วันนี้ (7 ธันวาคม 2565) ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา มีมติ ‘ไม่รับหลักการ’ ร่างแก้รัฐธรรมนูญของคณะก้าวหน้าเรื่องแก้ไขมาตรา 14 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 เพื่อให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากขึ้น สามารถจัดการบริการสาธารณะได้ด้วยตัวเอง ให้ท้องถิ่นได้งบประมาณอย่างน้อย 50% จากรายได้ของรัฐ ห้ามส่วนกลางก้าวก่ายท้องถิ่น และให้มีการทำประชามติเพื่อยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคภายใน 5 ปี ซึ่งมีประชาชนร่วมลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญรวมทั้ง 80,772 รายชื่อ และสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบรายชื่อ มีเอกสารครบถ้วน จำนวน 76,591 รายชื่อ โดยผลการลงมติของที่ประชุมร่วมพบว่า เสียงรับหลักการมีทั้งสิ้น 254 เสียง ไม่รับหลักการทั้งสิ้น 245 เสียง และงดออกเสียง 129 เสียง เสียงรับหลักการมีจำนวนน้อยกว่ากึ่งหนึ่ง คือน้อยกว่า 361 เสียง โดยในจำนวนนี้มี ส.ว. เห็นชอบเพียง 6 คะแนน ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญของคณะก้าวหน้าเป็นอันตกไป ไม่ได้รับการพิจารณาต่อในวาระที่หนึ่ง

สำหรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว มีบุคลากรจากคณะก้าวหน้า อาทิ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า, ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า รวมถึงนักวิชาการอย่าง วีระศักดิ์ เครือเทพ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย เป็นผู้นำเสนอร่าง โดยมีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวางเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 โดย ส.ส.ฝ่ายค้านส่วนใหญ่ ได้แก่ พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล ลงคะแนนเห็นชอบ

ในทางตรงกันข้าม ส.ว.บางส่วนคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวอย่างรุนแรง อาทิ เสรี สุวรรณภานนท์ เห็นว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ เห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวเป็นผลไม้พิษ ทำให้รัฐบาลกลางเป็นรัฐบาลเป็ดง่อย องค์การบริหารส่วนตำบลจะเต็มไปด้วยผู้มีอิทธิพลและพ่อค้ายาเสพติด โดยเสียง ส.ว. ถือเป็นเสียงส่วนใหญ่ในการโหวต ‘ไม่รับหลักการ’ ซึ่งการแก้รัฐธรรมนูญนั้นต้องอาศัยเสียง ส.ว. ไม่ต่ำกว่า 84 เสียง ในการเห็นชอบ ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่ผ่านการพิจารณาของที่ประชุมร่วมรัฐสภา

Tags: