ตลอดช่วงเดือนเมษายน 2564 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยยังคงน่าเป็นห่วง ตัวเลขผู้ป่วยยังคงอยู่ใน ‘หลักพัน’ ต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 2 แม้จะลดลงจากระดับ 2,000 คน มาเหลือ 1,800 คนแล้ว แต่ก็ยังไม่อาจไว้ใจได้ว่าจะลดลงต่อไป
ปัญหาสำคัญ ณ เวลานี้ของทางรัฐบาลและสาธารณสุขจึงไม่ใช่แค่การจัดหาวัคซีนเพื่อสร้าง ‘ภูมิคุ้มกันหมู่’ และเปิดประเทศเท่านั้น หากแต่เป็นการทำอย่างไรให้จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ‘เข้าถึงการรักษา’ ได้อย่างทันท่วงที โดยเฉพาะเมื่อการแพร่ระบาดระลอก 3 นี้ เป็นสายพันธุ์จากประเทศอังกฤษ ที่ไม่แสดงอาการต่อผู้ป่วยในระยะแรก ซึ่งหมายความว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่รอรับการรักษาจากทางโรงพยาบาลนั้นเป็นประเภท ‘อาการเข้าขั้นวิกฤต’ เสียส่วนใหญ่ และตามมาด้วยปัญหาหลักที่ว่า ‘เตียง’ และห้องไอซียูแต่ละโรงพยาบาลไม่พอรับผู้ป่วยจำนวนมากในตอนนี้ โดยที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกมายอมรับเองว่า ห้องไอซียูกำลัง ‘ตึงมือ’ ขึ้นไปถึงกว่า 80% และแน่นอนว่าอาจมีปัญหามากขึ้น หากตัวเลขผู้ป่วยหนักมีมากขึ้นไปอีก ซึ่งขณะนี้ก็มีมากกว่า 786 คนแล้ว
The Momentum มีโอกาสได้พูดคุยและรับฟังความคิดเห็นจาก ‘นายแพทย์ เรวัต วิศรุตเวช’ อดีตอธิบดีกรมการแพทย์ และ ส.ส. พรรคเสรีรวมไทย ถึงปัญหาระบบการจัดผู้ป่วยโควิด-19 ตั้งแต่เตียงผู้ป่วยที่ไม่พอรองรับ, ระบบสายด่วนแจ้งเหตุที่ไม่เข้าถึงประชาชน, ข้อเสนอแนะการช่วยเหลือผู้ป่วย และความเชื่อมั่นต่อระบบสาธารณสุข ว่าจนถึงวันนี้ ในฐานะอดีตข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข คิดว่าระบบนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป
นพ.เรวัตเริ่มอธิบายถึงสถานการณ์ขาดแคลนเตียงผู้ป่วยโควิด-19 ในกรุงเทพฯ ที่แทบจะไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ติดเชื้อทุกขณะว่าเป็นปัญหาที่ ‘ใหญ่และสำคัญมากในเวลานี้’
“วิกฤตเตียงผู้ป่วยโควิด-19 ในกรุงเทพฯ ตอนนี้ถือว่าค่อนข้างหนัก ด้วยขนาดจังหวัดที่ใหญ่และจำนวนผู้คนที่มากตามยิ่งเสี่ยงให้เกิดวิกฤตมากกว่าจังหวัดอื่นๆ ทั่วไป ซึ่งจำนวนผู้ป่วยที่ยังรอเข้ารับการรักษา ถึงวันนี้ ตัวเลขก็ยังคงไม่แน่ชัด เพราะยังขาดฐานข้อมูล จึงเกิดปัญหาหลักที่ว่า หากต้องการเตียงผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อเข้าแอดมิต ก็ไม่มีทางรู้ได้เลยว่าโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชนใดบ้างที่ยังพอว่างรองรับอยู่เหลืออีกกี่แห่ง อย่างที่เป็นข่าวว่าผู้ป่วยพยายามโทรติดต่อไปยังสายด่วน 1668 หรือ 1669 ก็แทบไม่มีคนรับสายเพื่อตอบคำถามดังกล่าวได้
“อย่างที่เราทราบกันดีว่า ในโควิดระลอกที่ 3 นี้ เป็นสายพันธุ์ที่มาจากประเทศอังกฤษ ซึ่งติดต่อเชื้อกันได้ง่ายและรวดเร็ว จากที่ระลอกก่อนๆ อัตราการติดเชื้ออยู่ที่พาหะ 1 คน สู่การขยายวงกว้างไปยังผู้ป่วยคนอื่นที่ประมาณ 1 คน หรือ R0 = 1 แต่ปัจจุบัน R0 อยู่ที่ 2.27 เราจึงเห็นผู้ป่วยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเฉลี่ยวันละ 1,000-2,000 ราย อีกข้อสำคัญและอันตรายยิ่งกว่าจำนวนที่แพร่กระจายได้รวดเร็วคือ อาการป่วยที่รุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม เห็นได้ชัดจากสถิติอัตราส่วนที่ผู้ป่วยโควิดระลอก 3 กว่า 20% มีอาการหนัก และอีก 5% ถึงขั้นวิกฤตจนต้องเข้าไอซียู”
อดีตอธิบดีกรมการแพทย์ยังอธิบายต่อถึงวิกฤตผู้ป่วยโควิด-19 จำนวนมากที่ต่อคิวเข้ารับการรักษายังโรงพยาบาลว่า เป็น ‘วิกฤตล้นคอขวด’ ซึ่งถึงแม้ตอนนี้จะมีการแก้ไขสถานการณ์เบื้องต้นด้วยการขอหยิบยืมพื้นที่จากภาคเอกชนเพื่อตั้งเป็นศูนย์โรงพยาบาลภาคสนาม โดยนำผู้ป่วยราว 80% ที่อยู่ในกลุ่มสีเขียวอาการยังไม่รุนแรงเข้ารับการดูแลเบื้องต้น เแต่ทว่าอีก 20% ที่เป็นกลุ่มสีแดงและมีอาการขั้นรุนแรงน่าเป็นห่วงกลับยังต้องรอคอยเตียงผู้ป่วยจากทางโรงพยาบาลอยู่
“จำนวนเตียงว่างที่ทาง ศบค. พูดถึง ก่อนอื่นต้องแยกให้ชัดเจนว่าเตียงที่ว่างจำกัดไว้เพื่อผู้ป่วยโควิด-19 จริงๆ หรือเปล่า นอกจากเตียงแล้วยังหมายถึงต้องแยกวอร์ดหรือแยกชั้นจากผู้ป่วยโรคอื่นๆ อีกด้วย เพราะเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่า ผู้ป่วยโควิดรายใหม่ที่กำลังจะเพิ่มขึ้นจะเป็นในส่วนของ 20% หรือ 80% ทีนี้ด้วยจำนวนผู้ป่วยที่รอคิวเป็นจำนวนมากบางรายจากที่อาการน้อย รอผ่านไป 1-2 อาทิตย์ อาการก็รุนแรงหนักขึ้นจนถึงขั้นเสียชีวิต ทั้งที่ความจริงแล้ว ระหว่างที่ผู้ป่วยรอคิวเตียงรักษาจากทางโรงพยาบาลพวกเขาควรจะได้ยารักษาบรรเทาอาการเสียก่อน”
“ถึงแม้คุณจะไม่มีเตียงให้ผู้ป่วย แต่คุณควรให้ผู้ป่วยได้รับการประเมินอาการให้เร็วที่สุด แล้วเร่งจ่ายยาบรรเทาอาการให้เพราะยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ที่ใช้บรรเทาอาการโรคโควิด เพราะผู้ป่วยเองระหว่างรอก็ไม่สามารถหาซื้อได้จากร้านขายยาทั่วไป จากนั้นค่อยใช้ระบบคอยติดตามอาการผู้ป่วยจากที่บ้านก็ไม่เสียหาย ดีกว่าปล่อยให้เขารอจนตาย อย่างตอนนี้ผมก็ขอร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสั่งยาชนิดนี้เข้ามาเพิ่มอีก 5-10 ล้านโดส และถ้าเป็นไปได้ ก็ควรมีเครื่องวัดความดันหรือเครื่องทำออกซิเจนให้คนป่วยได้นำไปใช้ด้วย ผมอยากให้รัฐบาลหรือทาง สธ. พิจารณาถึงวิธีการนี้ ดีกว่าปล่อยให้บุคลากรที่มีคุณภาพเสียชีวิตจากโรคนี้ต่อเนื่องลงทุกวัน”
