วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 11.00 น. พรรคเพื่อไทยจัดแถลงข่าว โดยมี ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ โฆษกพรรคเพื่อไทย และ จิราพร สินธุไพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ จังหวัดร้อยเอ็ด ร่วมชี้แจงภาพรวมการอภิปรายแบบไม่ลงมติที่เกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และการติดตามประเด็นเหมืองทองอัครา
ธีรรัตน์ได้สรุปภาพรวมการอภิปรายแบบไม่ลงมติเมื่อวันที่ 17-18 กุมภาพันธ์ 2565 ระบุว่ากรณีที่ฝ่ายค้านซักถามต่อ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถึงการแก้ไขปัญหาให้ประชาชน ส่วนใหญ่ได้รับคำตอบเชิงใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล เนื้อหาไม่สอดคล้องกับตรงข้อเท็จจริง ไม่มีประโยชน์และไม่สามารถคลายข้อสงสัยให้กับประชาชนได้
ส่วนประเด็นความยากจนที่ฝ่ายค้านซักถามต่อพลเอกประยุทธ์ ได้รับการชี้แจงกลับมาว่า การแก้ปัญหาความยากจนเป็นปัญหาระดับบุคคล ต้องแก้โดยลงรายละเอียด เป็นการตอบคำถามแบบไม่มีความรู้และไม่สนใจข้อเท็จจริง เพราะปัญหาความยากจนควรแก้ไขได้ด้วยนโยบายรัฐและโครงสร้างทางการเมืองของพรรคร่วมรัฐบาล ที่มีเสถียรภาพเข้มแข็งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หรือแม้แต่ประเด็นที่บริษัทประกันชีวิตหลายแห่งที่ถือหุ้นโดยเจ้าสัวใหญ่ ปัดความรับผิดชอบต่อกรณีที่ประชาชนผู้ซื้อประกัน ‘เจอ จ่าย จบ’ ต้องได้รับค่าชดเชย ซึ่งพลเอกประยุทธ์หรือรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง มีท่าทีนิ่งเฉยต่อปัญหาดังกล่าว ไม่มีการหาแนวทางแก้ไขปัญหาให้ประชาชน
“ดิฉันได้ซักถามว่าเหตุใดจึงมีการเลื่อนอ่านคำชี้ขาดไปหลายครั้ง โดยพลเอกประยุทธ์อ้างสาเหตุสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงต้องเลื่อนออกไป ทั้งที่ข้อเท็จจริงได้มีการไต่สวนและสืบพยานคดีเหมืองทองอัคราเสร็จสิ้นไปตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2563 และคณะอนุญาโตตุลาการฯ ก็พร้อมอ่านคำชี้ขาดนานแล้ว แต่ที่เลื่อนออกไปเพราะมีการเจรจาหาข้อยุติระหว่างไทยกับบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ลิมิเต็ด ตามหลักฐานเอกสารที่แสดงต่อสภา ถึงแม้จะมีเอกสารหลักฐานชัดเจน พลเอกประยุทธ์และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องยังคงยืนยันปฏิเสธเสียงแข็ง นี่ถือเป็นการกล่าวเท็จกลางสภาหรือไม่
“อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่คนไทยอยากรู้ ไทยถูกฟ้องร้องและถูกเรียกค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินเท่าไร และถ้าประเทศไทยแพ้คดี คนที่ต้องรับผิดชอบผลลัพธ์คือประยุทธ์หรือประเทศ
“เรื่องง่ายๆ แค่นี้พลเอกประยุทธ์กลับไม่มีความกล้าหาญที่จะตอบคำถาม มีพฤติการณ์นำทรัพย์สมบัติของประเทศไปแลกการถอนฟ้อง เห็นชัดจากกรณีพิพาทที่ยังไม่จบ แต่รัฐบาลกลับรีบอนุมัติคืนพื้นที่ 3 พันกว่าไร่แก่บริษัทอัครา แถมยังได้พื้นที่สำรวจเพิ่มอีกว่า 4 แสนไร่ จ่อเพิ่มอีก 6 แสนไร่ โดยผลสำรวจพบว่าตลอด 1 ปีที่ผ่านมา บริษัทอัคราเป็นบริษัทเดียวที่ได้รับอนุญาตสำรวจแร่มากที่สุดในประเทศไทย”
