วันนี้ (27 มิถุนายน 2566) ที่อาคารรัฐสภา พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล นำ ส.ส.ใหม่รายงานตัว 151 คน พร้อมกับสวมเสื้อยืดสีขาวสกรีนข้อความว่า ‘เราคือผู้แทนราษฎร เรามาจากประชาชน’ และสวมเสื้อสูทคลุมทับ โดยพิธาให้สัมภาษณ์สื่อตอนหนึ่งระบุว่า วันนี้เป็นการนำ ส.ส. 151 คน มารายงานตัว ซึ่งจำนวนมากกว่าครั้งที่แล้ว ที่มีราว 83 คน หรือมากกว่าเดิมราวเท่าหนึ่ง

“สิ่งสำคัญไม่ใช่เรื่องของตัวเลข หากแต่เป็นการทำหน้าที่ให้สมกับที่ประชาชนเลือกมา เรามีกฎหมายก้าวหน้าสำคัญๆ สำหรับประชาชนหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น LGBTQIA+ คนพิการ เอสเอ็มอี (SMEs) หรือว่าแรงงาน ในสภาฯ ชุดที่แล้วมีหลายเรื่องที่จะทำ แต่ถูกปัดตกไป คราวนี้หวังว่าจะทำให้ได้ ให้ระบบนิติบัญญัติสามารถทำให้ฝ่ายบริหารสามารถแก้ปัญหาให้กับประชาชนได้จริงๆ”

พิธายังระบุอีกด้วยว่า สำหรับเหตุผลที่เลือกวันที่ 27 มิถุนายน 2566 เป็นเพราะติดโควิด-19 ก่อนหน้านี้ ทำให้ไม่สามารถมารายงานตัวได้ และวันที่ 27 มิถุนายน ก็มีความสำคัญกับประวัติศาสตร์ชาติไทยพอสมควร วันนี้จึงเป็นนิมิตหมายที่ดี

ทั้งนี้ เรื่องคะแนนเสียงที่ต้องการจาก ส.ว.อีก 64 เสียง จากการที่ได้พูดคุยกับ ส.ว.ไม่ได้กังวลใจ และ ส.ว.หลายคนเองมีดุลพินิจ มีหลักที่ใช้ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นบรรทัดฐานเดียวกับที่เคยทำไว้เมื่อปี 2562 ซึ่งตอนนั้น หากสภาล่างสามารถรวมเสียงได้เกิน 250 คน ส.ว.ก็จะโหวตไปตามนั้น เพราะฉะนั้น หากบรรทัดฐานเป็นอย่างนั้น ภาพรวม ส.ว. 250 คน ก็น่าจะลงคะแนนเป็นไปตามหลักการที่วุฒิสภาน่าจะยึดให้มั่น ไม่ใช่เรื่องบุคคลว่าจะโหวตให้พิธาหรือไม่โหวตให้พิธา แต่ถ้า ส.ว.ยึดหลักการให้มั่น ก็ไม่มีอะไรน่ากังวลใจ

พิธายังตอบคำถามสื่อมวลชน ยืนยันสิ่งที่ ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกลระบุว่า มีเสียง ส.ว.มากขึ้นตามลำดับ รวมถึงขณะนี้มีเสียง ส.ว.มากพอที่จะทำให้ตัวเขาเองเป็นนายกรัฐมนตรี

“ยืนยันกับพี่น้องประชาชน ว่าสิ่งที่คุณศิริกัญญาพูดไว้เป็นเรื่องจริง เราทำงานเต็มที่ พยายามทำลายกำแพง และสร้างความเข้าใจกันระหว่างสองสภาอยู่แล้ว ทั้งหมดมีความคืบหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ”

หัวหน้าพรรคก้าวไกลยังตอบคำถามที่ว่า ส.ว.หลายคนใช้การแก้ไขประมวลกฎหมายมาตรา 112 เป็นเหตุผลในการไม่โหวตเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีว่า พรรคก้าวไกลพูดหลายเวทีตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งว่า การแก้ไขมาตรา 112 จะเป็นทางออกให้สังคมไทย เพราะการใช้มาตรา 112 เป็นเครื่องมือทางการเมือง รังแกคนเห็นต่าง รวมถึงเยาวชน ไม่ได้เป็นผลดีกับสถาบันใดเลย และการรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ต้องแก้ไขตามบริบทของสังคมที่เปลี่ยนไป เพราะฉะนั้น เชื่อว่าการแก้ไขมาตรา 112 จะไม่เป็นประเด็นที่ทำให้เส้นทางการตั้งรัฐบาลสะดุดลง พร้อมกับย้ำว่า สิ่งที่พรรคก้าวไกลเสนอคือแก้ไข ไม่ใช่ยกเลิก ซึ่งหลายฝ่ายเองเข้าใจมากขึ้น ทั้งนี้ การรักษาประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ต้องทำให้เหมาะสมกับสังคมที่เปลี่ยนผ่านไปเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม พิธายังระบุด้วยว่า หาก ส.ว.บางคนจะไม่โหวตให้ด้วยเรื่องนี้ ก็อาจเป็นเรื่องที่ต้องกังวล เพราะดูเป็นการเอาเสียงที่ประชาชนเลือกมาปะทะกับสถาบันฯ โดยตรง เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมและอันตราย ฉะนั้น ขออย่านำเรื่องนี้มาเป็นข้ออ้าง

ขณะที่ประเด็นประธานสภาผู้แทนราษฎร พิธาตอบคำถามสื่อมวลชนว่า จะมีการแถลงข่าวร่วมกันกับพรรคเพื่อไทยในวันพรุ่งนี้ (28 มิถุนายน 2566) และการทำงานในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลยังคงไม่มีปัญหาหรืออุปสรรคใดๆ

ขณะเดียวกัน หัวหน้าพรรคก้าวไกลยังตอบคำถามผู้สื่อข่าวต่างประเทศถึงกรณี ‘หยก’ ไม่สวมชุดนักเรียนเข้าโรงเรียน และเกิดข้อขัดแย้งกับโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการว่า นโยบายการศึกษาที่ดีควรต้องฟังเสียงของนักเรียนด้วย ไม่ใช่เฉพาะเสียงของครู เสียงของรัฐมนตรี หรือเสียงของผู้ปกครอง แต่นักเรียนควรได้ส่งเสียงออกมาว่าโรงเรียนควรเป็นอย่างไร และผู้บริหารจะบริหารโรงเรียนอย่างไร

Tags: , ,