นายแพทย์ เรวัต วิศรุตเวช’ อดีตอธิบดีกรมการแพทย์และ ส.ส. พรรคเสรีรวมไทย
ด้านประเด็นที่หลายฝ่ายอยากทราบจากทางหน่วยงานรัฐและ สธ. ถึงคำตอบที่ว่า ในเมื่อมีเตียงผู้ป่วยโควิดรองรับอยู่หลายหมื่นที่ แต่เหตุใดยังมีผู้ป่วยออกมาเรียกร้องขอความช่วยเหลือต่อเนื่องรายวัน รวมถึงปัญหาระบบสายด่วนฉุกเฉินที่ไร้ประสิทธิภาพจนมีผู้ป่วยเสียชีวิต ทาง นพ.เรวัตแสดงความคิดเห็นว่า หากเตียงพอจริง จะไม่เกิดเหตุการณ์ที่ผู้ป่วยออกมาเรียกร้องว่ายังไม่ได้เข้ารับการรักษา ซึ่งก็ไม่ทราบว่าเพราะเหตุใด ศบค. ถึงแถลงไปแบบนั้น แต่อาจเป็นเพราะไม่มีฐานข้อมูลที่แน่ชัดมากพอ ฉะนั้น ช่วงเวลาวิกฤตที่ประชาชนต้องการความมั่นใจจากรัฐบาลและหน่วยงาน ศบค. ควรต้องแถลงการณ์อย่างโปร่งใส อย่าได้คิดเล่นเกมการเมืองใดๆ และคำนึงถึงชีวิตผู้ป่วยสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง
“ส่วนเรื่องการทำงานสายด่วนฉุกเฉิน ผมมองว่าต้องมีการปรับระบบสื่อสารโดยเร่งด่วน เพราะปัจจุบัน สาธารณสุขไม่สามารถตอบตัวเลขจำนวนเตียงผู้ป่วยโควิดที่ว่างอยู่ได้ หรือถึงตอบได้ก็เป็นจำนวนตัวเลขที่ไม่แน่ชัด”
“สำหรับตัวผมเอง ผมทราบมาว่าขณะนี้มีภาคเอกชนหลายแห่งที่ช่วยดำเนินการพัฒนาแอพพลิเคชันฐานข้อมูลผู้ป่วยที่อัพเดตตลอดเวลา รวมถึงแชตบอทสำหรับให้ข้อมูล และเชื่อมโยงเข้ากับระบบแอดมิดของทางโรงพยาบาล โดยไม่ได้เรียกร้องเงินทองใดๆ เพราะบางที่ก็เชิญผมให้ไปช่วยพัฒนาข้อมูลทางการแพทย์เพื่อแอพพลิเคชันนี้ด้วย อย่างคนที่ผมรู้จักและเป็นหนึ่งในผู้พัฒนาเองก็เป็นเพื่อนกับอัพ (กุลทรัพย์ วัฒนผล) เกมเมอร์หนุ่มที่เสียชีวิตไป เขาจึงตั้งคำถามว่า ในเมื่อตัวเขาเคยป่วยและได้รับการรักษา แต่เหตุใดเพื่อนเขาจึงต้องรอจนเสียชีวิต”
The Momentum ถามนายแพทย์เรวัตต่อ ถึงประเด็นในการทำงานของระบบกระทรวงสาธารณสุข ที่ประชาชนหลายฝ่ายตั้งคำถามเกี่ยวกับการทำงาน ที่บางครั้งอาจ ‘ไม่ทัน’ กับสถานการณ์ผู้ป่วยที่พุ่งสูงขึ้นทุกวัน จนเกิดเหตุการณ์ที่ว่าประชาชนต้องออกมาเรียกร้องผ่านบนโลกโซเชียลเพื่อขอเข้ารับการช่วยเหลือ ว่าสำหรับตัวเขาที่เคยเป็นอธิบดีกรมการแพทย์และเคยทำงานกับทาง สธ. มาก่อน มีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง
“จากที่เคยทำงานกับกระทรวงสาธารณสุขมาเป็นระยะเวลา 30 กว่าปี ผมเองยังเชื่อมั่นในการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข ถ้าหน่วยงานได้ทำงานอย่างอิสระตั้งแต่ต้น เพราะบุคลากรส่วนใหญ่มีองค์ความรู้ในด้านโรคระบาดอย่างสูง ทว่าเมื่อก่อน เราไม่มีหน่วยงานความมั่นคงเข้ามามีส่วนร่วมและมีบทบาทนำในการทำงานดั่งสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ซึ่งผมเกรงว่าบุคลากรทางการแพทย์ของกระทรวงฯ จะถูกควบคุมโดยฝ่ายความมั่นคงและปราศจากอำนาจการตัดสินใจปฏิบัติการที่มากพอ”
“ถ้าจะให้พูดชัดเจนคือ ไม่ควรมี ศบค. ตั้งแต่ต้น เพราะจากการทำงานมาปีกว่า ศบค. ทำงานอย่างคลุมเครือไม่ชัดเจน ยกตัวอย่างง่ายๆ ศบค. บอกจำนวนผู้ป่วยใหม่แต่ละวัน แต่ไม่เคยบอกว่าตรวจประชาชนไปทั้งหมดแล้วกี่ราย ซึ่งถ้าคุณบอก ประชาชนจะมีสิทธิวางแผนการใช้ชีวิตได้มากกว่านี้ หรือเพราะจำนวนที่คุณสุ่มตรวจน้อยเกินไปหรือเปล่า มันจึงเกิดผลเสียตามมาที่ว่า เมื่อจำนวนสุ่มตรวจน้อยวงจรการแพร่ระบาดก็จะไม่จบสิ้น ยกเว้นเสียแต่ว่าคุณมีวัคซีนในมือพร้อมฉีดให้แก่ประชาชนจนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้”
สุดท้าย นพ.เรวัตได้ทิ้งท้ายถึงข้อเสนอแนะการจัดการให้มีเตียงรักษาเพียงพอผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อผ่านวิกฤตการแพร่ระบาดในระลอก 3 นี้ว่า ควรแก้ไขอย่างไรบ้าง
“ผมคิดว่าควรมีศูนย์ฐานข้อมูลให้ประชาชนทราบว่ามีจำนวนเตียงผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชนว่างเหลืออยู่กี่ที่ โดยเว้นแยกจากเตียงที่ไว้ให้สำหรับผู้ป่วยถึงขั้นไอซียูโดยเฉพาะ และควรมีการบริหารโยกย้ายผู้ป่วยที่ฉับไวมากยิ่งขึ้น จากเดิมที่ต้องรอประเมินอาการ 24 วัน อาจเหลือเพียง 7-14 วัน หากอาการดีขึ้นก็ควรจ่ายยาให้ผู้ป่วยกลับไปรักษาอาการต่อที่บ้าน และควรมีระบบติดต่อสื่อสารให้แพทย์คอยติดตามสถานะอาการผู้ป่วยต่อไป ทีนี้ก็จะมีเตียงผู้ป่วยหมุนเวียนให้ใช้งานมากยิ่งขึ้น
“สิ่งสำคัญที่จะสามารถให้ผู้ป่วยอาการไม่รุนแรงกลับไปกักตัวอาการป่วยที่บ้านคือ จำเป็นต้องมีการติดตามอาการผู้ป่วยต่อเนื่อง กับทำอย่างไรให้ผู้ป่วยสามารถกักตัวได้ตามกฏเพื่อไม่ให้เสี่ยงออกไปแพร่เชื้อต่อผู้อื่น ไปจนถึงประเมินสภาพแวดล้อมของบ้านผู้ป่วยว่าสามารถกักตัวได้หรือไม่ และหากกรณีฉุกเฉินต้องนำรถพยาบาลมาเข้ารับตัวต้องทำอย่างไร ซึ่งผมมีปรึกษากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแผนตรงจุดนี้แล้ว”
ภาพ: รัฐบาลไทย
Tags: นพ.เรวัตวิศรุตเวช, วิกฤตเตียงผู้ป่วยโควิด, สาธารณสุข, covid19, ศบค., โควิดระลอก3