วันนี้ (1 กุมภาพันธ์ 2566) ที่อาคารรัฐสภา รังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายตอนหนึ่งในญัตติด่วน ว่าด้วยการสิทธิการให้ประกันตัว ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และแบม-อรวรรณ ภู่พงษ์ สองผู้ต้องหาในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่ารัฐธรรมนูญกำหนดชัดเจนว่าคดีอาญาต้องสันนิษฐานไว้ก่อนให้เป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ในทางปฏิบัติ สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยกลับตรงกันข้าม

รังสิมันต์ระบุว่าคดีมาตรา 112 เป็นคดีตัวอย่างสำคัญที่อธิบายปัญหากระบวนการยุติธรรมได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการที่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว ทั้งที่ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ การไม่ให้ประกันตัวทั้งที่ผู้ต้องหาไม่มีพฤติกรรมอะไร ทั้งการไม่ยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน ทว่าผู้ต้องหาจำนวนมากกลับไม่ได้ประกันตัว ศาลไม่สามารถอธิบายแต่ละกรณีให้เข้ากฎหมายได้เลย และศาลได้ทำราวกับผู้ต้องหาเหล่านี้ถูกตัดสินไว้แล้วว่าเป็นผู้กระทำผิด นอกนั้นยังมีการตั้งเงื่อนไข อย่ากระทำผิดซ้ำ อย่าชุมนุมทางการเมือง ทั้งที่สิทธิเหล่านี้ถูกประกันไว้ในรัฐธรรมนูญ

“ระหว่างนี้ ราอยู่ในช่วงเวลาที่กระบวนการยุติธรรมกำลังวิกฤต เป็นช่วงเวลาที่ต้องคิดแล้วว่าเราต้องออกจากวิกฤตนี้ ต้องดำเนินคดีและพิจารณาด้วยกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เป็นธรรม ถ้าไม่ทำอะไร ก็จะมีเหตุการณ์อย่างนี้เรื่อยๆ ผมทราบดีว่ามีรุ่นพี่รุ่นน้องของผมอยู่ในศาล อยากเรียกร้องคนกลุ่มนี้ คนที่เป็นตุลาการน้ำดีให้ตระหนักเรื่องกระบวนการยุติธรรมถูกบังคับใช้โดยไม่เลือกปฏิบัติ และการใช้กระบวนการ Presumption of Innocence หรือสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ เรื่องนี้เราต้องหาทางออกได้แล้ว แต่เรากลับปล่อยให้ตัดสินล่วงหน้าไปแล้ว ว่ามีใครผิดอะไรบ้าง แบบที่ทำกันในเวลานี้ ทำให้ศรัทธาที่มีต่อองค์กรตุลาการเสื่อมถอยลง

“สิ่งที่ชัดเจนอย่างหนึ่งที่มันทำลายบรรยากาศการพูดคุยเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหากระบวนการยุติธรรม คือเหตุการณ์เมื่อวาน (31 มกราคม 2566) ณ เวลาที่พรรคก้าวไกลไปยื่นหนังสือถึงประธานศาลฎีกา ทุกคนกลับพร้อมใจกันไม่ว่าง แต่ทันทีที่ ประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ ส.ส. พรรคก้าวไกล ขอเข้าไปพูดคุยภายในศาล ศาลบอกว่าไม่สะดวก ผมเข้าใจและตระหนักเลยว่าศาลแห่งนี้ พวกท่านไม่สน ไม่ฟัง และไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เป็นความเจ็บปวดที่อยากตั้งคำถามว่าเราจะอยู่แบบนี้จริงๆ ไหม ศาลจะไม่ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงเลยใช่ไหม ทั้งที่สังคมการเมือง ความเข้าใจประชาชนเปลี่ยนแปลงโดยสิ้นเชิง”

