วันนี้ (6 กรกฎาคม 2566) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ไอลอว์ (iLaw) และเครือข่ายภาคประชาชนร่วมกันเปิดแคมเปญ ‘Respect My Vote’ เชิญชวนประชาชนร่วมติดตามและส่งเสียงถึงสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ถึงการลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 30 ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ในงานเสวนา ‘เคารพผลเลือกตั้ง ฟังเสียงประชาชน’ โดยตอนหนึ่ง มณเฑียร บุญตัน ส.ว.กล่าวว่า จะลงมติตามเสียงข้างมากของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หมายความว่า เสียงไปทางไหน ส.ว.ก็ควรไปทางนั้น ไม่ควรต้องใช้ดุลยพินิจใดๆ โดยหลักการเช่นนี้เป็นหลักเดียวกับตอนจัดตั้งรัฐบาลปี 2562 เพราะเลือกตามเสียงข้างมากเช่นกัน 

ผู้ดำเนินรายการถามต่อว่า คิดว่ามีเงื่อนไขอื่นอีกหรือไม่ที่จะเปลี่ยนทิศทางการโหวตของ ส.ว. มณเฑียรตอบว่า การนำเสนอเกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ก็มีผล แต่ ส.ว.ไม่ได้มีการประชุมกันอย่างเป็นทางการ ดังนั้น จึงไม่สามารถตอบอะไรแทนคนอื่นได้ และถึง ส.ว.จะแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว มาตรา 44 ก็ยกเลิกไปแล้วเช่นกัน การเปลี่ยนผ่านในตอนนี้จึงไม่ได้เป็นรูปแบบพิเศษ เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงจากรัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตยชุดหนึ่งไปอีกชุดหนึ่งเท่านั้น

ภาพ: ชนากานต์ เหล่าสารคาม

ขณะที่ อลงกรณ์ พลบุตร รักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนให้สัมภาษณ์ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2566 หลังการเลือกตั้ง 1 วันไว้แล้วว่า ตามรัฐธรรมนูญระบุให้ทั้ง ส.ส.และ ส.ว.ต้องเคารพปวงชนชาวไทย หากแต่ ส.ว.มาจากการแต่งตั้งและมีสิทธิ มีอำนาจในการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี เมื่อประชาชนส่งเสียงมาแล้วว่าอยากเปลี่ยนขั้วรัฐบาล ก็ไม่มีสิทธิใดๆ ที่จะไปคัดง้างกับเสียงของประชาชน ดังนั้น การเลือกตั้งจึงเป็นประชาธิปไตยสายตรง แต่ต้องยอมรับว่า 90 ปีประชาธิปไตยของไทยเป็นระบบเสียงข้างมาก-ข้างน้อย การรวมเสียงได้ 312 เสียงจาก 8 พรรค ถือเป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพและไม่ปริ่มน้ำ ดังนั้น พิธา ลิ้มเจริญรัตน์จึงไม่ใช่แคนดิเดตแค่ในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกล หากแต่เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลเสียงข้างมาก

ภาพ: ชนากานต์ เหล่าสารคาม

อลงกรณ์กล่าวด้วยว่า เมื่อ ส.ว.กล่าวว่า การเลือกตั้งปี 2562 และ 2566 เป็นประชาธิปไตยแบบมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข การยอมรับความพ่ายแพ้คือการเริ่มต้นของการแข่งขันใหม่อีก 4 ปีข้างหน้า อีกทั้งพรรคประชาธิปัตย์จะมีการประชุมเลือกหัวหน้าพรรคใหม่ในวันที่ 9 กรกฎาคม 2566 ที่จะถึงนี้ ดังนั้น มติของพรรคจึงขึ้นอยู่กับมติการประชุมของพรรคในวันนั้นว่า หัวหน้าพรรคคนใหม่และ ส.ส.คนอื่นๆ รวม 25 คน จะมีมติโหวตนายกรัฐมนตรีในวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ที่จะถึงนี้อย่างไร

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือประเทศไทยเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ดังนั้น การเลือกตั้งของประชาชนจึงเป็นทางเลือกผ่านการเลือกของเหล่า ส.ส.อีกที ในฐานะประชาชนจึงเสมือนเลือก ส.ส.และนายกรัฐมนตรีไปพร้อมกัน ดังนั้น ส.ส.จึงควรฟังเสียงของประชาชนให้มากและปฏิบัติตามเสียงของพวกเขาในฐานะที่ ส.ส.เป็นผู้แทน

ปริญญากล่าวอีกว่า หากเป็นสถานการณ์ปกติ สิทธิและเสียงของ ส.ส.ที่ใช้โหวตนายกฯ ทั้งหมดอยู่ที่ 500 เสียง ตามจำนวนที่นั่งในรัฐสภา คะแนน 312 เสียงถือว่าสูงมากและมากกว่ากึ่งหนึ่งพอสมควร แต่ในขณะนี้กลับไม่พอเพราะว่า ส.ว.อีก 250 เสียง ก็เป็นตัวแปรสำคัญในการพลิกขั้วรัฐบาลได้เช่นเดียวกัน สืบเนื่องมาจากบทเฉพาะกาลที่รัฐบาลจากรัฐประหารสร้างเอาไว้เพื่อคงอำนาจในฝั่งตัวเอง ถึงแม้ว่าตอนนี้จะมี ส.ว.จำนวนหนึ่งที่กล่าวว่าจะยกมือโหวตตามเสียงข้างมาก หากแต่ก็ยังไม่สามารถนิ่งนอนใจได้

ภาพ: ชนากานต์ เหล่าสารคาม

อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเน้นย้ำถึงการรับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมาว่า มีความเล่นแง่และฉ้อฉลกับประชาชนอย่างมาก ตั้งแต่การระบุไม่ชัดเจนและการมัดมือชกว่า ต้องรับร่างฯ เพราะมิฉะนั้น มาตรา 44 ก็จะถูกบังคับใช้ต่อไปเรื่อยๆ ดังนั้น ข้อแรก ส.ว.จึงไม่ควรกล่าวว่าประชาชนยอมเพราะสถานการณ์ตอนนั้นบีบบังคับ และข้อต่อมา การพูดถึงการงดออกเสียงที่ตอนร่างรัฐธรรมนูญระบุว่า ให้เสียงต้องมากกว่ากึ่งหนึ่ง ดังนั้น การงดออกเสียงจึงหมายถึงการไม่เลือก ไม่ใช่การปิดสวิตช์ดังที่กล่าวอ้าง

นอกจากนี้ ตามมาตรา 144 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ยังระบุว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย หากแต่ส ส.ว.ไม่ได้มาจากประชาชน ดังนั้น ส.ว. จึงควรฟังเสียงของประชาชนและควรโหวตตามเสียงข้างมาก อีกทั้งปริญญายังเน้นย้ำทิ้งท้ายว่า ส.ว. สามารถปิดสวิตช์และฟรีโหวตได้ไม่ใช่ฟังคำสั่งแค่เพียงจากผู้ที่แต่งตั้งมา

ภาพ: ชนากานต์ เหล่าสารคาม

Tags: , , , , ,