นอกจากนี้ จิราพรยังกล่าวถึงการตรวจสอบพื้นที่สำรวจ 6 แสนไร่ ที่ทับซ้อนกับเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง และป่าสงวนแห่งชาติลุ่มน้ำวังทองฝั่งซ้าย จังหวัดพิษณุโลก ตั้งคำถามไปยังนายกรัฐมนตรี ว่ารัฐมีนโยบายที่จะเปิดทางให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปสำรวจหรือไม่ แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบ แต่กลับมอบหมายให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องชี้แจงด้วยการนำภาพอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ที่เดินทางไปเปิดเหมืองทองอัคราเมื่อปี 2544 มาแสดงต่อสภา คล้ายกับจะกล่าวโทษว่าจุดเริ่มต้นความผิดคดีดังกล่าวเกิดขึ้นจากอดีตนายกฯ ทักษิณ
จิราพรระบุว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการให้ข้อมูลไม่ครบถ้วนแก่ประชาชน เพราะแท้จริงแล้วเหมืองทองอัคราจดทะเบียนบริษัทในประเทศไทยปี 2536 เริ่มออกสำรวจแร่ปี 2537 ตลอดจนได้รับสิทธิ์ประทานบัตรทำเหมืองชาตรีใต้ปี 2543 และมองว่าเวลาที่พลเอกประยุทธ์ทำอะไรไม่ถูก มักแสดงพฤติกรรมกล่าวโทษแต่ตระกูลชินวัตร
ไม่เพียงเท่านั้น จิราพรกล่าวถึงเหตุผลที่พรรคเพื่อไทยอภิปรายเรื่องเหมืองทองอัคราถึง 4 ครั้ง เพราะต้องการปกป้องผลประโยชน์ประชาชนและประเทศชาติ ไม่ต้องการให้พลเอกประยุทธ์ลอยตัวเหนือปัญหา และโยนบาปที่เกิดจากค่าโง่ของตัวเองให้ประชาชนรับผิดชอบแทน
“พรรคเพื่อไทยไม่มีปัญหาถ้าบริษัทอัคราได้สิทธิ์การทำเหมืองคืน หากเป็นไปกระบวนการทางกฎหมายที่ถูกต้องตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการฯ ไม่ใช่การทำลายหลักนิติรัฐนิติธรรมด้วยการรเจรจาลับหลังผิดข้อกฎหมาย สิ่งที่พรรคเพื่อไทยจะทำต่อจากนี้ คือการจับตาดูว่าข้อตกลงแลกเปลี่ยนประนีประนอมระหว่างรัฐบาลและบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ลิมิเต็ด ถูกต้องสุจริตหรือไม่ โดยใช้กลไกของสภาผู้แทนราษฎรทุกช่องทาง ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชน หากส่อแววทุจริตจริงพรรคเพื่อไทยจะนำเรื่องนี้ไปใช้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ 5 ในเดือนพฤษภาคม รวมถึงพร้อมเอาผิดทางกฎหมายอย่างแน่นอน”
ธีรรัตน์ทิ้งท้ายถึงการประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 24-25 กุมภาพันธ์ 2565 เพื่อพิจารณาพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่จะร่างกฎหมายลูกฉบับของพรรคเพื่อไทย โดยพรรคเพื่อไทยหวังว่ากระบวนการพิจารณาจะเป็นไปได้ด้วยดี ยืนยันว่าจะเร่งดำเนินการผลักดันให้เกิดการเลือกตั้งโดยเร็ว เพื่อคืนอำนาจอธิปไตยที่แท้จริงให้กลับมาเป็นของประชาชน ตามวิถีปกติที่ควรจะเป็นมาตั้งแต่ต้น
Tags: Report, เพื่อไทย, พรรคเพื่อไทย, จิราพร สินธุไพร, ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์