เมื่อถึงตรงนี้ ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่าให้ระมัดระวังในเรื่องการพูดถึงสถาบันศาล อย่างไรก็ตาม รังสิมันต์ระบุว่าที่ผ่านมาพยายามแนะนำศาลว่าควรมีทิศทางอย่างไร และเป็นสิทธิของประชาชนทุกคนที่จะวิจารณ์ศาลได้ แต่ต้องยอมรับความจริงว่าที่ผ่านมาไม่เคยมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น และสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกคู่ขนานคือมีพี่น้องประชาชน เด็กและเยาวชนอีกจำนวนมาก ที่ถูกดำเนินคดีเรื่อยๆ ในฐานะที่เป็นผู้แทนราษฎร

“เราต้องยอมรับความจริงว่าวิกฤตยุติธรรมมันได้เกิดขึ้นแล้ว ในเรื่องเศรษฐกิจ เราอาจพูดถึงต้มยำกุ้ง แต่นี่คือเรื่องสังคมการเมือง เรื่องสิทธิ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของระบอบประชาธิปไตย พวกเราในฐานะตัวแทนประชาชนเราทราบดีว่าพวกท่านมีความกังวลอย่างยิ่ง เวลาพิจารณาเรื่องสำคัญๆ ที่เกี่ยวกับสถาบันเบื้องสูงอย่างสถาบันพระมหากษัตริย์ พูดง่ายๆ คือท่านกลัว แต่ถ้าเราปล่อยให้ปัญหานี้ดำเนินต่อไป ประเทศไทยจะไปทางไหน”

รังสิมันต์ระบุด้วยว่าที่ผ่านมามีภาคประชาชนเข้าชื่อแก้มาตรา 112 แต่สภาผู้แทนราษฎรกลับไม่รับ สิ่งที่เกิดขึ้นจริงกลับมีผู้ถูกดำเนินคดีต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งต้องตั้งคำถามว่าจะเอาอย่างไร อยากให้ประเทศไทยเป็นแบบไหน และจะมั่นใจได้อย่างไรว่าลูกหลานจะไม่เป็นเหยื่อของความอยุติธรรมต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่เลือกปฏิบัติ

“สภาฯ ของเราทำได้ พรรคก้าวไกลเราเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเสียดายที่ไม่ถูกบรรจุ ในการเสนอของพรรคก้าวไกล เราเสนอโดยเจตจำนงว่ามันทำได้ การที่ท่านประธานฯ ไม่บรรจุวาระเข้า โดยอ้างว่าขัดมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ ผมอยากให้ท่านเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัย การวินิจฉัยแบบนี้เท่ากับกำลังวินิจฉัยแทนเราทุกคน ซึ่งไม่สามารถทำได้ และมันทำให้คนอีกมากที่ได้รับผลกระทบจากมาตรา 112 ไม่มีหนทางใด ไม่มีประตูปลดล็อกความอยุติธรรมเหล่านี้

“ถ้าสภาฯ ไม่สามารถนำความเดือดร้อนของประชาชนมาแก้ปัญหา เราจะมีสภาฯ ไปทำไม อยากให้สภาฯ แห่งนี้ได้ทำหน้าที่อันทรงเกียรติโดยไม่หวาดเกรงกลัวต่ออำนาจใดๆ”

ด้านประธานสภาผู้แทนราษฎรตอบกลับว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมามีฝ่ายกฎหมายสภาฯ ดูแลอยู่ และการไม่บรรจุระเบียบวาระ

“ผมเคยเรียนให้ทราบว่าเราไม่ได้ทำอะไรตามอำเภอใจ และไม่ได้กลัวเลยครับ แต่ยึดความถูกต้องเป็นสำคัญ โดยถือว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ ที่เตือนไว้ตลอดเวลาด้วยความหวังดี ไม่ได้ตัดสินใจด้วยความกลัว แต่ใช้เหตุผลเป็นหลัก ไม่ใช่เราพูดอะไรไม่ได้”

Tags: ,