่ได้วางอยู่บนหลักฐานทางวิทยาศาสตร์

ไมโครพลาสติกที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางขนาดมากกว่า 150 ไมโครเมตร ซึ่งเทียบได้กับเส้นผ่าศูนย์กลางของเส้นผมน่ากังวลน้อยที่สุด เพราะมันสามารถเคลื่อนที่ผ่านร่างกายมนุษย์ สามารถผ่านผนังของลำไส้และอาจติดค้างอยู่ได้ แต่นักวิจัยเชื่อว่า มันไม่สามารถสะสมมากในปริมาณที่เป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ได้ ทั้งนี้แม้ว่ามีข้อมูลไม่มากพอที่จะสรุปถึงความเป็นพิษของอนุภาคขนาดนาโน แต่ก็ไม่มีข้อมูลที่น่าเชื่อได้เช่นกันว่ามันน่ากังวล

รายงานบอกด้วยว่า ยังไม่จำเป็นที่จะต้องเฝ้าระวังการดื่มน้ำว่าจะมีไมโครพลาสติกปนเปื้อนหรือไม่ เพราะควรจะให้ความสนใจกับไวรัสและแบคทีเรียที่เป็นอันตรายมากกว่า มีประชากร 2 พันล้านคนขาดโอกาสในการเข้าถึงน้ำดื่มที่ปราศจากสิ่งเจือปน

บรูซ กอร์ดอน หนึ่งในผู้เขียนรายงานนี้กล่าวว่า โดยสรุปก็คือ ผู้บริโภคไม่ต้องกังวลเกินไปนัก อย่างไรก็ตาม ก็ต้องมีงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้นอีก จากข้อมูลที่มีอยู่อาจจะเห็นว่า มีความเสี่ยงน้อย แต่ก็บอกไม่ได้ว่าในอนาคตจะไม่มีความเสี่ยงอีก แต่ทางที่ดีที่สุดก็คือ ลดมลภาวะจากพลาสติกด้วยการเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ส่งเสริมการรีไซเคิล และหาตัวเลือกอื่นๆ นอกจากพลาสติก

 

ที่มา:

 

ภาพ: Gettyimages

Tags: , , ,